Skip to main content

 

หลังจากไม่ทำตามประกาศคณะสงฆ์ที่ให้ทำพิธีฉลองการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 ทางการตั้งข้อหา 8 ประการ และให้ดำเนินการจับกุม

เรื่องราวการพยายามจับกุมพระศรีวิชัยให้อยู่ที่เมืองลำพูนไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากจำนวนประชาชนที่มาร่วมการชุมนุมนับพันและจะมากขึ้นเรื่อย ทำให้เจ้าเมืองหวาดกลัวรีบขอให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ทำการของมณฑลพายัพมารับตัวไปเชียงใหม่โดยด่วน (เหมือนกับตอนที่ฮัจยีสุหรงถูกจับไปดำเนินคดีข้อหากบฏและแบ่งแยกดินแดนในปัตตานี ทางการก็ต้องส่งตัวไปขึ้นศาลที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพราะเกรงคนมุสลิมมาชุมนุมประท้วง)

เมื่อไปถึงเชียงใหม่ พระศรีวิชัยถูกกักบริเวณอยู่ในวัดศรีดอนชัยเป็นเวลา 3 เดือน 8 วัน ตลอดระยะเวลานั้นมีประชาชนมามุงดูเมื่อทราบข้อเท็จจริงกลับเลื่อมใสในพระศรีวิชัย พากันมาทำบุญเป็นที่ครึกครื้นราวกับมีงานวัด จนทางวัดต้องหาทางปรามด้วยการจดชื่อผู้มาทำบุญ เพื่อจะส่งรายชื่อไปให้ทางการลงโทษ แต่ผู้คนก็ไม่ลดลง กล่าวกันว่าวัดศรีดอนชัยกลายเป็นแหล่งพบปะของประชาชนที่มาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความเห็นทางการเมือง กลายเป็นโรงเรียนการเมืองขนาดย่อมไป เฉกเช่นเดียวกับสนามหลวงในเวลาที่มีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองไป

ในที่สุดคณะกรรมการสอบสวนก็ไม่สามารถเอาผิดพระศรีวิชัยได้ เพราะสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ทุกข้อ จึงตกลงส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ  เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงไต่สวนและพิจารณาลงโทษต่อไป

ผลของการสอบสวนในกรุงเทพฯ  ก็เช่นเดียวกันคือไม่อาจหาข้อมาทำโทษได้ หลังจากได้รับผลของการสอบสมเด็จฯ พระสังฆราชทรงมีพระดำริวินิจฉัยโดยสรุปว่า พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับไปภูมิลำเนาของตน ประเด็นที่น่าสังเกตในพระราชดำริของสมเด็จพระสังฆราชคือท่าทีและทรรศนะแบบสมัยใหม่ที่ได้ก่อตัวขึ้นแล้วในโลกทรรศน์ของชนชั้นนำสยาม ดังเห็นได้จากพระราชปรารภของพระองค์ท่านที่มีต่อตัวพระศรีวิชัยดังนี้

หลังจากได้พบตัวพระศรีวิชัยแล้ว สมเด็จฯ ทรงเห็นว่า “เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช่ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณะสัญญา พอจะประพฤติให้เป็นพระอยู่ได้...การที่ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยความไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียม...ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องอธิบายให้รู้จักผิดชอบดีกว่าลงโทษ” สมเด็จพระสังฆราชทรงต้องการให้พระศรีวิชัยอยู่ศึกษาพุทธธรรมและวินัยให้ถูกต้องในกรุงเทพฯ ก่อนแล้วค่อยให้กลับภาคเหนือ แต่เนื่องจากพระศรีวิชัยบอกว่าท่านอายุมากแล้วและไม่มีความสงบหากใช้ชีวิตในกรุงฯ  จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับลำพูนได้

นี่คือพัฒนาการของการสร้างวาทกรรมสมัยใหม่ ที่อยู่ตรงข้ามกับโลกทรรศน์ของก่อนสมัยใหม่หรือคือพัฒนาการของสังคมและคนที่ยังอยู่ในขั้นล้าหลัง ที่ยังไม่เป็นเหตุผล คนในสังคมป่าเถื่อนล้าหลังเช่นนี้ต้องถูกดัดแปลงทำให้เป็นคนสมัยใหม่เสียจึงจะชอบ ต้องเอามา “ขัดเกลา”ให้การศึกษาใหม่ หาควรที่จะปล่อยทิ้งเอาไว้ วิธีคิดและตรรกะของความเป็นสมัยใหม่ดังกล่าวนี้คือเหตุผลและความชอบธรรมที่รัฐชาติไทยและบรรดานักคิดนักประวัติศาสตร์ต่อมานำมาใช้อธิบายถึงความจำเป็นและความชอบธรรมของการรวมศูนย์และปฏิรูปการปกครองและสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 มาโดยตลอด กระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลกรุงเทพฯ และหน่วยงานราชการส่วนกลางทั้งหลาย ก็ยังเชื่อว่าเป็นหน้าที่อันชอบธรรมของพวกตนในการออกไปสร้างความเจริญให้แก่ต่างจังหวัด หัวเมืองและชนบททั้งหลายทั่วพระราชอาณาเขต.

ครูบาศรีวิชัย ภาพจาก teeneelanna.com

ประวัติครูบาศรีวิชัย

ครูบาศรีวิชัย (2420-2481)เป็นคนเชื้อสายยางแดงหรือกะเหรี่ยง มีชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ตอนเกิดว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง” (ฟ้าร้อง) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “อินตาเฟือน” (สะเทือนถึงพระอินทร์) ที่ได้ชื่อนี้เพราะว่าคืนที่ให้กำเนิดนั้น มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่าฟ้าร้องสนั่นหวั่นไหว กระทั่งเรือนไม้สะเทือนเหมือนถูกแผ่นดินไหว บ้านเกิดอยู่ในบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ่อชื่อนายควาย แม่ชื่อนางอุสาเป็นบุตรสาวของหมื่นผาบ หัวหน้าชาวบ้านเป็นหมอคล้องช้างด้วย

ประวัติชีวิตจากเด็กจนเข้าวัยฉกรรจ์ ที่ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์มุขปาฐะ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีสติปัญญาและความคิดที่ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป ช่องทางที่พ่อแม่ญาติพี่น้องมองเห็นว่าควรเป็นหนทางของเด็กกะเหรี่ยงในหมู่บ้านอันห่างไกลความเจริญก็คือการให้เข้าวัด เริ่มต้นบวชเณรแล้วบวชพระต่อได้ฉายาว่า “สิริวิชโยภิกขุ” แต่ชาวบ้านเรียก พระศรีวิชัย

ด้วยบุคลิกของความเป็นผู้นำต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง ได้นำชาวบ้านสร้างวัดป่าขึ้น มีชาวบ้านมาขึ้นกับวัดมาก ทำให้ชุมชนแถวนั้นเติบใหญ่เพราะผู้คนมาชุมนุมกันมากขึ้น อันเป็นสัญญาณที่ผู้ปกครองและชนชั้นนำท้องถิ่นไม่ค่อยเคยเห็นบ่อยนัก หากวิเคราะห์จากมูลเหตุทางสังคมและการเมือง กล่าวได้ว่าระยะนั้นมีเหตุการณ์และผลกระทบจากการปกครองอันทำให้ชาวบ้านเองก็ต้องการผู้นำที่สะท้อนความรู้สึกและความต้องการของพวกเขาได้ด้วย จากการปฏิบัติในทางสังคมหลายเรื่อง พระศรีวิชัยสามารถช่วยให้ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนเชื้อชาติต่างๆ ที่ไม่ใช่ไทย ได้แสดงออกถึงความเชื่อ ความต้องการและความหวังต่อชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้าของพวกเขาด้วย

ในปี พ.ศ. 2446 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้น อันเป็นนโยบายหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเจริญของคณะสงฆ์ หลังจากการตราพ.ร.บ.นี้ออกมา รัชกาลที่ 5 ได้โปรดฯ ให้สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นคือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พร้อมด้วยพระที่ปรึกษาอีกสององค์เดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ เพื่อแต่งตั้งพระสงฆ์ตามตำแหน่งใหม่ต่อไป

อันนี้ก็น่าสังเกตว่านับแต่ระยะแรกของการปฏิรูปการปกครองสยาม หัวเมืองทางเหนือประสบความสำเร็จในการผสมกลมกลืนโดยผ่านทางศาสนาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะอาณาจักรโยนก เคย “เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกต (ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของราชอาณาจักรสยามสืบจนทุกวันนี้) และเป็นแหล่งกลางแต่งคัมภีร์ร้อยแก้วด้วยภาษาบาลีเป็นต้นแบบตำนานท้องถิ่นเป็นภาษาไทยในเวลาต่อไป แล้วส่งอิทธิพลให้บ้านเมืองทางลุ่มน้ำโขงทางลาวและอีสานกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาถือเป็นแบบแผน” กระนั้นก็ยังมีร่องรอยอันแสดงถึงความต้านตึงอยู่ในความสัมพันธ์ทางศาสนาของล้านนากับกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน ดังแสดงออกในกรณีครูบาศรีวิชัย

กฎข้อหนึ่งของพ.ร.บ.ลักษณะสงฆ์นี้คือการบวชเณรและพระจะต้องขออนุญาตต่อนายอำเภอก่อน ในปี 2451 ชาวบ้านหลายคนได้มาขอให้พระศรีวิชัยบวชลูกหลานของพวกตน พระศรีวิชัยก็ไปขออนุญาตต่อพระครูมหารัตนากร วัดลี้หลวง เจ้าคณะแขวงลี้ และเจ้าหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ ถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบว่าอนุญาตหรือไม่ คำขอนั้นเงียบหายไป เมื่อเวลาเนิ่นนานไป พระศรีวิชัยจึงตัดสินใจว่าการบวชนั้นแต่ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องของนายอำเภอ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงคือบิดามารดาต้องเป็นผู้อนุญาต การบวชก็ไม่ได้ผิดศีลหรือวินัยข้อไหน ตนเองก็เป็นพุทธบุตรผู้ภักดีเจริญรอยเยี่ยงสาวกที่ดีของพระพุทธองค์ ดังนั้นการบวชพระก็น่าจะเป็นไปโดยชอบธรรม ท่านจึงทำการบวชให้กับลูกหลานชาวบ้านเหล่านั้น

หลังจากการบวชพระสิ้นสุดลง ก็มีเสียงเล่าลือกันว่าพระศรีวิชัยบังอาจเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน เจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอเมื่อรู้เรื่องก็เดือดดาลมากเพราะเป็นการหมิ่นอำนาจ ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง นายอำเภอจึงนำตำรวจพร้อมหมายไปเชิญตัวพระศรีวิชัยมาควบคุมไว้ยังวัดลี้หลวงเป็นเวลา 4 วันเพื่อทำการสอบสวน เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องก็พากันมาชุมนุมเต็มวัด จนต้องย้ายพระศรีวิชัยไปอีกวัด ผลการสอบสวนคือให้เจ้าคณะจังหวัดว่ากล่าวตักเตือนพระศรีวิชัย อย่าให้ทำอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วให้กลับได้ จากการถูกจับกุมตัวในครั้งแรกทำให้ชื่อเสียงของพระศรีวิชัยเป็นที่โจทย์ขานกับมากขึ้นในหมู่ชาวบ้านและชาวเมืองด้วย

อีก 3 เดือนต่อมาเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ได้มีคำสั่งให้เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในปริมณฑลไปร่วมประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงฆ์ใหม่นี้ พระศรีวิชัยไม่ไปร่วมประชุมครั้งนี้ ท่านให้เหตุผลว่าการเข้าบวชเป็นพระก็เพื่อสละโลกฆราวาส ละทิ้งโลภะโทสะโมหะกิเลสทั้งหลาย ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน บัดนี้ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ครั้นจะไปประชุมพระราชบัญญัติสงฆ์ก็จะมีเรื่องต้องข้องเกี่ยวกับโลกมากขึ้น อันจะขัดกับการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ทำก็จะผิดระเบียบสงฆ์อีก ดังนั้นจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว การไม่ไปร่วมประชุมของท่านทำให้พระบางแห่งก็ไม่ไปบ้าง ผลจากการขัดขืนนี้เจ้าคณะจังหวัดก็ให้เจ้าหน้าที่มาเชิญท่านไปสอบสวนอีก หลังจากสอบถึง 23 วันก็เอาผิดท่านไม่ได้ จึงปล่อยตัวให้กลับวัดดังเดิม

ในปลายปีนั้นเจ้าคณะแขวงลี้ก็เรียกประชุมเจ้าอาวาสอีก เพื่อรับทราบข้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงฆ์นี้ พระศรีวิชัยก็ไม่ไปอีก เป็นครั้งที่ 3 ที่ท่านฝ่าฝืนคำสั่งของบ้านเมืองและเจ้าคณะสงฆ์ การสอบสวนครั้งที่ 3 มีมติให้ลงโทษ ด้วยการถอดพระศรีวิชัยออกจากเจ้าคณะหมวด ให้กักบริเวณอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นเวลา 1 ปีเพื่อให้ศึกษาพระราชบัญญัติสงฆ์ และเมื่อกลับวัดบ้านปางให้มีฐานะเป็นแต่เพียงพระลูกวัดเท่านั้น การลงโทษดังกล่าวกลับทำให้ชาวบ้านจากที่ต่างๆ พากันมานมัสการกราบไหว้พระศริวิชัยมากขึ้น เมื่อครบกำหนดการลงโทษ 1 ปี บรรดาญาติโยมและศรัทธาทั้งหลายต่างยกขบวนมารับและแห่แหนพระศรีวิชัยกลับสู่วัดบ้านปาง มีชาวบ้านบางคนโกรธแค้นคณะกรรมการที่ลงโทษพระศรีวิชัย แต่ท่านตักเตือนให้ชาวบ้านมีเมตตาและละเสียซึ่งความโกรธ

ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ภาพจาก dhammajak.net

ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 6 ในปีพ.ศ. 2454 เจ้าคณะอำเภอลี้ได้มีคำสั่งให้พระศรีวิชัยทำการสำรวจรายชื่อพระภิกษุสามเณรทุดวัดในตำบลบ้านปาง เพื่อเป็นการชื่นชมยินดีในการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เป็นการเฉลิมฉลองเทิดทูนพระเกียรติ แต่พระศรีวิชัยซึ่งถูกถอดจากตำแหน่งแล้ว ก็คิดว่าตนเองคงไม่เกี่ยว จึงไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งให้ทุกวัดทำซุ้มประตูไฟและโคมไฟประดับเพื่อการสมโภช ท่านก็ไม่ได้ทำตามอีกเช่นกัน หากแต่ท่านปฏิบัติธรรมสวดมนต์แผ่เมตตาจิตคุ้มครองพระมหากษัตริย์แทน ท่านยังชวนพระสงฆ์และสามเณรในวัดสวดมนต์เจริญพรแด่องค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนา ก็เป็นอันสิ้นพิธีกรรมเฉลิมฉลองของพระศรีวิชัย ในขณะที่วัดอื่นๆ ในอำเภอลี้สว่างไสวไปด้วยแสงไฟ และมีงานเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น แต่วัดบ้านปางกลับเงียบสงัด ครั้งนั้นไม่มีเหตุการณ์อะไรจากทางการในทันที

ทว่าในอีกไม่นานเกิดมีข่าวลือแพร่สะพัด “ว่าพระศรีวิชัยได้ตั้งตนเป็นผู้หลอกลวงประชาชนโดยใช้เวทมนต์ คาถาอาคม บ้างก็ลือว่าเป็นผีบุญ ที่หนักข้อคือกล่าวหาว่าพระศรีวิชัยเกลี้ยกล่อมผู้คนเป็นจำนวนมาก ให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่อยู่ในความปกครองของเจ้าคณะแขวงลี้ นายอำเภอและขัดขืนต่ออำนาจรัฐบาลกลาง”

ในที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ดำเนินการลงโทษอย่างหนักด้วยการตั้งข้อกล่าวหา 8 ประการ หลักๆ คือการทำตัวไม่เป็นพระตามพ.ร.บ. และขัดขืนอำนาจและคำสั่งของทางการทั้งทางสงฆ์และทางโลก ให้ออกจากวัดบ้านปางไปโดยทันทีและไม่ให้วัดอื่นๆ ในลำพูนรับเข้าอาศัยโดยเด็ดขาด พระศรีวิชัยเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ไม่ยอมออกจากวัด ท่านจะยอมตายในวัด สานุศิษย์และชาวบ้านจำนวนมากก็มาสนับสนุนพระศรีวิชัย สถานการณ์ทำท่าจะตึงเครียด เจ้าเมืองลำพูนจึงเรียกให้พระศรีวิชัยไปพบว่าจะให้ความยุติธรรม ในที่สุดพระศรีวิชัยตัดสินใจเดินทางไปพบเจ้าเมืองลำพูน

ตรงนี้คือข้อที่น่าสนใจมาก มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในพระศรีวิชัยทั้งพระและฆราวาสจากที่ต่างๆ พากันมาร่วมขบวนเดินเท้าไปเมืองลำพูนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,500 คน เป็นชาวบ้าน 1,000 เป็นพระและสามเณร 500 รูป วันออกเดินทาง “บรรดาพระก็ครองผ้าแบบพระศรีวิชัย ทุกองค์มีผ้ามัดอก สวมประคำห้อยคอ ถือตาลปัตร (พัดทำด้วยใบตาล) และไม้เท้า ออกเดินอย่างสำรวม บรรดาศรัทธาทั้งหลายช่วยกันจัดขบวนประหนึ่งจะแห่ไปในงานปอยอันสำคัญ บ้างก็มีกังสดาล ฆ้อง ระฆัง บัณเฑาะว์ หอยสังข์ กลอง ปี่ ดีดสีตีเป่ากัน บรรดาชาวเขาเผ่าต่างๆ ก็นำเครื่องดนตรี และวัฒนธรรมของตนตามถนัดเข้าร่วมขบวน” นี่คือกองทัพธรรมที่ถูกจุดประกายจากผลแห่งการรวมศูนย์อำนาจการปกครองทั้งทางโลกและทางธรรมนั่นเอง

ประเด็นที่ผมสนใจอย่างมากหลังจากอ่านข้อมูลเรื่องราวการแข็งขืนอย่างสันติของพระศรีวิชัยก็คือ ขบวนการประชาชนนี้ว่าไปแล้วก็คือบรรดาผู้คนที่เป็นชนชาติต่างๆ  โดยเฉพาะคือชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่พำนักอาศัยและกำเนิดในดินแดนภาคเหนือตอนบน ในอำเภอลี้เป็นดินแดนที่ห้อมล้อมด้วยภูเขาเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ มานาน เช่นกะเหรี่ยง มูเซอ อีก้อ เป็นต้น การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชนของพระศรีวิชัย ก็คือการที่ชนชาติเหล่านั้นได้พบเครื่องมือและความคิดสมัยใหม่ผ่านพุทธศาสนาในการสร้างความเป็นตัวตน ในขณะที่อำนาจทางการของรัฐไทยยังไม่อาจแทรกซึมและครอบงำดินแดนเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง ชาวบ้านชนชาติเหล่านั้นจึงไม่มีความคิดของการเป็นพลเมืองแห่งรัฐไทย และก็ไม่จำต้องมีความจงรักภักดีหรือยำเกรงด้วย

กล่าวได้ว่าในขณะที่สยามกำลังสร้างอัตลักษณ์ของการเป็นรัฐไทยสมัยใหม่ขึ้นมา ตามแนวความคิดแบบอาณานิคมตะวันตก ผ่านการปฏิรูปการปกครองและรวมศูนย์อำนาจให้กรุงเทพฯ และชนชั้นนำอยู่นั้น ในอำเภอลี้ก็มีขบวนการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชนชาติต่างๆ เริ่มมีการรวมตัวและสร้างชุมชนของพวกตนขึ้นมาด้วยเหมือนกัน โดยยึดถือความคิดทางพุทธศาสนาเป็นพาหะ เมื่อสองขบวนและสองผู้นำสองอัตลักษณ์มาปะทะกัน มันเป็นการประลองอำนาจทางการเมืองกันไป วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นต่อจากนั้นก็เป็นวาทกรรมอันเดียวกับที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายการแข็งขืนของผู้นำอาณาจักรปะตานีและอีสานว่าคือการต่อต้าน กบฏและเป็นผีบุญ

หากจินตนาการถึงขบวนเดินทัพธรรมของพระศรีวิชัยก็จะเห็นภาพความหลากหลายของผู้คนชนชาติต่างๆ  ภาษาที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน ดนตรีอาหารการละเล่นต่างๆ ก็จะหลากสีสัน เป็นโลกอันแท้จริงของชุมชนต่างๆ ก่อนที่จะถูกรวมศูนย์ให้กลายเป็นชาติไทยอันหนึ่งเดียว นำไปสู่การสร้างนโยบายของรัฐไทยในการผสมกลมกลืนชาติพันธุ์ต่างๆ ให้กลายมาเป็นไทย

ดังเห็นได้จากการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงสรุปลักษณะเด่นของชาติไทยที่สามารถปกครองประเทศสยามมาได้ช้านาน เพราะว่ามีคุณธรรม 3 อย่างเป็นสำคัญ “คือความจงรักอิสระของชาติอย่าง 1 ความปราศจากวิหิงสาอย่าง 1 ความฉลาดในการประสานประโยชน์อย่าง 1 หรือถ้าจะเรียกเป็นคำภาษาอังกฤษก็คือ love of National Independence, Toleration, and Power of Assimilation.” นั่นเป็นการมองจากสายตาและแว่นของรัฐบาลสยามและของชนชั้นนำในศูนย์กลาง หากกลับทิศทางและจุดยืนในการมองมาเป็นของประชาชนในหัวเมืองและประเทศราชรวมทั้งพื้นที่ไม่มีรัฐบ้าง ก็จะได้ข้อสรุปอีกอย่างหนึ่ง ว่าคุณธรรมของชาติไทยนั้นได้มาด้วยการที่ผู้คนชนชาติต่างๆ บ้างจำยอมโดยสงบบ้างขัดขืนและถูกปราบปรามให้ต้องยอมรับการประสานผลประโยชน์และในที่สุดยอมรับอัตลักษณ์ของความเป็นไทยเท่าที่จะรับและปฏิบัติได้

 


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์