Skip to main content

 

เมื่อแรกตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “กบฏวรรณกรรม” ผมรู้สึกว่ามันฟังคลุมเครือและขัดๆ อย่างไรอยู่ ไม่แน่ใจว่าจะให้หมายถึงวรรณกรรมที่เป็นกบฏ หรือนักเขียนเป็นกบฏ จริงๆ แล้วผมหมายรวมทั้งสองมิติ แต่ลึกลงไปยังมีมิติที่มากกว่านี้ เพราะมันเป็นการสืบค้นไปถึงกระบวนการต่อต้านและเปลี่ยนแปลงที่ได้พัดผ่านสังคมเหล่านี้มา ที่ผ่านมาคำว่ากบฏในบริบทของรัฐไทยมีความหมายนัยในทางลบ ใช้กับคนหรือกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบหรือนอกศูนย์กลางอำนาจและความชอบธรรม ในทางปฏิบัติหมายถึงการกระทำที่ต่อต้านกระทั่งทำลายความเป็นเอกภาพและสมานฉันท์ของระเบียบสังคมใหญ่ กล่าวอย่างสั้นๆ การเป็นกบฏจึงหมายถึงคนนอกคอกหรือคนนอกกฎหมาย ซึ่งในทางปกครอง ได้แก่การเป็นคนผิด ดังนั้นการที่ใครหรือคนที่ยังปกติและไม่ได้มีความผิดในฐานที่เป็นคนทำลายสังคม จะให้ความหมายทางบวกแก่คำนี้จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดและฟังไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าใดนัก

กบฎวรรณกรรม: บทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และการเมืองในวรรณกรรม

ทว่าเมื่อบรรยากาศและความชอบธรรมอันรวมไปถึงฐานะแห่งอำนาจของรัฐนั้นๆ เริ่มสั่นคลอนและถูกตั้งคำถามได้อย่างไม่ยากนักจากผู้ถูกปกครองจำนวนมากขึ้น เมื่อนั้นคำว่ากบฏจะเริ่มสำแดงความหมายที่ย้อนแย้งและเปลี่ยนไป ผมคิดว่าสำนึกการเป็นกบฏได้ก่อรูปและแตกฉานซ่านเซ็นไปทั่วปริมณฑลของสังคมสยามไทย ถ้าหากจะวัดจากวันเวลาที่แน่นอนหรือจากประวัติศาสตร์ สำนึกกบฏระยะใกล้นี้ได้ก่อตัวและเติบใหญ่นับแต่กรณีการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา และจนถึงวันนี้เรายังเห็นวาทกรรมกบฏเผยแพร่อย่างกว้างขวางไปทั่วทั้งสื่อส่วนตัวและในที่สาธารณะ โดยคนเกือบทุกชนชั้นและชั้นชน หลากอาชีพ เพศสภาพและเชื้อชาติ เรียกได้ว่าเป็นความคิดกบฏที่เสรียิ่ง ซึ่งตรงข้ามกับความคิดกบฏในอดีตที่มักจำกัดหรือทำได้อย่างไม่เสรี เนื่องจากมีเพดานและอำนาจอันค้ำจุนระเบียบสังคมขณะนั้นกดทับอยู่

ไม่ว่าการปฏิบัติและแนวความคิดเรื่องกบฏปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นเสรีและมุ่งรักษาสัมพันธภาพทางสังคมแบบประเพณีไว้มากกว่าการวิพากษ์หรือมุ่งเปลี่ยนแปลงให้เกิดโครงสร้างอำนาจที่เป็นเสรีจากอำนาจประเพณีขนาดไหนก็ตาม เมื่อกลับมาพิจารณาถึงความหมายและนัยของกบฏในหนังสือกบฏวรรณกรรมเล่มนี้ ผมคิดว่าแก่นแกนของเรื่องและตัวละครทั้งหลายในเล่ม ล้วนโลดแล่นและขับดันไปด้วยพลังของจินตภาพของความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสมัยใหม่ ที่ตรงข้ามและวิพากษ์การดำรงอยู่ของโครงสร้างและสถาบันทางอำนาจทั้งหลายแบบประเพณีหรือดั้งเดิมต่างๆ ลงไป กบฏวรรณกรรมในทางเนื้อหาแล้วจึงมีความมุ่งหมายหรือสร้างหนทางไปข้างหน้าให้แก่การปฏิวัติที่เป็นของมวลชน พวกเขาและเธอไม่ใช่เป็นกบฏเพื่อการปฏิรูปหรือเพื่อจรรโลงระเบียบสังคมและสัมพันธภาพทางสังคมแบบไม่เท่าเทียมกันแบบเก่าอีกต่อไป หากแต่จุดหมายสูงสุดคือการปฏิวัติอย่างสมบูรณ์ ทั้งทางกายและใจ ทั้งในส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคลและสังคมทั้งองคาพยพ

บรรดาบทความที่รวมอยู่ในเล่มนี้ เมื่อดูโดยภาพรวมแล้ว ปรากฏว่าบรรดานักเขียนและนักปฏิบัติเหล่านั้นล้วนแต่อยู่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น คนเหล่านั้นทั้งหญิงและชายในวัยต่างๆ และมาจากชนชั้นฐานะที่หลากหลาย ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยหรือจำนนต่อสภาพสังคมและสถาบันหลักๆ ในสังคมที่ทรงอำนาจและอิทธิพลเหนือพวกเขาและผู้คนทั้งหลายในสังคมนั้นๆ พวกเขาเริ่มตั้งคำถามและค้นหาคำตอบต่อสภาวะของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในกลุ่มและขบวนการต่างๆ อย่างมีการจัดตั้งหรือเป็นไปเอง บางกลุ่มและองค์กรก็ดำเนินหนทางการต่อสู้อย่างสันติและสงบ บ้างหันไปสู่หนทางของการใช้กำลังอาวุธและใช้ความรุนแรงในระยะที่แน่นอนของการต่อสู้ บางคนใช้การเขียนและหนังสือเป็นอาวุธ ควบคู่ไปกับการปลุกระดมและจัดตั้งมวลชนคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้ ซึ่งในยุคสมัยโน้นถือว่าเป็นการกระทำที่อันตรายและผิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างแรง มีโทษหนักๆ ทั้งนั้น แต่น่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่ทั้งหลายไม่หวาดหวั่นหรือกลัวเกรงอำนาจรัฐที่มากับลัทธิอาณานิคมกันเท่าใดนัก เหนืออื่นใดสิ่งที่ผมให้ความสำคัญและดูดดื่มไปกับบรรดานักคิดนักเขียนเหล่านั้นอยู่ที่การคิดและเนื้อหาสมัยใหม่ที่ราดิคัลของพวกเขาทั้งหลาย ปราศจากการคิดอย่างวิพากษ์ ก็ยากที่จะสร้างขบวนการปฏิวัติที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้


วิธีวิทยาของโครงสร้างทางอารมณ์ (structures of feeling)

หากถามว่ากบฏวรรณกรรมต้องการเสนออะไร คำตอบที่สั้นและตรงที่สุดคือความงดงามของการสัมผัสวรรณกรรม ความงามของการเสพย์วรรณกรรมนำมาซึ่งความสุขความรื่นรมย์ของความคิด แต่ในเวลาเดียวกันความงามนี้ก็สามารถนำเสนอความจริงของความทุกข์ ความไม่เป็นธรรมและความไม่สวยงามในชีวิตของผู้คนทั้งหลาย เหนือสิ่งอื่นใดในการศึกษาวรรณกรรม ผมได้ซึมซับอารมณ์ความรู้สึกรวมถึงภูมิปัญญาของนักคิดนักเขียนเหล่านั้นอย่างน่าตื่นเต้น ความคิดของคนเหล่านั้นเป็นเสมือนตัวแทนของสังคมใหญ่และของยุคสมัย แม้จะพูดคิดและเขียนในต่างกาละและเทศะ ในแต่ละประเทศ แต่ละสังคม แต่เมื่อพิเคราะห์รวมๆ กันแล้ว ทำให้ได้เรียนรู้ถึงประสบการณ์ทางอารมณ์ร่วมกันของปัญญาชนในโลกที่สาม อาจเรียกอย่างเป็นทฤษฎีว่าโครงสร้างทางอารมณ์ของคนในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

อะไรคือโครงสร้างทางอารมณ์ แนวคิดทางทฤษฎีนี้มาจากเรย์มอน วิลเลียมส์ นักลัทธิมาร์กซิสต์สายวัฒนธรรมผู้โด่งดัง เขาอธิบายว่าการใช้ “อารมณ์” ในโครงสร้างสังคมนั้นเพื่อต้องการให้เห็นความแตกต่างกับคำว่าอุดมการณ์หรือโลกทรรศน์ ซึ่งเป็นคำกุญแจหลักของนักสังคมวิทยาและมาร์กซิสต์ทั้งหลาย สองคำหลังนี้พูดถึงความเชื่อและสถาบันที่ก่อรูปแน่นอน มีการปฏิบัติและสืบทอดมาอย่างชัดเจน ในขณะที่ความคิด ความเชื่อและการปรับเปลี่ยนในเรื่องทางวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของผู้คนนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นสิ่งลงตัวแน่นอนถึงขั้นเป็นสถาบันตายตัว เราจะศึกษาและทำความเข้าใจกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและสุนทรีย์ของประชาชนจริงๆ ได้อย่างไร โดยไม่ตกลงไปในกรอบและวิธีคิดแบบมีกรอบกำกับตายตัว ทางออกที่วิลเลียมส์เสนออย่างน่าสนใจคือการเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า”อารมณ์” กล่าวในทางวิธีวิทยา โครงสร้างทางอารมณ์เป็นสมมติฐานทางวัฒนธรรมอันหนึ่ง เกิดจากความพยายามที่จะเข้าใจมิติและด้านต่างๆ ของอารมณ์ที่เกี่ยวพันกันในช่วงอายุคนๆ หนึ่งหรือในยุคสมัยหนึ่ง โครงสร้างทางอารมณ์จึงไม่มีโครงสร้างที่เป็นทางการเหมือนทฤษฎีโครงสร้างทางสังคมทั้งหลาย ดังนั้นมันจึงเหมาะกับการศึกษาในหลักฐานด้านกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆ ที่ดำเนินไปอย่างเป็นไปเองและไม่ได้มีรูปแบบเนื้อหาที่ลงตัวตลอดเวลา มันมีทั้งประวัติศาสตร์และที่สำคัญยังเข้ากับกระบวนการวัฒนธรรมปัจจุบันได้ด้วย แนวคิดและความคิดต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้แม้ดูเหมือนลงตัวและเป็นที่ยึดเหนี่ยวอย่างมั่นคงของนักคิดนักเขียนทั้งหลาย แต่ในความเป็นจริงโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเทียบกับสภาพการณ์และความเป็นจริงที่ได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากยุคสมัยของคนเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว จะพบถึงความไม่สมบูรณ์ ไม่เหมาะสมกระทั่งไม่ถูกต้องของแนวคิดและการปฏิบัติอย่างมีสำนึกของคนและกระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ตรงนี้เองที่ผมคิดว่าวิธีศึกษาแบบโครงสร้างทางอารมณ์น่าจะยังประโยชน์ให้แก่การไม่ทำให้บุคคลและสังคมในวัฒนธรรมกลายเป็นของแข็งที่ไร้ชีวิตจิตใจไปเสียสิ้น และความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมก็ไม่อาจถูกลดรูปลงไปเป็นแค่สูตรสำเร็จตายตัวของทฤษฎีสังคมอันหนึ่งอันใดได้


พลังของวรรณกรรมใหม่

ในระยะเวลาก่อนการปฏิวัติ 14 ตุลานั้น ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่ง ซึ่งท้าทายความคิดและทรรศนะอันเกี่ยวกับเรื่องของวรรณกรรมอย่างมาก แม้ก่อนหน้านั้นผมได้เคยอ่านนิยายและเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาข้องเกี่ยวเกี่ยวกับการเมืองไทยจำนวนหนึ่ง เช่น “ระย้า” และ “นักปฏิวัติ” ของสด กูรมะโรหิต มาถึง “เมืองนิมิต” ของ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน แต่นิยายเหล่านั้นเดินเรื่องและนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา มุ่งที่การโจมตีนักการเมืองและรัฐบาลที่เผด็จการหรือรับใช้ต่างชาติ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นต้น เนื้อเรื่องเหล่านั้นทำให้เกิดความตื่นเต้นและเร้าใจไปกับตัวเอกของเรื่อง แต่นิยายดังกล่าวยังไม่อาจสร้างผลสะเทือนลงไปสู่สำนึกด้านลึกหรือจิตสำนึกทางการเมืองของผมได้ การต่อสู้ถึงขั้นใช้กำลังและอาวุธเข้าห้ำหั่นกัน ก็ไม่ต่างไปจากนิยายบู๊จำนวนมากที่ในที่สุดกระตุ้นความรู้สึกและความรับรู้ระดับจินตามยปัญญา คือการรู้จากการฟังและอ่านขึ้นมาได้ ยังไม่อาจนำไปสู่ขั้นที่เป็นปฏิบัติการได้ แต่บทความที่ผมกล่าวถึงนี้ สามารถเปิดประตูหัวใจให้เนื้อหาใหม่ที่มีพลังก่อรูปขึ้นมาได้อย่าง น่าทึ่ง

"ศิลปะ (และวรรณกรรม) กับชีวิตนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ ชีวิตคือแหล่งกำเนิด แห่งศิลปะ ในขณะเดียวกันศิลปะก็สามารถที่จะช่วยผลักดันให้ชีวิตมีความเปลี่ยนแปลง ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ศิลปะวรรณกรรมช่วยสะท้อนให้เห็นชีวิตที่เป็นจริงตามสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น ไม่มีศิลปะใดที่อยู่นอกเหนือชีวิต หากแต่ศิลปะกลับจะยิ่งเสริมสร้างชีวิตให้เป็นแบบฉบับ และมีความหมายมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังคำกล่าวที่ว่า "ความงามของศิลปะนั้น ได้สำแดงออกซึ่งเนื้อแท้ของสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตอันสับสนวุ่นวาย นั้นออกมาไม่เลือนรางไปได้ง่ายๆ และมีความเด่นชัดพร้อมกับมีน้ำหนัก ความงาม แห่งศิลปะจึงมีลักษณะที่รวบยอด มีลักษณะที่เป็นแบบฉบับ และมีองคาพยพที่เหนือกว่าความงามของชีวิต ด้วยเหตุนี้เองความงามของศิลปะจึงมีกำลังดึงดูดใจคนยิ่ง กว่าความงามในตัวชีวิตเอง"1

กำเนิดของวรรณกรรมสมัยใหม่แยกไม่ออกจากการเกิดแนวคิดที่เรียกว่า “ลัทธิสัจจะนิยม”2  (Realism) อันกล่าวได้ว่าแนวคิดและการปฏิบัติสำนักนี้เป็นปึกแผ่นและมีพลังในการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างมากก็ในสังคมยุโรปตะวันตก ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นกลางยุโรปประสบความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจนำของชนชั้นตนในอำนาจรัฐได้ งานคลาสสิกอย่าง ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน 3 ของมิเกล์ เด เซร์บันเตส นักเขียนชาวสเปนผู้ได้รับการยอมรับอย่างสูงยิ่งในหัวแถวของนักเขียนเอกของโลก มาได้รับการยอมรับและยกย่องจนถึงสดุดีไปทั่วโลกว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิก ก็ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อ 20 เกือบสองศตวรรษหลังจากที่งานของเขาได้ตีพิมพ์ออกมา โชคดีที่ดอนกิโฆเต้ไม่ถูกชนชั้นปกครองสเปนเผาและทำลายห้ามอ่านเสียก่อนอย่างในสยามรัฐได้กระทำกับงานอย่างนิราศหนองคายของนายทิม สุขยางค์ในปี พ.ศ.2412 สังคมสมัยใหม่ของยุโรปทำให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสอ่านและใส่ชีวิตใหม่ของพวกชนชั้นกระฎุมพียุคหลังลงไป ทำให้งานอย่างของเซร์บันเตสและเชคสเปียร์ และ ฯลฯ กลายเป็นตัวแทนความคิดจินตนาการและจุดยืนในสังคมไปได้อย่างงดงาม ลักษณะสำคัญของดอนกิโฆเต้ได้แก่การที่มันสามารถนำเสนอความจริงของสังคมและผู้คนทั้งชั้นสูงลงมาถึงชั้นต่ำ ทั้งชายและหญิง ทั้งฆราวาสและพระ ความจริงที่แชร์วันเตสเสนอไม่ได้มีอันเดียว หากแต่มีหลากหลายและที่แหวกแนวยิ่งในยุคสมัยนั้นก็คือการเสนอความจริงที่ขัดแย้งกันผ่านการใช้ภาษาที่ล้อเลียนและอารมณ์ขัน คุณสมบัติที่ทำให้งานชิ้นนี้กลายมาเป็นสากล คือการวิพากษ์อย่างมีศิลปะในความขัดกันระหว่างอุดมคติกับชีวิตจริง ความขัดแย้งดังกล่าวได้กลายมาเป็นองค์ประกอบอันสำคัญยิ่งในความเป็นมนุษย์ของชนชั้นกระฎุมพีต่อมา กล่าวอย่างสั้นๆ ลักษณะเด่นของนวนิยายสมัยใหม่คือความสามารถอย่างไรในการจัดการกับความจริงทางสังคมนั่นเอง

ที่ผ่านมา มักมีคำอธิบายกำเนิดของนวนิยายและการเขียนเรื่องสั้นสมัยใหม่ในสังคมนอกตะวันตกเช่นไทยว่า ได้รับอิทธิพลหรือเป็นผลมาจากการครอบงำของลัทธิอาณานิคมตะวันตก และความรู้สมัยใหม่ทั้งหลายอันรวมไปถึงความรู้และวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์เช่นวรรณคดีและประวัติศาสตร์ปรัชญาต่างๆ เป็นต้น คำอธิบายดังกล่าวนั้นเป็นวิธีการมองโดยการเอาตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ทำให้การวิเคราะห์และเข้าใจในการเขียนนิยายในสังคมไทย ให้น้ำหนักไปที่อิทธิพลจากภายนอกเสียด้านเดียวมากเกินไป จนทำให้ขาดการศึกษาและเข้าใจในลักษณะของแต่ละสังคมเอง ที่มีผลต่อการสร้างนวนิยายของตนเองขึ้นมา นั่นคือขาดการพิเคราะห์อย่างเป็นวิภาษวิธีหรือรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญแก่มิติภายในของสังคมไทยเอง

กล่าวได้ว่าวรรณกรรมไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในฉับพลันหรือจากความปรารถนาของใครคนใดคนหนึ่ง วรรณกรรมก็เช่นเดียวกับงานศิลปะและความคิดปรัชญารวมถึงทฤษฎีต่างๆ ที่ต้องอาศัยเงื่อนเวลาและสถานที่ สำหรับการก่อรูปและพัฒนาเติบโตทั้งทางความคิดและทางรูปแบบ นั่นคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกว่า เนื้อหาหรือประวัติกับรูปแบบ ของวรรณกรรมหรืองานศิลปะทั้งหลาย ทั้งหมดนั้นจะคลี่คลายไปอย่างไรจนไปสู่ภาวะแห่งการลงตัวของความงามในงานนั้นๆ ขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองของวรรณกรรมนั้นๆ ด้วย ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเรา วรรณกรรมและศิลปกรรมก่อรูปและคลี่คลายไปในบริบทและโครงสร้างของรัฐประชาชาติสมัยใหม่เป็นสำคัญ ดังที่ดอนกิโฆเต้ก็กล่าวได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนยุคสมัยของการสร้างประเทศสเปนในคริสตศตวรรษที่ 17 ให้เป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ยุโรปยุคสมัยนั้นมีแต่ที่อื่นๆ ในโลกยังไม่มีก็คือความคิดว่าด้วยเสรีภาพของปัจเจกบุคคล นี่คือพลังและจุดหมายของการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมโดยส่วนใหญ่ ปรากฏชัดในประเทศและสังคมตะวันตก และมาแสดงออกในสังคมและประเทศนอกตะวันตกเช่นไทยด้วยในระยะของการปฏิสัมพันธ์กับอารยธรรมตะวันตกสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับลัทธิอาณานิคมและความรู้สมัยใหม่

ประวัติวรรณกรรมจึงได้แก่การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรม จากวรรณกรรมชั้นสูงลงมาสู่วรรณกรรมสังคม ที่มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในท้องถิ่นมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงดำเนินไปทำนองเดียวกับวิวัฒนาการของวัฒนธรรมนั่นเอง ในกรณีของการกำเนิดการเขียนนวนิยายในสังคมที่อยู่นอกศูนย์กลางหรือรอบนอกของระบบโลก การเกิดขึ้นของการเขียนนวนิยายสมัยใหม่ไม่ได้เกิดจากพัฒนาการอันเป็นอิสระของตนเอง คือการที่อำนาจครอบงำของชนชั้นตามประเพณีเช่นฟัวดัลศักดินาได้เริ่มเสื่อมคลายลง ในขณะที่เปิดช่องทางให้แก่การสร้างและเสนอความคิดก้าวหน้าและในรูปแบบที่แหวกจากกรอบธรรมเนียมโบราณของชนชั้นกระฎุมพีได้ด้วย ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสังคมนอกตะวันตก เช่น อาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์ไม่ได้ปลูกฝังและทำเครื่องประกอบให้แก่การเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีอย่างเป็นกิจลักษณะไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้การก่อรูปและนำเสนอวรรณกรรมแบบใหม่จึงต้องมาจากอีกหนทางหนึ่ง นั่นคือมาจากผลพวงของการประนีประนอมระหว่างอำนาจและอิทธิพลของตะวันตกกับความเป็นจริงในท้องถิ่น ในกรณีนี้ได้แก่รูปแบบการเขียนนวนิยายแบบของตะวันตก (ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ) กับเนื้อหาวัตถุของเรื่องที่เป็นท้องถิ่นหรือพื้นเมือง นั่นคือมาจากการสมยอมกันของรูปแบบต่างประเทศกับวัตถุดิบในท้องถิ่น (foreign form and local materials)  การมองจากทฤษฎีดังกล่าวทำให้ได้ข้อสรุปที่ต่างไปจากความเชื่อของนักวิชาการวรรณคดีทั่วไปว่า รูปแบบวิวัฒนาการของนวนิยายแบบตะวันตกนั้น เป็นข้อยกเว้นไม่ใช่กฎทั่วไปที่สามารถนำไปใช้อธิบายกำเนิดนวนิยายในสังคมประเทศนอกตะวันตกได้อย่างไม่มีปัญหา (Moretti 2000;58) นั่นคือกำเนิดนวนิยายแบบตะวันตกไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมนอกตะวันตก และการเกิดขึ้นของนวนิยายในประเทศนอกตะวันตกก็ไม่จำเป็นต้องมาจากอิทธิพลของตะวันตกแต่ถ่ายเดียว ภายใต้ความคิดแบบลัทธิอาณานิคม การคิดและเขียนนวนิยายโดยคนอาณานิคมเองไม่อาจทำได้ นอกจากต้องได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกเท่านั้น แนวทางการศึกษา จึงพยายามศึกษาตามรูปแบบวิธีการของนวนิยายแบบของยุโรปให้ได้ การเปรียบเทียบอย่างเลียนแบบง่ายๆ จึงไม่มีประโยชน์และไม่อาจทำให้เราเข้าใจกำเนิดและพัฒนาการของนวนิยายในสังคมนอกตะวันตกเช่นไทยได้อย่างแท้จริง4

ผลสะเทือนที่วรรณกรรมสมัยใหม่จากตะวันตกให้แก่ปัญญาชนเอเชียคือการเชื่อว่า งานเขียนแบบใหม่นี้ “จะมีผลสะเทือนถึงอิสรภาพและการให้ชีวิตใหม่ที่มีพลังแก่สังคมและประเทศชาติ” บทความของหลู่ซิ่นยุคแรกสะท้อนแนวคิดของลัทธิโรแมนติคที่ให้น้ำหนักแก่อัจฉริยะภาพของปัจเจกชนผู้ต่อมาจะสามารถดึงดูดจินตนาการของคนหนุ่มสาวรุ่น 4 พฤษภา เมื่อถึงเวลานั้นหลู่ซิ่นเองได้สูญเสียความคิดแบบสุนิยมที่มองโลกอย่างเต็มไปด้วยความหวังลงไปมาก ความรู้สึกอันเต็มไปด้วยความร้อนแรงของปัจเจกชนนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการค้ำจุนญาณทรรศน์ (vision) ของโลกแบบโรแมนติคเอาไว้


ตัวแทนของความเปลี่ยนแปลง

ชัดเจนว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ที่มาถึงโลกที่สาม ได้สร้างความรับรู้และเชื่อมั่นในพลังของสามัญชน โลกสมัยใหม่ที่มีลักษณะทั่วไปอันเหมือนกัน สัจธรรมของความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นนิรันดร์ “การเปลี่ยนแปลงที่สร้างให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นในสังคมและในหมู่ประชาชน เหมือนกับลูกธนูที่ถูกยิงออกจากไป กาลเวลามีแต่วิ่งไปยังจุดหมายข้างหน้า สำหรับมวลมหาประชาชน พวกเขาและเธอมีเวลาอยู่ฝ่ายตนอีกมาก ดังนั้นพวกเขาจึงรอคอยได้”(เสนีย์ เสาวพงษ์ ปีศาจ น. 125)

ในฝ่ายของประชาชน มีคนรุ่นใหม่ที่ช่วยสร้างแผ้วถางทางให้ คนเหล่านี้และประชาชนจึง “เป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่าความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว..."

ปีศาจตนนี้ทำลายไม่ได้ เพราะมันอยู่ใน "เกราะกำบังแห่งกาลเวลา" มิติสมัยใหม่ของวรรณกรรมประชาชนคือการมีเวลาอันไม่สิ้นสุดเป็นของพวกตน พวกเขาเป็นพลังใหม่ที่มาทีหลัง การเติบใหญ่ การรอคอยและการเก็บเกี่ยวผลพวงของการเคลื่อนไหวต่อสู้จึงดำเนินไปเหมือนกับดวงอาทิตย์ที่เริ่มทอแสงในยามเช้า แล้วค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้า ความร้อนแรงมากขึ้น พลังของการปะทะกันระหว่างพลังใหม่กับพลังเก่านั้น ไม่ได้อยู่ที่ถ้อยคำอันดุเดือดหนักหน่วง หรือการเสียดสีกันระหว่างตัวแทนของสองชนชั้นสองฐานะสังคมและสองวัยเท่านั้น หากความดึงดูดกินใจของวรรณศิลป์อยู่ในสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาโดยตรงของตัวละครเหล่านั้นต่างหาก ความอันไม่ได้พูดเหล่านั้นเองที่เดินทางไกลต่อมาอีกกว่า 3 ทศวรรษ เพราะมันเป็นความจริงที่มีชีวิตไปแล้ว เป็นความจริงที่น่ากลัวเหมือนปีศาจ ที่คนจำพวกหนึ่งไม่อยากไม่ต้องการเห็นมันเกิดขึ้น แต่มันก็จะต้องเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว

นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างความงามกับเนื้อหาและรูปแบบ ในอีกมิติหนึ่งมันคือสัมพันธภาพระหว่างประวัติศาสตร์กับวรรณกรรม และระหว่างโลกเก่ากับโลกสมัยใหม่ ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ น่าสนใจอีกประการคือผลพวงจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของประเทศและรัฐโลกที่สามนั้น มีความยากลำบากอย่างยิ่งในการสถาปนาความเป็นเอกภาพและสุนทรียภาพของงานทางศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ให้ได้อย่างมีความลงตัวทั้งในทางรูปแบบและอารมณ์ความคิดไปถึงปรัชญาของมัน ผลงานจำนวนไม่น้อย (อาจส่วนมากด้วย) กลายเป็นงานล้าสมัย ตกยุค ไร้พลังและจินตนาการไปทันทีที่สร้างเสร็จ เหมือนกับระบบการปกครองและการเมืองที่เรียกว่าประชาธิปไตย ทันทีที่มีการปฏิบัติ มันก็เสื่อมทรามลงไปแทบจะในนาทีนั้นทันที มันเกิดอะไรขึ้นกับคนและสังคมในโลกที่สามหรือ

วรรณกรรมสมัยใหม่ของจีน สะท้อนให้เห็นถึงหนทางอันขรุขระและยอกย้อนของประเทศโลกที่สาม ในการหาทางและวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศของตนให้พัฒนายกระดับจากความล้าหลังและไม่ก้าวหน้า ขึ้นไปสู่ระดับสมัยใหม่เทียบหน้าได้กับอารยะประเทศแบบตะวันตก หนทางใหญ่ๆ ก็คือการปฏิรูปและการปฏิวัติ จีนใช้ทั้งสองอย่าง ได้รับผลในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวหนทางทั้งสองพิสูจน์ถึงข้อจำกัดและผลสะเทือนข้างเคียงที่ไม่อาจคาดการณ์และควบคุมได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของความต้านตึงระหว่างของเก่ากับของใหม่ พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางสังคมเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือวรรณกรรมและภูมิปัญญาของคนรุ่นใหม่ สิ่งหนึ่งที่ความเป็นสมัยใหม่นำมาได้แก่การตื่นตัวของจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ ปัญหาคือปัญญาชนเหล่านี้จะแสวงหาหนทางและคำตอบของความขัดแย้งทางสังคมจากที่ไหนและด้วยเนื้อหาอะไร

หลู่ซิ่นและเหมาเจ๋อตงเช่นเดียวกับบรรดาปัญญาชนอื่นๆ ในเอเชียในยุคสมัยดังกล่าว ค้นพบแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจทางความคิดที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะคือจากตะวันตก แต่การรับความคิดตะวันตกก็ไม่ใช่การรับอย่างซึ่งๆ หน้าและอย่างหลับหูหลับตาแบบด้านเดียว กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางปัญญา ซึ่งรวมถึงความรู้ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทั้งหมดนั้น ดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีทั้งการวิพากษ์ของเก่า เชิดชูของใหม่ ต่อมาก็วิพากษ์ของใหม่และยกย่องของดั้งเดิม นี่คือการพัฒนาไปของโครงสร้างทางอารมณ์แบบหนึ่ง

เมื่ออ่านประวัติของหลู่ซิ่นถึงตอนนี้ ผมรู้สึกว่าความหมดหวังอึดอัดของตนเองและบรรดานิสิตนักศึกษารุ่นก่อน 14 ตุลานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่ความโดดเดี่ยวสิ้นหวังของเราคนเดียว ชีวิตและงานของหลู่ซิ่นเป็นเสมือนแสงเทียนที่ช่วยให้ความสว่างในยามนั้นได้อย่างดี โดยเฉพาะวิธีคิดของเขาที่ในที่สุด ทัศนะด้านมองโลกในแง่ดีที่ให้โอกาสกับการเปลี่ยนแปลง ให้ความหวังแม้จะไม่สดใสและวาววับก็ตามยังมีอยู่ให้รู้สึกได้ ในความมืดในความเงียบและในความหนาวเย็น แสงเทียน แม้วอบแวมก็ช่างสว่างไสวและอบอุ่นเหลือกระไร

"ในความมืดสลัวนั้น เบื้องหน้าข้าพเจ้าปรากฏผืนดินชายทะเลที่มีไร่แตงโมขึ้นเขียวขจี ท้องฟ้าสีครามแก่ ข้างบนมีจันทร์เพ็ญสีทองดวงหนึ่งลอยเด่นอยู่ ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่าความหวังที่แท้จริงหาได้เป็นสิ่งที่ "มี" และก็หาได้เป็นสิ่งที่ "ไม่มี" ไม่ มันก็เป็นดุจดั่งทางบนพื้นแผ่นดิน บนผืนดินนี้แต่ก่อนก็ไม่มีทาง เมื่อมีคนเดินกันมากขึ้น ก็กลายเป็นทางขึ้นมาเอง"6

สองวรรคสุดท้ายของ "บ้านเกิด" ที่พูดถึง "ทาง" นั้น เป็นยาสมุนไพรขนานวิเศษสุด ที่ผมได้รับในตอนนั้น ที่ช่วยเยียวยาและให้พลังอย่างอ่อนๆ แก่หัวใจที่กำลังจะมืด เมื่อนึกถึง "บ้านเกิด" ผมก็ระลึกถึง "ทาง" ขึ้นมาก่อนทุกที แม้ในระยะเวลาปัจจุบัน ที่ "ทาง" และความหวังใหม่ของหลู่ซิ่นและคนร่วมสมัยได้ถากถางสร้างขึ้นมาอย่างยากเย็นจะล่มสลายกลายเป็น "ทางชำรุด" ไป ผมก็ยังมีความรู้สึกที่ดีกับ "ทาง" เพราะมันได้เป็นเพื่อนทางใจและทางความคิดที่ดีต่อผม

มันเป็น "ทาง" ของผมด้วยเหมือนกัน

บรรจง บรรเจิดศิลป์ เขียนถึง "ทาง" ของหลู่ซิ่นเมื่อปี พ.ศ.2527 ไว้อย่างน่าศึกษาว่า หลู่ซิ่นสร้างประวัติศาสตร์ซึ่งเขาเป็นผลผลิตของมันด้วย โดยการให้คำตอบว่า "ทางคืออะไร"

"คือสิ่งที่ถูกเหยียบย่ำออกมาจากที่ที่ไม่มีทาง คือสิ่งที่ถูกถาก ถางออกมาจากที่ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ก่อนเคยมีทาง แล้วต่อไปก็ควรจะมีทางด้วย"

ข้อคิดอันแหลมคมของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ อยู่ที่การสังเคราะห์ความคิดและประสบการณ์เสียใหม่--ซึ่งก็คือการสร้างทางนั่นเอง--ด้วยการกล่าวว่า "เป้าหมายอะไร ในโลกนี้อาจจะมีได้เพียงอันเดียว แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีแต่ทางเดียวเท่านั้นที่จะไป ถึงได้...ดังนั้นผู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างสง่า ก็ควรจะเป็นผู้ที่มีความอาจหาญ เหยียบย่ำทางของตนเองออกมา ผู้ที่จะชนะนั้นก็ย่อมจะเป็นผู้ที่มีความมั่นใจว่า ในโลกนี้ไม่มีเส้นทางที่จะเดินได้เพียงเส้นทางเดียว."7


วรรณกรรมรัสเซียและสหรัฐฯ : มนุษยภาพของคนผิวดำ

หนังสือกบฏวรรณกรรม แม้จะเขียนและสะท้อนอารมณ์ความคิดของคนเอเชียเป็นใหญ่ แต่ก็ไม่ได้จำกัดการศึกษาไว้เท่านั้น ผมได้ขยายขอบเขตของการศึกษาออกไปยังแหล่งวรรณกรรมที่สำคัญของโลกอีกสองแห่งด้วย นั่นคือวรรณกรรมรัสเซียและอเมริกาซึ่งมีรากและพัฒนาการที่ร่วมกับของวรรณกรรมตะวันตกมากกว่าของทางตะวันออก ในขณะทีรัสเซียประสบความสำเร็จในการปฏิวัติเปลี่ยนสังคมใหม่ งานวรรณกรรมมีการต่อสู้ในทางปรัชญาและภูมิปัญญาหนักหน่วงมาก

ดอสโตเยฟสกี้เป็นนักชาตินิยมรัสเซียออโธดอกซ์ เขาถือว่าชีวิตมนุษย์ นั้นดำมืดและเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม มนุษย์มีเหตุผลเพียงน้อยนิดเท่านั้น ชีวิตมนุษย์จึงเต็มไปด้วยบาป ความทุกข์ และการสารภาพบาป ดอสโตเยฟสกี้มี ความคิดแบบทุนิยม(pessimism) และย้ำว่าคนเราจะล้างบาปได้โดยผ่านความทุกข์ เขาจึงแตกต่างอย่างตรงข้ามกับลัทธิคอมมิวนิสม์สมัยสตาลินที่เชื่ออย่างสุดขั้วเหมือนกัน ในสุนิยมของโลกภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์

น่าสนใจคือทั้งดอสโตเยฟสกี้และสตาลินต่างยกย่องในความสำคัญของคนรัสเซียว่าเป็นทางออกให้แก่การปลดปล่อยมวลมนุษยชาติเหมือนกัน ดอสโตเยฟสกี้ ถือว่าคนรัสเซียเป็นเสมือนชาติที่แบกรับภารกิจของพระเจ้า (narod bogonosets) ภารกิจซึ่งคนตะวันตกไม่อาจแบกรับและทำได้อีกต่อไป เขามองว่าตะวันตกนั้นเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์และบกพร่อง เขาเห็นการใช้ความรุนแรงและสงครามมากมายในยุโรป และเทียบกับรัสเซียในอุดมคติที่เต็มไปด้วยความรักฉันญาติพี่น้อง แปลกที่ดอสโตเยฟสกี้มองไม่เห็นว่ามีไม่กี่รัฐในยุโรปที่ใช้ความรุนแรง ในการปกครองและกดขี่ราษฎรของตนมากเท่าระบบซาร์ของรัสเซีย

ดอสโตเยฟสกี้มีความเชื่อเหมือนพวกนิยมสลาฟคนอื่นๆ ว่ายุโรปซึ่งเป็นผลิตผล ของกรีกโรมันและวิญญาณของลัทธิเหตุผลนิยมของคาทอลิกและลัทธิปัจเจกชนโปรเตสแตนท์ จะต้องถึงจุดจบในความขัดแย้งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ระหว่างชนชั้นและเชื้อชาติต่างๆ และการเพิ่มขึ้นของความคิดมิจฉาทิฐิ ความสงสัยและไร้ซึ่งศรัทธา ทั้งหมดอยู่ในประวัติศาสตร์และความคิดของยุโรปเอง นี่เองที่ทำให้คนยุโรปถึงต้องสร้างหลักประกันในการป้องกันตนเองจากความโลภในอำนาจของพวกเขากันเอง เครื่องมือหรือหลักประกันในการคุ้มครองคนตะวันตกก็คือระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญนั่นเอง

อนาคตรัสเซียจึงอยู่ที่ตัวของรัสเซียเอง ในขณะที่ยุโรปพัฒนาจากการปฏิวัติและสงครามกลางเมืองอันนองเลือดเพื่อจะทำลายยกเลิกระบบทาส รัสเซียสามารถยกเลิกได้ด้วยสันติวิธี คุณสมบัติของรัสเซียเองที่ป้องกันไม่ให้เกิดความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติขึ้น ดังนั้นอนาคตของการเปลี่ยนแปลงในรัสเซียจึงไม่อาจดำเนินไปในทิศทางของยุโรป กล่าวคือรัสเซียจะไม่สร้างสังคมที่แตกแยก แต่รัสเซียจะต้องสร้างสังคมของตนเองที่สมบูรณ์ที่สุด หรือไม่ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้เลย รัสเซียจะต้องบรรลุถึงความยุติธรรมที่สัมบูรณ์และจะต้องทำในเร็ววันด้วย อีวาน คารามาซอฟ ตัวละครเอกในเรื่อง "พี่น้องคารามาซอฟ" สะท้อนความคิดอันนี้ของ คนหนุ่มสาวด้วยการกล่าวว่า

"ฉันจะต้องได้รับความยุติธรรมหรือไม่ฉันก็จะทำลายตัวเอง ไม่ใช่ความยุติธรรมในกาลเทศะอันห่างไกล หากจะต้องมีอยู่ในโลกนี้ และที่ฉันจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตัวของฉันเอง"

ในทรรศนะของนักนิยมสลาฟและในสายตาของคนหนุ่ม รัสเซียถูกกำหนดชะตากรรม ให้เป็นแบบจำลองของประเทศ "สังคมนิยม" ประเทศซึ่งปัญหาสังคมจะต้องถูกแก้ไขให้หมดสิ้นไปด้วยมือมนุษย์ในโลกนี้

ส่วนของสหรัฐฯ การต่อสู้ที่เข้มขนนี้ตกเป็นภาระของคนผิวดำ ซึ่งดำรงชีวิตอย่างขัดแย้งกับคนอเมริกันผิวขาวและสังคมมายาวนาน ทำให้ความลุ่มลึกและเข้มข้นของโครงสร้างทางอารมณ์ของคนผิวดำมีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนใครอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่านักเขียนแอฟริกันอเมริกันสามารถใช้ขนบจารีตวรรณกรรมตะวันตกในการต่อกรกับระบบกดขี่ขูดรีด การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวไปถึงความอยุติธรรมของระบบกฎหมายอเมริกันได้อย่างทัดเทียม และมีความถึงพร้อมทางวรรณศิลป์อย่างหาคนนอกเทียบได้ยาก ความงามในวรรณกรรมของการต่อสู้ของประชาชนเกิดได้ เพราะเป็นการต่อสู้ของภูมิปัญญา แม้การต่อสู้นั้นภายใต้รัฐและสังคมที่เข้มแข็งยิ่ง แต่วรรณกรรมสามารถก่อรูปและเติบใหญ่ขึ้นมา ดังเช่นการเกิดขึ้นของวรรณกรรมระดับโลกของนักเขียนผิวดำหลายคน ทั้งหมดเป็นการตอบโต้ลัทธิเหยียดผิวและนำเสนอมิติที่ก้าวหน้าของมนุษยภาพของคนผิวดำได้อย่างองอาจ ไปถึงการให้ความหมายแก่วรรณกรรมกับการเมืองที่ไม่เดินไปตามกระแสฝ่ายซ้ายทั่วไปได้

ราล์ฟ เอลลิสัน เป็นนักเขียนผิวดำที่โด่งดังและมีจุดยืนและความคิดทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบกับความคิดเรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทยซึ่งมีการเมืองนำ เขาไม่ปฏิเสธบทบาททางการเมืองของวรรณกรรม เขากล่าวว่า “การประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะทั้งหลาย โดยที่มันไม่จำเป็นต้องปรากฏในรูปแบบที่พูดเพื่อจุดหมายทางการเมืองหรือสังคมอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้” (protest is an element of all art, though it does not necessarily take the form of speaking for a political or social program) นอกจากความคิดการเมืองแล้ว เขายังมีความรู้สึกของการเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างเต็มที่ด้วย ความเชื่อนี้ทำให้เขาอดไม่ได้ที่จะพยายามทำให้ตัวละครของเขาต้องมีหน้าที่ของพลเมืองที่ดีของสาธารณรัฐอีกด้วย พูดอย่างเจาะจงก็คือ เอลลิสันเชื่อว่า นักเขียนควรเกี่ยวข้องกับการสร้างบุคลิกของตัวละครที่มีสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยด้วย หากเราเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย

นักเขียนสตรีนามโซรา นีล เฮอร์สตัน สร้างงานเขียนที่วิพากษ์และเสนอทฤษฎีใหม่ให้แก่วรรณกรรมเพื่อชีวิตของคนและสังคมโลกที่สามอย่างมีน้ำหนักยิ่ง ด้วยการกลับไปใช้ภาษาพูดของคนดำในการเดินเรื่อง ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่านักวิชาการรุ่นโพสต์โมเดิร์นจะค้นพบวรรณกรรมล้ำสมัยของโซรา ผมได้ข้อคิดที่จะตอบคำถามแต่แรกว่า ทำไมศิลปวัฒนธรรมของโลกที่สามถึงไม่อาจท้าทายและเทียบความยิ่งใหญ่กับของโลกตะวันตกได้ สมมติฐานของผมก็คือ หากองค์ความรู้และการปฏิบัติความรู้ทั้งหลายสามารถกระทำได้โดยผ่านมุขปาฐะหรือการพูดการแสดงการสื่อหลากหลายรูปแบบโดยไม่ใช่ผ่านภาษาอักษรตัวเขียนเพียงอย่างเดียว เมื่อนั้นโลกที่สามมีโอกาสจะสามารถหลุดพ้นและสร้างความเป็นอิสระความเป็นตัวของตัวเองในทางภูมิปัญญาความรู้ที่เป็นมรดกและการปฏิบัติทางสังคมของตนเองกันขึ้นมาได้ งานเขียนของโซราที่น่าตื่นเต้นก็อยู่ตรงนี้เอง นั่นคือเธอได้นำเสนอรูปแบบและวิธีวิทยาโดยผ่านภาษาพูดของคนพื้นบ้านคนดำในสหรัฐฯ ในการแสวงหาและค้นหาตัวตนของเจนนี่ ครอฟอร์ด นั่นคือองค์ความรู้ที่เป็นแอฟริกันอเมริกันออกมา นั่นคือมนุษยภาพของคนผิวดำ

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

.......................................................

 

1 บรรจง บรรเจิดศิลป์, "ความงามของชีวิตและความงามของศิลป" ใน ทีทรรศน์นักประพันธ์ (เชียงใหม่, ชมรมวรรณศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2518), หน้า 159
2 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วรรณกรรมในชีวิต: ชีวิตในวรรณกรรม (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, 2539).
3 ดอนกิโฆเต้ ใช้เวลานานมากกว่าจะมีการแปลเป็นภาษาไทยอย่างสมบูรณ์ ฉบับทางการแรกตีพิมพ์ในปี พศ. 2549 โปรดดู ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ แปล (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, 2549)
4 ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ “ปริศนาข้างหลังภาพของ "คณะสุภาพบุรุษ" ใน กาญจนี ละอองศรีและธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บก. กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์ (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน, 2544).
5 ผมอ่านชีวประวัติและวรรณกรรมของหลู่ซิ่นในขณะที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ นิวยอร์ก สหรัฐฯ ในช่วงเวลาหลังจากจอมพลถนอม กิตตาขจรกับคณะได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514. บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ในวาระครบรอบ 20ปีเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปรับปรุงแก้ไขใหม่ในวันที่ 19 กันยายน 2553 พ.ศ. อันเป็นวันครบรอบ 4 ปีของการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549.
6 ปรับปรุงใหม่จากบทแปลของพิศวง พงษ์ปริทัศน์ใน ลอมฟาง 2514 พิมพ์ซ้ำใน บันทึกของคนบ้า, กลุ่มชนบทเพื่อชีวิต มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2519
7 บรรจง บรรเจิดศิลป์, วรรณวิจารณ์ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มติชน, 2538.)