Skip to main content

 

 

คดีประวัติศาสตร์นี้คือคดีที่ฮัจญีสุหลงกับพวกถูกฟ้องในข้อหา “ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก”  คดีประวัติศาสตร์ของฮัจญีสุหลงนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะด้านหนึ่งเป็นคดีแรกที่ขัดแย้งและต่อสู้กันในประเด็นว่าด้วย “สิทธิมนุษยชน” ก่อนที่แนวคิดและทฤษฎีเรื่องสิทธิมนุษยชนจะรู้จักและมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทย  และที่สำคัญยิ่งคือก่อนที่วาทกรรมว่าด้วยการ “แบ่งแยกดินแดน” จะถูกสร้างขึ้นและนำมาใช้ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

หลังจากอัยการดำเนินการฟ้องร้องฮัจญีสุหลงกับพวกในข้อหาข้างต้นแล้ว  เห็นได้เลยว่า คดีนี้มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูงมาก จนศาลปัตตานีต้องร้องขอต่อประธานศาลฎีกา ขอให้ย้ายการพิจารณาคดีหะยีสุหลง (เขียนแบบทางการสยามไทย)ไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพราะนายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ “เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีชาวอิสลามเป็นพรรคพวกและเป็นศานุศิษย์เป็นจำนวนมากในจังหวัดปัตตานี” และ “ระหว่างสอบสวนก็ได้มีพรรคพวกชาวอิสลามส่วนมากแห่งท้องถิ่นชุมนุมเป็นจำนวนมาก” เกรงว่าจะเกิดความไม่สงบ และขัดขวางความเรียบร้อยแก่การพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานีได้
 

ฮัจญีสุหลง ภาพจากมติชนออนไลน์

ประการที่สอง น่าสังเกตว่าเมื่ออัยการโจทย์นำคดีฟ้องร้องฮัจญีสุหลงยื่นต่อศาลนั้น ในคำฟ้องระบุอย่างชัดเจนว่า ฮัจญีสุหลงและสานุศิษย์ของเขาที่ถูกฟ้องนั้นล้วนมีเชื้อชาติไทยและสัญชาติไทย  เมื่อเปรียบเทียบกับคนส่วนน้อยอื่นๆ ในประเทศไทย จะพบว่ารัฐไทยต้องการและให้ “สัญชาติไทย”และ “ความเป็นไทย” แก่คนมลายูมุสลิมอย่างเต็มที่มากที่สุด ไม่เคยตั้งแง่ว่าพ่อแม่ไม่มีหลักฐานถูกต้องหรือเกิดนอกประเทศอะไรทั้งสิ้น  ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่าคนมลายูมุสลิมสามจังหวัดมีบรรพบุรุษเกิดและอยู่ในดินแดนตรงนั้นมายาวนานกว่าคนไทยแท้ๆ ในอีกหลายจังหวัดรวมทั้งในกรุงเทพมหานครเสียอีก 

ประการที่สาม เมื่อหะยีสุหลงกับพวกเป็น “คนไทย” ร้อยเปอร์เซนต์แล้ว ศาลจึงต้องลงโทษที่บังอาจกระทำการลบหลู่ดูหมิ่นรัฐบาลและข้าราชการของแผ่นดิน  เพราะศาลอ้างว่าคนไทยพึงร้องเรียนด้วยความสงบและเรียบร้อย ไม่ควรทำอะไรที่เป็นการกระทบกระเทือนผู้ใหญ่  ข้อหาที่ฟ้องร้องฮัจญีสุหลงกับพวกคือ “ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก”1

อัยการไม่ได้ระบุชัดๆ ว่า มีการกระทำอันเป็นการ “แบ่งแยกดินแดน” แม้มีข้อความที่ใกล้เคียงแต่ไม่เหมือนกันคือ กล่าวว่า “ให้เปลี่ยนแปลงประเพณีการเมืองของประเทศไทย แบ่งแยกอธิปไตยและราชอาณาจักรใน 4 จังหวัด” คำพิพากษาระบุว่าการกระทำของหะยีสุหลงกับพวกเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวคือ

  1. ฮัจญีสุหลงประชุมปลุกปั่นราษฎรที่สุเหร่าปรีกี ตำบลกระโด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ให้เกิดความดุหมิ่นต่อรัฐบาลและราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชน 
  2. มีการพิมพ์หนังสือฉันทานุมัติ เพื่อให้ราษฎรลงนามอันมีข้อความที่จะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน หนังสือนี้จะส่งไปให้ตนกูมะไฮยิดดิน
  3. มีแผนการใช้กำลังแห่งกองโจร (หน่วยเกอริลลาร์) กระทำการปล้นสดมภ์และก่อวินาศภัยใน 4 จังหวัด
  4. ไปชักชวนชาวมลายูให้ลงลายมือชื่อกับเป็นตัวแทนทำการเรี่ยไรเงินจากภายนอกประเทศ 

ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักฐานแล้วตัดสินว่าข้อหาแรกไม่มีหลักฐานเพียงพอ ว่าจะมีการตระเตรียมทำการเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีการปกครองพระราชอาณาจักร 4 จังหวัด แต่ในข้อหาที่ 2 นั้น การทำใบมอบฉันทานุมัตินี้ แม้ไม่ผิด เพราะจะนำไปมอบให้ตนกูมะไฮยิดดิน (บุตรชายคนสุดท้องของเจ้าเมืองปาตานีคนสุดท้ายก่อนถูกสยามรวมศูนย์) ซึ่งจะเข้าไปกรุงเทพฯ เพื่อจะเจรจากับรัฐบาล แต่ที่ผิดคือข้อความในหนังสือนั้นละเมิดกฎหมาย เพราะ “เป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความดูหมิ่นรัฐบาลและข้าราชการแผ่นดิน ทั้งได้ทำให้ปรากฏแก่ราษฎรแล้ว นายหะยีสุหลงจำเลยก็ต้องมีความผิดฐานขบถภายในพระราชอาณาจักรตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 104 ...” จึงพิพากษาลงโทษจำเลยคนละ 3 ปี

ประการที่สี่ ต่อคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานขบถนั้นเป็นประเด็นที่น่าสงสัยและงุนงงยิ่ง ก็ศาลเองบอกแล้วว่าหลักฐานในข้อกล่าวหาแรกไม่มีน้ำหนัก ส่วนข้อที่สองก็เป็นแค่การดูหมิ่นรัฐบาลและข้าราชการ อย่างมากก็น่าจะลงโทษฐานดูหมิ่นอะไรทำนองนั้น  ทำไมถึงกลายเป็น “ขบถ” ไปได้? แม้หลักฐานที่อ้างถึงก็ไม่หนักแน่นเพียงพอ เช่นการ “กล่าวด้วยวาจาแก่คนทั้งหลายใน(สุเหร่า) ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน และให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลและราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชน โดยนายหะยีสุหลงจำเลยได้กล่าวปลุกใจคนทั้งหลายในที่นั้นให้ระลึกถึงเชื้อชาติมลายู และให้มีความรักเชื้อชาติมลายูโดยแรงกล้า และนายหะยีสุหลงจำเลยได้กล่าวว่ารัฐบาลไทยปกครองชาวมลายูใน 4 จังหวัดประมาณ 40 ปีแล้ว ไม่ได้กระทำประโยชน์และบ้านเมืองให้ดีขึ้น เช่นโรงเรียนก็เหมือนเล้าไก่ เป็นที่เย้ยหยันของคนทั่วไป ฯลฯ” 2  ทั้งหมดนั้นหากพิจารณาในปัจจุบันก็น่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาท ไม่น่าจะโยงไปถึงการกระทำอันเป็นกบฏภายในและภายนอกได้ 

ต่อปัญหาและความสงสัยนี้ ผมได้รับคำอธิบายและแนะนำหลักฐานเพิ่มเติมจากคุณเด่น โต๊ะมีนาบุตรชายคนสุดท้องของฮัจญีสุหลง ซึ่งชี้แจงว่าในสมัยนั้นยังมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาฉบับแรกที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้ร่างขึ้นมาในกระบวนการปฏิรูปกฎหมายไทยให้ทันสมัยเหมือนประมวลกฎหมายของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ที่น่าสนใจอีกเช่นกันคือประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ. 127 นั้นลอกมาจากประมวลกฎหมายอาญาของอังกฤษที่ใช้ในอินเดียอยู่  การใช้ประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ.127 มาตรา 104 ทำให้ศาลสามารถตีความพฤติกรรมจำนวนมากที่แม้เป็นการดูหมิ่นรัฐและข้าราชการ ว่าเข้าข่ายการกระทำอันเป็นการทำลายและก็คือกบฏต่อรัฐไทยได้ทั้งนั้น นี่คือคำพิพากษาของศาลในประเด็นที่ว่านี้ “การที่จำเลยกล่าวในที่ประชุม ณ สุเหร่าปรีกีนั้น จะถือว่าจำเลยกระทำไปโดยสุจริตอยู่ภายในขอบเขตตามที่ว่าไว้ในตอน 2 ของมาตรา 104 ไม่ได้ เพราะจำเลยกล่าวใส่ร้ายรัฐบาลลับหลัง เพื่อหวังให้ผู้ฟังเกลียดชังรัฐบาล และนิยมชมชื่นในกูดิง (คือตนกูมะไฮยิดดิน-ผู้เขียน) ซึ่งจำเลยเสนอมาเป็นผู้ครอบครอง 4 จังหวัด ที่จำเลยกล่าวว่าคนไทยปกครองมา 40 ปีแล้ว ไม่เห็นมีประโยชน์และทำอะไรให้สำเร็จสักอย่าง โรงเรียนเหมือนเล้าไก่นั้น เป็นข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความดูหมิ่นรัฐบาล และราชการแผ่นดินได้ การกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดตามมาตรา 104 ข้อ ก.”

ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ยื่นฟ้องอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษจำเลยให้หนักเต็มที่ตามการฟ้อง ทั้งนี้อัยการให้เหตุผลว่า หลักฐานแสดงว่าจำเลยเตรียมการเพื่อเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองราชอาณาจักรใน 4 จังหวัดภาคใต้ “โดยมุ่งหมายที่จะสถาปนาชาติมะลายูให้เป็นอิสระ รวมดินแดน 4 จังหวัดเป็นแคว้นของมะลายู มีประมุขครอบครอง 4 จังหวัดนั้น โดยให้มีอำนาจเต็มและติดต่อกับต่างประเทศได้ด้วย ประมุขนี้ได้เตรียมไว้แล้ว ได้แก่ตนกูมะฮิยิดดิน...เป็นบุตรพระยาเมืองปัตตานี ซึ่งได้เคยก่อการขบถที่จังหวัดปัตตานีแล้วหลบหนีไปอยู่ที่เมืองกลันตัน”  เพื่อให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น คราวนี้อัยการฝ่ายโจทก์จึงขอให้พิจารณาหลักฐานอื่นเพิ่ม ตรงนี้เองที่ข้อเขียนของ บาร์บารา วิททิงนั่ม โจนส์ นักข่าวสาวชาวอังกฤษผู้เดินทางไปพบหะยีสุหลงที่ปัตตานี กลายเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แสดงถึงการโจมตีข้าราชการและรัฐบาลไทย ทั้งบทความนี้ยังตีพิมพ์ในต่างประเทศและถูกขยายต่อไปในหนังสือพิมพ์มลายูอื่นๆ อีก

ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยซึ่ง “เป็นชนชาวไทยตามกฎหมาย...ได้ทั้งสิทธิเสรีภาพทางการเมือง การนับถือศาสนาและอื่นๆ ...หากจำเลยมีจิตใจเขวไปในอันที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่ซึ่งชาติมลายูในดินแดนไทย จึงมองการปฏิบัติของรัฐบาลไปในแง่ร้ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน.....” จึงพิพากษาตัดสินลงโทษจำเลยหนักขึ้นตามที่โจทก์ได้ฟ้องอุทธรณ์ คราวนี้ผลออกมาว่า ฮัจญีสุหลงกระทำการอันเข้าข่ายเป็นขบถสมตามคำฟ้องของอัยการ ที่น่าสนใจคืออัยการและศาลอุทธรณ์หันมาใช้ “คำร้องขอ 7 ข้อ” เป็นหลักฐานเอกในการพิจารณาความผิดของจำเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วว่า “คำร้องขอ 7 ข้อ” นั้นเป็นการเจรจากับรัฐบาลกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่แผนการณ์ในการทำการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองแต่อย่างใด แต่ศาลอุทธรณ์พิจารณาอย่างตรงกันข้ามเลย  โดยอ้างคำขอข้อที่ 1  ในการเชื้อเชิญให้มะไฮยิดดินมาเป็นผู้นำ 4 จังหวัด  ศาลอุทธรณ์สามารถหาความผิดให้แก่คำร้องขอ 7 ข้อได้นั้น ก็ด้วยการนำเอาข้อเขียนของมิสโจนส์ ที่กล่าวถึงความทารุณต่างๆ ในสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการเมืองอันมีการกระทำมุ่งหวังจะให้คนคล้อยเชื่อตามนั้น จนอาจจะต้องใช้การต่อสู้ของประชาชนตามมาเป็นพยานหลักฐานหนึ่งในการลงโทษ

ประการที่ห้า ตรรกะของศาลไทยสมัยโน้นคือการหาว่าฮัจญีสุหลงและพวกกระทำการ “นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย” อย่างไรบ้าง  กิจกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าการทำพิธีในมัสยิด การกล่าวในที่ประชุมของชาวบ้านของจำเลยถูกนำมาทำให้เป็น “การเมือง” (อันมีความหมายว่าต่อต้านรัฐบาลและข้าราชการ) ในทรรศนะของรัฐไทยไปหมด ที่น่าสนใจยิ่งก็คือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ในภาษาของศาลสมัยนั้นเรียกว่า “สิทธิเพื่อได้รับมนุษย์ธรรม”หรือ “สิทธิมนุษย์ธรรม” ของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้นั้น ก็เป็นการกระทำที่ “นอกเหนือรัฐธรรมนูญ” สมัยนั้นไปด้วย 

ประเด็นนี้น่าสนใจมากเมื่อมองกลับไปจากจุดยืนของปัจจุบัน นั่นคือการเคลื่อนไหวเรียกร้อง “สิทธิมนุษยธรรม” (หรือสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน) ก็ถูกศาลตีความไปได้ว่าเป็นการกระทำที่ “นอกเหนือรัฐธรรมนูญ” หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนั่นเอง ในขณะที่ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองการชุมนุมประท้วงไล่และต่อต้านรัฐบาลว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปแล้ว คำถามคือนี่เป็นปัญหาของการเหยียดเชื้อชาติ (racism) และศาสนาหรือไม่  หากประชาชนเป็นคนเชื้อชาติและศาสนาหนึ่งจะได้รับการปฏิบัติตีความจากศาลแบบหนึ่งใช่หรือไม่

ประการที่หก ปัญหาของศาสนากับการเมือง การที่อิสลามไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองเช่นคริสเตียนและพุทธ ทำให้ศาลเข้าใจว่าการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมนั้นเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปหมด  โดยกล่าวว่า “ศาสนาอิสลามนั้นไม่ได้มุ่งเฉพาะการปฏิบัติตามลัทธิของศาสนาอย่างเดียว แต่มีการเมืองเข้าแอบแฝงอยู่ด้วย” พยานโจทก์นายหนึ่งคือ อดีตข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค 5 ให้การว่า “ทางภาคใต้ 4 จังหวัดนี้ ศาสนากับการปกครองแยกกันไม่ออก” ศาลอุทธรณ์จึงมีความเห็นว่า “ขณะใดที่มีการกล่าวอ้างถึงศาสนานั้นก็มีการเมืองการปกครองรวมอยู่ด้วย”  การเคลื่อนไหวในที่ประชุมชนอะไรของฮัจญีสุหลงก็กลายเป็น “การเมือง” ไปหมด รวมถึงใบปลิว จดหมายและข้อเขียนอะไรที่ออกไปจากจำเลย ก็กลายเป็นการเมืองไป นั่นคือนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย แม้ว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียนจะเป็นความจริง และเป็นการเรียกร้องในสิทธิของมนุษยชนก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามเหตุผลของนิติรัฐไทย

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเป็นเอกฉันท์เพิ่มโทษเฉพาะฮัจญีสุหลงให้จำคุกมีกำหนด 7 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษฐานปรานีให้ 1 ใน 2 เหลือจำคุกมีกำหนด 4 ปี 8 เดือน ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

............................................................

1 ศาลจังหวัดปัตตานี คดีอาญาที่ 25/2491  อัยการจังหวัดปัตตานี กับ หะยีสุหลงและพรรคพวก, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2491 ตีพิมพ์ใน พระยารัตนภักดี, ประวัติเมืองปัตตานี (กรุงเทพฯ 2509), หน้า 75-78.

2 คำพิพากษาคดีหะยีสุหลง ศาลนครศรีธรรมราช ใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย (กรุงเทพฯ, โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), หน้า 128.