Skip to main content

picture

ผมมีความเชื่อว่า
คนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง  ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวง

ส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเอง

ครับ
นี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก หรือถ้าสามารถเข้าใจได้แล้ว...ก็ยังมีเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการปฏิบัติให้ได้จริงและเป็นจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝืนใจปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ล้วนแล้วแต่เกิดมาเพื่อเรียนรู้การยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการลดละและปล่อยวาง...

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นแก่นของพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพูดเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้คน จะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ พวกเราส่วนมากที่สักแต่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ จึงกลายเป็นคนที่อยู่ใกล้...แต่กลับไกลจนสุดหล้าฟ้าเขียวจากของดีที่อยู่ใกล้ตัว เพราะมันฝืนความเคยชิน ฝืนใจคนกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  เหลือเกินครับพระคุณเจ้า...

จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอีกเหมือนกัน
ที่คนที่หันหลังให้กับทางโลกย์เข้าไปหาทางธรรม ถึงขั้นเข้าวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จึงมักจะเป็นคนที่ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจอันใหญ่หลวงมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัส และมองเห็นความทุกข์นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ เท่านั้น ที่มักจะพากันเข้าไปด้วยความสมัครใจ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าไปแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอยหลังกลับมา

ดังเช่นกรณี ท่านศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง นักปฏิบัติธรรม อาวุโส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในวงการพุทธ ศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ คุณขวัญใจ เอมใจ เอาไว้ในหนังสือสารคดีประจำเดือนมีนาคม 2543 เกี่ยวกับเส้นทางการปฏิบัติธรรมของท่านเอาไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมได้เกริ่นกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้

สารคดี : เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชคืออะไรคะ ดิฉันได้ยินมาว่า มีความ    คิดสองทาง มองว่าคนที่มาบวชนั้น หนึ่ง เพราะมีความทุกข์ สอง เป็นคนที่กำลังแสวงหา บางคนมองไกลไปถึงว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้แสวงหาอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

อ.รัญจวน : เห็นทุกข์ค่ะ แต่ก่อนนี้ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่อาการของความทุกข์ก็คืออาการซัดส่ายของใจ วุ่นวายไม่เป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่เคยศึกษา พอมาตอนหลังก็มีเหตุที่ทำให้เริ่มเห็นความทุกข์ชัดขึ้น คือเรื่องหลานชาย ดิฉันมีหลานชายที่ดิฉันเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ  เขาเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด เรียนหนังสือดี อยู่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าเป็นดารา แต่เขาเป็นคนคิดมาก ดิฉันไม่รู้ว่าเขาคิดมากขนาดไหน ภายนอกของเขาเป็นคนที่รื่นเริงบันเทิงใจมาก อยู่ที่ไหนมีแต่จะทำให้ที่ตรงนั้นมีเสียหัวเราะ เพื่อนฝูงจะไปไหนก็มาขอให้เขาไปด้วย เพราะเขาเป็นคนนำ ทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนาน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขปัญหาให้เพื่อน แต่ผลที่สุด เขาก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปอยู่โรงพยาบาลจนทุกวันนี้  เขาไม่ก้าวร้าว แต่จะพูดจะคิดอะไรเลื่อนลอย อยู่กับความหลัง อยู่กับอนาคต แต่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ตอนนั้นดิฉันเริ่มรู้แล้วว่า อ้อ...ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เอง

แล้วก็นั่งคิด เอ...นี่เราเลี้ยงเขาผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราก็ประชาธิปไตยพอสมควร มีอะไรก็พูดอภิปรายกัน ไม่ได้เก็บกักอะไรเขาเลย ก็ถามตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกเศร้าใจ ยิ่งเมื่อเห็นดอกเตอร์หนุ่ม ๆ ก็นึกในใจ หลานเราก็เป็นได้ แล้วเขาก็เป็นได้อีกตั้งหลายอย่าง เป็นนักดนตรี นักพูด นักเขียน แต่กลับมาเป็นอย่างนี้ นี่ละจิตที่ทุกข์จริง ๆ ก็ตอนนั้น

สารคดี : เรื่องหลานชายถือเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เห็นทุกข์ กระทั่งตัดสินใจบวช
อ.รัญจวน : ใช่ค่ะ เริ่มเห็นความทุกข์ชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับความทุกข์มาตลอดชีวิตอย่างที่เล่ามาแล้ว นี่ที่สำคัญมากนะคะ คนทุกคนในโลกนี้คลุกคลีกับความทุกข์มาตลอด แต่ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันกลับมองไม่เห็น มันมีอยู่ตลอดทั้งวัน  ตลอดระยะทางของชีวิต เกือบจะทุกขณะทุกชั่วโมง ก็ที่เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจอีกแล้ว นั่นละ

แต่เพราะไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยไม่รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักมาก ยึดถือมาก...ว่ามันเป็นของเราเกิดวิปริตขึ้นมา มันถึงตีตูมเข้ามาที่ใจ ทำไมถึงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์ใหญ่  เพราะเราไม่เคยได้ฝึกอบรมใจ เพื่อจะต้อนรับทุกเล็ก ๆ  ที่ผ่านใจเข้ามาตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยจัดการ ที่หลังมันก็จะสะสมความทุกข์ ความไม่พอใจมาเรื่อยทีละน้อย ๆ แล้วพอมีอะไรใหญ่มาก ๆ ลงมาตูมเดียว จึงไม่มีความต้านทานที่จะรับ
แต่สำหรับตัวเอง พอจะรับได้บ้าง ไม่ถึงเป็นบ้าเป็นหลังไปกับความทุกข์ ไม่ได้ล้มสลบสิ้นสติลงไป ที่เน้นเรื่องนี้ก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราควรจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจสี่ และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทุกข์ใหญ่ เช่นไฟไหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุตายทั้งหมู่ ลูกสาวหลานสาวถูกข่มขืน ยำยี มันก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ชอกช้ำจนถึงเสียสติ

สารคดี : อาการของท่านเองตอนที่เจอทุกข์ใหญ่มากในตอนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
อ.รัญจวน : ข้างนอกนี่ไม่เป็นอะไร แต่ข้างในรู้สึกเหนื่อย...เหนื่อยมากเหลือเกิน เพราะพอหลานชายออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ต้องเอาเขามานอนเตียงข้าง ๆ ติดกัน แล้วก็ต้องคอยพูดคอยปลอบใจ ให้กำลังใจ แนะนำต่าง ๆ  ไหนจะงานสอนที่รามคำแหง แล้วตอนนั้นเป็นประธานสภาอาจารย์รามคำแหง ซึ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกด้วย พอมาถึงบ้านก็ต้องมาทำงานพยาบาลด้วย แล้วพยาบาลโรคทางใจนี่หนักกว่าโรคทางกายนัก เพราะฉะนั้น นอกจากทุกข์เพราะสงสารว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้ว ยังทุกข์เพราะเหนื่อยอีก มันเหนื่อยสายตัวแทบขาดทีเดียว เหนื่อยทุกอย่างทั้งกายและใจ เลยรู้ว่า อ๋อ...ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนี้เอง

ถ้ามองจากตอนนี้ ถามว่า ที่ตอนนั้นตัวเองทุกข์เพราะอะไร ก็ตอบว่า ทุกข์เพราะอุปทาน ยึดมั่นถือมั่น  ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ทุกข์  มีเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการอย่างหลานชายของเราอีกนับพันนับหมื่น ทำไมเราไม่ไปทุกข์กับเขา ก็เพราะเขาไม่ใช่หลานเรา นี่ธรรมะบอก เพราะเราไปยึดมั่น เพราะฉะนั้นจึงทุกข์มาก นี่ถ้าไม่ใช่หลานของเรา มีอะไรจะช่วยได้ก็คงช่วยกันไปเท่าที่กำลังจะช่วยได้  แต่ไม่ต้องเสียใจเศร้าหมองจนไม่คิดถึงเหตุผลอย่างใช้สติปัญญา

ครับ ผมหวังว่า บทสัมภาษณ์ บทนี้ของอาจารย์รัญจวน ที่สูญเสียหลานชายที่ท่านรัก และเป็นเหตุทำให้ท่านหันหน้าเข้ามาปฏิบัติธรรมตราบจนเท่าทุกวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นต้นตอความทุกข์ทางใจของคนเราได้ง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากความเข้าใจนี้กันทุกคนนะครับ.

17 ตุลาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

ภาพประกอบจาก http://dungtrin.com ขอบคุณครับ

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตเอย เหตุใดเล่า เจ้าจึงเศร้าโศกเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ ให้กับบางสิ่งที่เจ้าได้สูญเสียมันไป เหมือนนมที่หกออกจากแก้วไปแล้ว...ตกลงบนพื้นดิน วันแล้ววันเล่า ไม่รู้จักจบสิ้น  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
12 เมษายน 2545 วันครบรอบวันเกิด...ที่แสนจะเจ็บปวด ขณะนั่งรถจักรยานยนต์ออกตรวจพื้นที่กับคู่หู ขับรถผ่านไปทางบ้านพ่อแม่ผู้พัน นายเก่าที่มาหยิบยืมเงินเราแล้วไม่ยอมใช้คืน เมื่อสองสามปีที่แล้ว พอเจอหน้า จอดรถจะเข้าไปถาม นายกลับรีบเดินหนี อนิจจา ! นายเอ๋ยนาย...ดอกไม่ต้องขอเพียงแค่ต้นคืนได้ไหม...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  7   ครับ รายละเอียดเรื่องราวของเขา ที่ผมอยากรู้อยากเห็นเหลือเกิน เริ่มปรากฏอยู่ในบันทึกหน้านี้นี่เอง และเมื่อหยิบหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ที่เขาถ่ายสำเนาจากหนังสือนิตยสาร “ชีวิตรัก” มาให้ผม ซึ่งเป็นหน้า คอลัมน์ - ในช่วงที่เขาได้แบกเป้ออกไปตะลอนทัวร์ ช่วยคุณวนัสนันท์ ตามที่เขาตั้งปณิธานเอาไว้ออกมาอ่าน เพื่อทำความรู้จักทั้งคอลัมน์และตัวตนของคุณวนัสนันท์ ที่นำมือแห่งความเมตตาของคุณวรรณและคุณแขคนไทยในต่างประเทศ มาฉุดเขาขึ้นมาตจากขุมนรกอันลึกล้ำดำมืดแห่งหนี้สิน และมือแห่งความเมตตาอีกมากมายที่หลั่งไหลติดตามมา... ผมพบว่าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
6 หลังจากงานศพของพ่อแล้ว เขาก็เริ่มตกเข้าไปอยู่ในวังวน - ของการหมกมุ่นครุ่นคิด...เป็นทุกข์อยู่กับหนี้สินอีก และพยายามต่อสู้กับตัวเองอย่างถึงที่สุด ระหว่างการคิดทำลายตัวเองตามพ่อไป เพื่อหนีความทุกข์ปัญหาอันหนักหนาสาหัส และการพยายามคิดหาเหตุผลต่างๆนานาที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
30 ตุลาคม 2539 วันนี้ นายเรียกข้าราชการตำรวจทั้งโรงพักมาประชุม เพื่อร่ำลาไปรับตำแหน่งใหม่ เห็นพวงมาลัย...ที่นายดาบหัวหน้าสายแต่ละสาย เตรียมมาให้นายแล้ว ได้แต่นึกเสียดาย... ท่านมากอบโกย...แล้วก็ไป
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3. เขากลับกรุงเทพฯไปได้หนึ่งอาทิตย์กว่าๆ ผมก็ได้รับกล่องพัสดุขนาดใหญ่ หนักเกือบสองกิโลกรัมจากเขา เมื่อแกะกล่องออกมา ผมก็พบแฟ้มเก็บต้นฉบับที่เขาถ่ายสำเนามาจากหน้าคอลัมน์ “สะพานบุญ” ที่เขาเคยเขียนในนิตยสาร “ย้อนรอยกรรม”และ จากหน้าคอลัมน์ “ศาลาแรงบุญ” ในนิตยสาร “แรงบุญแรงกรรม” ที่เขาเขียนอยู่ในปัจจุบัน นับรวมกันได้ 60 กว่าเรื่อง หนาประมาณ 200 กว่าหน้ากระดาษ A4 รวมทั้งสำเนาต้นฉบับที่เขาถ่ายจากหน้าคอลัมน์ “ศาลาคลายร้อน” ของคุณวนัสนันท์ จากหนังสือ “ ชีวิตรัก” 15 แผ่น และจากกรอบหน้าคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวันที่เขียนยกย่องชื่นชมเขา 3 - 4 แผ่น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 1.  จินตวีร์ เกียงมี หรือที่มีชื่อเต็มยศว่า จ.ส.ต.จินตวีร์ เกียงมี ซึ่งปัจจุบันรับราชการตำรวจ ตำแหน่ง งานธุรการอำนวยการกองวิจัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ที่ใครต่อใครต่างรู้จักกันทั่วไปทั้งประเทศ และเลื่องลือไปถึงเมืองนอกเมืองนาในวันนี้ ในฐานะ จ่าตำรวจใจบุญ ที่แบกเป้เที่ยวตะลอนๆ ไปช่วยเหลือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แทบทุกหนทุกแห่งในประเทศ ที่ส่งเสียงร้องทุกข์โอดโอยมาให้เขาได้ยิน ซึ่งเราได้รับรู้เรื่องราวของเขาจากสื่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต ฯลฯ และที.วี.แทบทุกช่องที่นำเรื่องราวของเขา มาบอกเล่าแก่สาธารณะชน  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 สมัยที่ผมยังทำงานเป็นนักดนตรีประจำร้าน สายหมอกกับดอกไม้ ของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของคุณจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะออกมาทำงานเขียนและงานเกี่ยวกับหนังสืออย่างเต็มตัวในทุกวันนี้ ผมจำได้อย่างแม่นยำว่า ภายในร้านสายหมอกกับดอกไม้ นอกจากเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งภายใน ที่ประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นเครื่องไม้ ภาพเขียน รูปปั้น และ ข้าวของเครื่องใช้ ผลงานเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ ตลอดจนรูปภาพของคุณจรัลตามฝาผนังห้องในอิริยาบถต่างๆแล้ว ยังมีกระจกเงาเก่าแก่บานหนึ่ง กว้างประมาณ สองฟุต สูงท่วมหัว ประดับอยู่ตรงมุมห้องโถงด้านขวามือใกล้ๆกับเวทีเล่นดนตรี…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  3 กันยายน 2552 ปีนี้ นอกจากจะเป็นวันรำลึกครบรอบการจากไปของ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาแล้ว วันนี้ยังมาตรงกับวันจัดงาน " แอ่วสันป่าตอง " ซึ่งเป็นงานของโครงการย้อนยุคอำเภอสันป่าตอง ที่มีเป้าหมายที่จะแนะนำอำเภอสันป่าตองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีสภาวัฒนธรรมอำเภอเป็นตัวหลักในการจัดงาน ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมากมายหลายองค์กร ฯลฯ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ก่อนอาทิตย์ตกในไร่ข้าวโพดสีส้มโชติโชนอยู่อีกครู่ใหญ่แผ่ร่มเงาความเวิ้งว้างกว้างออกไปอีกหนึ่งวันกลืนวันวัยในวันนี้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ฉันเอยฉันทลักษณ์ ยากยิ่งนักจะประดิษฐ์มาคิดเขียน เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน มิผิดเพี้ยนตามกำหนดแห่งกฎเกณฑ์
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
มิ่งมิตร เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม