Skip to main content

ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา


โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง


แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต


เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก กลายเป็นอาคารพาณิชย์สูงหลายชั้น ร้านข้าวขาหมูเจ้าประจำ ร้านชำเจ้าเก่า เป็นเพียงภาพในความทรงจำ ถนนหนทางที่ตอนเป็นเด็กเคยรู้สึกว่ามันแสนไกลก็ดูเหมือนจะใกล้เพียงแค่ไม่กี่ก้าว


ความรู้สึกขณะที่เห็นนั้น จะว่าเศร้าก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่เชิง ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่เคยอยู่ที่นี่เป็นเวลานาน คล้ายเป็นคนแปลกหน้าในบ้านเกิดของตัวเอง


ผมแวะไปหาเพื่อนเก่าสมัยเรียนมัธยมปลาย เธอเป็นเพื่อนที่เรียนห้องเดียวกับผม และเป็นเพื่อนในกลุ่มที่สนิทและยังติดต่อกันอยู่จนกระทั่งทำงาน เธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คน ที่หลังจากเรียนจบแล้ว เลือกที่จะกลับมาหางานทำที่บ้าน


“...
เหมือนเดิม แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลยนะ...” เธอทักผมเมื่อเจอหน้า

ผมหัวเราะ แต่สะดุดใจกับคำทัก

คำทักธรรมดาๆ ของเธอทำให้ผมประหลาดใจ


แน่นอน...เราต่างรู้ดี ไม่มีใครเหมือนเดิม ไม่มีใครไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต้องพูดถึงว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมา เราแต่ละคนต่างเปลี่ยนแปลงไปมากมายขนาดไหน อาจมากจนกระทั่ง เราลืมไปว่าเราเคยเป็นอย่างไร แต่การได้เจอเพื่อนเก่า กลับทำให้เราได้เห็นความเหมือนเดิม ในตัวเรา และในตัวเพื่อน สำหรับคนที่ไม่ได้เจอเพื่อนเก่านานหลายปีอย่างผม “คนเดิม” ในตัวผม ถูกหลงลืมไปนานอย่างเหลือเชื่อ


“...
เพื่อนๆ ตามหาตัวกันแทบแย่ หาตัวยากจริงๆ ว่าจะชวนมางานแต่งงานเราซะหน่อย...” เธอหยิบการ์ดแต่งงานซึ่งเป็นรูปคู่ของเธอกับเจ้าบ่าวของเธอ ส่งให้

ผมมองการ์ดแต่งงาน ประหลาดใจเป็นครั้งที่สอง


เจ้าบ่าวของเธอ เป็นเพื่อนสนิทในวัยเด็กของผม เราไปมาหาสู่กันตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมต้น ตอนขึ้นมัธยมปลาย เรามาเรียนที่เดียวกัน แต่อยู่กันคนละห้อง ผมไม่ได้ติดต่อหรือรับรู้ความเป็นไปของเขาอีกเลยตั้งแต่เรียนจบ ม.6

วันนี้ เขากลายมาเป็นเจ้าบ่าวของเพื่อนผม

โลกช่างกลมเหลือเกิน


เมื่อกลับมา ผมกลับกังวลกับสองเหตุผล ที่ทำให้ผมไม่อยากไปงานแต่งงานของเพื่อน

หนึ่ง ผมเพิ่งจะกลับไป ซึ่งค่าเดินทางนั้นก็มากโขอยู่ ถ้าจะไปอีกครั้ง ก็หมายความว่าผมต้องจ่ายอีกไม่น้อยเลย

สอง เนื่องจากพ่อแม่ของเจ้าบ่าวเป็นอาจารย์ผู้สอนในสถาบันเดียวกับที่พ่อของผมเคยสอน ก็หมายความว่า งานนี้จะต้องมีอาจารย์ซึ่งรู้จักกับพ่อมาร่วมงานจำนวนไม่น้อย


ด้วยเหตุที่ผมไม่ได้พบเจอ ไม่ได้ติดต่อใครเลยตลอดหลายปี ทั้งที่หลายๆ คนมีบุญคุณเคยช่วยเหลือครอบครัวของผม ทำให้ผมกลัวบางสิ่งที่ผมเองก็อธิบายไม่ได้ เป็นความกลัว ของเด็กคนหนึ่ง สำหรับการที่ต้องเจอผู้ใหญ่หลายคน ที่ไม่ได้เจอมาเป็นเวลานาน

คล้ายๆ ตัวเองเป็นเด็กไม่รู้จักบุญคุณ ไม่เคยส่งข่าวใดๆ ให้ผู้ใหญ่รับรู้

แต่มีเหตุผลเพียงข้อเดียว ที่ผมอยากมางานแต่งงานของเพื่อน

คือ ผมอยากเจอเพื่อน


ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสได้เจอเพื่อนแบบค่อนข้างจะพร้อมหน้าแค่ 1-2 ครั้ง หลังจากเรียนจบและทำงาน ผมได้เจอกับเพื่อนๆ อีกครั้งในงานแต่งงานของเพื่อนคนหนึ่ง และอีกครั้งในงานแต่งงานของผมเอง


สรุปแล้ว สิบกว่าปีหลังจากเรียนจบ ม.6 ผมได้เจอเพื่อนน้อยครั้งเหลือเกิน ยิ่งในช่วงหลังจากแต่งงานและโยกย้ายไปอยู่ทางเหนือด้วยแล้ว ผมแทบจะไม่ได้ติดต่อใครเลย


ที่จริง เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องสุดแสนจะธรรมดาของชีวิตคนยุคนี้


เมื่อเราเติบโตขึ้น ทำงาน มีครอบครัว มีชีวิตของใครของมัน แยกย้ายกันไปอยู่หลายแห่งหลายที่ตามแต่ชีวิตจะพาไป โอกาสที่จะมาเจอกันก็คงมีแค่งานแต่งงานของเพื่อน (คงไม่มีใครคิดอยากจะไปเจอเพื่อนในงานศพ) ที่ยังติดต่อ พบเจอกันอยู่ ก็เป็นแค่กลุ่มเพื่อนสนิทไม่กี่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อนสมัยเรียนมัธยมปลาย สำหรับบางคน เกือบจะลืมกันไปแล้ว


สำหรับผม

ไม่มีช่วงเวลาใดในชีวิตที่จะเปี่ยมไปด้วยความทรงจำที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยชีวิตชีวาดังเช่นช่วงเวลาเหล่านั้น…


เราเคยลงหุ้นออกร้านขายของในงานโรงเรียน (และเจ๊ง)

เราเคยลงแข่งกีฬาระหว่างห้อง (และตกรอบ)

เราเคยประกวดเต้นลีลาศ (และตกรอบ-เช่นเคย)

เราเคยร่วมกันซ้อมละครของโรงเรียนอย่างหามรุ่งหามค่ำ และออกแสดงด้วยกัน

เราเคยเรียนเลิกสองทุ่ม ทั้งที่ไม่ต้องการ แต่ครูปรารถนาติวเข้มให้พวกเราเป็นการพิเศษ

เราเคยกอดคอกันร้องไห้ตอนที่สอบไม่ติดโควต้า

ฯลฯ


แน่ละ ความทรงจำที่ไม่ดีมันก็มีอยู่ แต่มีน้อย น้อยเสียจนไม่คิดจะจำ แถมบางเรื่องก็กลายเป็นเรื่องตลก ที่ย้อนคิดทีไรก็ขำทุกที


ขณะที่ผมดำเนินชีวิตอย่างคนห่างอดีต แต่เพื่อนหลายคนกลับไม่เคยลืมผม และยังพยายามติดต่อผมอีกด้วย


เพื่อนไม่เคยลืมผม แม้ว่าผมเกือบจะลืมเพื่อนไปแล้วก็ตาม …

ห้าวันก่อนวันงาน ผมยังคิดไม่ตกว่า ควรจะไปดีหรือเปล่า แล้วขณะที่ผมกำลังลังเล แต่ค่อนไปทางจะไม่ไป เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น

...นี่...มีรถไปงานแต่งแล้วนะ เดี๋ยวนั่งรถไปด้วยกัน...”

ในที่สุด ผมเดินทางไปและกลับ ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อน

ได้ที่พักและการดูแลตลอดทริป จากเพื่อน

ผมได้รับน้ำใจอย่างมากมายจากเพื่อนทุกคน น้ำใจที่แสดงออกทั้งทางคำพูด รอยยิ้ม และสายตา บางคนเพียงแค่ได้เห็นหน้า ได้ทักทาย ได้ยิ้มให้กัน ก็รู้สึกดีมากเหลือเกิน


สิ่งที่ผมกลัวกลับหายไป ด้วยบางสิ่งบางอย่างที่ผมไม่อาจอธิบายได้ คุณป้า คุณลุง คณาจารย์ทุกคน ต่างดีใจที่ได้เจอผม ทุกคนเข้ามาไถ่ถาม จับไม้จับมือ ความอาทรห่วงใยที่ท่วมท้น ทำให้ผมตื้นตันจนพูดไม่ถูก


ปมในใจของผมคล้ายกับถูกคลายออกทีละน้อย อดีตที่ผมเคยลืม แกล้งทำเป็นลืม หรือพยายามจะลืม กลับมาผสานกับปัจจุบันอีกครั้ง


เมื่อหันมองเพื่อนแต่ละคน ผมมีความสุขกับความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับรู้

เพราะสิ่งที่ดีที่สุด คือเราไม่มี และไม่ต้องการคำตัดสินใดๆ ให้กับการเปลี่ยนแปลงนั้น เราต่างยินดี กับหนทางของเพื่อน

เพื่อนที่พาคนรักมาเปิดตัว และกำลังจะมีครอบครัว

เพื่อนที่เพิ่งจะมีครอบครัว ทั้งที่ได้วางแผนไว้ และทั้งที่มีโดยบังเอิญ

เพื่อนที่มีครอบครัวแล้ว ทั้งที่มีทายาทแล้ว (และอยากจะมีอีก) และที่ยังไม่มี

เพื่อนที่ยังโสด ยังพยายามแสวงหา

เพื่อนที่ยังโสด แต่ชัดเจนในความรักอิสระของตน

เพื่อนที่หมุนแต่เงินล้าน และเพื่อนที่จับแต่เงินร้อย

เพื่อนที่ชีวิตเริ่มนิ่ง และเพื่อนที่ยังดิ้นรน

เพื่อนทุกคน ได้เติบโต เปลี่ยนแปลง และคลี่คลายไปสู่หนทางชีวิตที่เขาเป็นผู้เลือกเอง


ผมดีใจที่ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ

เพราะมีเพื่อน ผมจึงได้รู้จักตัวเอง หากปราศจากเพื่อน ตัวตนของผมก็ไม่อาจครบถ้วน


สำหรับผม ไม่มากไปเลยที่จะบอกว่า เพื่อนเป็นเสมือนครอบครัวที่สอง และความเป็นเพื่อน คือ สมบัติล้ำค่า ที่ไม่อาจหาสิ่งอื่นใด มาทดแทนได้เลย


****



บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…