Skip to main content
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์


โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา

หลังจากทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ลุงอู๋ก็มุ่งเข้าประเด็น

"ขอบใจทุกคนที่มาประชุมนะ วันนี้มีเรื่องสำคัญมากจะมาแจ้งให้พวกเราได้รู้กัน...นั่นก็คือบริษัทแปรรูปผักผลไม้จะเข้ามาตั้งโรงงานในเขตหมู่บ้านเรา เขาจะรับซื้อผักผลไม้หลายชนิดจากพวกเราในราคาสูง ซึ่งก็จะทำให้เรามีรายได้มากขึ้น...ทีนี้พวกเราก็ไม่ต้องลำบากไปขายไกลๆ หรือถูกแม่ค้ากดราคาอีกแล้ว"


สิ้นประโยค ชาวบ้านก็พากันส่งเสียงฮือฮาหันมาคุยกันด้วยความตื่นเต้นดีใจพลางมองลุงอู๋อย่างชื่นชม แต่คนที่เริ่มหน้านิ่วคิ้วขมวดก็คือ บรรดาแม่ค้าผู้ที่ต้องซื้อผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้านไปขายต่อ


"...ดีแล้วๆ ที่พวกเราดีใจกัน เรื่องนี้มันเป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคนจริงๆ..." ลุงอู๋ ยิ้มอย่างปลาบปลื้ม

"แล้วโรงงานจะมาตั้งเมื่อไรล่ะผู้ใหญ่ ?" พี่แววร้องถาม

"...ก็นี่แหละ สาเหตุที่ฉันเรียกพวกเราให้มาประชุมกัน ปัญหามันก็คือว่า ทางบริษัทเขาต้องการที่ดินที่จะตั้งโรงงาน ประมาณสามสิบไร่ เพราะว่ามันมีทั้งส่วนที่ใช้แปรรูป ส่วนที่ใช้เก็บผลผลิตที่เขารับซื้อ แล้วก็ส่วนที่เก็บสินค้าของเขา แ่ต่ไอ้ที่ดินแปลงใหญ่ขนาดนั้น คนบ้านเรามันไม่มีใครมีกันหรอก...แล้วถ้าเราไม่สามารถหาให้เขาได้ เขาก็อาจจะต้องย้ายไปตั้งที่ตำบลอื่นที่ห่างออกไป หรือไม่ก็...อำเภออื่นไปเลย ซึ่งมันก็จะทำให้พวกเราเสียโอกาสดีๆ ไป..."


ผู้ใหญ่อู๋ อธิบายอย่างมีเหตุผล ลูกบ้านพยักหน้างึกๆ งักๆ เห็นด้วย

"แล้วเราจะทำยังไงล่ะผู้ใหญ่?" น้าเปรี้ยวนั่งแถวหน้าโพล่งถาม

"มันก็หมายความว่า...ถ้าพวกเราอยากให้โรงงานเข้ามาตั้งในหมู่บ้าน เราก็ต้องเสียสละร่วมกัน ด้้วยการ เอ่อ..."


ผู้ใหญ่เงียบไปอีกรอบ เหมือนไม่ค่อยอยากพูดเท่าไร

"วิธีอะไรล่ะลุง...พูดให้จบสิ อย่าทำค้างๆ คาๆ" เจ้าปุ้ยวัยรุ่นใจร้อน เร่งให้พูดต่อ

"เราก็ต้องตัดใจขายที่ดินคนละซักไม่กี่ไร่ แต่พอรวมๆ กันแล้ว ให้ได้สักสามสิบไร่เป็นผืนเดียวติดกันไปนั่นแหละ..." ผู้ใหญ่พูดจบก็ถอนหายใจพรืดใหญ่

สิ้นประโยค ชาวบ้านทุกคนก็ส่งเสียงฮือฮา หันไปคุยกันด้วยความตกใจ พลางมองลุงอู๋เหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน


ผู้ใหญ่อู๋ กลืนน้ำลายเอื้อกใหญ่ หันไปกระซิบถามตายิ่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะคุยต่อดีมั้ย

"อย่าเพิ่งกลัวไปสิผู้ใหญ่...ลองคุยดูก่อน ของพรรค์นี้มันเปลี่ยนใจกันได้" ตายิ่งกระซิบ

"อ่า...แปลงที่นาพวกเรามันก็อยู่ติดๆ กันไม่ใช่รึ แบ่งๆ กันแค่คนละไม่กี่ไร่ก็ได้แล้ว" ผู้ใหญ่หันกลับมาพูด

"ไม่ได้หรอกผู้ใหญ่...ไร่สองไร่สามไร่ก็ยังพอว่า นี่จะเอาตั้งสามสิบไร่ มันจะไปแบ่งกันอย่างผู้ใหญ่ว่าได้ยังไง ถ้าจะเอาขนาดนั้น มันต้องมีคนขายที่ทั้งหมดอย่างน้อยก็สองคนละ เอ้า" เจ้าหนุ่ย มือขับรถไถประำจำหมู่บ้านลุกขึ้นโต้

"แล้วอย่างฉันมีแค่ห้าไร่ ถ้าแบ่งขายไปสองสามไร่ ฉันจะพอทำกินรึ?" ป้าแป้นลุกขึ้นถามบ้าง

"อ่า..." ลุงอู๋พยายามจะหาคำตอบ

"แล้วถ้าเขาสร้างโรงงานเขาก็ต้องถมที่น่ะสิ...แล้วถ้าพวกเขาถมที่กัน เราจะยังทำนาได้อยู่รึ? รถสิบล้อมันไม่ต้องวิ่งผ่านที่นาเราด้วยรึ?" ลุงน้อยถามบ้าง

"ก็..."

"แล้วถ้าตั้งโรงงาน เขาจะทิ้งน้ำเสียลงที่ไหนล่ะ?...ลงนาเราหรือเปล่า?...หรือลงคลองส่งน้ำ?"

"อืม...เอ่อ..."


ผู้ใหญ่อู๋ชักจะมึนกับคำถามที่มากขึ้นทุกที แต่ละคำถามแกก็ไม่ได้เตรียมคำตอบมาเสียด้วย

"เดี๋ยวก่อนๆ นะพวกเรา...คืออย่างนี้ จากที่ฉันรู้มาคือเขาจะให้ราคาสูงเลยแหละ ยิ่งใครขายทั้งแปลงก็ยิ่งให้ราคาสูงเป็นพิเศษ ถ้าใครสนใจจะขายก็มาบอกฉันไว้ก็แล้วกัน ฉันจะจดชื่อไว้ แล้วพอเดือนหน้า คนจากบริษัทเขาจะมาคุยกับพวกที่จะขายอีกที ใครสงสัยอะไรก็เก็บไว้ถามเขาก็แล้วกันนะ"

ผู้ใหญ่พูดตัดบท แล้วก็ส่งไมค์ให้ผู้ช่วยฯ

"ฉันมีธุระต้องรีบไป เดี๋ยวผู้ช่วยช่วยชี้แจงต่อก็แล้วกัน" ผู้ใหญ่ว่า แล้วก็หันไปโบกมือลาชาวบ้านก่อนจะเดินตรงไปที่รถมอเตอร์ไซค์ของแกที่อยู่ข้างศาลา

ตายิ่งหันซ้ายหันขวา ชาวบ้านต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์เสียงดังขรม บางคนก็จ้องมองแกเขม็งราวกับหวังว่า แกจะพูดอะไรสักอย่างที่น่าจะทำให้พวกเขาหัวเราะได้

"ตกลงมาตั้งโรงงานนี่...พวกเราได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ?" เจ้าหนุ่ย ตั้งคำถามเสียงเครียด

"จริงสิ...จริงแท้แน่นอน" ตายิ่งยืนยันหนักแน่น แม้ว่าหัวสมองกำัลังทำงานหนักเพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์

"แล้วถ้าเขาไม่ได้มาตั้งในเขตหมู่บ้านเรา เราจะยังได้ประโยชน์หรือเปล่าล่ะ?" เจ้าหนุ่ยรุกไล่

"ได้สิ...ได้ ถึงยังไงพวกเราก็ต้องได้ประโยชน์แน่นอน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะต้อนรับเขาแค่ไหน" ตายิ่งพยายามเปิดประเด็นใหม่

"หมายความว่ายังไงลุง? พวกเขาไม่ใ่ช่โจรผู้ร้ายมาจากไหน แล้วยังจะเอาเงินมาให้พวกเราไม่ใช่หรือ ทำไมเราจะไม่ต้อนรับพวกเขาล่ะ?" น้าเปรี้ยวขมวดคิ้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์เงียบสนิท ทุกคนหันมามองตายิ่ง


ตาิยิ่งหัวเราะหึๆ อาศัยความเก๋า แกก็สามารถเบี่ยงเบนประเด็นได้สำเร็จ

"ไอ้ที่ฉันว่าต้อนรับเขา มันไม่ได้หมายถึง มานั่งคุย เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ แต่ฉันหมายถึงว่า เราต้องทำให้เขาเชื่อมั่น ทำให้เขามั่นใจว่า ถ้าเขามาลงทุนตั้งโรงงานที่หมู่บ้านเรา เขาจะไม่ถูกต่อต้าน แล้วเขาก็จะสามารถสร้างโรงงานจนสำเร็จได้ ไอ้ตรงนี้เขาเรียกว่า เอ่อ..."

ตาิยิ่งเว้นจังหวะ พอเห็นชาวบ้านกำลังรอฟังแกพูด แกก็เน้นย้ำทันที

"เขาเรียกว่า...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน...พวกเราต้องจำไว้ให้ดี ถ้าเราอยากจะร่ำรวย อยากกินดีอยู่ดีมีเงินมากกว่านี้ เราต้องทำให้พวกเขาเชื่อมั่น แล้วเขาก็จะเอาเงินมาให้พวกเรา...ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก...อ่า...เอาละ วันนี้ประชุมแค่นี้ก็แล้วกัน ขอบใจทุกคนมากนะ"

 

เมื่อเสร็จการประชุม ชาวบ้านต่างพากันแยกย้ายกลับบ้าน ที่ยังนั่งคุยกันอยู่ก็มีหลายคน

"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" น้าเป้า ท่องทวนคำซ้ำไปซ้ำมา

"ทำไมล่ะน้า? สงสัยที่ตายิ่งแกพูดรึ?" เจ้าปุ้ยหันมาถาม น้าเป้า พยักหน้าหงึกๆ บอกว่า ทำนองนั้นแหละ

"แหม...ไอ้คำนี้ฉันก็เคยได้ยินในทีวี พวกรัฐบาล นายกฯ กับพวกนักการเมืองเขาชอบพูดกันว่า ถ้าเราอยากจะมีเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ เราต้องทำให้นักลงทุนต่างชาติเขาเชื่อมั่น...ก็พูดแบบเดียวกับตายิ่งนี่แหละ ใครได้พูดแล้วมันดูโก้ดีนะ" เจ้าปุ้ยแสดงความเห็น


"ข้าสงสัยอยู่อย่างเดียว" น้าเป้าขมวดคิ้วตามประสาคนช่างคิด "ถ้าไอ้พวกนักลงทุนมันเกิดไม่เชื่อมั่นขึ้นมา...แล้วพวกเราจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า?"

เจ้าปุ้ยได้ฟังแล้วหัวเราะก๊าก พลางส่ายหัว

"ไอ้พวกเราน่ะไม่มีปัญหาอยู่แล้วล่ะลุง ทำมาหากินอยู่กันมาตั้งนมนานแล้ว ส่วนไอ้พวกบริษัทมันก็ไม่เป็นไรหรอก ที่ทางเยอะแยะไม่ได้ที่เราเดี๋ยวมันก็ไปหาที่อื่น"

 

"แต่ไอ้ที่จะแย่น่ะคือ ลุงผู้ใหญ่กับลุงผู้ช่วย ไปรับปากพวกมัน หรือไปรับกะตังค์พวกมันมาเท่าไรก็ไม่รู้"

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…