Skip to main content
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์


โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา

หลังจากทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ลุงอู๋ก็มุ่งเข้าประเด็น

"ขอบใจทุกคนที่มาประชุมนะ วันนี้มีเรื่องสำคัญมากจะมาแจ้งให้พวกเราได้รู้กัน...นั่นก็คือบริษัทแปรรูปผักผลไม้จะเข้ามาตั้งโรงงานในเขตหมู่บ้านเรา เขาจะรับซื้อผักผลไม้หลายชนิดจากพวกเราในราคาสูง ซึ่งก็จะทำให้เรามีรายได้มากขึ้น...ทีนี้พวกเราก็ไม่ต้องลำบากไปขายไกลๆ หรือถูกแม่ค้ากดราคาอีกแล้ว"


สิ้นประโยค ชาวบ้านก็พากันส่งเสียงฮือฮาหันมาคุยกันด้วยความตื่นเต้นดีใจพลางมองลุงอู๋อย่างชื่นชม แต่คนที่เริ่มหน้านิ่วคิ้วขมวดก็คือ บรรดาแม่ค้าผู้ที่ต้องซื้อผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้านไปขายต่อ


"...ดีแล้วๆ ที่พวกเราดีใจกัน เรื่องนี้มันเป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคนจริงๆ..." ลุงอู๋ ยิ้มอย่างปลาบปลื้ม

"แล้วโรงงานจะมาตั้งเมื่อไรล่ะผู้ใหญ่ ?" พี่แววร้องถาม

"...ก็นี่แหละ สาเหตุที่ฉันเรียกพวกเราให้มาประชุมกัน ปัญหามันก็คือว่า ทางบริษัทเขาต้องการที่ดินที่จะตั้งโรงงาน ประมาณสามสิบไร่ เพราะว่ามันมีทั้งส่วนที่ใช้แปรรูป ส่วนที่ใช้เก็บผลผลิตที่เขารับซื้อ แล้วก็ส่วนที่เก็บสินค้าของเขา แ่ต่ไอ้ที่ดินแปลงใหญ่ขนาดนั้น คนบ้านเรามันไม่มีใครมีกันหรอก...แล้วถ้าเราไม่สามารถหาให้เขาได้ เขาก็อาจจะต้องย้ายไปตั้งที่ตำบลอื่นที่ห่างออกไป หรือไม่ก็...อำเภออื่นไปเลย ซึ่งมันก็จะทำให้พวกเราเสียโอกาสดีๆ ไป..."


ผู้ใหญ่อู๋ อธิบายอย่างมีเหตุผล ลูกบ้านพยักหน้างึกๆ งักๆ เห็นด้วย

"แล้วเราจะทำยังไงล่ะผู้ใหญ่?" น้าเปรี้ยวนั่งแถวหน้าโพล่งถาม

"มันก็หมายความว่า...ถ้าพวกเราอยากให้โรงงานเข้ามาตั้งในหมู่บ้าน เราก็ต้องเสียสละร่วมกัน ด้้วยการ เอ่อ..."


ผู้ใหญ่เงียบไปอีกรอบ เหมือนไม่ค่อยอยากพูดเท่าไร

"วิธีอะไรล่ะลุง...พูดให้จบสิ อย่าทำค้างๆ คาๆ" เจ้าปุ้ยวัยรุ่นใจร้อน เร่งให้พูดต่อ

"เราก็ต้องตัดใจขายที่ดินคนละซักไม่กี่ไร่ แต่พอรวมๆ กันแล้ว ให้ได้สักสามสิบไร่เป็นผืนเดียวติดกันไปนั่นแหละ..." ผู้ใหญ่พูดจบก็ถอนหายใจพรืดใหญ่

สิ้นประโยค ชาวบ้านทุกคนก็ส่งเสียงฮือฮา หันไปคุยกันด้วยความตกใจ พลางมองลุงอู๋เหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน


ผู้ใหญ่อู๋ กลืนน้ำลายเอื้อกใหญ่ หันไปกระซิบถามตายิ่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะคุยต่อดีมั้ย

"อย่าเพิ่งกลัวไปสิผู้ใหญ่...ลองคุยดูก่อน ของพรรค์นี้มันเปลี่ยนใจกันได้" ตายิ่งกระซิบ

"อ่า...แปลงที่นาพวกเรามันก็อยู่ติดๆ กันไม่ใช่รึ แบ่งๆ กันแค่คนละไม่กี่ไร่ก็ได้แล้ว" ผู้ใหญ่หันกลับมาพูด

"ไม่ได้หรอกผู้ใหญ่...ไร่สองไร่สามไร่ก็ยังพอว่า นี่จะเอาตั้งสามสิบไร่ มันจะไปแบ่งกันอย่างผู้ใหญ่ว่าได้ยังไง ถ้าจะเอาขนาดนั้น มันต้องมีคนขายที่ทั้งหมดอย่างน้อยก็สองคนละ เอ้า" เจ้าหนุ่ย มือขับรถไถประำจำหมู่บ้านลุกขึ้นโต้

"แล้วอย่างฉันมีแค่ห้าไร่ ถ้าแบ่งขายไปสองสามไร่ ฉันจะพอทำกินรึ?" ป้าแป้นลุกขึ้นถามบ้าง

"อ่า..." ลุงอู๋พยายามจะหาคำตอบ

"แล้วถ้าเขาสร้างโรงงานเขาก็ต้องถมที่น่ะสิ...แล้วถ้าพวกเขาถมที่กัน เราจะยังทำนาได้อยู่รึ? รถสิบล้อมันไม่ต้องวิ่งผ่านที่นาเราด้วยรึ?" ลุงน้อยถามบ้าง

"ก็..."

"แล้วถ้าตั้งโรงงาน เขาจะทิ้งน้ำเสียลงที่ไหนล่ะ?...ลงนาเราหรือเปล่า?...หรือลงคลองส่งน้ำ?"

"อืม...เอ่อ..."


ผู้ใหญ่อู๋ชักจะมึนกับคำถามที่มากขึ้นทุกที แต่ละคำถามแกก็ไม่ได้เตรียมคำตอบมาเสียด้วย

"เดี๋ยวก่อนๆ นะพวกเรา...คืออย่างนี้ จากที่ฉันรู้มาคือเขาจะให้ราคาสูงเลยแหละ ยิ่งใครขายทั้งแปลงก็ยิ่งให้ราคาสูงเป็นพิเศษ ถ้าใครสนใจจะขายก็มาบอกฉันไว้ก็แล้วกัน ฉันจะจดชื่อไว้ แล้วพอเดือนหน้า คนจากบริษัทเขาจะมาคุยกับพวกที่จะขายอีกที ใครสงสัยอะไรก็เก็บไว้ถามเขาก็แล้วกันนะ"

ผู้ใหญ่พูดตัดบท แล้วก็ส่งไมค์ให้ผู้ช่วยฯ

"ฉันมีธุระต้องรีบไป เดี๋ยวผู้ช่วยช่วยชี้แจงต่อก็แล้วกัน" ผู้ใหญ่ว่า แล้วก็หันไปโบกมือลาชาวบ้านก่อนจะเดินตรงไปที่รถมอเตอร์ไซค์ของแกที่อยู่ข้างศาลา

ตายิ่งหันซ้ายหันขวา ชาวบ้านต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์เสียงดังขรม บางคนก็จ้องมองแกเขม็งราวกับหวังว่า แกจะพูดอะไรสักอย่างที่น่าจะทำให้พวกเขาหัวเราะได้

"ตกลงมาตั้งโรงงานนี่...พวกเราได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ?" เจ้าหนุ่ย ตั้งคำถามเสียงเครียด

"จริงสิ...จริงแท้แน่นอน" ตายิ่งยืนยันหนักแน่น แม้ว่าหัวสมองกำัลังทำงานหนักเพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์

"แล้วถ้าเขาไม่ได้มาตั้งในเขตหมู่บ้านเรา เราจะยังได้ประโยชน์หรือเปล่าล่ะ?" เจ้าหนุ่ยรุกไล่

"ได้สิ...ได้ ถึงยังไงพวกเราก็ต้องได้ประโยชน์แน่นอน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะต้อนรับเขาแค่ไหน" ตายิ่งพยายามเปิดประเด็นใหม่

"หมายความว่ายังไงลุง? พวกเขาไม่ใ่ช่โจรผู้ร้ายมาจากไหน แล้วยังจะเอาเงินมาให้พวกเราไม่ใช่หรือ ทำไมเราจะไม่ต้อนรับพวกเขาล่ะ?" น้าเปรี้ยวขมวดคิ้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์เงียบสนิท ทุกคนหันมามองตายิ่ง


ตาิยิ่งหัวเราะหึๆ อาศัยความเก๋า แกก็สามารถเบี่ยงเบนประเด็นได้สำเร็จ

"ไอ้ที่ฉันว่าต้อนรับเขา มันไม่ได้หมายถึง มานั่งคุย เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ แต่ฉันหมายถึงว่า เราต้องทำให้เขาเชื่อมั่น ทำให้เขามั่นใจว่า ถ้าเขามาลงทุนตั้งโรงงานที่หมู่บ้านเรา เขาจะไม่ถูกต่อต้าน แล้วเขาก็จะสามารถสร้างโรงงานจนสำเร็จได้ ไอ้ตรงนี้เขาเรียกว่า เอ่อ..."

ตาิยิ่งเว้นจังหวะ พอเห็นชาวบ้านกำลังรอฟังแกพูด แกก็เน้นย้ำทันที

"เขาเรียกว่า...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน...พวกเราต้องจำไว้ให้ดี ถ้าเราอยากจะร่ำรวย อยากกินดีอยู่ดีมีเงินมากกว่านี้ เราต้องทำให้พวกเขาเชื่อมั่น แล้วเขาก็จะเอาเงินมาให้พวกเรา...ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก...อ่า...เอาละ วันนี้ประชุมแค่นี้ก็แล้วกัน ขอบใจทุกคนมากนะ"

 

เมื่อเสร็จการประชุม ชาวบ้านต่างพากันแยกย้ายกลับบ้าน ที่ยังนั่งคุยกันอยู่ก็มีหลายคน

"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" น้าเป้า ท่องทวนคำซ้ำไปซ้ำมา

"ทำไมล่ะน้า? สงสัยที่ตายิ่งแกพูดรึ?" เจ้าปุ้ยหันมาถาม น้าเป้า พยักหน้าหงึกๆ บอกว่า ทำนองนั้นแหละ

"แหม...ไอ้คำนี้ฉันก็เคยได้ยินในทีวี พวกรัฐบาล นายกฯ กับพวกนักการเมืองเขาชอบพูดกันว่า ถ้าเราอยากจะมีเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ เราต้องทำให้นักลงทุนต่างชาติเขาเชื่อมั่น...ก็พูดแบบเดียวกับตายิ่งนี่แหละ ใครได้พูดแล้วมันดูโก้ดีนะ" เจ้าปุ้ยแสดงความเห็น


"ข้าสงสัยอยู่อย่างเดียว" น้าเป้าขมวดคิ้วตามประสาคนช่างคิด "ถ้าไอ้พวกนักลงทุนมันเกิดไม่เชื่อมั่นขึ้นมา...แล้วพวกเราจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า?"

เจ้าปุ้ยได้ฟังแล้วหัวเราะก๊าก พลางส่ายหัว

"ไอ้พวกเราน่ะไม่มีปัญหาอยู่แล้วล่ะลุง ทำมาหากินอยู่กันมาตั้งนมนานแล้ว ส่วนไอ้พวกบริษัทมันก็ไม่เป็นไรหรอก ที่ทางเยอะแยะไม่ได้ที่เราเดี๋ยวมันก็ไปหาที่อื่น"

 

"แต่ไอ้ที่จะแย่น่ะคือ ลุงผู้ใหญ่กับลุงผู้ช่วย ไปรับปากพวกมัน หรือไปรับกะตังค์พวกมันมาเท่าไรก็ไม่รู้"

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…