Skip to main content

หากได้รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับยุโรป พร้อมเงินติดกระเป๋าไปเที่ยวฟรีๆ 10 วัน เป็นใครย่อมไม่รอช้า ทั้งพร้อมจะเลื่อน – ลา – หยุด ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไป มันคงเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น้อยคนจะมีโอกาส แต่ด้วยเงื่อนไขเดียวกันนี้ หากเปลี่ยนจากไปเที่ยวยุโรป 10 วัน เป็นการไป ‘วิปัสสนา’ 10 วันแทน หลายคนคงต้องคิดหนัก

เราหมายใจจะท่องเที่ยวไปให้ทั่วประเทศ ทั่วทวีป ทั่วโลก จากทะเลลึกถึงภูเขาที่สูงที่สุด จากมหานครสู่ป่าดิบ จากกลางตลาดที่คราคร่ำด้วยผู้คนสู่ทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่เรากลับไม่สนใจที่จะท่องเที่ยวสำรวจ ‘จิต’ ของเราเอง ... แปลกมั้ย ?

ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าจะกล่าวด้วยความภาคภูมิ หรืออ้างไปก่อนขณะที่ยังไม่เปลี่ยนศาสนาเป็นอื่น น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายว่า วิปัสสนา หมายถึงอะไร และน้อยลงไปอีกที่ต้องการจะรับรู้ประสบการณ์วิปัสสนา ทั้งที่อาจจะกล่าวได้ว่าสิ่งนี้ คือหนทางแห่งปัญญา อันเป็นคำสอนสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูผู้ยิ่งใหญ่ และศาสดาของศาสนาพุทธ

แน่ละ ผมเองก็เป็นคนหมู่มาก ที่บอกได้ว่าเป็นชาวพุทธตั้งแต่เกิด แต่ไม่เคยรู้เรื่องวิปัสสนาแม้แต่น้อย จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเข้าอบรมการวิปัสสนาที่ศูนย์ธรรมอาภา1 จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิที่นา พร้อมกับเพื่อนอีกสี่คน

ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรมใดๆ เลย หากแต่ต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ว่าด้วยความเงียบอย่างเคร่งครัด ทั้งการไม่พูดคุยกันแม้แต่คำเดียวตลอดสิบวัน ทั้งการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด ทั้งการห้ามอ่าน-ห้ามเขียน ฯลฯ ที่ล้วนแต่สามารถทรมานกิเลสคนเมืองได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนได้ผูกติดตนเองไว้กับสังคมอย่างแน่นหนาเสียแล้ว ครอบครัว คนรัก เพื่อน ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ เวลาเกือบสองสัปดาห์สำหรับคนที่เคยชินกับการพุ่งความสนใจออกไปนอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันไม่ง่ายเลย

วิปัสสนา แปลว่า ทำให้เห็นความจริง ความจริงของโลก ความจริงของชีวิต ความจริงของตัวเรา ผ่านเครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือ ลมหายใจของเราซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เมื่อผมหันความสนใจจากที่เคยมุ่งสู่ภายนอกให้กลับมาดูที่ลมหายใจของตัวเองผมก็ได้เห็น โลกภายในที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน

สามวันแรกของการปฏิบัติ การปรับตัวให้เข้ากับตาราง การตื่นแต่เช้ามืดเพื่อนั่งสมาธิ สถานที่ใหม่ อาหารมังสวิรัติ กฎแห่งความเงียบ หลายสิ่งหลายอย่างทำให้ผมอึดอัด ฟุ้งซ่าน ห่วงงาน ห่วงครอบครัว จนอดคิดไม่ได้ว่าจะอยู่จนครบสิบวันได้หรือไม่ แต่อาจเพราะความสนใจใคร่รู้จากการฟังธรรมะบรรยายในช่วงเย็นของทุกวันที่บอกว่า ‘...การฝึกอานาปานสติ ดูลมหายใจนี้คือการลับมีดให้คมเพื่อผ่าตัดจิตใจ...’ ทำให้ผมอยากจะลองดูสักตั้งว่า ตลอดทั้งสิบวันนี้ หากผมปฏิบัติอย่างจริงจัง มันจะทำให้ผมดาวดิ้นลงไปได้หรือเปล่า ดังนั้น แม้จะร้อนรนเหลือเกินและคิดห่วงไปสารพัดอย่าง แต่ผมก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ จนกระทั่งลมหายใจเริ่มละเอียดลงเรื่อยๆ และสามารถสัมผัสได้ถึงความเย็นจากลมหายใจที่เหนือริมฝีปาก

แล้วในวันที่สี่ วันที่ได้เริ่มฝึกวิปัสสนา เมื่อเริ่มเคลื่อนสติมาจดจ่อที่กลางกระหม่อมผมก็รู้สึกได้ว่า มีดแห่งสติที่ผมเพียรลับมาตลอดสามวันนั้น มันช่างคมกริบเหลือเกิน มันผ่าเอาเวทนาผมผุดพลุ่งออกมาราวกับน้ำพุ หนังหัวของผมเหมือนมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ใบหน้าเหมือนมีตัวอะไรวิ่งอยู่ใต้ผิวหนัง ไหล่ขวาหนักราวกับหินทับ กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้

บางครั้งก็ร้อนผ่าวไปทั้งตัว บางครั้งก็รู้สึกเบาเหมือนจะลอยได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุปาทาน แต่เกิดขึ้นจริงๆ ประจักษ์ด้วยตนเองจริงๆ แม้แต่ความเจ็บปวดตามร่างกายอันเกิดจากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ผมก็ได้เห็นด้วยตนเองว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะขณะเข้าวิปัสสนา มันปวดเหมือนกับจะทนไม่ได้ แต่มันก็หายไปแทบจะทันทีที่ออกจากสมาธิ หรือนี่จะเป็นอาการที่เรียกว่า กิเลสกำลังถูกเผา...?

ผมฝันร้ายในคืนที่สี่นั้น เป็นฝันร้ายที่มาเป็นชุดๆ มากเสียจนจำรายละเอียดและจำนวนเรื่องที่ฝันไม่ได้ รู้แต่ว่ามันช่างน่ากลัวเหลือเกิน ผมไม่เคยรู้เลยว่า ในหัวสมองของผมจะมีจินตนาการที่เลวร้ายซ่อนเร้นอยู่มากมายขนาดนี้ ผมสะดุ้งตื่นหลายครั้งและรู้สึกว่าตัวเองหายใจเบาและเร็วมาก

ผมไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย เช้าวันนั้น ธรรมบริกร ผู้คอยดูแลผู้เข้าอบรม มาบอกผมว่า เมื่อคืนผมนอนกรนเสียงดัง เขาไปเคาะประตูห้องแล้วแต่ผมไม่ตื่น ผมไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลับลึกไปขนาดไหน หรือนอนหลับไม่สนิทขนาดไหน

ในวันต่อๆ มา ผมรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างที่ดำมืดในตัวค่อยๆ ถูกชำระล้างออกไป ผมเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความฟุ้งซ่านในใจเหมือนถูกกวนจนฟุ้งกระจายไปทั่วแล้วจางหายไปเรื่อยๆ ความขุ่นเคืองที่หมักหมมคล้ายตะกอนนอนก้นอยู่ ค่อยๆ ถูกระบายออกไปจนเกือบหมด

ธรรมบรรยายได้ย้ำเตือนอยู่หลายครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎบนร่างกายล้วนเป็นผลมาจากการหลุดร่อนของสังขารที่ทับถมกันอยู่ภายในมาตลอดชีวิต ตามหลักที่ว่า เมื่อหยุดการปรุงแต่ง การปรุงแต่ง(สังขาร)เดิมก็หลุดร่อนออกมา แล้วผลแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสนานาประการในใจ ก็ผุดโผล่ออกมาบนผิวกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งอาการที่น่าพอใจ ทั้งอาการที่ไม่น่าพอใจ ไม่มีอะไรคงทนสักอย่าง แม้แต่ความเจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหวมันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

จากการปฏิบัติติดต่อกันหลายวัน ผมพบว่าร่างกายกับจิตใจมันสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกจริงๆ ขณะที่จิตใจปั่นป่วนร่างกายก็ปั่นป่วน มันต่อต้านการหยุดนิ่ง มันเคยชินกับการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันต่อสู้เพื่อจะสร้าง เพื่อจะปรุงแต่งต่อทุกความรู้สึกทางกายทางใจ แล้วเมื่อจิตใจสงบร่างกายก็สงบลงไปพร้อมๆ กัน

ถึงวันที่แปด ผมนั่งวิปัสสนาติดต่อกันได้นานกว่าสองชั่วโมง แม้อาการเมื่อยล้า เจ็บปวดขาจะยังมีอยู่ แต่ผมรู้ว่ามันจะหายไปในเวลาไม่นาน มันมาแล้วมันก็ไป เช่นเดียวกับความฟุ้งซ่านของจิตที่ยังกระโดดไปมาระหว่างอดีตกับอนาคต มันก็ยังเป็นของมันอยู่ แต่ผมก็รู้แล้วว่า เมื่อมันมาเดี๋ยวมันก็ต้องไป แค่ตามดู รู้ทัน วางเฉยเสียมันก็ไม่อาจไปไหนได้ไกล

หลังสิบโมงเช้าของวันสุดท้าย ทุกคนได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้ ใช้โทรศัพท์ได้ ซึ่งธรรมบรรยายอธิบายว่านี่คือวิธีสมานแผล หลังจากการผ่าตัดจิตใจแล้ว ผมคิดว่า วิธีนี้จะมีประโยชน์มากจริงๆ ในกรณีที่เราไปกันเป็นกลุ่ม เพราะเมื่อเราสามารถพูดคุยกันได้ เราก็ย่อมจะเปิดใจพูดคุยกันได้มากกว่าคนที่มาลำพัง (แต่นี่ก็อาจเป็นข้อเสียเพราะมันอาจทำให้เราอดคุยกันไม่ได้ระหว่างที่รักษาความเงียบ) ดังนั้น ในช่วงพัก ชายหนุ่มทั้งห้าจากมูลนิธิที่นา จึงตั้งหน้าตั้งตาคุยกันชนิดไม่สนใจคนอื่น

เมื่อถึงวันที่ต้องกล่าวอำลา สิบวันที่ยาวนานเหมือนสิบสัปดาห์ในตอนแรก กลับดูสั้นกว่าเดิม ประสบการณ์ตลอดสิบวันแห่งการสำรวจจิตตัวเอง อาจมากพอที่จะเขียนบรรยายเป็นหนังสือได้หลายเล่ม แต่สิ่งที่ทรงคุณค่าที่แท้จริงนั้นกลับยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษร อาจเพราะมันไม่ต้องการคำอธิบาย หรืออาจเพราะไม่มีคำอธิบายใดจะบอกได้อย่างครบถ้วน ผมรู้เพียงว่า ผลลัพธ์ของมันช่างมหัศจรรย์ หลายสิ่งหลายอย่างในตัวผมเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้สึกถึงการ ‘เลือก’ อย่างมีสติมากขึ้น เข้าใจมากกว่าเพียงแค่พูดว่า อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา อย่างที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิต

‘…ภูเขาก็เป็นภูเขา. น้ำก็เป็นน้ำ. บรรพชิตก็เป็นบรรพชิต.ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน.แต่ว่าภูเขาเหล่านี้ แม่น้ำเหล่านี้ โลกเองทั้งหมด พร้อมทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย, ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ตั้งอยู่ภายนอกจิตของเธอ! สากลโลกธาตุอันไพศาล ก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจเธอเท่านั้น,เมื่อเป็นดังนั้น จะมีที่อื่นที่ไหนอีกเล่า ที่จะหาพบสิ่งต่างๆ ที่มีปรากฎการณ์นานาชนิด. ภายนอกของจิตไม่มีอะไรเลย. ...’2

ธาตุดั้งเดิมของมนุษย์ ก็ไม่ต่างจากธาตุดั้งเดิมที่ประกอบอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มี
ชีวิต ทั้งที่เป็นรูป และเป็นนาม หากเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรา ก็ย่อมจะเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนอกตัวเรา หากประจักษ์ถึงสัจจะในตัวเรา ก็ย่อมประจักษ์ถึงสัจจะนอกตัวเรา เมื่อเห็นความจริงของสรรพสิ่ง อัตตาก็ถูกสลายไปเรื่อยๆ

มนุษย์แต่ละคนย่อมสามารถเข้าถึงความจริงที่เขาพร้อมจะรับ แต่หากปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงก็เท่ากับขีดวงล้อมให้ตัวเองแคบเข้าไปเรื่อยๆ ความทุกข์ก็รุมล้อมมาจากทุกด้าน คล้ายกับว่า เมื่อต่อต้านมัน มันจึงคงอยู่ แต่เมื่อมองดูมันกลับสลายไป

สิบวันแห่งการสำรวจจิตใจตนเอง คือประสบการณ์ล้ำค่าที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตหรือชาวนา ‘ธรรม’ นั้นย่อมเป็นของกลางสำหรับทุกคน นับแต่ขจัดทุกข์ กำจัดกิเลศ ไปจนถึงพบกับความจริงสูงสุด แต่ที่ไม่มีใครต้องการจะไป อาจเป็นเพราะกิเลสมันได้ยึดครองจิตใจไปเสียหมดแล้ว และมันกลัวที่จะต้องถูกกำจัดจึงหลีกเลี่ยงทุกวิถีทางที่จะไป เราได้ปล่อยให้กิเลสมันเป็นนายเหนือเรามาตลอด

สุตตะมยปัญญา ได้จากการฟัง การอ่าน การรับรู้ทุกชนิด จินตามยปัญญา ได้จากการคิดใคร่ครวญ และ ภาวนามยปัญญา ได้จากประสบการณ์ จึงมีคำพูดที่ว่า อ่านหนังสือพันเล่ม ไม่เท่าออกเดินทางไกล การประจักษ์แจ้งในตน ย่อมไม่อาจได้จากการอ่านหรือการคิดเอาเอง หากแต่ต้องปฏิบัติให้รู้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น การวิปัสสนานั้น แม้จะอ่านหนังสือสักเท่าไร ก็ไร้ประโยชน์หากไม่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง

ภาวะของการเป็น ที่ได้รับจากประสบการณ์เท่านั้น ที่จะทำให้แต่ละคนได้ประจักษ์ และซาบซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต รู้สึกอยากจะขอบคุณทุกๆ คน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้นำพาให้ตนเองได้มาถึงจุดนี้ เหตุผลที่เราทุกคนควรจะมีโอกาสไปวิปัสสนาสักครั้งหนึ่งในชีวิตนั้น อาจกล่าวได้มากมาย แต่ถึงที่สุดแล้วอาจมีแค่ข้อเดียว

เพราะภาวะแห่งการ ‘เป็น’ นี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรา ‘เป็น’ ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
และเมื่อเราได้รู้จักตนเองแล้ว เราจึงพร้อมจะช่วยให้ผู้อื่นได้รู้จักตนเองด้วย

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…