Skip to main content
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่


ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...

\\/--break--\>
สุดท้ายด้วยสถานภาพที่ถูกยัดเยียดให้ว่าเป็นผู้เชื่อมสัมพันธไมตรี ทั้งคู่ก็จำต้องก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมแต่โดยดี

 

หลังการเดินทางไกล

ที่อยู่ใหม่ของทั้งคู่อยู่ในตู้กระจก แม้จะกว้างขวางและถูกจัดให้เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ แต่มันก็ยังไม่ใช่บ้าน


มาอยู่ได้ยังไม่ทันจะชินกับสภาพแวดล้อม ผู้คนก็แห่แหนกันมาดู ราวกับทั้งคู่เป็นตัวประหลาด ...ไม่ใช่สิ พวกเขามาดูด้วยความชื่นชมต่างหาก ลูกเด็กเล็กแดงก็ล้วนแต่ยินดีปรีดาที่ได้มาเห็นตัวเป็นๆ ในตู้กระจก


มันคงเป็นหน้าที่หลักของทั้งคู่ ในการให้ความบันเทิงแก่ผู้เข้าชม เพียงแค่นั่งกินอาหารหรือเดินไปเดินมา ผู้คนก็ยิ้มแย้มตื่นเต้น ...ช่างน่ารักเสียจริงๆ


เมื่อทั้งคู่มาอยู่ได้ไม่นาน สินค้าต่างๆ เกี่ยวกับตัวทั้งคู่ก็ถูกผลิตออกขาย และแน่นอนว่าต้องขายดี แม้จะไม่ถึงขนาดเทน้ำเทท่า แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผู้ผลิตยิ้มได้

 

ไม่เคยมีใครถามว่า ทั้งคู่พอใจกับสภาพแวดล้อมใหม่แค่ไหน แต่ก็เดาเอาเองว่าคงจะพอใจ เพราะทั้งคู่กินได้ นอนหลับ ไม่แสดงอาการหงุดหงิดหรือปรับตัวไม่ได้ เมื่อเห็นดังนั้น พวกเขาจึงดำเนินการแผนการต่อไป


ไม่มีใครถาม(ตามเคย)ว่าทั้งคู่ รักกัน ชอบกัน หรือเปล่า แต่พวกเขาต้องการให้ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน


พวกเขาพยายามสารพัดวิธี แต่ไม่อาจเปิดเผยให้สังคมรับรู้ได้ เนื่องจากเกรงคำครหา ข่าวที่รั่วออกมาก็มีอยู่หลายกระแส เช่น ให้ดูหนังโป๊ ให้กินไวอากร้า พวกเขาใช้วิธีคิดแบบคนไปใช้กับสัตว์


หรือว่า...นี่คือความบ้าชนิดหนึ่งของคน ?

 

ในที่สุด เมื่อกระตุ้นอย่างไรก็ไม่ได้ผลแล้ว พวกเขาจึงหันมาใช้วิธีลัดด้วยการจับผสมเทียม ฉีดน้ำเชื้อเข้ามดลูกโดยตรงเสียเลย


ในฐานะที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ตัวเธอจึงไม่มีสิทธิ์อุทธรว่าถูกบังคับขืนใจ ทั้งไม่มีสิทธิ์ถามในฐานะสัตว์ว่า เธอถูกกระทำเช่นนี้ด้วยเหตุผลใด


พวกเขาย่อมอ้างว่า ทำไปเพื่อดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ของเธอซึ่งเหลืออยู่เพียงน้อยนิดให้สืบต่อไป แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงกลับมีมากกว่านั้น

 

เอาเป็นว่า...ในที่สุด เธอก็ตั้งท้องทั้งๆ ที่เธอไม่อยากจะตั้งท้อง และไม่ว่าจะอยากหรือไม่อยากมีลูก วันหนึ่ง เธอก็ได้คลอดลูกออกมา สร้างความตื่นตะลึง ตื่นเต้น ตระหนก ยินดีให้กับพวกเขาเป็นล้นพ้น


แล้วเธอก็ค่อยๆ เข้าใจ เหตุผลที่แท้จริงที่เธอต้องเดินทางมาสู่ดินแดนแห่งนี้ พร้อมกับเพศตรงข้ามที่เธอไม่ได้รัก เพราะทันทีที่เธอคลอดลูก ลูกของเธอก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ของอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ตามแต่ใครจะให้คุณค่า

 

  • สัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างสองประเทศ

  • สัญลักษณ์ของความก้าวหน้า และความสำเร็จของเทคโนโลยีผสมเทียม

  • สัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ โชติช่วง ของธุรกิจการท่องเที่ยว

  • สัญลักษณ์ของความคลั่งไคล้ในสิ่งมีชีวิตที่ดูน่ารักน่าทะนุถนอม ฯลฯ

 

ข่าวโทรทัศน์ ข่าวหนังสือพิมพ์ วิทยุ ต่างรายงานเรื่องของเจ้าตัวน้อย-ลูกของเธออย่างใกล้ชิดทุกวัน วันละหลายครั้ง แล้วก็ตามเคย-ตามประเพณีที่สืบทอดกันมาของสังคมนี้ องค์กรที่ดูแลเธอแม่-ลูก ประกาศให้มีการประกวดตั้งชื่อลูกของเธอ และ- - ไม่น่าเชื่อเลย ราวกับว่าสิ่งนี้คือวาระแห่งชาติ ไปรษณียบัตรนับแสนนับล้านใบถูกขายออกไป เพื่อให้ผู้คนได้ช่วยกันตั้งชื่อ-เลือกชื่อ ซึ่งมีเป้าหมายแห่งการสร้างสรรค์นี้คือเงินรางวัลจำนวนล้านบาท


ผู้คนจากทั่วประเทศทยอยเดินทางมาเยี่ยมชมเธอและลูกน้อยราวกับว่า นี่คือสิ่งมีชีวิตที่พิเศษที่สุดในโลก นี่คือของขวัญจากสรวงสวรรค์ที่ประทานให้แก่ชาวเราในประเทศเล็กๆ แห่งนี้


ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อลูกน้อยของเธอเติบโตจนเห็นสีสันบนเรือนร่างชัดเจน และพบว่า ลูกน้อยของเธอมีลักษณะพิเศษบางอย่างที่ไม่พบในพวกพ้อง พวกเขาก็ยิ่งตื่นเต้นจนเพ้อคลั่ง

"...นี่คือความพิเศษเพียงหนึ่งเดียว นี่คือความเป็น unique ที่ไม่มีอีกแล้วในโลก..."

 

อา...สำหรับประชาชนในประเทศโลกที่สามที่คลั่งไคล้ในความเป็น "ที่สุดในโลก" สิ่งนี้ช่างมีความหมายมากมายเหลือเกิน

 

เมื่อลูกเธอเริ่มแข็งแรง พวกเขาก็จัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โตให้ เชิญคนใหญ่คนโตมาร่วมงาน และดูเหมือนว่า... การเฉลิมฉลองครั้งนี้ คงจะเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ เพราะ เธอกับลูกน้อย กำลังจะกลายสภาพเป็น สัญลักษณ์ใหม่ และความหวังใหม่ของธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะดึงดูดเงินให้เข้ามาสู่พื้นที่อีกครั้งหนึ่ง

 

น่าสงสัยว่า หากวันหนึ่งที่เธอและลูกน้อยต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอน พวกเขาเหล่านี้จะร่ำไห้อาลัยอาวรณ์หรือเปล่านะ ? และถ้าพวกเขาร่ำไห้ จะเป็นเพราะอาลัยเธอกับลูกน้อย

 

หรืออาลัย การลงทุนที่ทุ่มเทไป กับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ต้องสูญเสียไป เพราะไม่มีสองแม่ลูกอีกแล้ว ?

 

* (ป.ล.นับจากเธอคลอด เพศผู้ ผู้มีสถานะเป็นพ่อของลูกของเธอ หมดบทบาทในละครฉากนี้ และถูกลืมเลือนจากสังคมไปทันที ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องปกติของสังคมนี้ด้วยเช่นกัน)

 

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…