Skip to main content

20080130 ภาพประกอบ หัวข้อคำตอบอยู่ในผืนดิน

“...ยังไม่เคยเห็นธนาคารไหนในโลกให้ดอกเบี้ยร้อยเปอร์เซนต์ ฝากพันให้พัน ฝากหมื่นให้หมื่น ฝากล้านให้ล้าน ไม่เคยเห็น แต่ธรรมชาติจะให้มากกว่านั้นแทบทุกเรื่อง ถ้าเราฝากธรรมชาติ อย่างเช่น ถ้าเราเอาเงินสิบบาทไปฝากธนาคาร ถ้าเขาให้ดอกร้อยเปอร์เซนต์ สิ้นปีก็ได้สิบบาท รวมที่ฝากเป็นยี่สิบบาท คือสูงสุดแล้ว แต่ถ้าฝากธรรมชาติ ก็เหมือนฝากให้คนอื่นทำงาน สมมติต้นกล้วยห้าบาท ค่าปลูกกล้วยอีกห้าบาท รวมเป็นต้นทุนสิบบาท พอสิ้นปีได้ปลีกล้วยมาอันหนึ่ง เครือกล้วยอีกเครือหนึ่ง หน่อกล้วยอีกสองหน่อ อันนี้ไม่รู้ราคาเท่าไรแล้ว ถามว่ามันได้ร้อยเปอร์เซนต์ หรือกี่ร้อยเปอร์เซนต์ แถมปีที่สองก็ไม่ต้องไปฝากอีกมันมีของมันสองหน่อแล้ว ธรรมชาติจะให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ...”
(คำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านผู้ริเริ่มการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ)

ครอบครัวของแม่ผมเป็นครอบครัวชาวนา ตากับยายยังทำนาอยู่แม้ว่าลูกทุกคนจะมีครอบครัวไปหมดแล้ว
ที่นาของตามีอยู่หลายสิบไร่ นอกจากนี้ตายังเลี้ยงวัว และมีบ่อปลาอีกหลายบ่อ  พอถึงหน้านา รอบบ้านตาจะกลายเป็นทุ่งข้าวเขียวสุดลูกหูลูกตา ทุกช่วงปิดเทอมผมจะได้ไปอยู่กับตา ช่วยตาเลี้ยงวัวบ้าง จับปลาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งเล่นตามประสาเด็ก ภาพท้องนา จึงเป็นภาพที่อยู่ในใจผมมาตลอด

เมื่อผมอายุได้ประมาณสิบขวบ ตาให้ผมได้ลองดำนาเป็นครั้งแรก ในวัยนั้น อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คือเรื่องน่าสนุกทั้งสิ้น เมื่อรู้วิธี ผมก็โหมทำทั้งวัน สนุกอย่างลืมเหน็ดลืมเหนื่อย ผลของการดำนาวันแรก ผมเลยได้เป็นไข้นอนซมอยู่บนเตียงเนื่องจากตากแดดทั้งวัน คุยถึงเรื่องนี้ทีไร ตากับยายจะหัวเราะด้วยความเอ็นดูทุกครั้ง

หลังจากนั้นไม่นาน ตาจากไปด้วยโรคไต ยายขายนาส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ให้เขาเช่า วัวถูกขายไป บ่อปลาถูกถม ผมไม่ได้กลับไปที่นั่นอีกเลย

ผมเติบโตเช่นเดียวกับบุตรข้าราชการทั่วไป จบมอหกต่อปริญญาตรี จบแล้วหางานทำ วนเวียนเข้าๆ ออกๆ เป็นลูกจ้างอยู่นานปี ก่อนจะพบหนทางของตัวเอง อาจเพราะบางสิ่งในวัยเด็กยังอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน ผมจึงหวนหาวันคืนในท้องนามาตลอด

ยี่สิบปีเต็มนับจากครั้งแรกที่ผมได้ดำนา ผมได้ดำนาอีกครั้งบนที่นาแปลงเล็กๆ ของมูลนิธิที่นา  แม้จะเป็นเพียงที่นาแปลงเล็กๆ ที่แบ่งให้ทุกคนได้ลองทำคนละแถว สองแถว แต่มันก็ทำให้ผมได้สัมผัสกับประสบการณ์การดำนาอีกครั้ง

แสงแดด
พื้นเลนในท้องนา
ต้นกล้าข้าวเหนียวต้นเล็ก

ในอดีต ก่อนที่การปฏิวัติเขียวจะเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปค่อนโลก ผืนดินคงอุดมกว่านี้ ธรรมชาติคงสมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ เพียงแค่หว่านข้าวลงในแปลง ปล่อยให้สายลม แสงแดดและพื้นดินดูแล เมล็ดข้าวก็เติบโตจนกลายเป็นต้นข้าว ที่เต็มไปด้วยรวงข้าว มีเมล็ดข้าวในแต่ละรวงนับสิบนับร้อยเมล็ด หรือจะเพาะจากเมล็ดข้าว ให้เป็นต้นกล้า จากนั้นก็ดำนา ปักดำกล้าข้าว 3-4 ต้นเป็นหนึ่งกอ ทำไปทีละจุดๆ จนเต็มท้องนา ผ่านวันผ่านคืน ข้าวก็จะเติบโตเป็นแถวแนว เขียวไปทั้งท้องทุ่ง

หากไม่ได้ลงมือดำนา หากไม่ได้เฝ้ามองการเติบโตของต้นข้าว หากไม่ได้ลงมือเก็บเกี่ยว หากไม่ได้สีข้าว
หากไม่ได้หุงข้าว และหากไม่ได้ลิ้มรสข้าวที่ปลูกเอง ไหนเลยจะรับรู้ถึงความรักอันไพศาลจากธรรมชาติ

ธรรมชาติไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด นอกจากให้ ทั้งยังให้มากเกินกว่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ แต่ความต้องการของมนุษย์กลับมากยิ่งกว่าที่ธรรมชาติมอบให้ และไม่เคยเพียงพอ นั่นจึงเป็นโศกนาฏกรรมตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ขณะที่ดำนา ผมเกิดความคิด ความรู้สึกหลายอย่าง เหมือนได้ย้อนกลับไปในวันที่ได้ดำนาเป็นครั้งแรก เพียงแต่ครั้งนี้มันมากกว่าความสนุกประสาเด็กในวันวาน

หากการวิปัสสนา คือหนทางแห่งการเรียนรู้ตนเอง ทำให้เห็นทุกข์และหาหนทางที่จะลด หรือไปให้พ้นจากความทุกข์

การได้ผลิตอาหารเองเช่นการปลูกข้าว ก็เป็นหนทางที่ทำให้เห็นความจริงว่า ชีวิตมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่อาจหลีกพ้น และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติเท่านั้น จึงจะเป็นหนทางสู่สันติ

หากความรักคือคำตอบ ธรรมชาติซึ่งเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มีคำตอบสำหรับทุกคำถาม

เมื่อการดำนาเสร็จสิ้น ผมนั่งมองแนวต้นกล้าเบี้ยวๆ เฉๆ ของตนเองและชาวนาสมัครเล่นทั้งหลายแล้วก็ให้นึกขำ
แน่นอน ความสำคัญของมันย่อมอยู่ที่การเติบโตของต้นข้าวไม่ใช่ความเป็นระเบียบเหมือนแถวทหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเที่ยงตรงสม่ำเสมอของระยะห่างก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตเช่นกัน

พวกเราเหมือนเด็กปอหนึ่งที่เพิ่งหัดเขียนกอไก่ กว่าจะเขียนได้เต็มหน้ากระดาษก็โย้ไปเย้มา  ขณะที่ชาวนาผู้ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต เหมือนกับช่างอักษรผู้มีลายมืออันหมดจดงดงาม บรรจงเขียนอักษรแต่ละตัวด้วยความชำนาญ รวดเร็ว และเป็นระเบียบยิ่ง ทั้งเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ต้นข้าวแต่ละกอ แต่ละแถวก็มีระยะห่างราวกับใช้ไม้บรรทัดวัด

ชาวนา นำเมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดไปฝากผืนดิน แล้วผืนดินก็คืนเมล็ดข้าวอีกสิบร้อย พัน หมื่นเมล็ดให้แก่ชาวนา

บางที เมื่อถึงวันหนึ่ง ผมอาจจะหมดความสนใจในการจับดินสอ ปากกา แล้วหันไปขีดเขียนบนผืนดินแทน มันคงจะคล้ายกับการจับดินสอหัดเขียนกอไก่อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่การดุ่มเดินไปเพียงลำพังแน่นอน เพราะผมรู้ว่าปลายทางของการทำงานนี้อยู่ที่ไหน

สักวันหนึ่ง...

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก