Skip to main content

20080130 ภาพประกอบ หัวข้อคำตอบอยู่ในผืนดิน

“...ยังไม่เคยเห็นธนาคารไหนในโลกให้ดอกเบี้ยร้อยเปอร์เซนต์ ฝากพันให้พัน ฝากหมื่นให้หมื่น ฝากล้านให้ล้าน ไม่เคยเห็น แต่ธรรมชาติจะให้มากกว่านั้นแทบทุกเรื่อง ถ้าเราฝากธรรมชาติ อย่างเช่น ถ้าเราเอาเงินสิบบาทไปฝากธนาคาร ถ้าเขาให้ดอกร้อยเปอร์เซนต์ สิ้นปีก็ได้สิบบาท รวมที่ฝากเป็นยี่สิบบาท คือสูงสุดแล้ว แต่ถ้าฝากธรรมชาติ ก็เหมือนฝากให้คนอื่นทำงาน สมมติต้นกล้วยห้าบาท ค่าปลูกกล้วยอีกห้าบาท รวมเป็นต้นทุนสิบบาท พอสิ้นปีได้ปลีกล้วยมาอันหนึ่ง เครือกล้วยอีกเครือหนึ่ง หน่อกล้วยอีกสองหน่อ อันนี้ไม่รู้ราคาเท่าไรแล้ว ถามว่ามันได้ร้อยเปอร์เซนต์ หรือกี่ร้อยเปอร์เซนต์ แถมปีที่สองก็ไม่ต้องไปฝากอีกมันมีของมันสองหน่อแล้ว ธรรมชาติจะให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ...”
(คำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านผู้ริเริ่มการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ)

ครอบครัวของแม่ผมเป็นครอบครัวชาวนา ตากับยายยังทำนาอยู่แม้ว่าลูกทุกคนจะมีครอบครัวไปหมดแล้ว
ที่นาของตามีอยู่หลายสิบไร่ นอกจากนี้ตายังเลี้ยงวัว และมีบ่อปลาอีกหลายบ่อ  พอถึงหน้านา รอบบ้านตาจะกลายเป็นทุ่งข้าวเขียวสุดลูกหูลูกตา ทุกช่วงปิดเทอมผมจะได้ไปอยู่กับตา ช่วยตาเลี้ยงวัวบ้าง จับปลาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งเล่นตามประสาเด็ก ภาพท้องนา จึงเป็นภาพที่อยู่ในใจผมมาตลอด

เมื่อผมอายุได้ประมาณสิบขวบ ตาให้ผมได้ลองดำนาเป็นครั้งแรก ในวัยนั้น อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คือเรื่องน่าสนุกทั้งสิ้น เมื่อรู้วิธี ผมก็โหมทำทั้งวัน สนุกอย่างลืมเหน็ดลืมเหนื่อย ผลของการดำนาวันแรก ผมเลยได้เป็นไข้นอนซมอยู่บนเตียงเนื่องจากตากแดดทั้งวัน คุยถึงเรื่องนี้ทีไร ตากับยายจะหัวเราะด้วยความเอ็นดูทุกครั้ง

หลังจากนั้นไม่นาน ตาจากไปด้วยโรคไต ยายขายนาส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ให้เขาเช่า วัวถูกขายไป บ่อปลาถูกถม ผมไม่ได้กลับไปที่นั่นอีกเลย

ผมเติบโตเช่นเดียวกับบุตรข้าราชการทั่วไป จบมอหกต่อปริญญาตรี จบแล้วหางานทำ วนเวียนเข้าๆ ออกๆ เป็นลูกจ้างอยู่นานปี ก่อนจะพบหนทางของตัวเอง อาจเพราะบางสิ่งในวัยเด็กยังอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน ผมจึงหวนหาวันคืนในท้องนามาตลอด

ยี่สิบปีเต็มนับจากครั้งแรกที่ผมได้ดำนา ผมได้ดำนาอีกครั้งบนที่นาแปลงเล็กๆ ของมูลนิธิที่นา  แม้จะเป็นเพียงที่นาแปลงเล็กๆ ที่แบ่งให้ทุกคนได้ลองทำคนละแถว สองแถว แต่มันก็ทำให้ผมได้สัมผัสกับประสบการณ์การดำนาอีกครั้ง

แสงแดด
พื้นเลนในท้องนา
ต้นกล้าข้าวเหนียวต้นเล็ก

ในอดีต ก่อนที่การปฏิวัติเขียวจะเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปค่อนโลก ผืนดินคงอุดมกว่านี้ ธรรมชาติคงสมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ เพียงแค่หว่านข้าวลงในแปลง ปล่อยให้สายลม แสงแดดและพื้นดินดูแล เมล็ดข้าวก็เติบโตจนกลายเป็นต้นข้าว ที่เต็มไปด้วยรวงข้าว มีเมล็ดข้าวในแต่ละรวงนับสิบนับร้อยเมล็ด หรือจะเพาะจากเมล็ดข้าว ให้เป็นต้นกล้า จากนั้นก็ดำนา ปักดำกล้าข้าว 3-4 ต้นเป็นหนึ่งกอ ทำไปทีละจุดๆ จนเต็มท้องนา ผ่านวันผ่านคืน ข้าวก็จะเติบโตเป็นแถวแนว เขียวไปทั้งท้องทุ่ง

หากไม่ได้ลงมือดำนา หากไม่ได้เฝ้ามองการเติบโตของต้นข้าว หากไม่ได้ลงมือเก็บเกี่ยว หากไม่ได้สีข้าว
หากไม่ได้หุงข้าว และหากไม่ได้ลิ้มรสข้าวที่ปลูกเอง ไหนเลยจะรับรู้ถึงความรักอันไพศาลจากธรรมชาติ

ธรรมชาติไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด นอกจากให้ ทั้งยังให้มากเกินกว่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ แต่ความต้องการของมนุษย์กลับมากยิ่งกว่าที่ธรรมชาติมอบให้ และไม่เคยเพียงพอ นั่นจึงเป็นโศกนาฏกรรมตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ขณะที่ดำนา ผมเกิดความคิด ความรู้สึกหลายอย่าง เหมือนได้ย้อนกลับไปในวันที่ได้ดำนาเป็นครั้งแรก เพียงแต่ครั้งนี้มันมากกว่าความสนุกประสาเด็กในวันวาน

หากการวิปัสสนา คือหนทางแห่งการเรียนรู้ตนเอง ทำให้เห็นทุกข์และหาหนทางที่จะลด หรือไปให้พ้นจากความทุกข์

การได้ผลิตอาหารเองเช่นการปลูกข้าว ก็เป็นหนทางที่ทำให้เห็นความจริงว่า ชีวิตมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่อาจหลีกพ้น และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติเท่านั้น จึงจะเป็นหนทางสู่สันติ

หากความรักคือคำตอบ ธรรมชาติซึ่งเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มีคำตอบสำหรับทุกคำถาม

เมื่อการดำนาเสร็จสิ้น ผมนั่งมองแนวต้นกล้าเบี้ยวๆ เฉๆ ของตนเองและชาวนาสมัครเล่นทั้งหลายแล้วก็ให้นึกขำ
แน่นอน ความสำคัญของมันย่อมอยู่ที่การเติบโตของต้นข้าวไม่ใช่ความเป็นระเบียบเหมือนแถวทหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเที่ยงตรงสม่ำเสมอของระยะห่างก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตเช่นกัน

พวกเราเหมือนเด็กปอหนึ่งที่เพิ่งหัดเขียนกอไก่ กว่าจะเขียนได้เต็มหน้ากระดาษก็โย้ไปเย้มา  ขณะที่ชาวนาผู้ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต เหมือนกับช่างอักษรผู้มีลายมืออันหมดจดงดงาม บรรจงเขียนอักษรแต่ละตัวด้วยความชำนาญ รวดเร็ว และเป็นระเบียบยิ่ง ทั้งเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ต้นข้าวแต่ละกอ แต่ละแถวก็มีระยะห่างราวกับใช้ไม้บรรทัดวัด

ชาวนา นำเมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดไปฝากผืนดิน แล้วผืนดินก็คืนเมล็ดข้าวอีกสิบร้อย พัน หมื่นเมล็ดให้แก่ชาวนา

บางที เมื่อถึงวันหนึ่ง ผมอาจจะหมดความสนใจในการจับดินสอ ปากกา แล้วหันไปขีดเขียนบนผืนดินแทน มันคงจะคล้ายกับการจับดินสอหัดเขียนกอไก่อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่การดุ่มเดินไปเพียงลำพังแน่นอน เพราะผมรู้ว่าปลายทางของการทำงานนี้อยู่ที่ไหน

สักวันหนึ่ง...

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…