Skip to main content

 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

 

อายุแบบผมถือว่ายังไม่ผ่านคุ้งโค้งในชีวิตมากนัก แต่ผมก็พอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เกินกว่าครึ่งไปมากของคุ้งโค้ง นาวาลำนี้ล่องไหลและมีลมหายใจเข้า-ออก ผ่านเรื่องราวล้านแปดของตลาดสด โดยเฉพาะตลาดสดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในตำแหน่งผู้ช่วยแม่ (ค้า)

 

ผมจึงอยากเล่าเรื่องของ ‘กลิ่น’ ที่คุ้นเคยจากการใช้ชีวิตในตลาดสดสักครั้ง

 

กลิ่นที่ผมพูดถึง มันเป็นกลิ่นที่นิยามไม่ได้เพราะไม่มีความเฉพาะเจาะจง แต่เป็นกลิ่นของทุกสิ่งอย่างในตลาดสด-กะปิ ซอส ปลาร้า ผักสด ลูกชิ้น หน่อไม้ เนื้อหมู-ไก่-ปลา ข้าวแกง น้ำครำ ขยะ แมลงสาบ หนู คราบไคล ฯลฯ มันเหมือนมีพันธะเคมีอันแปลกประหลาดที่วิ่งมาชนกันกลางอากาศแล้วสร้างมวลกลิ่นจำเพาะขึ้น

 

ถ้าคุณใช้เวลาในตลาดสดนานพอ พร้อมกับเคลื่อนไหวไปมา กลิ่นนี้จะติดเสื้อผ้า หน้า ผม ของคุณไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เดาว่าหลายคนคงไม่ชอบ ขณะที่อีกหลายชีวิต กลิ่นตลาดคือความคุ้นเคยในอาณาเขตของความจริงที่ยากปฏิเสธ

 

.............

 

กล่าวกันว่าชีวิตเมืองยุคใหม่ถอยห่างตลาดสดออกไปเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ป่วยการที่จะฟูมฟาย เพราะถ้าเปรียบเทียบกับห้างดิสเคาต์สโตร์ ไม่ว่าด้านความสะอาด ความสะดวกสบาย แอร์เย็นๆ การบริการที่ดี การติดป้ายบอกราคาที่แน่นอน การมีสินค้าให้เลือกที่เรียกว่าแทบจะครบถ้วน การมีอำนาจเหนือพนักงานห้าง (พวกเธอและเขาไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้า) โดยสมบูรณ์ ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงปะทะกับ ‘ปากตลาด’ และความโมโหร้ายของคนตลาดสด ที่สำคัญคือไม่มีกลิ่น ห้างฯ ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแทบทุกประตู

 

มันเป็นเรื่องของทางเลือกครับ โลกปี 2012 ไม่มีใครบังคับกะเกณฑ์ผู้บริโภคได้ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการที่ผู้บริโภคถูกทำให้เชื่อผ่านกระบวนการสื่อสารการตลาด) การเพิ่มปริมาณห้างฯ จาก 169 แห่ง เป็น 408 แห่ง และร้านสะดวกซื้อจาก 3,428 แห่ง เป็น 9,260 แห่ง ในช่วงปี 2548-2554 ร้านค้าดั้งเดิมหรือโชห่วยยากจะเลี่ยงแรงกระแทกจากปรากฏการณ์นี้ และความอยู่รอดของโชห่วยก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายอ่อนไหวสองเส้น เส้นหนึ่งคือผู้บริโภค อีกเส้นที่อ่อนยิ่งกว่าอ่อนคือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศ

 

ผมเคยไปนั่งฟังการเสวนาประเด็นความมั่นคงทางอาหารที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับฟังเรื่องเล่าผ่านปากคำวิทยากรถึงร้านโชห่วยในชุมชนท่ามกลางวิกฤตมหาอุทกภัยว่า ขณะที่สินค้าอุปโภค-บริโภคในห้างฯ ขาดแคลน แต่ร้านโชห่วยทั่วไปยังมีของขายเป็นปกติ เจ้าของร้านโชห่วยรู้สึกว่า มันเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องหาสินค้ามาคอยหล่อเลี้ยงชุมชนท่ามกลางความขาดแคลน บทสรุปของเรื่องนี้ก็คือ หากต้องการความมั่นคง เราไม่สามารถฝากท้องไว้กับใครคนใดคนหนึ่งได้ การกระจายอาหารไว้ในหลายๆ หน่วยย่อยของสังคมคือการกระจายความเสี่ยง เหมือนกับที่นักลงทุนชอบพูดกันว่า อย่าเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว

 

.............

 

ผมสังเกตเห็นความย้อนแย้งอันชวนสนุกสนานและขันขื่นบางประการ ระหว่างส่วนผสมของความเหินห่างและโหยหา ‘ตลาด’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริโภคประสบการณ์คือความจำเป็นด้านโภชนาการของอัตลักษณ์และความทรงจำของชีวิตคนเมือง ความโรแมนติกและอาการโหยหาอดีตคือสารอาหารที่มีคุณค่าต่ออารมณ์-ความรู้สึกของผู้คนยุค 3จี

 

แล้วอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เข้ามารับไม้ต่อได้พอดิบพอดี

 

ปัจจุบัน เราจึงเห็น ‘ตลาดประดิษฐ์’ ที่จงใจสร้างขึ้นจากแผนการตลาดอันหลักแหลม ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่ ที่ผมเคยไปก็อย่างตลาดน้ำ 4 ภาคที่พัทยา ...อีกเช่นกัน ไม่มีกลิ่นติดตัวออกมา (หรือมีผมก็คงจำไม่ได้) ขณะเดียวกัน ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งก็ใช้การเติบโตของวิถีการท่องเที่ยวแนวนี้ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชุมชน ซึ่งต้องยอมรับว่าย่อมมีทั้งสิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างและสิ่งที่มีมาแต่ดั้งเดิมปะปน ส่วนผสมจะมาก-น้อยขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของแต่ละชุมชน

 

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นไปตามกลไกพื้นฐานของหลักเศรษฐศาสตร์ที่ยากจะใช้กฎเกณฑ์เชิงศีลธรรมและวัฒนธรรมมาวัดได้เพียงโดดๆ ขืนใครทำแบบนั้นก็ออกจะใจจืดเกินไป เพราะจะดีจะร้ายอย่างไรเงินตราที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจนี้ก็ช่วยกระจายรายได้และเลี้ยงดูชีวิตคนทำมาหากิน

 

ทีนี้ ถ้าลองคิดแบบหนามยอกเอาหนามบ่งเรื่องการบริโภคประสบการณ์ ผมคิดว่าคงไม่เสียหายหากจะเชิญชวนคนเมืองให้หาเวลาไปเดินตลาดสดดูบ้าง จะในกรุงหรือต่างจังหวัดก็ได้ เพราะหากประสบการณ์คือการได้เรียนรู้-ค้นหา-เก็บรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกภายนอก การพาตัวเองเข้าไปปะทะสังสรรค์กับประสบการณ์แตกต่างหลากหลาย มันคงน่าสนุกกว่า ได้เก็บเกี่ยวแบบเรียนสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตจากครูมากหน้าหลายตากว่า เผลอๆ อาจสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ความรู้สึกจากอาการโอเว่อร์โรแมนติก เพราะได้พบความจริงอีกแบบหนึ่ง ที่สำคัญกว่านั้นคือ มันช่วยพยุงลมหายใจของคนตลาดสด พร้อมๆ กับค้ำยันความมั่นคงทางอาหารของสังคม

 

............

 

เข้าใจว่าโดยทั่วไปเราพบเห็น ‘ตลาดวาย’ ได้ง่ายกว่า ‘ตลาดเกิด’

 

ตลาดสดเทศบาลศรีราชาจะคึกคักที่สุดตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ถึงช่วงสายครับ พอตกบ่าย ตลาดจะค่อยๆ สร่างซาและวายในช่วงบ่ายแก่ๆ ที่ว่าตลาดวายมิได้หมายถึงทั้งตลาดไม่มีคนอยู่เลยนะครับ ยังมีพ่อค้าแม่ค้าอยู่บ้าง เช่น ผลไม้ ขนม ร้านที่อยู่จนค่ำคือร้านขายดอกไม้ (ไม่เคยถามเหมือนกันว่าทำไมต้องอยู่จนค่ำมืด) แต่ส่วนใหญ่กลับบ้านหมดแล้ว

 

แต่ความจริงคือตลาดไม่เคยหลับ หลังเที่ยงคืนเล็กน้อย คนตลาดสดบางส่วนเริ่มทยอยมาตระเตรียมสินค้าและเปิดร้าน คนรับจ้างเข็นของเข็นเนื้อหมูเป็นเข่งๆ ไปส่งตามเขียงหมู ทอดเวลาออกไปอีกนิด กุ้ง หอย ปูปลา และผักสดเดินทางตามมาติดๆ ก่อนซัดเซมาทำอาชีพคนส่งสารในบางกอก ผมจะถูกถีบให้ตื่นประมาณตี 4 ครึ่ง เพื่อมาเปิดร้าน ยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน สารทจีน เขียงหมู เขียงไก่ ผลไม้ จะพักค้างอ้างแรมกันที่ตลาดตั้งแต่วันจ่ายข้ามคืนถึงวันไหว้ เรียกว่าไม่ยอมเสียโอกาสทำมาหากิน และเป็นช่วงที่งานหนักและวุ่นวายที่สุดสำหรับผมเช่นกัน

 

ฉากชีวิตเหล่านี้วิ่งวนเป็นวัฏจักรไม่สิ้น หลายคนจากไป-ทั้งจากเป็นและจากตาย-ผลัดเปลี่ยนให้คนอื่น ไม่ก็ลูกหลาน เข้ามาว่ายเวียนดิ้นรนต่อ ปากท้องคือเท้าของชะตากรรมที่เตะถีบให้คนตลาดต่อสู้ดิ้นรน ต้องทนแรงกดดัน ความเบื่อหน่าย เผชิญวันที่ลูกค้าไม่รู้หายไปไหนหมด แต่พรุ่งนี้ยี่ปั๊วดันจะมาเก็บเงิน คนตลาดถูกหลอมและห่อหุ้มด้วยบรรยากาศแบบนี้ มันวิวัฒนาการให้พวกเราต้องทนแรงเสียดทาน (แต่ไม่ค่อยอดทนกับลูกค้าจู้จี้) เสียงดัง ไม่ค่อยมีพิธีรีตอง และอาจถึงขั้นหยาบคายเมื่อใช้ธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นกลางในเมืองมาจับ ถึงกระนั้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นของจริงที่ผมเชื่อว่าผ่านการปรุงแต่งไม่มากนัก

 

ลองไปเที่ยวกันดูนะครับ

 

.............

 

ทุกครั้งที่กลับศรีราชา ‘กลิ่นตลาด’ ที่ติดผ้าเสื้อเนื้อตัวของแม่ (ค้า) กลับบ้าน มันคือความคุ้นเคย มันคือกลิ่นจากมวลอากาศที่ผ่านการผสมผสานของทุกๆ สิ่งในตลาด ที่ผมได้เคยและยังคงสูดลมหายใจเข้า-ออกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดของกลิ่นตลาดก็คือ มันคอยตักเตือนมิให้หลงลืมว่า ผมเป็นใคร

 

(เผยแพร่ครั้งแรกใน TCIJ Blog)

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของชายผู้หนึ่งนามว่า 'เจดี' ที่ถูกเหยียบย่ำจนตาย คุณอาจกำลังคิดว่านี่คือคำเปรียบเปรย? ต้องลองอ่านดู
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เมื่อสองสามปีก่อน ผมถูกหนุ่มเวียดนามคนหนึ่งพยายามจะหักแขนซ้าย...
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เขี้ยว เล็บ ประสาทสัมผัส และมัดกล้ามอันทรงพลัง คือพรสวรรค์และอาวุธที่ธรรมชาติ-กระบวนการวิวัฒนาการ-หยิบยื่นแก่เหล่าสัตว์นักล่า ช่วยให้มันตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ