ภาพสุดท้ายของคนบ้า

5 February, 2013 - 17:13 -- Tistou

 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

 

คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ

เมื่อต้องใช้ชีวิต-ทำงานในละแวกนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบ-ผ่านกันเป็นปกติวิสัย พวกเขาอาจก่อความรำคาญแก่ร้านค้าและผู้คนบ้าง แต่ไม่เคยทำร้ายใคร โดยมากแล้ว พวกเขามักมีความสุขอยู่ภายในโลกลี้ลับของตัวเองที่ไม่มีใครล่วงล้ำเข้าไปได้

ทว่า โลกอันลี้ลับนั้นช่างเย้ายวนความสอดรู้สอดเห็นของผม ผุดเป็นข้อกังขาใหญ่ 2 ข้อ-ไม่มีใครบ้าแต่กำเนิด แล้วอะไรที่ทำให้พวกเขาหลุดลอยไปสู่อาณาเขตที่ไม่มีใครตามเข้าไปได้ อีกข้อ-อะไรคือภาพประทับสุดท้ายก่อนที่จิตใจของพวกเขาจะหักแหลกลง

................

คำถามข้อแรก ผมไม่ได้ต้องการคำตอบในเชิงจิตวิทยาทำนองว่า เพราะจิตใจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง บลา บลา บลา ผมอยากรู้ย้อนลึกไปอีกว่า ชีวิตกระทำซ้ำเติมอะไรกับพวกเขา มันถึงหนักหนาขนาดเฉือดเฉือนบางอย่างในใจจนขาดวิ่น และยัดเยียดบางสิ่งลงไปจนล้นเกิน

แน่นอน สำหรับคำถามข้อนี้ ผมคงไม่มีวันรู้ได้ นั่นน่ะสิ ผมจะถามใคร พวกเขาแต่ละคนเหมือนบุรุษ-สตรีนิรนามที่วันหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น ไร้ที่มาและยังไม่มีใครรู้ที่ไป

มีข่าวคราวและสถิติเผยแพร่เป็นระยะๆ ว่า สังคมไทยมีผู้ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นทุกปี...หรือนี่คือราคาค่างวดปกติ (?) ที่การพัฒนาเรียกร้องให้ทุกสังคมที่ต้องการมันต้องจ่าย?

..............

ผู้เจ็บป่วยทางจิตมักมีพฤติกรรมเฉพาะตัวที่ปฏิบัติซ้ำๆ เป็นกิจวัตร (อย่างน้อยก็ย่านสะพานควาย) มี 7 คนที่ผมพบปะสม่ำเสมอ

ชายร่างผอม หัวโล้น เนื้อตัวมอมแมม ใส่แต่กางเกง เขามักเดินไปไหนพร้อมปากกาลูกลื่นแบบกด และเขาจะกดเข้า-กดออกอยู่เช่นนั้นประหนึ่งจังหวะดนตรีที่ทำให้เขามีความสุข เขายังชอบใช้ปากการะบายตามร่างกาย ชอบใช้กรรไกรตัดกระดาษเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจุดไฟเผาทำลายมัน

ชายผมยาวที่ไม่เคยผ่านการสระล้าง จนมันติดตังเป็นก้อนเดียว เขามักเดินเท้าเปล่าไปมาตามฟุตปาธ หยุดมองท้องฟ้าเป็นระยะ ก่อนพร่ำบ่นบางถ้อยคำ ถ้อยคำที่ไม่มีใครได้ยินและเข้าใจ หรือบางครั้งก็นอนยิ้มอยู่ข้างทางเหมือนมีความสุขล้นเหลือเฟือฟาย

ชายวัยสี่สิบกลางค่อนไปทางปลาย เขาสวมรองเท้ากีฬา สะพายเป้ พร้อมตุ๊กตาตัวพอประมาณ ใส่เสื้อกันหนาวและคลุมฮู้ดตลอดเวลาไม่ว่าอากาศรอบตัวจะร้อนอบอ้าวเพียงใด เหมือนโลกภายนอกช่างหนาวเหน็บ

ชายอีกคนวัยไล่เลี่ยกับคนก่อน ผมมักเห็นเขากึ่งนั่ง กึ่งนอน บนสะพานลอยข้ามสี่แยกสะพานควาย เขาจะฉีกกระดาษอะไรก็ตามที่เขาเก็บได้ใกล้มือ ฉีกมันออกเป็นชิ้นเล็กๆ ฉีกไปเรื่อยๆ จนไม่มีกระดาษในมือเหลือให้ฉีกอีก

ชายอีกคนวัยไล่เลี่ยกับคนก่อน เขามีที่ประจำคือป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เขานั่งอยู่กับฝากล่องโฟมขนาดใหญ่ เขาหงายมันขึ้นและเอาฝาเบียร์ ฝาขวดน้ำอัดลมจำนวนมากวางเรียงลงไปอย่างพิถีพิถัน เหมือนกราฟแท่งหรือหมากกลอะไรสักอย่างที่คงไม่มีใครเข้าใจ เขามักยิ้มกริ่มกับผลงานและคอยเติม ดึงออก หรือสลับตำแหน่งฝาเหล่านั้น

หญิงคนหนึ่ง เสื้อยืดแขนสั้น-กางเกงขาสั้นที่ไม่ผ่านการซัก เธอหอบหิ้วถุงพลาสติกขนาดใหญ่ติดตัว และสวมเสื้อชั้นในเอาไว้ด้านนอกเสมอ

หญิงคนสุดท้าย ผมยาว รวบเป็นมวย เธอใส่ชุดเดรสยาวกรอมเท้าที่ไม่ได้ถอดเปลี่ยนมาหลายนาน เธอชอบนั่งยองๆ บนฟุตปาธ คีบบุหรี่ในมือ และมีใบหน้าที่ดูเหมือนเกลียดโลกใบนี้เหลือเกิน

..................

ทั้งหมดนั่นคือที่มาของคำถามข้อที่ 2 พี่ บก. เคยอธิบายให้ผมฟังว่า สิ่งที่คนเหล่านี้แสดงออกก็คือภาพสุดท้ายที่พวกเขาจดจำได้ ก่อนที่จะไม่จำอะไรอีกเลย บางคนบอกว่ามันคือเศษซากอันงดงามชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่พวกเขาเก็บกู้มันได้เพียงบางชิ้น พยายามประกอบสร้างมันขึ้นใหม่อย่างบิดเบี้ยว และเลือกเก็บมันเอาไว้ตลอดไป-เหมือนภาพบนหน้าจอโทรทัศน์ที่ถูกกดหยุดไว้-ใช้มันกดทับก้อนทุกข์ขนาดมหึมาไว้ข้างใต้ เพียงแต่พวกเขาไม่รู้วิธียกมันออกและไม่กล้ายกมันออก

มันยากกว่าคำถามข้อแรกเสียอีก มันเป็นความอยากรู้อยากเห็นที่พาผมไปเจอทางตัน ต่อให้ผมเป็นยอดนักข่าวเจาะมือหนึ่งในเอกภพก็ไม่มีวันเจาะลึกลงสู่จิตใจเพื่อค้นหาภาพสุดท้ายของพวกเขาได้ ยิ่งคนที่จิตใจหักแหลกเช่นนั้น ภายในคงเหมือนเขาวงกตที่ไร้ทางออก และผมอาจหลงวนอยู่ในนั้นไปตลอดกาล

...............

เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราและพวกเขาต่างกันหรือเปล่า คงต่างกันที่ว่าพวกเขามีเพียงภาพสุดท้ายภาพเดียว แต่เรามีภาพมากมายหมุนเวียนกันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในแต่ละห้วงขณะของชีวิตและมันคอยผลักรุนเราให้กระเสือกกระสนทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำซากอยู่ทุกวันๆ ยิ่งในยุคสมัยที่มีธุรกิจและโรงงานประกอบภาพออกมาป้อนตลาดได้ไม่จบสิ้น เราจึงกลายเป็นนักสะสมภาพ

เราเชื่อว่าหากเราบีบคั้นชีวิตตนเองให้เป็นภาพเดียวกันกับภาพที่เราสะสม ชีวิตจะงดงาม โดยหลงลืมไปว่าเราอาจมีภาพมากเกินไป มากเกินกว่าจะทำให้เป็นจริงได้ทุกภาพ

หญิง-ชายผู้มีจิตเจ็บป่วยครอบครองภาพคนละภาพ แต่เราใช้ภาพเปล่าเปลืองเหลือเกิน เราใช้ภาพนับสิบ นับร้อย กดทับอะไรบางอย่างไว้ เมื่อชีวิตเดินมาถึงจุดหนึ่ง จึงพบว่าเรายืนอยู่ท่ามกลางเศษภาพกองระเกะระกะ และหลงลืมอีกครั้งว่าใต้เศษภาพมีอะไรอยู่

เราและพวกเขาต่างกันหรือเปล่า?

สิ่งที่จะทำให้เราต่างคงขึ้นอยู่กับว่า เรารู้วิธียกมันออกและกล้าจะยกมันออกบ้างหรือไม่

หยุดบอกให้กูทำตามความฝันและมีความสุขซะทีเถอะ

9 April, 2018 - 16:24 -- Tistou

ตั้งแต่วัยรุ่นที่พอจะรับรู้ความเป็นไปของสังคมบ้าง ผมพบเจอ ‘วิธีคิด’ ในการใช้ชีวิตประมาณห้าหกชนิด ตั้งแต่สโลว์ไลฟ์ สโลว์ฟู้ด การกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนา มินิมัลลิสม์ ฮุกกะ และล่าสุดที่ออกมาไล่เรี่ยกันคือลุกกะและอิคิไก แล้วยังมีการเผยแพร่ลัทธิความฝันแบบเข้มข้นของสื่อมวลชน สินค้า บริการ จนถึงโค้ช นัก

รัฐฆราวาสกับความกลัวอิสลาม

9 April, 2016 - 22:06 -- Tistou

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

 

วันนี้มีเหตุให้ไปร่วมวงแลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นการไม่นับถือศาสนา มีหลายบทสนทนาที่น่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันและถกเถียงกันต่อ

ดวงวิญญาณที่ไม่ได้ไปผุดไปเกิด

20 February, 2016 - 22:40 -- Tistou

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

ในหนังสือ 'SUM 40 เรื่องเล่าหลังความตาย' ของ David Eagleman มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงสรวงสวรรค์ที่ดวงวิญญาณของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ยังคงว่ายเวียนอยู่บนสรวงสวรรค์แห่งนั้น