Skip to main content

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

 

วันนี้มีเหตุให้ไปร่วมวงแลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นการไม่นับถือศาสนา มีหลายบทสนทนาที่น่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันและถกเถียงกันต่อ

ช่วงสาย การพูดคุยจดจ่อกับการค้นหานิยามของการไม่นับถือศาสนาว่าคืออะไร เนื่องจากผู้จัดต้องการนำไปเป็นฐานคิดเพื่อเคลื่อนไหวด้านสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของผู้ที่นับถือและไม่นับศาสนา ซึ่งในแง่ที่ว่าการเคลื่อนไหวจำเป็นต้องมีรูปธรรมจับต้องได้เพื่อให้การขับเคลื่อนมีพลัง ส่วนตัวผมก็ไม่ได้รู้สึกคัดค้านใดๆ

แต่ในแง่ความเป็นจริงทางสังคม ผมคิดว่าเราคงหานิยามไม่ได้ชัดเจน เพราะศาสนาและการไม่นับถือศาสนาต่างก็ไม่ได้คงตัวให้จัดกรอบเกณฑ์ได้แบบนั้น มนุษย์อาจมีสภาวะทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน หรือเลือกเชื่อบางสิ่งของแต่ละศาสนา หรือถึงที่สุดแล้ว หากเราแปรความคำว่าศาสนาเป็นความเชื่อประเภทหนึ่ง กลุ่ม Anti-Religion, Atheist, Parody Religion เป็นต้น ก็อาจเป็นศาสนา ถ้าตีความกันแบบไม่ต้องเคร่งครัดนัก แต่ที่แน่ๆ มันคือความเชื่อแบบหนึ่งที่มนุษย์เราเลือกที่จะเชื่อ

ผมฟุ้งไปอีกว่า ความเชื่อเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของชีวิต เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ถ้ามีความเชื่อใดๆ ที่ไม่ยังไม่สามารถตีกรอบหรือสร้างคำนิยามให้คมชัดได้ การที่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างนิยามนั้นขึ้น สิ่งนี้ก็น่าจะข้ามเส้นไปสู่ความเป็นการเมืองของการช่วงชิงความหมายกันเสียแล้ว

ผมละเรื่องนิยามไว้แค่นี้ เพราะคงถกเถียงกันได้อีกมากมาย

รัฐฆราวาส

การที่ผู้จัดวงสนทนาต้องการสร้างนิยามก็เพื่อเคลื่อนต่อเรื่องสิทธิและความเสมอภาค เนื่องจากมีการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่ระบุว่าไม่นับถือศาสนา การไม่ต้องระบุศาสนาบนบัตรประชาชน โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่า...ใหญ่มาก คือการผลักดันไทยให้เป็นรัฐฆราวาส หรือ Secular state ซึ่งผมก็มีรสนิยมให้เป็นเช่นนั้น แม้จะมีความชื่นชอบศาสนาพุทธเป็นการส่วนตัว

เหลียวมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย มาตรา 67 ระบุว่า

‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

‘ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าว’

มิพักต้องอธิบายว่า มาตรานี้จะก่อปัญหาใดตามมาหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เพราะเห็นชัดเจนว่าไม่มีความเสมอภาคระหว่างศาสนาต่างๆ รัฐเลือกที่จะอุ้มชูศาสนาพุทธเป็นพิเศษ

เป็นเรื่องยากเย็นมากที่จะแยกศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธออกจากรัฐไทย เพราะสองสิ่งนี้อยู่คู่กันมาตลอดการสร้างรัฐชาติ คนไทยส่วนใหญ่นึกภาพประเทศไทยที่ไม่ใช่ประเทศพุทธไม่ออก สิ่งที่กระทบต่อพุทธศาสนาย่อมหมายถึงกระทบต่อความมั่นคง ความเป็นชาติไทย ความเป็นรัฐไทย ไปโดยปริยาย

ยังไม่นับว่าสถาบันสงฆ์มีผลประโยชน์-ซึ่งในที่นี้กินความทั้งเรื่องทรัพย์สินไปจนถึงอุดมการณ์ความเชื่อ-ที่ต้องปกป้อง ไม่มีทางที่จะตัดรอนตัวเองโดยการไม่รับการเกื้อหนุนจากรัฐ เงินในบัญชีวัดทั่วประเทศประมาณ 7 แสนล้านบาทคงช่วยให้เห็นได้ว่า ทรัพย์ศฤงคารของผู้ที่ได้ชื่อว่าละกิเลสนั้นมากมายเพียงใด

แต่ผมคิดว่าการมองว่าพระสงฆ์คือผู้ละกิเลสทำให้เราผิดประเด็น พระไม่ใช่ผู้ละกิเลส แต่พระคือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่งในสังคม ผมจึงเสนอเล่นๆ ไปว่า รณรงค์ให้พระมีสิทธิเลือกตั้งไปเลย ให้พระสามารถก่อตั้งพรรคการเมืองได้ แล้วหากพระสงฆ์ต้องการปกป้องผลประโยชน์ใดๆ ของตน ต้องการผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ไปสู้กันในระบบรัฐสภา ซึ่งเพทุบายของความคิดเล่นๆ นี้ก็คือ จะทำให้สถาบันสงฆ์ต้องถูกตรวจสอบจากสังคมมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ ผมคิดว่าสถาบันสงฆ์ก็คลับคล้ายสถาบันตุลาการนั่นแหละครับ คือแทบไม่ถูกตรวจสอบเลย

บัญชีวัดอยู่ในการควบคุมของเจ้าอาวาสและบริวารใกล้ชิดนะครับ ชุมชนรอบข้างไม่มีสิทธิตรวจสอบใดๆ ถ้าไม่แข็งแรงพอ การสร้างความโปร่งใสให้กับการทำบัญชีวัดก็น่าจะเป็นอีกสเต็ปหนึ่ง เป็นประตูบานแรกๆ ของการตรวจสอบและการกระจายทรัพยากรในมือวัดออกสู่สังคม

แต่เชื่อเถิดว่าสถาบันสงฆ์ไม่มีทางยินยอมเด็ดขาด ด้วยเหตุผลว่าทำให้คนนอกเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง วัดมีสิทธิไสส่งชาวบ้านออกจากที่ดินวัด แล้วปล่อยเช่าให้แก่นักธุรกิจ ใครๆ ก็ห้ามแทรกแซง แต่สถาบันสงฆ์กลับต้องการให้รัฐหรือคนนอกแต่งตั้งพระสังฆราช ต้องการให้รัฐบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องการงบประมาณจากรัฐ ต้องการให้ญาติโยมบริจาคทรัพย์สินมากๆ แต่ให้แล้วให้เลยนะ ไม่ต้องรู้ว่าวัดจะเอาไปใช้อะไร เอ๊ะ ยังไง?

ความกลัวอิสลาม

ทว่า จุดพลิกผันของการพูดคุยในความรู้สึกของผมคือช่วงบ่าย ผู้จัดวางฐานการพูดคุยอยู่บนความวิตกกังวลต่อการแผ่ขยายของศาสนาอิสลาม โดยยกหลักธรรมคำสอน ยุทธศาสตร์การเผยแผ่ศาสนา การให้เงินสนับสนุน การสร้างมัสยิด สร้างปอเนาะไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย และควรหรือไม่ที่จะต้องหามาตรการควบคุมดูแล

ฐานเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใด ล้มครืนทันทีในความรู้สึกของผม

ความเชื่อเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เราหรือรัฐไม่สามารถบังคับได้ และการเผยแผ่ความเชื่อก็เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน แล้วเหตุใดเราจึงต้องเกิดอาการหวาดกลัวศาสนาอิสลาม หรือ Islamophobia ผมไม่ปฏิเสธบริบทโลกและไทยที่ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งวิตกกังวล ผมก็ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงเช่นที่ไอเอสทำ ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้

แต่เราจะใช้ความกลัวจำกัดเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์ได้หรือไม่ ถ้าเราพยายามหาทางจำกัดการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม แล้วที่เราพยายามเรียกร้องความเท่าเทียมทางศาสนาจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วเราจะมิเป็นแนวร่วมมุมกลับที่ยิ่งสร้างความหวาดกลัว ความบาดหมาง ระหว่างพุทธและอิสลามในไทยหรือ มิเท่ากับเป็นแนวร่วมมุมกลับของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ชูแนวคิด 1 ชีวิตพระสงฆ์ 1 มัสยิดหรือ แล้วเราจะพยายามขับเคลื่อนรัฐฆราวาสได้อย่างไร เพราะเราต้องการให้รัฐตั้งกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมศาสนาหนึ่ง

ผมร่วมแลกเปลี่ยนและพยายามปกป้องเสรีภาพในความเชื่อด้วยการล่าถอยเข้าไปพักพิงป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดของฝ่ายเสรีนิยม (แม้ว่าผมจะไม่ใช่เสรีนิยม) นั่นก็คือแนวคิดของ เจ. เอส. มิลล์ ที่พูดไว้ทำนองว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่กระทำใดๆ แม้ว่าในสายตาของเรามันจะเป็นการกระทำที่ย่ำแย่ โง่เขลา และให้โทษแก่ตัวเขาเอง แต่เราก็ไม่มีสิทธินำความเชื่อของเราไปบังคับให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำตามที่เราต้องการได้ แม้ว่าเราจะเชื่อว่าสิ่งนั้นดีต่อตัวเขาก็ตาม ตราบใดที่การกระทำนั้นไม่สร้างความเดือดร้อนหรือไปกระทบสิทธิของผู้อื่น พูดง่ายๆ ก็คือคุณจะถูกจับทันทีถ้าพยายามจะไปตีหัวใครต่อใคร การที่ศาสนาอิสลามหรือศาสนาใดๆ พยายามเผยแผ่ความเชื่อละเมิดสิทธิใครหรือเปล่า?

ผมตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราบอกว่าอิสลามกำลังแผ่ขยายความเชื่อด้วยการให้เงินสนับสนุน การสร้างปอเนาะ สร้างมัสยิด ศาสนาอื่นไม่ทำหรือ? นับตั้งแต่ก่อรูปรัฐชาติไทย รัฐไทยให้เงินสนับสนุนพุทธศาสนา สร้างวัด กำหนดหลักสูตรที่แทรกความคิดทางพุทธศาสนาลงไป เรามีคนที่ต้องการสร้างพุทธมณฑลที่ปัตตานี เหล่านี้เรียกว่าอะไร ทำไมเราไม่กลัวศาสนาคริสต์ จะมีคนในอเมริการะแวงศาสนาพุทธหรือเปล่าที่เห็นวัดพุทธไปเปิดที่นั่น ผมเชื่อว่ามี

แต่ผมคิดว่าจะแก้อาการกลัว เราต้องไปให้ถึงความเป็นรัฐฆราวาส ไม่ใช่ถอยกลับ เราต้องปล่อยให้ทุกศาสนามีเสรีภาพที่จะแข่งขันกันเผยแผ่ความเชื่อของตนประหนึ่งเป็นตลาดเสรีทางจิตวิญญาณ ปล่อยให้ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเชื่อ การบอกว่าคุณห้ามเผยแผ่ศาสนาด้วยวิธีนี้ๆๆ ย่อมขัดกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เมื่อใดก็ตามที่ศาสนาหรือความเชื่อใดก่อความรุนแรงจึงใช้กฎหมายรัฐเข้าไปจัดการ

ขณะเดียวกันก็ควรจะกระจายอำนาจ ‘จริงๆ’ ลงไปยังท้องถิ่น แล้วให้ชุมชนไปสนทนากันเอง รัฐและศาลมีหน้าที่แค่กำกับให้ทุกอย่างดำเนินไปบนสิทธิขั้นพื้นฐาน

บางท่านในวงสนทนาแสดงความวิตกว่า วันหนึ่ง ถ้าอิสลามกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ มีสิทธิ มีเสียงอย่างมีนัยสำคัญ ชาวมุสลิมอาจนำกฎศาสนามาบัญญัติเป็นกฎหมายให้ศาสนิกอื่นหรือผู้ที่ไม่นับถือศาสนาต้องปฏิบัติตาม เป็นความหวาดหวั่นที่ไปไกลมาก ทุกวันนี้เราไม่ได้กำหนดให้วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นวันหยุดของ ‘คนทั้งประเทศ’ หรือ? เราไม่ได้ทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นเป็นพลเมืองชั้นสองในบางมิติหรือ?

ผมเชื่อว่าสังคมที่มีพลวัตรจะมีหนทางรับมือกับความท้าทายได้อย่างเหลือเชื่อ เพราะยามที่เราพูดถึงขบวนการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม มิได้แปลว่าศาสนาอื่นสถิตนิ่งไม่เคลื่อนไหว ทุกศาสนาล้วนปรับตัวไปตามบริบทตลอดเวลา (ธรรมกายเป็นตัวอย่างที่ดี) ตลาดเสรีทางจิตวิญญาณ นักบวชคือกลุ่มผลประโยชน์ รัฐมีหน้าที่สร้างกติกาการแข่งขันที่เท่าเทียม ไม่เข้าข้างศาสนาใดโดยเฉพาะ ผมเชื่อ (หรืออาจโง่เขลา) โดยบริสุทธิ์ใจว่า สังคมจะหาหนทางดูแลตัวเองได้ เราต้องเชื่อว่าผู้คนมีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง มิใช่ยอมให้รัฐลงมากำกับวิจารณญาณของผู้คน

หากผู้อ่านคนใด เห็นด้วย เห็นต่าง เห็นด้วยบางมุม บางมุมคัดค้าน ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง หรือด่าทอข้อเขียนนี้จนลุกลามมาถึงผู้เขียน ...นี่แหละคือสิ่งที่ผมเอ่ยถึงในย่อหน้าข้างต้น จะมีกลุ่มผลประโยชน์มากมายเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับข้อเขียนชิ้นนี้และไม่ยอมให้ผมเอาวาระของตนเองไปครอบงำสังคมเด็ดขาด

สำหรับผม จุดสำคัญจึงอยู่ที่ว่า สังคมไทยมีเสรีภาพเพียงพอหรือเปล่าต่างหาก

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ขณะที่เขียนอยู่นี้ #ประเทศกูมี มียอดวิวเกือบ 7 ล้านแล้ว ผมนี่ฟังหลายรอบมาก พร้อมโยกเยกไปตามจังหวะและซึมซับเนื้อหาเข้าไปในหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ตั้งแต่วัยรุ่นที่พอจะรับรู้ความเป็นไปของสังคมบ้าง ผมพบเจอ ‘วิธีคิด’ ในการใช้ชีวิตประมาณห้าหกชนิด ตั้งแต่สโลว์ไลฟ์ สโลว์ฟู้ด การกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนา มินิมัลลิสม์ ฮุกกะ และล่าสุดที่ออกมาไล่เรี่ยกันคือลุกกะและอิคิไก แล้วยังมีการเผยแพร่ลัทธิความฝันแบบเข้มข้นของสื่อมวลชน สินค้า บริการ จนถึงโค้ช นัก
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล วันนี้มีเหตุให้ไปร่วมวงแลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นการไม่นับถือศาสนา มีหลายบทสนทนาที่น่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันและถกเถียงกันต่อ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลในหนังสือ 'SUM 40 เรื่องเล่าหลังความตาย' ของ David Eagleman มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงสรวงสวรรค์ที่ดวงวิญญาณของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ยังคงว่ายเวียนอยู่บนสรวงสวรรค์แห่งนั้น
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล รับงานเลี้ยงชีพชิ้นเล็กๆ มาชิ้นหนึ่ง เนื้องานคือการสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตบุคคล นำมาร้อยเรียงบอกกล่าวสู่คนอ่าน ปรากฏว่าบทสนทนาที่ดำเนินไป ชักพาให้เกิดความคิดคำนึงอันหลากหลาย ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองและหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ‘วัยหนุ่ม ข้าต้องการมีเพื่อนมากมายวัยกลางคน ข้าต้องการมีเพื่อนที่ดีวัยชรา ข้าเพียงต้องการเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคน’
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล"ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณด้วยชีวิต" วอลแตร์“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอสไตน์
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJเป็นอีกครั้งที่วัดธรรมกายออกมาธุดงค์กลางนคร แล้วก็ถูกสวดยับไปตามระเบียบ ซึ่งคงห้ามปรามกันไม่ได้
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลพนักงานบริการหญิงหรือ Sex Worker นางหนึ่งเดินจับจ่ายซื้อหากับชาวต่างประเทศ เธอพูดกับลูกค้าของเธอว่าI shop. You pay.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJมนุษย์ล้วนตั้งจุดหมายปลายทางของตนเองและพยายามฟันฝ่าไปให้ถึง โดยส่วนใหญ่ล้มลุกคลุกคลาน บ้างล้มแรงเสียจนไร้แรงยืนอีกครั้ง เป็นสัดส่วนน้อยกว่ามากที่ถึงจุดหมายปลายทาง นี่คงเป็นเหตุผลทำให้ ‘ความฝัน’ เป็นสิ่งสูงค่าในสายตามนุษย์ยุคปัจจุบัน
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ