ตั้งแต่วัยรุ่นที่พอจะรับรู้ความเป็นไปของสังคมบ้าง ผมพบเจอ ‘วิธีคิด’ ในการใช้ชีวิตประมาณห้าหกชนิด ตั้งแต่สโลว์ไลฟ์ สโลว์ฟู้ด การกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนา มินิมัลลิสม์ ฮุกกะ และล่าสุดที่ออกมาไล่เรี่ยกันคือลุกกะและอิคิไก แล้วยังมีการเผยแพร่ลัทธิความฝันแบบเข้มข้นของสื่อมวลชน สินค้า บริการ จนถึงโค้ช นักร้อง นักเขียน และอีกสารพัดนัก
จากเฉยๆ เริ่มรำคาญ และพัฒนาเป็นความสะอิดสะเอียนในที่สุด
ลองจินตนาการดู เวลาพูดถึงแนวคิดแบบมินิมัลลิสม์ ผมนึกถึงอะไร ผมมักนึกถึงอิเกียกับมูจิ ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบแบบน้อยๆ เก๋ไก๋สไลดิ้ง แต่ราคาโคตรแพง (ผมเคยคิดว่า แบบนี้คนไร้บ้านก็น่าจะเป็นมินิมัลลิสต์ที่สุดแล้ว) ‘แนวคิด’ ทำนองนี้พอเข้ามาในสังคมไทย มันกลายพันธุ์เป็นเพียง ‘ไลฟ์สไตล์’ หรือการไปเที่ยว การวิ่งมาราธอน เป็นต้น ที่พอเสร็จสมอารมณ์หมายกลับมาก็เขียนหนังสือเป็นตุเป็นตะ บอกเล่าประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ สวยงาม ท้าทายจิตวิญญาณ บลาๆๆ
ใครอยากจะทำอะไรก็ทำเถอะ แต่ทำไมต้องผสมโรงกันกล่อมประสาทคนอื่นด้วย
เคยไปสัมภาษณ์เพื่อนธนาธรคนหนึ่ง เขาบอกว่า รัฐควรสนับสนุนความฝันของประชาชน
ผมคิดว่าประโยคนี้สำคัญมาก การที่คนบางกลุ่มนำเข้าแนวคิดจากต่างประเทศ สแกนดิเนเวีย หรือญี่ปุ่น ผ่านรูปของหนังสือหรือความคิด สิ่งที่เราไม่ได้นำเข้ามาด้วยคือระบบสวัสดิการที่ดูแลผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย ระบบสวัสดิการที่โอบอุ้มผู้คนและส่งเสริมให้ผู้คนก้าวตามความฝันหรือมีความสุขกับชีวิตได้ตามอัตภาพ
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยยังมีสิ่งให้ต้องพัฒนาอีกมาก ขณะที่งบประมาณที่ใส่มาต้องต่อสู้ ต่อรองกันทุกปี แต่ไอ้งบกลาโหมที่มากกว่างบสาธารณสุขเกือบแสนล้าน ไม่มีใครกล้าแตะ ถ้าคุณมีลูกและมีเงินพอ คุณสามารถส่งลูกเรียนพิเศษหรือกระทั่งยัดเงินให้ลูกเรียนโรงเรียนดังๆ ซื้อสายสัมพันธ์ เตรียมยกระดับฐานะในอนาคต ส่วนโรงเรียนบ้านห้วยลิงขบก็สอนกันไปตามมีตามเกิด เรามีระบบขนส่งมวลชนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และแพง เมื่อคุณแก่ตัวลงโดยมีเงินเก็บไม่มาก คุณยังต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดไปจนกระทั่งตาย บางคนไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย แต่รัฐบาลไม่เก็บภาษีสนามกอล์ฟเพราะมองว่าเป็นกีฬา ไม่ต้องนับว่าตุลาการถางป่าเป็นไร่ๆ เพื่อปลูกบ้านพักได้ แต่ชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่ามาตลอดต้องเป็นคนผิดกฎหมาย ฯลฯ
สำหรับชนชั้นกลาง-กลางถึงชนชั้นล่าง ลองนึกว่าถ้าทั้งหมดนี้ประดังเข้ามาพร้อมกัน ลูกต้องเรียน ป่วยหนัก เงินเก็บก็น้อย แถมเจ้าของบ้านก็เริ่มอยากจะขายที่ดิน พวกเขาจะเอาตัวรอดยังไง ไอ้เรื่องการเสาะแสวงหาความสุขหรือการทำตามความฝันน่ะ โยนทิ้งถังขยะไปได้เลย
สุดท้าย ความสุขแบบสแกนดิเนเวียนหรือความหมายในการมีชีวิตแบบญี่ปุ่นจะลงเอยแค่รูปแบบกลวงๆ ของการดื่มช็อกโกแลตร้อนๆ ใต้แสงเทียน พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวเท่านั้น การได้ใช้ผลิตภัณฑ์สไตล์มินิมัล เฉพาะคนที่มีกำลังซื้อ หรือความฝันก็จะเป็นแค่อุตสาหกรรมชนิดหนึ่งที่คนพอมีกำลังจ่ายเพื่อไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมแล้วเอามาเขียนหนังสือหลอกเราว่า เราทุกคนสามารถทำตามความฝันได้ โดยแทบไม่มีหนังสือเล่มไหนบอกว่า แม่งใช้ทรัพยากร-เงิน เวลา สายสัมพันธ์-กันไปเท่าไหร่เพื่อจะได้บอกโลกว่าฉันทำตามความฝันแล้ว
ในทางกลับกัน ถ้าเมืองไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ ไม่ว่าคุณจะป่วยร้ายแรงแค่ไหน คุณก็เบาใจได้ว่าคุณสามารถเดินเข้าโรงพยาบาลไม่ว่ารัฐหรือเอกชนเพื่อรักษา โรงเรียนเตรียมอุดมกับโรงเรียนบ้านห้วยลิงขบมีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพทัดเทียมกันและไม่มีค่าใช้จ่ายแฝงใดๆ คุณจะมีบ้านอยู่อาศัยที่มั่นคง แม้ว่ามันจะเป็นบ้านของรัฐและเมื่อคุณตายจะมีคนใหม่มาอยู่ก็ตาม คุณรู้ว่าเมื่อคุณแก่ตัวลง ระบบสวัสดิการจะดูแลคุณให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ฯลฯ
นั่นแหละ...เงินทุกบาททุกสตางค์ของคุณถึงจะมาลงกับการพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ กับการแสวงหาความสุขเล็กๆ กับการได้ทดลองทำตามความฝัน ไม่ว่ามันจะเป็นการเดินทางไปพิชิตเบสแคมป์ ลงอัลตร้ามาราธอน ไปเป็นอาสาสมัครในซูดาน หรือลองทำธุรกิจของตัวเอง คุณจะสามารถผิดพลาดและเจ๊งได้เรื่อยๆ เพราะคุณรู้ว่าคุณมีหลังพิงที่แข็งแรง ครอบครัวคุณ พ่อแม่คุณ จะได้รับการดูแล ต่อให้คุณจะหายไปเดินทางรอบโลกสัก 1 ปีหรือล้มละลายจากการเป็นสตาร์ทอัพ
แต่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำกว้างเป็นมหาสมุทรเช่นนี้ มันไม่สนับสนุนให้ใครทำตามความฝันหรือมีความสุขกับชีวิตได้มากนักหรอก บางทีเราต้องเลือกหยุดความฝันของตัวเองไว้ เพื่ออนาคตในวันที่แก่เฒ่า เพื่อการรักษาตัวในวันที่เจ็บป่วย เพื่อพ่อแม่ที่เรี่ยวแรงน้อยลงทุกวัน เพื่อลูกจะได้มีค่าเทอม ฯลฯ
คนที่ไม่ยอมก้าวตามความฝันเหล่านี้ห่วยแตกเหรอ?
ไม่ ไม่ใช่แน่นอน ผมว่าพวกเขากล้าหาญ เสียสละ และเข้มแข็งมากด้วยซ้ำ
การโหมประโคมให้คนมีความสุขหรือทำตามความฝันโดยไม่พูดถึงโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและไม่ดูแลประชาชนจึงเป็นเรื่องตอแหล เฆี่ยนตีให้คนมีความทุกข์ และรู้สึกผิดกับตัวเอง โทษตัวเอง ด่าตัวเองว่าทำไมฉันถึงห่วยแตกขนาดนี้ ดูสิ! ใครๆ ก็มีความสุขและทำตามความฝันกัน แต่เราทำไม่ได้
ผมก็จะบอกว่าพวกคุณไม่ได้ห่วยแตก รัฐต่างหากที่ห่วยแตก
จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม บรรดาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมความสุข-ความฝัน กำลังกล่อมและหลอนประสาทคนจำนวนมากให้คิดว่า เราสามารถมีความสุขและเดินตามความฝันได้ด้วยตัวเอง ฉันแค่ต้องพยายามมากขึ้น กล้ามากขึ้น อดทนมากขึ้น แล้วก็หลงลืมหรือแกล้งลืมความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และการเรียกร้องผลักดันให้รัฐต้องดูแลผู้คนและสนับสนุนความฝันของประชาชนไป
ดังนั้น ขอเถอะ ช่วยหยุดบอกให้กูและใครๆ ทำตามความฝันและมีความสุขซะทีเถอะ
(เพิ่มเติม) ความตลกขบขับและขื่นขมของเรื่องนี้คือ พวกคนที่บอกให้เราทำตามความฝันและกิจกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีต้นทุนชีวิตประมาณหนึ่งแล้ว จากนั้นก็เอาต้นทุนนี่แหละไปเที่ยว ไปทำกิจกรรม แล้วก็แปลงเป็นผลิตภัณฑ์ให้คนอื่นก้มหน้าก้มตาทำงานซื้อมาเสพ อินและฟินกันไป เงินที่ต้องจ่ายไปก็เข้ากระเป๋าคนกลุ่มแรก จากนั้นเงินก้อนเดียวกันนี้ที่ได้จากการผลิตยากล่อมประสาทนี้แหละที่เอาไปจ่ายเพื่อทำตามความฝันและกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป แล้วก็แปลงเป็นรายได้ หมุนวนไปไม่จบ เรียกว่าแปลงความฝันเป็นสินทรัพย์ แล้วหลอกเราว่านี่คือแรงบันดาลใจที่มีชีวิต เราเสพความฝันของคนอื่นจนมึนงง กระทั่งไม่เห็นความพิกลพิกาลบางด้านของทุนนิยมและรัฐที่ไม่คิดจะดูแลประชาชน โธ่ถัง...