Skip to main content

 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

"ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณด้วยชีวิต" วอลแตร์

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอสไตน์

สองประโยคหลักแหลมข้างต้น เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินและได้ใช้มันบ้างในบางโอกาสที่เอื้ออำนวย จะมากหรือน้อยมันช่วยให้คนพูดดูน่าเชื่อถือ ทรงภูมิ แม้ว่ามันจะหลุดออกมาโดยที่คนพูดไม่ได้เชื่อเช่นนั้นเลยก็ตาม

และก็เหมือนกับหลายสิ่งอย่างบนโลกที่มักห่อหุ่มด้วยเมฆหมอกความคลุมเครือ หลายประโยค-รวมทั้งสองประโยคนั่น-ที่เชื่อว่าคนนั้นพูด คนนี้พูด ปัจจุบันมีคนตั้งคำถามบ่อยขึ้นว่า เป็นเพียงประโยคที่คนอื่นจับใส่ปากคนดัง โดยที่คนเหล่านั้นไม่รู้เห็นหรือเปล่า

สิ่งที่ยากปฏิเสธคือคำคมช่วยสร้างแรงบันดาลใจ กระตุกความคิดสนิทนิ่งให้เคลื่อนไหว หรือชวนตั้งคำถามต่อสิ่งรอบข้าง คำคมยังคงยืนหยัดทำหน้าที่นี้ได้ค่อนข้างดี

.........

“เมื่อคุณทำสำเร็จแล้ว คำพูดของคุณก็คือสัจธรรม” แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีน ผู้สร้างความสั่นสะเทือนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยการเปิดขายหุ้นอาลีบาบา พูดไว้อย่างน่าฟัง

บ่อยครั้ง ความคมของคำก็ขึ้นกับว่าคำนั้นออกจากปากของใคร

ความเชื่อส่วนตัว-คำคมอาจไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ยุ่งยากอย่างที่เราคิด ถ้าคุณอยู่กับหนังสือ ผ่านโลกมาสักระยะหนึ่ง เผชิญความขมขื่นจนทะลุออกมา ฯลฯ คุณก็อาจมีวัตถุดิบเพียงพอที่จะสร้างคำคมของตัวเอง ส่วนจะมีคนใส่ใจกับสิ่งที่คุณกลั่นออกมาหรือไม่ ‘คุณเป็นใคร’ จะเป็นตัวชี้วัด

..........

แค่สิบกว่าปีก่อนนี้เอง คำคมยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเพาะเจาะจงกับบางกลุ่ม ผมหมายถึงจำเพาะเจาะจงทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ผู้ผลิตคำคมในอดีต โดยมากคือนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ นักการเมือง นักเขียน นักกิจกรรม นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ปัญญาชน ชนชั้นสูง ทั้งหมดนี้ การเป็นที่รู้จักถือเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ คำคมที่พวกเธอและเขาผลิตมีตัวตนของผู้ผลิตเป็นแบรนด์ ทำให้มันน่าเชื่อถือ มีหลากหลายองศาให้พลิกเหลี่ยมหาข้อขบคิด มีสื่อเป็นผู้กระจายสินค้าส่งต่อสู่ผู้บริโภค

แต่มิใช่ผู้บริโภคทุกกลุ่มที่นิยมบริโภคคำคมเป็นอาหารความคิดและจิตใจ มันค่อนข้างจำกัดเฉพาะชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและบรรดาปัญญาชน

พูดภาษาทุนนิยมต้องเรียกว่า คำคมถูกผูกขาด (Monopoly) การผลิตไว้ในมือคนไม่กี่กลุ่ม

...........

แต่แล้วยุคอารยะธรรมโซเชียล มิเดีย ก็มาทำลายการผูกขาด ทุกคนสามารถเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง สื่อไม่ใช่ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอีกแล้ว ใครๆ สามารถผลิตคำคมแล้วป้อนเข้าสู่ตลาดได้โดยตรง ส่วนจะติดอกติดใจผู้บริโภคหรือไม่ ย่อมต้องพึ่งพาศิลปะการนำเสนอตัวตนผ่านโซเชียล มิเดีย

สังเกตมั้ยครับ ความหมายของคำคมเองก็เปลี่ยนไป หลายเพจไม่ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหาซับซ้อน ต้องตีลังกาใคร่ครวญ ไม่ต้องเฉลียวฉลาด คนพูด (หรือพิมพ์) ไม่ต้องเจนจบทุกบทเรียนชีวิต มันอาจเป็นเพียงถ้อยคำง่ายๆ เนื้อหาเดิมๆ ที่นำมาเรียงร้อยใหม่ แต่ ‘โดน’ ถ้อยคำคมๆ สามารถถูกดัดแปลง แก้ไข เป็นคำขำขันที่สร้างสีสันอย่างไม่น่าเชื่อ คำพูดหยาบโลนก็สามารถเป็นถ้อยคำที่ผู้บริโภคติดใจได้ ซึ่งมันไม่เคยติดอยู่ในสารบบภูมิปัญญามาก่อน

พูดได้ว่ามันช่วยลดความศักดิ์สิทธิ์ของคำคมแบบเดิมๆ ลงไปได้เยอะกันเลยทีเดียว

บรรจุภัณฑ์ก็เช่นกัน อดีต คำคมมีบรรจุภัณฑ์แค่เครื่องหมายคำพูดกับชื่อเจ้าของ ถ้าคุณยังทำเหมือนเดิมในยุคนี้ ผู้บริโภคจะไม่สนใจผลิตภัณฑ์ของคุณ คุณต้องมีโลโก้ มีรูปประกอบ มีการจัดวางเนื้อหา สีสัน รูป ให้สอดคล้อง มีท่วงทำนอง มิใช่นำเสนอแบบแข็งๆ รวมถึงคุณต้องรู้จังหวะจะโคนด้วยว่าควรจะปล่อยคำคมของคุณออกไปเมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหนที่มีทราฟฟิกมากที่สุด คนอยู่กับอินเตอร์เน็ตมากที่สุด

สำหรับบางใครที่จริงจังกับภูมิปัญญา ย่อมโต้เถียงได้ว่า ไม่เลย ‘คำ’ ดาษดื่นในโลกโซเชียล มิเดีย หาได้ ‘คม’ ไม่ ก็แค่ถ้อยคำโดนๆ ของนักสร้างคำ ซึ่งบางคำหาสาระใดๆ เป็นเชื้อเพลิงความคิดไม่ได้เลย แน่นอนว่าผมไม่มีความสามารถ ไม่ใช่หน้าที่ และไม่กล้าประเมินในเชิงคุณค่าใดๆ

แต่ถ้ามอง ‘ถ้อยคำ’ เป็นสินค้าในตลาด-ไม่ว่าเราจะเรียกว่าคำอะไร-เถียงไม่ได้ว่า ตลาดของมันเปิดกว้างและมีความหลากหลายกว่ายุคก่อนมาก ทั้งในแง่ผู้ผลิต ตัวสินค้า และผู้บริโภค จากยุคที่มีเพียงคนบางกลุ่มบางพวกผูกขาดอำนาจการสร้างคำคม ซึ่งผู้ที่เคยผูกขาดอาจรู้สึกไม่พึงใจบ้าง หรือมองว่าเป็นการหมิ่นหยามความศักดิ์สิทธิ์ของถ้อยคำแห่งภูมิปัญญาในอดีต

...........

เมื่อคำคมกลายเป็นอุตสาหกรรม ผู้ผลิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องเร่งไม้เร่งมือประดิดประดอยถ้อยคำป้อนผู้บริโภค โมงยามนี้จึงเป็นยุคของการแข่งขันกันผลิตคำคม สร้างฐานลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิม อีกนั่นแหละ ผู้บริโภคคนหนึ่งสามารถเลือกเสพคำคมได้หลากหลายชนิดในเวลาเดียวกัน

ผมเชื่อเหลือเกินว่า มีเจ้าของเพจจำนวนไม่น้อยแปรเปลี่ยนตัวเองเป็นเครื่องจักรผลิตคำคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ตลาดที่มีการแข่งขันไม่ค่อยยินยอมให้ผู้ผลิตรายใดอยู่เฉยๆ หรอกครับ

จุดหมายปลายทางของอุตสาหกรรมคำคมจะไปจบลงตรงไหน ผมตอบไม่ได้

..........

ว่าแล้วผมก็มีคำคมที่ชื่นชอบมานำเสนอ มันติดอยู่ในหัวทันทีที่อ่านเจอในหนังสือของคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ และติดมานานไม่ลบเลือน จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ในเล่มใด มันบอกว่า...

“ทุกคำคมมีข้อยกเว้น”

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ขณะที่เขียนอยู่นี้ #ประเทศกูมี มียอดวิวเกือบ 7 ล้านแล้ว ผมนี่ฟังหลายรอบมาก พร้อมโยกเยกไปตามจังหวะและซึมซับเนื้อหาเข้าไปในหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ตั้งแต่วัยรุ่นที่พอจะรับรู้ความเป็นไปของสังคมบ้าง ผมพบเจอ ‘วิธีคิด’ ในการใช้ชีวิตประมาณห้าหกชนิด ตั้งแต่สโลว์ไลฟ์ สโลว์ฟู้ด การกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนา มินิมัลลิสม์ ฮุกกะ และล่าสุดที่ออกมาไล่เรี่ยกันคือลุกกะและอิคิไก แล้วยังมีการเผยแพร่ลัทธิความฝันแบบเข้มข้นของสื่อมวลชน สินค้า บริการ จนถึงโค้ช นัก
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล วันนี้มีเหตุให้ไปร่วมวงแลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นการไม่นับถือศาสนา มีหลายบทสนทนาที่น่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันและถกเถียงกันต่อ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลในหนังสือ 'SUM 40 เรื่องเล่าหลังความตาย' ของ David Eagleman มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงสรวงสวรรค์ที่ดวงวิญญาณของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ยังคงว่ายเวียนอยู่บนสรวงสวรรค์แห่งนั้น
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล รับงานเลี้ยงชีพชิ้นเล็กๆ มาชิ้นหนึ่ง เนื้องานคือการสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตบุคคล นำมาร้อยเรียงบอกกล่าวสู่คนอ่าน ปรากฏว่าบทสนทนาที่ดำเนินไป ชักพาให้เกิดความคิดคำนึงอันหลากหลาย ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองและหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ‘วัยหนุ่ม ข้าต้องการมีเพื่อนมากมายวัยกลางคน ข้าต้องการมีเพื่อนที่ดีวัยชรา ข้าเพียงต้องการเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคน’
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล"ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณด้วยชีวิต" วอลแตร์“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอสไตน์
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJเป็นอีกครั้งที่วัดธรรมกายออกมาธุดงค์กลางนคร แล้วก็ถูกสวดยับไปตามระเบียบ ซึ่งคงห้ามปรามกันไม่ได้
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลพนักงานบริการหญิงหรือ Sex Worker นางหนึ่งเดินจับจ่ายซื้อหากับชาวต่างประเทศ เธอพูดกับลูกค้าของเธอว่าI shop. You pay.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJมนุษย์ล้วนตั้งจุดหมายปลายทางของตนเองและพยายามฟันฝ่าไปให้ถึง โดยส่วนใหญ่ล้มลุกคลุกคลาน บ้างล้มแรงเสียจนไร้แรงยืนอีกครั้ง เป็นสัดส่วนน้อยกว่ามากที่ถึงจุดหมายปลายทาง นี่คงเป็นเหตุผลทำให้ ‘ความฝัน’ เป็นสิ่งสูงค่าในสายตามนุษย์ยุคปัจจุบัน
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ