กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
รับงานเลี้ยงชีพชิ้นเล็กๆ มาชิ้นหนึ่ง เนื้องานคือการสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตบุคคล นำมาร้อยเรียงบอกกล่าวสู่คนอ่าน ปรากฏว่าบทสนทนาที่ดำเนินไป ชักพาให้เกิดความคิดคำนึงอันหลากหลาย ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองและหัวใจ
ประกิต หลิมสกุล หรือพี่ประกิต คือบุคคลที่ผมต้องไปคุยด้วย เอ่ยชื่อนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แม้แต่คนที่อยู่ในแวดวงสื่อมวลชนด้วยกัน สารภาพตามตรงว่าผมเองก็ไม่รู้จักชื่อนี้ ถ้าไม่เอ่ยนามปากกา ‘กิเลน ประลองเชิง’ ผู้สืบทอดพื้นที่คอลัมน์มุมล่างขวาหน้า 3 ของไทยรัฐ ต่อจากมังกรห้าเล็บ-โกวิท สีตลายัน
การสนทนาเกิดขึ้นบนตึกเก่าไทยรัฐ ชั้น 6 พี่ประกิตในวัย 70 ปียังคงดูอารมณ์ดี แจ่มใส และเป็นกันเอง ก่อนไปสัมภาษณ์ได้รับคำบอกกล่าวว่า แกเป็นคนพูดเก่ง มีเรื่องราวมากมายให้บอกเล่า สั่งสมจากประสบการณ์ชีวิตชนิดกร้านแกร่งและโชกโชน เพราะก่อนที่แกจะมาจับอาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แกคือคนทะเล ทั้งชาวประมงและทหารเรือ ร่อนเร่จับปลาและเปลี่ยนแก๊สตามกระโจมไฟตลอดแนวอันดามัน แกคุยว่าแกขึ้นมาแล้วทุกเกาะ
ประสบการณ์การทำข่าว 10 ปี (ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับเกือบครึ่งศตวรรษของกิเลน ประลองเชิง) ทุกครั้งที่ต้องไปทำข่าวหรือฝึกอบรมที่มีนักข่าวจากหลากหลายสำนักมารวมตัวกัน ด้วยบุคลิกอันน่ารังเกียจของตนเอง ถ้าไม่เลือกออกจากกลุ่มไปทำนั่นนี่หรืออยู่เงียบๆ ห่างๆ ก็มักนั่งอยู่ตรงนั้นอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวและไม่เอ่ยสิ่งใด นั่นทำให้ผมสังเกตเห็นว่า ยามที่นักข่าวมารวมกลุ่มกัน หัวข้อการพูดคุยที่เกิดขึ้นทุกครั้งหนีไม่พ้น 2 หัวข้อหลักๆ คือ ถ้าไม่นับญาติ...ก็ประกาศศักดา
อะไรคือนับญาติ? หมายถึง ‘ฉันรู้จัก...’ ไล่ตั้งแต่แหล่งข่าวชื่อใหญ่โต แกนนำชาวบ้าน เอ็นจีโอรุ่นเล็กยันใหญ่ ที่ขาดไม่ได้คือพี่ๆ นักข่าวคนนั้นคนนี้ใหญ่ยันเล็ก และบลาๆๆ
อะไรคือประกาศศักดา? หมายถึง ‘ฉันเคยทำข่าว...’ ข่าวเล็ก ข่าวใหญ่ สัมภาษณ์คนระดับนั้นระดับนี้ เลือดสดๆ ศพเกลื่อนๆ ข่าวนี้มันช่างยากลำบากยิ่งนัก และบลาๆๆ
เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะต้องภาคภูมิใจกับงานของตน ซึ่งแน่นอนว่าการประเมินคุณค่านั้นย่อมแฝงฝังอคติจากความนับถือตัวเองลงไป (ผมก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น)
พี่ประกิตมีเรื่องเล่ามากมาย ทั้งจากการใช้ชีวิตและการทำข่าว แกมักจะเอ่ยว่า ‘โม้’ ก่อนเล่าเรื่องเสมอ แล้วแกก็จะโม้เรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟังอย่างสนุกสนาน แกจะเอ่ยปากทุกครั้งว่าแกกำลังโม้เรื่องนี้นะ กำลังฟูฟ่องกับหน้าที่บางอย่างที่แกเคยทำ เป็นการโม้ที่ปลอดโปร่ง รื่นรมย์ เพราะอย่างน้อยที่สุดทั้งตัวพี่ประกิตและคนฟังต่างก็รู้ว่ากำลังโม้
พอถามว่า ข่าวไหนที่แกภูมิใจที่สุด ไม่ใช่ข่าวใหญ่โตมโหฬาร-การเมือง คอร์รัปชั่น ข่าวเจาะ ฯลฯ-อย่างที่คาดคิดไว้เลย แต่คือข่าวเด็กหญิงวัลลี ผมก็เพิ่งรู้นี่แหละว่าพี่ประกิตคือนักข่าวที่ทำให้คนไทยรู้จักวัลลี เด็กหญิงยอดกตัญญูที่เคยดูละครตอนเด็กๆ แล้วแกก็บอกว่า ข่าวใหญ่ๆ เรื่องใหญ่ๆ ใครก็เห็นได้เหมือนกันทั้งนั้น แต่ถ้าทำให้เรื่องที่เหมือนไม่สำคัญ เรื่องเล็กๆ ให้กลายเป็นข่าวใหญ่ได้ต่างหากจึงจะแสดงถึงชั่วโมงบินและความเหนือชั้น
..............
จุดที่ผมตราตรึงที่สุดของการสนทนา พี่ประกิตดูจะเป็นคนที่เข้าใจความเป็นจริงของธุรกิจสื่อ ยอมรับและไม่เหนียมอายที่จะพูดถึงและเปิดบาดแผลต่างๆ ที่คนในแวดวงไม่ค่อยอยากพูดถึง
แกพูดว่า สำนักข่าวหรือนักข่าวพออยู่ไปนานๆ ก็เกิดสายสัมพันธ์ร้อยรัด ที่สุดท้ายก็กลับมาผูกรัดไม่ให้ทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น สร้างระบบอุปถัมภ์กันขึ้นระหว่างนักข่าวด้วยกันและระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าว จะประณามหยามเหยียดก็ใช่ที เพราะมันคือธุรกิจ ความอยู่รอด และการพึ่งพาอาศัย
“พี่โดดเดี่ยว พี่ดูสกู๊ป มันไม่สัมพันธ์กับกรมกองไหน ที่ไหน ไม่เคยผูกพัน ไม่ถูกเอนเตอร์เทน ไม่ถูกดูแล ไม่ค่อยมีใครอยากทำหรอก ทุกคนมาทำข่าวก็อยากไปอยู่สายที่ได้เงิน มีส้มหล่มเยอะๆ พอตีเขาไปก็มีสุ้มเสียงมาทำนองว่ามันไม่มีญาติมิตรบ้างเหรอวะ บ่อเงิน บ่อทองของกู เราก็ติดวัฒนธรรมของพวกพ้อง เรารู้ว่าเขาเป็นพวกพ้องใคร มีแต่พวกๆๆ”
ตอนอยู่สำนักข่าวใหญ่ ทุกวันเกิดของผู้ก่อตั้ง เหล้ายาปลาปิ้งบรรดามีถูกขนเข้าออฟฟิศมามากมาย แล้วแจกจ่ายส่งต่อไปยังนักข่าว ผมเองก็เคยได้กระเช้าของขวัญ และเต็มไปด้วยคำถามว่า มันใช่เหรอ? ทำไมถึงมีการตอบแทนด้วยสินน้ำใจมากมายเพียงนี้
ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนสกู๊ปเกี่ยวผลกระทบด้านสุขภาพของโรงกลั่นแห่งหนึ่งในภาคใต้ หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ ในเซ็กชั่นย่อยอีกเซ็กชั่นหนึ่งของสำนักข่าวที่ผมทำงานอยู่ตอนนั้นก็มีสกู๊ปของโรงกลั่นแห่งนี้ เป็นภาพโรงกลั่นในแสงไฟมลังเมลือง เนื้อในพูดถึงคุณงามความดีต่างๆ และใช่ มันเป็นแอดเวอร์ทอเรียล
หรือการไปต่างประเทศที่บรรดาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจัดที่นั่งให้นักข่าวอยู่เสมอ ดูจะเป็นวัฒนธรรมของการต่างตอบแทนที่ไม่มีนักข่าวพูดถึงหรือตั้งคำถาม นักข่าวคนไหนล่ะที่อยากจะพลาดโอกาสรับประสบการณ์การเดินทางต่างประเทศแบบฟรีๆ (แน่นอนว่ามันมีความแตกต่างที่ขีดเส้นแบ่งได้ระหว่างการเดินทางไป ‘ทำข่าว’ กับการไป ‘ทัวร์’)
ประมาณห้าปีก่อน ผมมีโอกาสไปพักที่มารีนา เบย์ แซนด์ ที่สิงคโปร์ โรงแรมห้าดาวสุดหรูระดับแลนด์มาร์ค ตอนนั้นยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ ได้ขึ้นไปบนชั้นบนสุดของอาคาร ชมวิวเกาะสิงคโปร์ ถ้าไปเองคงไม่มีปัญญาและเงินทองพอ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงเมืองไทย ผมรู้สึกอึดอัดมากเพราะไม่รู้จะเขียนอะไรออกมาเป็นสกู๊ป แต่ ‘เสือก’ ไปสบาย ไปได้ส้มหล่น ไปเป็นหนี้บุญคุณ ไปได้รับการดูแลจากเขาแล้ว ตอนนั้นนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะเขียนอะไรไม่ให้เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับธุรกิจแห่งนี้ เพราะมันเป็นข้อห้ามที่ผมถูกสอนสั่งมาตั้งแต่เริ่มทำงานสื่อที่ a day weekly ว่า เนื้อหากับโฆษณาต้องไม่ถูกมายำรวมกัน แล้วเนียนๆ บอกคนอ่านว่าเป็นเนื้อหา ถ้าจะเป็นโฆษณาก็บอกเลยว่าเป็นโฆษณา ดีว่าเป็นจังหวะที่ผมลาออกมาอยู่สื่อทางเลือกอีกแห่งหนึ่งพอดี เลยทิ้งความอึดอัดนั้นไว้เบื้องหลัง และคิดว่าทางผู้จัดทัวร์คงด่าตามหลัง เพราะรอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นมีข่าวประชาสัมพันธ์จากนักข่าวสักที
ถึงตอนนี้ ถ้าให้ไปอีก ผมรู้แล้วว่ามีวิธีเขียนอย่างไรและต้องเขียนอะไรบ้าง (หรือผมวิวัฒนาการไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่คุณชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เคยเปรียบเปรยเอาไว้เสียแล้ว)
................
ไม่ได้คิดว่าตัวเองหล่อเหลาในเรื่องนี้ ไม่กล้าพูดด้วยว่าถ้าตนเองเติบโตมานอกสายการทำสกู๊ป (หรือแม้แต่อยู่ในสายนี้ก็ตาม) จะไม่เรียกร้องการดูแลและส้มหล่นเยอะๆ ยามที่ผลประโยชน์หยิบยื่นมาตรงหน้า คนเราต้องกิน ต้องใช้
พี่ประกิตเล่าว่า สมัยที่แกอยู่ยะลา เริ่มส่งข่าวให้สำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แกมารู้ภายหลังว่าเหตุใดแกจึงสามารถเป็นนักข่าวภูมิภาคได้ง่ายดายเหลือเกิน นั่นก็เพราะเขาหาคนเขียนข่าวให้ ‘ฟรี’ แกเขียนไปหลายข่าว ถูกร้องขอจากหลายหัวให้ส่งข่าวให้ แต่ไม่เคยได้รับค่าตอบแทน หลังจากส่งข่าวให้ผ่านไป 2 เดือนนั่นแหละถึงได้เงินมา 400 บาท ไม่ใช่เงินเดือน แต่เป็นการให้ตามวาระความสะดวกของผู้จ่าย แกถึงกับบอกว่าตอนนั้นต้องจำนำแหวน จำนำนาฬิกา เพื่อทำข่าวและประทังชีพ ไปไหนมาไหน ไม่กล้าสบตาใคร พอเข้ามาเป็นนักข่าวในบางกอก ขนาดว่าเป็นนักข่าวรุ่นกลางค่อนใหญ่ ประสบการณ์สูงแล้ว เงินเดือนก็ยังได้เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับค่าฝีไม้ลายมือและประสบการณ์
ฟังแล้วหวนคิดถึงยุคนี้ ไอ้เรื่องที่จะไม่จ่ายค่าข่าวคงไม่มีแล้ว แต่รายได้ของนักข่าวยังคงเตี้ยต่ำอยู่เช่นเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ ฝีไม้ลายมือ และเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ แต่มนุษย์เรามีความต้องการ มีความโลภโมโทสัน มีความจำเป็นในชีวิต แล้วจะแปลกอะไรถ้านักข่าวจะใช้สิทธิจากฐานันดรของตนเพื่อผลประโยชน์ที่พอจะมีได้ โดยไม่กัดกินความเคารพตนเองและวิชาชีพจนเกินไป
ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อก็เป็นแหล่งรวมของบรรดานักข่าวรุ่นกลางขึ้นไปถึงรุ่นใหญ่และระดับผู้บริหาร ที่ถักทอเครือข่ายความสัมพันธ์กันเอง (และบางกรณีอาจต้องมีความคิด ความเห็นทางการเมืองคล้ายคลึงกัน) กลายเป็นว่าพวกรุ่นใหญ่ตำแหน่งสูงๆ นี่เองที่มีรายได้สูงๆ แต่นักข่าวภาคสนามกลับยังมีรายได้เกือบพอเลี้ยงปากท้อง ต้องคอยหาจ็อบเพิ่มรายได้พิเศษ
ยังไม่นับผลประโยชน์ต่างๆ จากเครือข่ายความสัมพันธ์ที่สร้างสมมาเนิ่นนานของคนกลุ่มนี้ (ตอนที่มีการเสนอข่าวบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งจ่ายเงินให้แก่สื่อ ผมก็รู้มาชื่อหนึ่งว่าใครรับเงิน แต่ทุกวันนี้ นักข่าวรุ่นใหญ่ระดับผู้บริหารผู้นี้ก็ยังคงเขียนคอลัมน์อยู่เหมือนเดิม) กกกอดความสำเร็จเก่าๆ ของตนไว้แน่นหนาและหยิบใช้เป็นโล่ห์เกียรติยศเพื่อบอกความเก่งกาจไม่รู้จบสิ้น ใช้เป็นบันไดไต่เต้าไปสู่อำนาจทางการเมือง สร้างหลักสูตรที่ยิ่งช่วยสานเครือข่ายความสัมพันธ์ให้กว้างขวาง เหนียวแน่น และนวลเนียนยิ่งๆ ขึ้นไป
ผมไม่เคยไปสุงสิงกับองค์กรวิชาชีพสื่อใดๆ แต่ก็ได้ยินได้ฟังสารพัดเรื่องราวเปรอะเปื้อนมาไม่น้อย ทว่า ไม่ค่อยได้ยินเรื่องการก่อตั้งสหภาพแรงงานนักข่าว ในวงเล็บ...อย่างจริงจังและมีพลังเพียงพอที่จะต่อรองค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการให้แก่นักข่าว เช่นนี้แล้ว ก็เป็นภาระหน้าที่ของนักข่าวแต่ละคนที่จะต้องพิสูจน์ฝีมือ รู้จักสานความสัมพันธ์ และนำเสนอตัวเองให้ถูกที่ถูกเวลา เพื่อพาตัวเองเข้าสู่เครือข่ายความสัมพันธ์ต่างๆ ให้ได้
.............
ณ ตอนท้ายของการสนทนา พี่ประกิตบอกว่า โซเชียล มิเดีย ทำให้ประชาชนทุกคนเป็นนักข่าวได้ สื่อออนไลน์ที่เน้นความเร็ว พลาดบ่อย ขณะที่หนังสือพิมพ์ ความช้าคือข้อได้เปรียบ แกยังพูดเหมือนที่ผมได้ยินเสมอมาว่า สื่อจะต้องเน้นความถูกต้อง แม่นยำ ความลึกของข้อมูล และการวิเคราะห์ที่แหลมคมกว่า จึงจะอยู่รอด
ผมเองก็ออกจะคล้อยตามเช่นนั้น แต่ไม่มั่นใจว่าจะมีใครทำ
นั่นเป็นเพราะการแข่งขันด้านความเร็วลุกลามไปทั่ว สำนักข่าวต้องการคนทำข่าวเร็ว ไม่ใช่คนทำข่าวลึก ขณะที่ผมกลับรู้สึกว่า สำนักข่าวหลายแห่งก็มีสตุ้งสตังค์ไม่น้อย เจียดมาบางส่วนสร้างพื้นที่ข่าวเชิงวิเคราะห์ ข่าวเชิงลึกได้สบายๆ ไม่ทำให้ขนหน้าแข้งแตกปลาย แต่ถึงที่สุดแล้ว มันคือต้นทุนทางธุรกิจ (หรือเปล่า?) หรือเหตุอันใดจึงไม่เกิดขึ้น
ตอนที่มีข่าวกลุ่มแก๊งในตลาดหุ้นพยายามจะเข้าครองหุ้นส่วนใหญ่ของสำนักข่าวย่านบางนา ช่วงนั้นจะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ในเครือเล่นข่าวนี้ชนิดเกาะติด ล้วงทุกเม็ดว่าใครเป็นใคร สัมพันธ์กับใคร มีเรื่องไม่ชอบมาพากลอะไรบ้าง สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าสื่อใหญ่มีศักยภาพมากมายแค่ไหนที่จะทำข่าวเจาะชั้นดี (ไม่ขอกล่าวถึงว่าการเสนอข่าวที่ตัวสื่อมีผลประโยชน์คาบเกี่ยวนี้เหมาะสมหรือไม่) แต่เรากลับไม่เห็นข่าวเจาะชั้นดีจำนวนมากมายให้สมกับศักยภาพที่มีอยู่
พี่ประกิตพูดกับผมว่า เวลาเห็นสำนักข่าวบางแห่งทำข่าวได้ลึกๆ ดีๆ แกถึงกับน้ำตาซึม...
“ทำได้ยังไง ทำไมกูทำไม่ได้ วัฒนธรรมของคน ขององค์กร มันผูกพัน ประสานประโยชน์”
คำพูดจากนักหนังสือพิมพ์ที่คลุกคลีกับแวดวงนี้มาเนิ่นนานเกือบครึ่งศตวรรษคงตอบคำถามได้พอสมควร
การพูดคุยกับพี่ประกิตพาตัวผมเองมาสู่ทางแพร่งของความคิดว่าจะเลือกอะไรต่อไป...
ขอบพระคุณพี่ประกิตสำหรับบทสนทนาดีๆ