Skip to main content

 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

 

มนุษย์แต่โบราณเชื่อว่าท้องฟ้าคือสถานพักผ่อนของเหล่าทวยเทพ ผู้สร้าง-ผู้ปกครองจักรวาล คอยดลบันดาลให้ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามวิถีทางที่ถูกลิขิตไว้ หากมนุษย์ผู้หยิ่งผยองคิดฝ่าฝืนชะตากรรม ต้นทุนก็ต้องสูงเอามากๆ ถ้าสำเร็จ ความดีความชอบครึ่งหนึ่งยังต้องยกให้เทพเจ้าอยู่นั่นเอง เพราะมนุษย์ไม่มีอำนาจพอจะเปลี่ยนแปลงชะตากรรม เว้นเสียแต่เทพเจ้าจะสมรู้ร่วมคิด

หากสมมติฐานที่ว่าสรวงสวรรค์สถิตบนฟากฟ้าเป็นความจริง บนความสูงระดับ 35,000 ฟุต ผมก็คงเข้าใกล้ตีนสวรรค์กว่าหนใดๆ ทว่า มันเป็นความย้อนแย้งที่น่าตื่นใจ เมื่ออากาศยานที่ผมนั่งเริ่มลดระดับลงสู่ผืนแผ่นดินที่ได้ชื่อว่ามีเทพเจ้า เทวา เทวี อสูร และสิ่งมีชีวิตเหนือจินตนาการมากมายสิงสถิตอยู่ทุกหัวมุมถนน ทุกตรอกซอกซอย

เกาะที่ได้รับการขนานนามอย่างรักใคร่-ยำเกรงว่า เกาะแห่งเทพเจ้า-บาหลี

.................

ในอูบุด-เมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในตัวเกาะ ผมพบเห็นกระทงใส่ดอกไม้และเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าวางอยู่ดาษดื่น บนถนน บนเคาน์เตอร์จ่ายเงิน หรือแม้แต่บนคอนโซลหน้ารถ พร้อมธูปที่ส่งเปลวควันล่องลอยละมุนละไมต้องแสงแดดอ่อนๆ ประหนึ่งม่านหมอกมายาการกางกั้นระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ของเหล่าทวยเทพ

ผมและคนไทยสองสามคนที่เจอะเจอกันที่บาหลีรู้สึกตรงกันว่า คนบาหลีในอูบุดมีความอ่อนน้อมถ่อมตนสูง (บางครั้งก็มากเกินไปในความรู้สึกผม) เกิดข้อสงสัยในใจว่า ทำไม ผมนั่งเทียนหาคำตอบเอาเองว่า คงเป็นเพราะเทพเจ้า

ศาสนาฮินดูมีเทพเจ้านับไม่ถ้วนคอยกำกับดูแลการเคลื่อนเปลี่ยนทุกองคาพยพในจักรวาล-มนุษย์ สัตว์ แม่น้ำ ทะเล การเก็บเกี่ยว ความตาย ฯลฯ-เทพเจ้ารู้เห็นทุกๆ การกระทำของมนุษย์ สอดส่องให้อยู่ในครรลอง เกื้อหนุน ยับยั้ง หรือลงโทษตามแต่บุญ-บาปของแต่ละบุคคล เป็นเช่นนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย ยังไม่นับธรรมชาติอันงดงามและยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ทั่วเกาะ---

ขณะที่ผมยืนอยู่ ณ วัดอุลันดานูร์ริมฝั่งทะเลสาบบราตัน ฉากหลังคือเทือกเขาตระหง่านง้ำเคลียเมฆ ทวยเทพ ขุนเขายะเยือก ทะเลสาบโบราณ และผมเป็นมนุษย์ตัวน้อยที่ถูกกำหนดให้มาอยู่ที่นั่น, ทานาล็อต วิหารที่สร้างขึ้นบนโขดหิน ผมอธิบายไม่ถูกว่ามันอยู่บนแผ่นดินใหญ่หรือกลางทะเล มันดูก้ำกึ่ง น่าทึ่งกับพลังศรัทธาที่ผลักดันผู้สร้างให้เสาะหาภูมิทัศน์ตระการตา ความอุตสาหะขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ และเรี่ยวแรงในการปลูกสร้าง กลางคลื่นลมขี้โมโหของเกาะแห่งเทพเจ้า

คิดจากตัวเอง หากผมถือกำเนิดในวัฒนธรรมบาหลี ผมจะกล้ายืนเชิดหน้าโดยไม่คุกเข่าต่อหน้าทวยเทพหรือไม่ มนุษย์จะยังยโสโอหังได้อีกหรือเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าพลังที่ยิ่งใหญ่กว่า ผมคิดว่าไม่ การศิโรราบน่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดของคนบาหลี แต่ผมไม่คิดว่านี่คือการยอมจำนนโดยสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งของการศิโรราบต่อทวยเทพผู้ดูแลธรรมชาติ คือวิถีอันอ่อนน้อมและการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

..............

กูต้า เมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลลือชื่อของบาหลี เปรียบกับหญิงสาว อูบุดเป็นหญิงสาวที่เงียบขรึมกว่า เรียบ เก๋ และชวนค้นหา ขณะที่กูต้า-เธอโฉบเฉี่ยว ไฉไล จริตจก้านมากกว่า และฉูดฉาดอย่างร้ายกาจ

มองด้วยสายตาคนนอก-ย้ำครับว่า ‘คนนอก’-กูต้าแทบจะกลืนหายไปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับหลายแห่งทั่วโลก ผู้คนพลุกพล่าน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ร้านสินค้าแบรนด์เนม ร้านกาแฟกิ๊บเก๋ ไม่ต่างกับภูเก็ตหรือพัทยา กระทงเซ่นสรวงเทพเจ้ามีให้เห็นน้อยกว่าที่อูบุดมาก ศาลเจ้าและรูปปั้นเทวดาอารักษ์ก็น้อยกว่าและเงียบเหงากว่า ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าทวยเทพ อสูร ทวารบาล จำเป็นต้องอาศัยความืดพรางตัว ป่านนี้คงหลบลี้หนีหายจากกูต้าไปหมดแล้ว

ผมจิตนาการฟุ้งฝันถึงมหากาพย์สงครามระหว่างรามและทศกัณฑ์ ที่กูต้า ทวยเทพ อสูร ภูติ เทวา-เทวี อยู่ฝ่ายหนึ่ง วิทยาศาสตร์ การพัฒนา การท่องเที่ยว อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง มีมนุษย์เป็นผู้เฝ้าดูและเลือกข้าง ผลคือทวยเทพเป็นฝ่ายถอยร่น แน่นอน มนุษย์ย่อมเลือกยืนฝั่งผู้ชนะ ผิด-ถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

โลกนี้เป็นการต่อสู้อันไม่จบสิ้น ระหว่างสิ่งเก่า-ใหม่, ความชั่ว-ความดี ฯลฯ พรหม-เสกสร้าง วิษณุ-ปกปักรักษา ศิวะ-ทำลายล้าง หมุนวนเป็นวัฏจักร หากสิ่งนี้คือวิถีที่ตรีมูรติ เทพแห่งเทพทั้งสามขีดเส้นไว้ เทพเจ้าอันดับรองลงมาก็มีหน้าที่แค่ปฏิบัติตาม มิพักต้องกล่าวถึงมนุษย์

...............

อดีต มนุษย์ใช้ศรัทธาเป็นถนนให้ชีวิตเดินและเป็นจอบขวานถากถางอารยธรรม จวบจนการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เริ่มต้นที่โคเปอร์นิคัสผู้อาจหาญ (เหิมเกริมและสมควรตายในสายตาศาสนจักรคาทอลิก) ทำลายโลกที่เคยเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมานับพันปี แล้วยกตำแหน่งให้ดวงอาทิตย์ ตามมาด้วยกาลิเลโอ และจบลงอย่างสมบูรณ์แบบนด้วยน้ำมือของไอแซค นิวตัน โลก ธรรมชาติ และชีวิตแปรเป็นเพียงเครื่องจักกลขนาดใหญ่แสนซับซ้อนที่ขับเคลื่อนไปตามกลไกแห่งเหตุและผล มิใช่น้ำมือเทพเจ้าอีกต่อไป

(แต่คนตะวันตกเขาก็ยังเถียงกันไม่เลิกนะครับว่า ‘อะไร’ ‘สิ่งใด’ หรือ ‘ใคร’ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรนี้ เพราะมันย่อมขับเคลื่อนโดยตัวมันเองไม่ได้ เหนืออื่นใด ‘ใคร’ สร้างมันขึ้น โดยใช้ตรรกะทำนองเดียวกันคือ เครื่องจักรไม่สามารถสร้างตัวมันเองได้ เหล่านี้นำไปสู่คำตอบที่เลี่ยงไม่ได้-พระเจ้า ซึ่งไม่ใช่บทสรุปที่คนตะวันออกคุ้นเคย)

 

ถึงคำอธิบายโลกด้วยมุมมองวิทยาศาสตร์และเหตุผลจะดูแล้งเสน่ห์ไปบ้าง แต่มันก็คลี่คลายความกลัวและเพิ่มทางเลือกการดำรงชีวิตแก่มนุษย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ก่อนหน้า ปัญหาประการเดียวคือมันรุกรานที่อยู่ที่ยืนของมุมมองอื่นๆ ที่ไม่ได้วางอยู่บนหลักเหตุผล

กูต้าไม่ใช่สถานที่แห่งเดียวบนโลกที่การต่อสู้ดำรงอยู่ มันเกิดขึ้นทุกที่ ไม่เว้นกระทั่งในหัวใจของเรา

................

เหตุผลที่มากเกิน เป็นเส้นทางสู่ความจองหองโอหัง

ศรัทธาที่ล้นเกินคือบ่อเกิดความมืดบอดงมงาย

สำหรับผม เหตุผลก็คือรูปแบบหนึ่งของศรัทธา ใช่หรือไม่ว่า คนเราศรัทธาในเหตุผลจนมืดบอดได้ไม่ต่างกันกับความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ

เมื่อมันต่างก็เป็นศรัทธา มันจึงนำไปสู่การเข่นฆ่าได้เหมือนๆ กัน

..............

ระหว่างพักในอูบุด ผมเดินผ่านสถานที่แสดงนาฎลีลาของชาวบาหลีสองสามแห่ง ถูกพนักงานเชื้อชวนให้ซื้อบัตรเข้าชมมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ไม่มีโอกาสได้ชม และคิดว่าคงไม่มีโอกาสอีกแล้ว เพราะมันเป็นค่ำคืนสุดท้ายของผมในอูบุด รุ่งเช้า ผมต้องเดินทางไปกูต้า

เห็นด้วยหรือเปล่าครับว่า ชีวิตช่างแสนยาก แต่พอถึงบทจะง่ายก็ช่างง่ายแสนง่าย หรือจะมีใครบนฟ้าขีดเขียนมาให้แล้วจริงๆ

ค่ำคืนเกือบสุดท้ายในกูต้าก่อนกลับเมืองไทย ผมเททิ้งเวลากลางวันอย่างสุรุ่ยสุร่ายไปกับการเดินเล่น เฝ้ามองผู้คน เขียนโปสการ์ดถึงบางคนในเมืองไทย อ่านหนังสือ วิ่งบนชายหาดอีกหลายกิโล (ช่างน่าหมั่นไส้เหลือเกิน ก็ผมไปพักผ่อนน่ะครับ) กลางคืนเดินดูแสงไฟมากกว่าการจับจ่าย เพราะไม่มีเงินเหลือแล้ว ก่อนค่อยๆ เดินเอื่อยๆ กลับที่พัก

บนถนนแคบๆ เลยหน้าที่พักไปประมาณ 50 เมตร ผู้คนจำนวนหนึ่งยืนมุงดูอะไรบางอย่าง เสียงดนตรีแบบบาหลีถูกห่อหุ้มด้วยความอึกทึกลอยมาจูงมือผมเข้าไปหา ข้างหน้า ด้านขวามือดูเหมือนจะเป็นศาลเจ้าประจำชุมชน นักดนตรีกำลังบรรเลง บนพื้นด้านหน้าผมห่างไปไม่เกิน 5 เมตร ชายบาหลี 5-6 คนนั่งอยู่บนเสื่อ ในจำนวนนั้น ชายร่างใหญ่คนหนึ่งไม่ได้ใส่เสื้อ ถัดออกไป หญิงบาหลีประมาณ 10 คนในชุดรำฟ้อนและหน้ากากกำลังร่ายรำลับหายเข้าไปในฝูงชนอีกด้านหนึ่ง แล้วก็มีชายอีกสองคนในชุดและหน้ากากปีศาจเขี้ยวยาว ขนรุงรัง กึ่งเดินกึ่งวิ่งออกมาด้วยท่าทางวางอำนาจ ปีศาจสองตนเริ่มร้องกัมปนาท เด็กหนุ่ม 3-4 คนที่นั่งรออยู่รอบนอก ค่อยๆ เกิดอาการองค์ประทับ กรูเข้าไปต่อกรกับปีศาจ ผลลัพธ์คือพ่ายแพ้

สักพัก ชายร่างใหญ่ไม่ใส่เสื้อคนนั้นจึงลุกขึ้นเดินไปยังหุ่นสัตว์ประหลาดสี่ขา ตาโต เขี้ยวคม ขนยาว ที่วางอยู่บนขาตั้งไม้ เขาและผู้ช่วยแทรกตัวเข้าไปในหุ่น (คลับคล้ายการแสดงเชิดสิงโตในบ้านเรา) มันคือบารอง สัตว์ประหลาดในจินตนาการที่คอยปกปักรักษาบาหลีจากความชั่วร้ายทั้งปวง

สุดท้าย ปีศาจสองตนก็ต้องถอยร่นในแก่บารอง

ทั้งหมดคงเป็นพิธีกรรมที่มีเจตจำนงบางประการและจำลองการต่อสู้ระหว่างความชั่วร้ายกับความดีงามตามความเชื่อของชาวบาหลี

................

ความบังเอิญ?

มันช่างน่าจับใจที่ผมมีโอกาสตีตั๋วชั้นพิเศษชมนาฏลีลาที่คงพอกล่าวได้ว่า ‘จริง’ กว่า

ผมถามตัวเองว่า ถ้าตีตั๋วชมการแสดงที่อูบุด ผมจะได้เห็นพิธีกรรมที่กูต้าหรือเปล่า

นี่คือความบังเอิญที่ตั้งใจของบางสิ่งหรือเป็นเหตุผลของความน่าจะเป็นจาก 1 ใน 1,000,000 ...ความเป็นมนุษย์และตกคณิตศาสตร์ไม่ยินยอมให้ผมตอบ แต่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้กรรมวิธีแบบใด คำตอบที่ได้ล้วนน่าอัศจรรย์ใจไม่แพ้กัน

................

การต่อสู้มีอยู่ทุกที่ แม้แต่ในหัวใจของเราเอง สงครามนี้หยุดได้ ถ้าคุณสามารถบรรลุถึงปรมาตมันตามความเชื่อของศาสนาฮินดู

แล้วคุณล่ะ? คิดว่ามันเป็น ‘ความบังเอิญ’ หรือ ‘ความน่าจะเป็น’

 

(เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ของ TCIJ)

 

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ขณะที่เขียนอยู่นี้ #ประเทศกูมี มียอดวิวเกือบ 7 ล้านแล้ว ผมนี่ฟังหลายรอบมาก พร้อมโยกเยกไปตามจังหวะและซึมซับเนื้อหาเข้าไปในหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ตั้งแต่วัยรุ่นที่พอจะรับรู้ความเป็นไปของสังคมบ้าง ผมพบเจอ ‘วิธีคิด’ ในการใช้ชีวิตประมาณห้าหกชนิด ตั้งแต่สโลว์ไลฟ์ สโลว์ฟู้ด การกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนา มินิมัลลิสม์ ฮุกกะ และล่าสุดที่ออกมาไล่เรี่ยกันคือลุกกะและอิคิไก แล้วยังมีการเผยแพร่ลัทธิความฝันแบบเข้มข้นของสื่อมวลชน สินค้า บริการ จนถึงโค้ช นัก
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล วันนี้มีเหตุให้ไปร่วมวงแลกเปลี่ยน ถกเถียง ประเด็นการไม่นับถือศาสนา มีหลายบทสนทนาที่น่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันและถกเถียงกันต่อ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลในหนังสือ 'SUM 40 เรื่องเล่าหลังความตาย' ของ David Eagleman มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงสรวงสวรรค์ที่ดวงวิญญาณของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ยังคงว่ายเวียนอยู่บนสรวงสวรรค์แห่งนั้น
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล รับงานเลี้ยงชีพชิ้นเล็กๆ มาชิ้นหนึ่ง เนื้องานคือการสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตบุคคล นำมาร้อยเรียงบอกกล่าวสู่คนอ่าน ปรากฏว่าบทสนทนาที่ดำเนินไป ชักพาให้เกิดความคิดคำนึงอันหลากหลาย ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองและหัวใจ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ‘วัยหนุ่ม ข้าต้องการมีเพื่อนมากมายวัยกลางคน ข้าต้องการมีเพื่อนที่ดีวัยชรา ข้าเพียงต้องการเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคน’
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล"ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะปกป้องสิทธิในการพูดของคุณด้วยชีวิต" วอลแตร์“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อัลเบิร์ต ไอสไตน์
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJเป็นอีกครั้งที่วัดธรรมกายออกมาธุดงค์กลางนคร แล้วก็ถูกสวดยับไปตามระเบียบ ซึ่งคงห้ามปรามกันไม่ได้
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุลพนักงานบริการหญิงหรือ Sex Worker นางหนึ่งเดินจับจ่ายซื้อหากับชาวต่างประเทศ เธอพูดกับลูกค้าของเธอว่าI shop. You pay.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJมนุษย์ล้วนตั้งจุดหมายปลายทางของตนเองและพยายามฟันฝ่าไปให้ถึง โดยส่วนใหญ่ล้มลุกคลุกคลาน บ้างล้มแรงเสียจนไร้แรงยืนอีกครั้ง เป็นสัดส่วนน้อยกว่ามากที่ถึงจุดหมายปลายทาง นี่คงเป็นเหตุผลทำให้ ‘ความฝัน’ เป็นสิ่งสูงค่าในสายตามนุษย์ยุคปัจจุบัน
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ