กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
อายุแบบผมถือว่ายังไม่ผ่านคุ้งโค้งในชีวิตมากนัก แต่ผมก็พอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เกินกว่าครึ่งไปมากของคุ้งโค้ง นาวาลำนี้ล่องไหลและมีลมหายใจเข้า-ออก ผ่านเรื่องราวล้านแปดของตลาดสด โดยเฉพาะตลาดสดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในตำแหน่งผู้ช่วยแม่ (ค้า)
ผมจึงอยากเล่าเรื่องของ ‘กลิ่น’ ที่คุ้นเคยจากการใช้ชีวิตในตลาดสดสักครั้ง
กลิ่นที่ผมพูดถึง มันเป็นกลิ่นที่นิยามไม่ได้เพราะไม่มีความเฉพาะเจาะจง แต่เป็นกลิ่นของทุกสิ่งอย่างในตลาดสด-กะปิ ซอส ปลาร้า ผักสด ลูกชิ้น หน่อไม้ เนื้อหมู-ไก่-ปลา ข้าวแกง น้ำครำ ขยะ แมลงสาบ หนู คราบไคล ฯลฯ มันเหมือนมีพันธะเคมีอันแปลกประหลาดที่วิ่งมาชนกันกลางอากาศแล้วสร้างมวลกลิ่นจำเพาะขึ้น
ถ้าคุณใช้เวลาในตลาดสดนานพอ พร้อมกับเคลื่อนไหวไปมา กลิ่นนี้จะติดเสื้อผ้า หน้า ผม ของคุณไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เดาว่าหลายคนคงไม่ชอบ ขณะที่อีกหลายชีวิต กลิ่นตลาดคือความคุ้นเคยในอาณาเขตของความจริงที่ยากปฏิเสธ
.............
กล่าวกันว่าชีวิตเมืองยุคใหม่ถอยห่างตลาดสดออกไปเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ป่วยการที่จะฟูมฟาย เพราะถ้าเปรียบเทียบกับห้างดิสเคาต์สโตร์ ไม่ว่าด้านความสะอาด ความสะดวกสบาย แอร์เย็นๆ การบริการที่ดี การติดป้ายบอกราคาที่แน่นอน การมีสินค้าให้เลือกที่เรียกว่าแทบจะครบถ้วน การมีอำนาจเหนือพนักงานห้าง (พวกเธอและเขาไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้า) โดยสมบูรณ์ ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงปะทะกับ ‘ปากตลาด’ และความโมโหร้ายของคนตลาดสด ที่สำคัญคือไม่มีกลิ่น ห้างฯ ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแทบทุกประตู
มันเป็นเรื่องของทางเลือกครับ โลกปี 2012 ไม่มีใครบังคับกะเกณฑ์ผู้บริโภคได้ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการที่ผู้บริโภคถูกทำให้เชื่อผ่านกระบวนการสื่อสารการตลาด) การเพิ่มปริมาณห้างฯ จาก 169 แห่ง เป็น 408 แห่ง และร้านสะดวกซื้อจาก 3,428 แห่ง เป็น 9,260 แห่ง ในช่วงปี 2548-2554 ร้านค้าดั้งเดิมหรือโชห่วยยากจะเลี่ยงแรงกระแทกจากปรากฏการณ์นี้ และความอยู่รอดของโชห่วยก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายอ่อนไหวสองเส้น เส้นหนึ่งคือผู้บริโภค อีกเส้นที่อ่อนยิ่งกว่าอ่อนคือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศ
ผมเคยไปนั่งฟังการเสวนาประเด็นความมั่นคงทางอาหารที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับฟังเรื่องเล่าผ่านปากคำวิทยากรถึงร้านโชห่วยในชุมชนท่ามกลางวิกฤตมหาอุทกภัยว่า ขณะที่สินค้าอุปโภค-บริโภคในห้างฯ ขาดแคลน แต่ร้านโชห่วยทั่วไปยังมีของขายเป็นปกติ เจ้าของร้านโชห่วยรู้สึกว่า มันเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องหาสินค้ามาคอยหล่อเลี้ยงชุมชนท่ามกลางความขาดแคลน บทสรุปของเรื่องนี้ก็คือ หากต้องการความมั่นคง เราไม่สามารถฝากท้องไว้กับใครคนใดคนหนึ่งได้ การกระจายอาหารไว้ในหลายๆ หน่วยย่อยของสังคมคือการกระจายความเสี่ยง เหมือนกับที่นักลงทุนชอบพูดกันว่า อย่าเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว
.............
ผมสังเกตเห็นความย้อนแย้งอันชวนสนุกสนานและขันขื่นบางประการ ระหว่างส่วนผสมของความเหินห่างและโหยหา ‘ตลาด’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริโภคประสบการณ์คือความจำเป็นด้านโภชนาการของอัตลักษณ์และความทรงจำของชีวิตคนเมือง ความโรแมนติกและอาการโหยหาอดีตคือสารอาหารที่มีคุณค่าต่ออารมณ์-ความรู้สึกของผู้คนยุค 3จี
แล้วอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เข้ามารับไม้ต่อได้พอดิบพอดี
ปัจจุบัน เราจึงเห็น ‘ตลาดประดิษฐ์’ ที่จงใจสร้างขึ้นจากแผนการตลาดอันหลักแหลม ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่ ที่ผมเคยไปก็อย่างตลาดน้ำ 4 ภาคที่พัทยา ...อีกเช่นกัน ไม่มีกลิ่นติดตัวออกมา (หรือมีผมก็คงจำไม่ได้) ขณะเดียวกัน ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งก็ใช้การเติบโตของวิถีการท่องเที่ยวแนวนี้ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชุมชน ซึ่งต้องยอมรับว่าย่อมมีทั้งสิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างและสิ่งที่มีมาแต่ดั้งเดิมปะปน ส่วนผสมจะมาก-น้อยขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของแต่ละชุมชน
ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นไปตามกลไกพื้นฐานของหลักเศรษฐศาสตร์ที่ยากจะใช้กฎเกณฑ์เชิงศีลธรรมและวัฒนธรรมมาวัดได้เพียงโดดๆ ขืนใครทำแบบนั้นก็ออกจะใจจืดเกินไป เพราะจะดีจะร้ายอย่างไรเงินตราที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจนี้ก็ช่วยกระจายรายได้และเลี้ยงดูชีวิตคนทำมาหากิน
ทีนี้ ถ้าลองคิดแบบหนามยอกเอาหนามบ่งเรื่องการบริโภคประสบการณ์ ผมคิดว่าคงไม่เสียหายหากจะเชิญชวนคนเมืองให้หาเวลาไปเดินตลาดสดดูบ้าง จะในกรุงหรือต่างจังหวัดก็ได้ เพราะหากประสบการณ์คือการได้เรียนรู้-ค้นหา-เก็บรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกภายนอก การพาตัวเองเข้าไปปะทะสังสรรค์กับประสบการณ์แตกต่างหลากหลาย มันคงน่าสนุกกว่า ได้เก็บเกี่ยวแบบเรียนสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตจากครูมากหน้าหลายตากว่า เผลอๆ อาจสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ความรู้สึกจากอาการโอเว่อร์โรแมนติก เพราะได้พบความจริงอีกแบบหนึ่ง ที่สำคัญกว่านั้นคือ มันช่วยพยุงลมหายใจของคนตลาดสด พร้อมๆ กับค้ำยันความมั่นคงทางอาหารของสังคม
............
เข้าใจว่าโดยทั่วไปเราพบเห็น ‘ตลาดวาย’ ได้ง่ายกว่า ‘ตลาดเกิด’
ตลาดสดเทศบาลศรีราชาจะคึกคักที่สุดตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ถึงช่วงสายครับ พอตกบ่าย ตลาดจะค่อยๆ สร่างซาและวายในช่วงบ่ายแก่ๆ ที่ว่าตลาดวายมิได้หมายถึงทั้งตลาดไม่มีคนอยู่เลยนะครับ ยังมีพ่อค้าแม่ค้าอยู่บ้าง เช่น ผลไม้ ขนม ร้านที่อยู่จนค่ำคือร้านขายดอกไม้ (ไม่เคยถามเหมือนกันว่าทำไมต้องอยู่จนค่ำมืด) แต่ส่วนใหญ่กลับบ้านหมดแล้ว
แต่ความจริงคือตลาดไม่เคยหลับ หลังเที่ยงคืนเล็กน้อย คนตลาดสดบางส่วนเริ่มทยอยมาตระเตรียมสินค้าและเปิดร้าน คนรับจ้างเข็นของเข็นเนื้อหมูเป็นเข่งๆ ไปส่งตามเขียงหมู ทอดเวลาออกไปอีกนิด กุ้ง หอย ปูปลา และผักสดเดินทางตามมาติดๆ ก่อนซัดเซมาทำอาชีพคนส่งสารในบางกอก ผมจะถูกถีบให้ตื่นประมาณตี 4 ครึ่ง เพื่อมาเปิดร้าน ยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน สารทจีน เขียงหมู เขียงไก่ ผลไม้ จะพักค้างอ้างแรมกันที่ตลาดตั้งแต่วันจ่ายข้ามคืนถึงวันไหว้ เรียกว่าไม่ยอมเสียโอกาสทำมาหากิน และเป็นช่วงที่งานหนักและวุ่นวายที่สุดสำหรับผมเช่นกัน
ฉากชีวิตเหล่านี้วิ่งวนเป็นวัฏจักรไม่สิ้น หลายคนจากไป-ทั้งจากเป็นและจากตาย-ผลัดเปลี่ยนให้คนอื่น ไม่ก็ลูกหลาน เข้ามาว่ายเวียนดิ้นรนต่อ ปากท้องคือเท้าของชะตากรรมที่เตะถีบให้คนตลาดต่อสู้ดิ้นรน ต้องทนแรงกดดัน ความเบื่อหน่าย เผชิญวันที่ลูกค้าไม่รู้หายไปไหนหมด แต่พรุ่งนี้ยี่ปั๊วดันจะมาเก็บเงิน คนตลาดถูกหลอมและห่อหุ้มด้วยบรรยากาศแบบนี้ มันวิวัฒนาการให้พวกเราต้องทนแรงเสียดทาน (แต่ไม่ค่อยอดทนกับลูกค้าจู้จี้) เสียงดัง ไม่ค่อยมีพิธีรีตอง และอาจถึงขั้นหยาบคายเมื่อใช้ธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นกลางในเมืองมาจับ ถึงกระนั้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นของจริงที่ผมเชื่อว่าผ่านการปรุงแต่งไม่มากนัก
ลองไปเที่ยวกันดูนะครับ
.............
ทุกครั้งที่กลับศรีราชา ‘กลิ่นตลาด’ ที่ติดผ้าเสื้อเนื้อตัวของแม่ (ค้า) กลับบ้าน มันคือความคุ้นเคย มันคือกลิ่นจากมวลอากาศที่ผ่านการผสมผสานของทุกๆ สิ่งในตลาด ที่ผมได้เคยและยังคงสูดลมหายใจเข้า-ออกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดของกลิ่นตลาดก็คือ มันคอยตักเตือนมิให้หลงลืมว่า ผมเป็นใคร
(เผยแพร่ครั้งแรกใน TCIJ Blog)