กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
1.
หลี่มู่ไป๋คือยอดมือกระบี่ที่กำลังต้องการละวางกระบี่ในภาพยนตร์เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon ทว่า บุญคุณความแค้นกลับติดตามเป็นเงา ดังวิถีทั่วไปของยุทธภพ ท้ายที่สุด แม้หลี่มู่ไป๋จะละวางกระบี่คู่ใจลงได้ แต่กลับไม่อาจละวางกระบี่ที่แท้จริง เพราะไม่ว่าเขาจะหยิบจับสิ่งใด สิ่งนั้นก็สามารถกลายเป็นยอดอาวุธได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่กิ่งไผ่
คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์โอเพ่น เคยกล่าวถึงหลี่มู่ไป๋ในหนังสือรวมความเรียงเล่มหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุที่หลี่มู่ไป๋ไม่สามารถวางกระบี่ได้เป็นเพราะกระบี่ของเขาหาใช่ตัวกระบี่ไม่ หากแต่มันอยู่ที่จิตใจของเขาเอง เมื่อหัวใจมิอาจละวางกระบี่ได้เสียแล้ว การถอนตัวจากยุทธภพจึงเป็นได้เพียงความฝันของจอมยุทธ์ผู้เหน็ดเหนื่อย
2.
ในชีวิตจริง ผมมีความสนใจและฝึกฝนทักษะการป้องกันตัวอยู่บ้าง แต่ยังถือว่าห่างไกลจากความเป็นมือกระบี่อยู่หลายร้อยปีแสง อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าในใจผมไร้กระบี่ เพียงแต่กระบี่เล่มนี้ออกจะแปลกอยู่สักหน่อย มันมาพร้อมกับน้ำทะเลสีฟ้า เกลียวคลื่น ท้องฟ้าเปลือยเมฆ หาดทราย และเสียงเพลง
ทะเลของจังหวัดกระบี่ แปรรูปเป็นกระบี่เล่มเขื่องตรึงแน่นอยู่ในใจ…จะดึงออกก็กลัวเจ็บ
ผมลาพักจากการงานวุ่นวายกลับมาเยือนกระบี่อีกครั้งหลังจาก 5 ปีก่อนติดอกติดใจท้องทะเลแห่งอ่าวนาง วันวัยที่แปรเปลี่ยน สายตาของผมจึงมีหลายโฟกัส ทั้งท้องทะเลและผู้คนริมทะเลที่ร้อยรัดเป็นเรื่องราว
ราตรี ณ อ่าวนาง หาได้ผิดแผกจากราตรี ณ เมืองท่องเที่ยวริมทะเลอื่นๆ แสงนีออนจากร้านรวงสู้รบตบมืออย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อเอาชนะการครอบงำของค่ำคืน หลากหลายชีวิตดิ้นรนอยู่บนถนนเลียบอ่าว ผู้หญิงไทยและชายชาวต่างประเทศกุมมือเดินหย่อนใจแลกเปลี่ยนความสุขบนกติกาที่ทุกฝ่ายเข้าใจ ท่ามกลางเสียงดนตรีสารพัดจังหวะปลุกเร้ามวลอากาศสีดำให้มีบุคลิกเฉพาะตัว คือวิถีของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อใช้ชีวิตไปให้สุดฟันเฟืองที่ชะตากรรมกำหนดมา
คนเราต่างมีสังเวียนของตนเองไว้ต่อสู้-แบบทื่อๆ ก็อย่างเด็กช่างกลที่อาจเชื่อว่าศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่หาได้ตามท้องถนนและใช้มันเป็นแหล่งสถาปนาบางสิ่งในชีวิตที่ชีวิตอื่นยากเข้าใจ นักรบต่อสู้กับศัตรูภายนอก นักบวชต่อสู้กับศัตรูภายใน เราทุกคนต่อสู้กับขวากหนามที่พุ่งเข้าปะทะอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มากกว่านั้นต่อสู้กับตัวเอง แพ้บ้าง ชนะบ้าง อย่างน้อยก็ได้ชั่วโมงบิน
3.
ยามสายท้องฟ้าใส ผมเดินข้ามถนนเลียบอ่าวนางไปพร้อมๆ กับขบวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เรือที่จะพาผมฝ่าเกลียวคลื่นสู่เกาะหม้อ-เกาะทับ-เกาะไก่-เกาะปอดะ จอดรอและโคลงเคลง ผมเลือกนั่งบนหลังคาเรือด้วยอาการเสพติดทะเล แทรกซ้อนกับความหวาดกลัวเพราะว่ายน้ำไม่เป็น
บนผืนน้ำที่เรือวิ่งผ่าน ใบพัดเรือกรีดทะเลทิ้งรอยไว้เป็นทางยาวแล้วค่อยๆ เลือนหายหลังจากทะเลสมานแผล เกล็ดน้ำและระห่ำแดดตบตีผิวกายเสียเกรียมแดง แต่ถือเป็นรายจ่ายที่คุ้มค่าเทียบกับท้องทะเลที่รอคอยอยู่ข้างหน้า
...ดูจะเป็นความทะเยอทะยานเกินไปหากผมจะพยายามบรรยายว่าทะเลที่ผมเห็นสวยงามอย่างไร
ทว่า รสชาติของการเดินทางหนนี้ มิได้กลมกล่อมที่ท้องทะเลเพียงสิ่งเดียว ห้วงเวลาแสนสั้นของการล่องลอยกลางน้ำ-ฟ้า ผมเฝ้าดูการกำกับทิศทางของคนขับเรือ ชายร่างผอมเกร็ง แต่ดูกระชับ มีหนวดเคราพอเข้มๆ ผิวเกรียมแดด สวมหมวกและแว่นตาดำซึ่งดูจะเป็นอุปกรณ์สำคัญของอาชีพ เสียดายที่ผมไม่รู้จักชื่อเขา (ต้องโทษบุคลิกส่วนตัวอันไม่น่าอภิรมย์ของผม) เขามีท่าทีเป็นกันเอง ระหว่างพักกินข้าวกินน้ำที่เกาะปอดะ เขาชี้ชวนให้ดูทิวเขาบนแผ่นดินใหญ่ ที่มาของคำว่า อ่าวนาง นั่นเพราะธรรมชาติสลักรูปรอยของแนวเขาเป็นเรือนร่างหญิงสาวกำลังนอนหงายชมท้องฟ้า พยายามจินตนาการตามว่า รูปร่างสมส่วนเช่นนี้ ใบหน้าเธอจะหมดจดงดงามเพียงใด
ไม่ต้องบอกก็รู้ ว่าการขับเรือเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยการฝึกฝน คือส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความรู้ ความจัดเจน ประสบการณ์ และพละกำลัง น้องนักศึกษาคนหนึ่งร่ำเรียนมาทางด้านการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยในภาคใต้ที่ขอมาฝึกงานบนเรือลำที่ผมนั่ง เล่าว่า ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นคนขับเรือได้จำเป็นต้องผ่านงานทุกอย่างบนเรือ-ขนของ ถอนสมอ เก็บกวาด มันคือจารีตเข้มข้นของวิถีชาวเรือ น้องแกอธิบายเหตุผลว่า เพราะคนขับเรือจำเป็นต้องรู้งานทุกอย่างในเรือ
แน่นอน คนขับเรือยังต้องรู้อีกหลายอย่างที่อยู่นอกเรือ รู้จักน้ำ รู้จักฟ้า รู้จักแสงแดด รู้จักชายฝั่ง รู้จักหมู่หิน รู้จักเด็กเรือคนอื่นๆ และคงต้องรู้จักตนเองพอสมควร ในความหมายที่ว่าต้องควบคุมตนเองได้ยามเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก
บนที่นั่งชั้นพิเศษของผม ศิลปะแห่งการควบคุมหางเสือมาถึงฉากตื่นตาที่สุด เมื่อเขาต้องนำเรือออกจากบริเวณชายฝั่งที่มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยให้เรือกลับตัว รายล้อมด้วยหมู่หินที่นักท่องเที่ยวไม่มีทางรู้ แต่เขารู้ คุณพี่คนขับเรือใช้เรี่ยวแรงทั้งตัว ห้อยโหน เหนี่ยวดึง เครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวแกสองสามเท่าหันไปให้สุดองศา เส้นเลือดบนแขนทำงานหนักส่งเรี่ยวแรงจากหัวใจสู่กำมือ เขาเร่งเครื่องยนต์เรือเป็นระยะๆ ท้ายเรือกับหัวเรือส่งเสียงตะโกนให้สัญญากันดังโหวกเหวก เขาสั่งให้เด็กเรืออีกคนนำท่อเหล็กที่มีขนาดยาวกว่ามาเปลี่ยนกับขนาดที่สั้นกว่าเพื่อต่อกับคันโยกที่พื้นเรือ แล้วจับมันไว้อย่างมั่นคง ก่อนพาทุกชีวิตบนเรือออกสู่ทะเลใหญ่ ทั้งหมดนี้ดำเนินไปต่อเนื่องด้วยความคล่องแคล่ว ฉับไว และพละกำลังที่ไม่มีตกหล่น ต้องสารภาพว่า ผมนิ่งมองกระบวนท่าทั้งหมดนั้นด้วยสายตาทอประกาย
4.
ทุกชีวิตกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย พบพานเพียงชั่วครู่ แล้วต่างแยกย้ายตามวิถีของแต่ละคน การต่อสู้กับท้องทะเลของพี่คนขับเรือในวันนี้จบลงโดยทั้งสองฝ่ายไม่บอบช้ำ แม้คู่ต่อสู้ของคนขับเรือจะยิ่งใหญ่กว่าหลายขุม บ่อยครั้งการต่อสู้ในชีวิตคนมักเผชิญหน้าคู่ต่อสู้ที่ไม่จำเป็นต้องชนะ ขอแค่ผลออกมาเสมอก็เรียกว่าชัยชนะได้แล้ว ซ้ำยังเป็นชัยชนะสวยงามร่วมกัน
ใช่หรือไม่ว่า ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว เราทุกคนล้วนมีธรรมชาติของจอมยุทธ์อยู่ภายใน และอาวุธในมือก็ไม่จำเป็นต้องเป็นของมีคม มันอาจจะเป็นเครื่องคิดเลข ไม้เท้า ตะหลิว หรือเครื่องยนต์เรือตัวยักษ์ก็ได้ เพียงแค่รู้วิธีใช้กระบี่ในมือและใช้ใจให้เป็น เลิกงานแล้วก็แล้วกัน
5.
ผมพยายามนึกต่อจากคุณภิญโญเรื่องกระบี่ในใจหลี่มู่ไป๋ อุดมคติโบราณของศิลปะการต่อสู้จีน-ญี่ปุ่นแอบอิงกับหลักปรัชญาเต๋า-เซ็น ที่ยังคงได้รับการเล่าขาน สะท้อนผ่านถ้อยคำจากภาพยนตร์อีกเรื่อง-The Forbidden Kingdom
เรียนรู้แนวทาง เพื่อสร้างแนวทางของตน
เรียนรู้รูปแบบ เพื่อไร้รูปแบบ
เรียนรู้ทุกสิ่ง เพื่อลืมทุกสิ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลี่มู่ไป๋คือยอดมือกระบี่ แต่ดูเหมือนเขายังไปไม่ถึงสภาวะไร้กระบี่ คมมีดจึงกรีดบาดภายในและผู้อื่น ใช่, มนุษย์ต่างกับทะเลตรงที่รอยแผลสมานเองไม่ได้รวดเร็วเท่า
...หมดภารกิจก็ปล่อยวาง ไม่มีกระบี่ในมือ ไม่มีกระบี่ในใจ
(เผยแพร่ครัั้งแรกในบล็อก TCIJ และขออนุญาตปรับชื่อเรื่องนิดหน่อย)