Skip to main content

 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

 

เมื่อสองสามปีก่อน ผมถูกหนุ่มเวียดนามคนหนึ่งพยายามจะหักแขนซ้าย...

โชคดี ผมส่งสัญญายอมแพ้เสียก่อน เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกซ้ายจึงแค่รู้สึกตึงๆ ปวดๆ เรื่องนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอย่างที่คิด มันเป็นแค่การแข่งขันบราซิลเลี่ยน ยูยิตสุ-ศิลปะการต่อสู้ชนิดหนึ่ง-ที่คนซ้อมน้อยแบบผมมีโอกาสลงแข่ง คู่แข่งของผมคือหนุ่มเวียดนาม เขาเก่งกาจและว่องไวราวกับงูเห่า ยอมรับว่าด้วยการฝึกซ้อมแบบครึ่งๆ กลางๆ ของผม มีชีวิตรอดมาได้ก็บุญโขแล้ว

ต่อจากนี้อาจเป็นคำแก้ตัวของผู้แพ้ก็ได้นะครับ

สำหรับหลายคนบนโลกใบนี้ การเลือกขึ้นไปยืนบนสังเวียนไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายดาย ไม่ว่าสังเวียนนั้นจะเป็นสังเวียนประเภทไหนหรือต่อสู้กับอะไร Flight or Fight-หนีหรือสู้ คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ โมงยามของชีวิต ถ้าเลือกได้ มนุษย์ทุกคนคงเลือกยืนบนแท่นรางวัลชนะเลิศ ไม่มีใครอยากอยู่แบบคนแพ้ ความพ่ายแพ้เป็นนามธรรมทางอารมณ์ประเภทหนึ่งที่กระทบกระแทกและทำร้ายอัตตาของคนเรามากที่สุด เราจึงมักหลบหนีการต่อสู้ถ้าทำได้ อย่างน้อยผลลัพธ์จากการต่อสู้จะเป็นความลับไปตลอดกาล

ผมไม่แตกต่างจากปุถุชนทั่วไป ลังเลหลายนานว่าจะหนีหรือจะสู้ สุดท้าย ผมเลือกอย่างหลัง เพราะเมื่อชั่งน้ำหนักดู นอกจากเงินค่าสมัครแล้ว ผมไม่มีอะไรต้องเสีย น้อยถึงน้อยที่สุด ผมพิชิตความขี้ขลาดตาขาวของตนเองได้ ฟังดูเป็นข้อแก้ตัวที่ผู้แพ้หลายคนมักหยิบยกมาอ้าง แต่คนที่เป็นนักกีฬาจะเข้าใจเรื่องนี้ดี

ในโลกของกีฬา สังเวียนเป็นสถานที่แห่งเดียวที่ช่วยให้ความพ่ายแพ้มีคุณค่า

.........

ถึงอย่างไร ความพ่ายแพ้ก็เป็นเรื่องเจ็บปวด จะแพ้มาก แพ้น้อย แพ้แบบไหน เรียกว่าแพ้ทั้งสิ้น ความพ่ายแพ้อาจมีแค่แบบเดียว แต่คนแพ้-อย่างน้อยจากประสบการณ์ของตนเอง-มี 2 แบบ แบบแรกคือแพ้แล้วแพ้เลยหรือเลวร้ายกว่าคือแพ้แล้วพาล แบบที่ 2 คือคนที่รู้ว่าทำไมถึงแพ้

มีเรื่องเล่าว่า ซามูไร 2 คนท้าประลองกัน หนึ่งในนั้นคือยอดนักดาบแห่งยุค ผู้ไม่เคยแพ้ใคร หลังการต่อสู้ ยอดนักดาบก็ยังสะกดคำว่า ‘แพ้’ ไม่เป็น ส่วนผู้แพ้ เขาหลบหายไปจากยุทธภพ ใช้เวลาหลายปีศึกษาชัยชนะของคู่ต่อสู้ และแน่นนอนเขาศึกษาความพ่ายแพ้ของตน ฝึกปรือวิชาพลองที่ตนเองคิดค้นขึ้น เขากลับคืนสังเวียนอีกครั้งหนึ่ง เดินทางประลองฝีมือไปทั่วญี่ปุ่น จนหวนกลับมาเจอยอดนักดาบผู้นั้นอีกครั้ง แต่ผลลัพธ์ไม่เหมือนเดิม และเป็นการจารึกความพ่ายแพ้ครั้งเดียวของมิยาโมโต้ มุซาชิ ปัจจุบัน วิชาพลองนี้ตกทอดสู่วิชาไอคิโด

(ความพ่ายแพ้ของมุซาชิเป็นเรื่องที่ผมอ่านพบในหนังสือว่าด้วยศิลปะการต่อสู้ ผิด-ถูกอย่างไร คงต้องให้ผู้รู้สืบสาว)

…......

ในความรัก การพ่ายแพ้มีรสขมและเค็มของน้ำตา แต่ความรักเป็นสิ่งมหัศจรรย์ บางคนพ่ายแพ้โดยที่ความรักไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย ตรงกันข้าม กลับเติบโตและงอกงาม

ในชีวิต การพ่ายแพ้กร่อนกินเจ้าของมันแทบล้มประดาตาย แต่ชีวิตย่อมดำเนินต่อไป ดังที่ผมชอบยกขึ้นอ้างเสมอ ชีวิตเป็นครูที่ดุและเข้มงวด เพราะมันให้บททดสอบก่อน แล้วจึงให้บทเรียนภายหลัง

..........

ความพ่ายแพ้จึงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายทุกกรณี ขึ้นกับว่าความพ่ายแพ้อยู่ในมือคนประเภทไหน

บทสนทนากับสาวน้อยคนหนึ่งที่ระบายความอัดอั้นบางอย่างที่ชีวิตเธอกำลังพบพาน เธอไม่ได้เล่ารายละเอียดของเรื่องราว เพียงรำพึงว่า เธออาจผิด แต่ไม่อยากอยู่แบบคนแพ้ ถ้าเป็นอดีต ความเป็นเด็กจะไม่ทำให้เธอละล้าละลังในการตัดสินใจ

ผมตอบกลับเพียงว่า ก็ฟังดูดีแล้ว “หมายถึงอะไร” เธอถาม เพราะมันแปลว่าเธอโตขึ้น มูฮัมหมัด อาลี เคยพูดไว้ว่า ถ้าตอนอายุ 50 คุณยังคิดเหมือนตอนอายุ 30 หมายความว่าชีวิตคุณเสียเวลาไปฟรีๆ 20 ปี

ความพ่ายแพ้หรือแม้แต่การกลัวความพ่ายแพ้ก็ให้บทเรียนที่น่าสนใจ

............

ไม่ใช่กับทุกคน การกลัวความพ่ายแพ้มักบีบคั้นให้คนเรากระทำสิ่งที่ขลาดเขลา ไม่มีใครต้องการเห็นอัตตาของตนผุพังลงต่อหน้าต่อตา

ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะคนคงไม่เท่าไร แต่พอมันกลายเป็นอาการกลัวความพ่ายแพ้ของกลุ่มคน ของฝักฝ่าย ในโลกที่ถูกแบ่งแยกให้เหลือเพียงพวกฉัน-พวกเธอ ใครหน้าไหนถ้าไม่ใช่พวกฉันก็จงอย่าเสียเวลาอธิบาย เพราะจะถูกผลักไสเป็นอีกพวกทันที

เมื่อฝ่ายหนึ่งครอบครองชัยชนะ เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะต้องพยายามรักษามันไว้ยาวนานที่สุด แต่เชื่อเถอะครับ โลกเบี้ยวๆ ใบนี้มีชัยชนะบางรูปแบบที่ทำให้วิธีการรักษาชัยชนะแบบพื้นๆ ใช้การไม่ได้

ยิ่งรางวัลของชัยชนะคืออำนาจ การรักษาชัยชนะยิ่งต้องใช้สติและขนาดหัวใจที่กว้างขวางเพียงพอ แน่นอนว่าคนแพ้แล้วพาลย่อมมี ด่าทอ ดูหมิ่นถิ่นแคลนผู้ชนะ ประเภทนี้ไม่ต้องเสียเวลามาก ทว่า เสียงของผู้แพ้บางประเภทจำเป็นต้องรับฟัง

สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า ฟากฝ่ายผู้ชนะต่างหากที่ต้องหมั่นตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้น ไม่เหมาเข่งเสียงค้าน เสียงติง ว่าเป็นพวกขี้แพ้ชวนตีหรือมองเป็นศัตรูที่หมายปล้นชิงชัยชนะเสียทุกครั้งไป โลกมันไม่ได้แบนขนาดนั้น ผมเชื่อว่ามันจะเป็นการรักษาชัยชนะระยะยาวและสวยงาม

ไม่เสมอไปที่ผู้ชนะจะแพ้เพราะผู้อื่น แต่แพ้เพราะตัวเองก็มีเป็นบทเรียนมากมาย

หากฟากฝ่ายผู้ชนะหวงแหนชัยชนะจนหน้ามืด กริ่งเกรงความพ่ายแพ้จนตามัว ยินยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพิกเฉย ละเลยการตรวจสอบ ด้วยเชื่อว่าผู้ชนะถูกเสมอ แน่นอนว่ามันอาจทำให้คน-กลุ่ม-ฝ่ายนั้นๆ ได้รับชัยชนะในระยะสั้น แต่เมื่อระบบต่างๆ ถูกทำลายเพื่อเซ่นสังเวยให้แก่ชัยชนะเฉพาะหน้า...

สุดท้าย มันจะกลายเป็นความพ่ายแพ้ของทั้งสังคมในระยะยาว

 

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของชายผู้หนึ่งนามว่า 'เจดี' ที่ถูกเหยียบย่ำจนตาย คุณอาจกำลังคิดว่านี่คือคำเปรียบเปรย? ต้องลองอ่านดู
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เมื่อสองสามปีก่อน ผมถูกหนุ่มเวียดนามคนหนึ่งพยายามจะหักแขนซ้าย...
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เขี้ยว เล็บ ประสาทสัมผัส และมัดกล้ามอันทรงพลัง คือพรสวรรค์และอาวุธที่ธรรมชาติ-กระบวนการวิวัฒนาการ-หยิบยื่นแก่เหล่าสัตว์นักล่า ช่วยให้มันตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ