Skip to main content

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

 

เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของชายผู้หนึ่งนามว่า 'เจดี' ที่ถูกเหยียบย่ำจนตาย คุณอาจกำลังคิดว่านี่คือคำเปรียบเปรย? ต้องลองอ่านดู

ณ อาณาจักรแห่งหนึ่งที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ผู้คน...ส่วนใหญ่ มีกิน มีใช้ อย่างล้นเหลือเฟือฟาย พูดได้ว่าอาณาจักรนี้กิน-ใช้มากกว่าอาณาจักรอื่นๆ บนโลกก็คงไม่ผิดนัก

กษัตริย์แห่งอาณาจักรรู้ดีว่า สิ่งที่ทำให้ประชาชนของพระองค์มีความสุขคือการได้จับจ่ายซื้อหา ผู้คนจะลืมทุกข์โศก ลืมความเหนื่อยล้า หรือจริงๆ ก็คือลืมทุกอย่างแม้แต่ตัวพระองค์และอาณาจักร

เหตุนี้ พระองค์จึงจัดให้มีการเทศกาลประจำปี...ไม่ใช่สิ เพราะมันจัดขึ้นทุกเดือน ภายใน 'กำแพง' ใหญ่ที่ทรงพลัง สินค้านานับประการที่สามารถหาได้ในโลกถูกนำมาให้ประชาชนของพระองค์ได้จับจ่ายเท่าที่ทรัพย์ศฤงคารในกระเป๋าของคนผู้นั้นจะอนุญาต ที่สำคัญพระองค์ยังใช้เวทมนตร์อันทรงฤทธานุภาพเสกสั่งทวยราษฎร์ให้หลงเชื่อว่า สินค้าที่พระองค์นำมาปรนเปรอความสุขให้นั้น ราคาช่างถูกแสนถูกกว่าอาณาจักรใดๆ บนพื้นโลก

เช้าตรู่ พระอาทิตย์ยังไม่ทันโผล่พ้นขอบฟ้า ฝูงชนกลุ่มใหญ่ออกันอยู่เบื้องหน้ากำแพง ต่างคนต่างหวังว่าเมื่อประตูเปิดออก ตนจะได้เป็นคนแรกที่พุ่งผ่านประตูเข้าไป เป็นคนแรกที่ได้หยิบฉวยสินค้า เป็นคนแรกของคนแรกและของคนแรกอีกที โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมต้องเป็นคนแรก

เจดีชายหนุ่มร่างใหญ่ใจดี เจ้าหน้าที่ผู้คอยดูแลความราบรื่นต่างๆ เขาไม่รู้เลยว่ามัจจุราชกำลังยืนรอเขาอยู่ที่ปากประตูกำแพงนั่นเอง วันนั้น เจดีพยายามยืนรักษาความเรียบร้อยอยู่ที่ประตูของกำแพงใหญ่ ทันที่ประตูแง้มเปิด ฝูงชนผู้ต้องการไขว้คว้าความสุขจากสินค้ามากมายที่ถูกทำให้เชื่อว่าราคาแสนถูก ต่างกรูเกรียวกันเข้าไปอย่างบ้าคลั่ง จากที่ยืนอยู่ด้วยความมั่นคง เจดีเริ่มซวนเซ แม้เขาจะตัวใหญ่เพียงใดก็เถอะ แต่ด้วยจำนวนคนและเรี่ยวแรงจากความคลุ้มคลั่ง เจดีถูกผลักจนล้มลง

แน่นอนว่าไม่มีใครสนใจสิ่งที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า เมื่อสิ่งที่อยู่บนชั้นสินค้าเย้ายวนกว่าเป็นไหนๆ ฝ่าเท้าจำนวนมากเหยียบย้ำไปบนร่างของเจดี ใช่ครับ ผมเชื่อว่าเขาต้องพยายามดิ้นรน เพื่อนๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็พยายามช่วย ทว่า ช่างไร้ผล

เมื่อฝุ่นควันจางหาย เจดีนอนรวยริน เขาถูกหามไปพบแพทย์หลวงอย่างเร็วที่สุด...สายเกินไป มัจจุราชพาเขาไปแล้ว

อาณาจักรแห่งความสุขตกตะลึงกับความตายของเจดีอยู่นาน...แค่ไหนนะ เดือนต่อมาวัฏจักรแห่งความสุขหวนคืนซ้ำ ทุกคนหลงลืมเจดีไปเรียบร้อยแล้ว

..........

เรื่องจบลงแค่นี้ ไม่มีประโยคคลาสสิกที่ว่า 'นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...' ฟังแล้วก็ชวนสลดหดหู่ อาณาจักรที่พระราชาปรนเปรอความสุขประชาชนด้วยสินค้า ช่างไม่น่ารื่นรมย์สักเท่าไร

บังเอิญเหลือเกินว่า อาณาจักรนี้มีอยู่จริงบนโลก

ผมอ่านเจอเรื่องของ 'Jdimytai Damour' ในหนังสือ 'The Story of Stuff' หรือ 'เรื่องเล่าของข้าวของ' เขียนโดยแอนนี่ เลียวนาร์ด แปลโดยพลอยแสง เอกญาติ ของสำนักพิมพ์มติชน ผู้แปลออกเสียงชื่อนี้ว่า 'จะดิมายไท ดามัวร์'

ดามัวร์เป็นคนเฮติ อายุ 34 เพื่อนๆ ของดามัวร์เล่าว่า ดามัวร์เป็นคนตัวใหญ่ใจดี ชอบพูดคุยเรื่องหนัง เรื่องอะนิเมชั่นญี่ปุ่น และการเมือง และเขายังเป็นพนักงานของวอลล์มาร์ท ยักษ์ใหญ่ห้างค้าปลีกของโลก

ณ ปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 ช่วงเวลาหลังเทศกาลขอบคุณพระเจ้าของชาวสหรัฐฯ อีกความหมายก็คือเทศกาลแห่งการช้อปปิ้ง ผู้คนสัก 2,000 คนได้ ไปรออยู่ที่ลานจอดรถของห้างวอลล์มาร์ตแห่งหนึ่งที่ลอง ไอส์แลนด์ มลรัฐนิวยอร์ก เพื่อหวังจะช้อปปิ้งของถูกเพราะวอลล์มาร์ตใช้คาถาอันทรงพลัง 'Sale'

ด้วยความที่ผมไม่ใช่ผู้คลั่งไคล้การช้อปปิ้ง (หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่มีจะกิน) จึงไม่เข้าใจนักว่า ทำไมต้องไปรอกันข้ามคืนเช่นนั้น เหตุการณ์แบบนี้คงคล้ายกับที่สาวกแอปเปิ้ลพากันไปนอนรอเพื่อจะซื้อไอโฟนหรือไอแพดรุ่นล่าสุดเป็นคนแรก ซึ่งผมก็ถามตัวเองอีกว่าทำไมต้องเป็นคนแรกด้วย คนที่ตอบได้ดีที่สุดก็คงต้องเป็น 'คนแรก' นั่นแหละครับ

ประตูเปิด คน 2,000 คน กรูกันเข้าไป ดามัวร์ล้มลง และเรื่องก็จบลงตรงนั้น

'การบริโภค' ดูเหมือนได้กลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเองไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่สังคมสหรัฐฯ เป็นและเผยแพร่แนวคิดนี้ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศแถวๆ นี้ด้วย

ผมคิดแบบคนจบ ม.6 ว่า มีอะไรบ้างไหมในเอกภพนี้ที่สามารถขยายตัวหรือเติบโตได้ไม่สิ้นสุด แม้แต่จักรวาลที่กำลังขยายตัว สักวันหนึ่งมันก็ต้องหดกลับคืน มันชวนฉงนว่าทำไมคนครึ่งค่อนโลกจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจจะต้องโตต่อเนื่อง ทุกปีๆๆๆ แล้วสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า 'เศรษฐกิจ' นี่มันจะโตเต็มวัยเมื่อใดกัน แล้วมนุษย์ต้องป้อนอาหารให้สิ่งนี้มหาศาลแค่ไหน

นั่นก็แค่การเปรียบเปรยครับ (ไม่เหมือนที่บอกว่า เจดีตายเพราะถูกเหยียบย่ำ) เพราะสิ่งที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้โตคือการบริโภค การเพิ่มการบริโภคคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจมีจุดสิ้นสุดหรือไม่ ผมไม่รู้ ที่รู้แน่คือความต้องการบริโภคของมนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด แต่โลกมีจุดสิ้นสุด

ทุกวันนี้ เราได้ยินโฆษณา การรณรงค์ หนังสือ การกิน การเที่ยว และอีกหลายๆ การ รวมถึงนักเขียน นักสิ่งแวดล้อม นักการเมือง และอีกหลายๆ นัก ที่บอกให้เรารักโลก ใช่ บางครั้งการรักโลกก็โรแมนติกชวนหลงใหลยิ่ง แต่ผมแทบไม่พบพานสิ่งที่บอกให้เรา 'หยุด' บริโภค เพราะแม้แต่งานรณรงค์ประเภทหยุดซื้อที่ผมเคยไป หน้างานก็มีเสื้อผ้าสกรีนให้ 'หยุดซื้อ' วางขาย ผมจึงเกิดวุฒิภาวะทางปัญญาแบบเฉียบพลันว่า เราต้องหยุดซื้อด้วยการเริ่มต้นซื้อสิ่งที่บอกเราให้หยุดซื้อ

เมื่อข้างหน้าคือป้าย 'Sale' สิ่งที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าช่างไม่สลักสำคัญ แล้วโศกนาฏกรรมแบบดามัวร์ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นถี่นัก

ใต้ฝ่าเท้าเราอาจไม่มีใครกำลังนอนตาย แต่มันมีโลกทั้งใบ

 

(เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ TCIJ)

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของชายผู้หนึ่งนามว่า 'เจดี' ที่ถูกเหยียบย่ำจนตาย คุณอาจกำลังคิดว่านี่คือคำเปรียบเปรย? ต้องลองอ่านดู
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เมื่อสองสามปีก่อน ผมถูกหนุ่มเวียดนามคนหนึ่งพยายามจะหักแขนซ้าย...
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เขี้ยว เล็บ ประสาทสัมผัส และมัดกล้ามอันทรงพลัง คือพรสวรรค์และอาวุธที่ธรรมชาติ-กระบวนการวิวัฒนาการ-หยิบยื่นแก่เหล่าสัตว์นักล่า ช่วยให้มันตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ