Skip to main content

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ

 

กลางเดือนพฤษภาคม 2535 ผมอยู่ ป.6 ได้ยินข่าวการชุมนุมใหญ่ ทหารลากรถถังและปืนออกมาวิ่งเล่นบนถนน มีการปะทะ ประหัตประหาร ...กลางบางกอก ไม่อายหรอกครับที่จะบอก เด็กต่างจังหวัด แถมวัยแค่นั้น ผมรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าจะรู้สึกรู้สากับเรื่องราวซับซ้อนของการเมืองและการสูญเสีย

หลังจากนั้น พลเอกสุจินดา คราประยูร จำใจปีนลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และคุณอานันท์ ปัณยารชุน ผู้ดีรัตนโกสินทร์ก็หวนคืนตำแหน่งนายกฯ อีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 อย่างไร้เสียงคัดค้านจากสังคมในเวลานั้น หรือถ้ามีก็น่าจะเบาหวิวมาก ทั้งที่เหตุผลการขับไล่พลเอกสุจินดา เป็นเพราะพลเอกสุจินดาไม่ใช่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่คุณอานันท์ก็ไม่ได้มาจากเลือกตั้งเช่นกัน (ผมมารู้ภายหลัง หลังจากพออ่านหนังสือเป็นบ้างแล้ว ไม่ใช่ตอนอยู่ ป.6)

ตอนผมวัยรุ่นต้นๆ กำลังแตกเนื้อ การเมืองเป็นเพียงเรื่องของตัวละครไม่กี่ตัวที่ชื่อเสียงเรียงนามแว่วผ่านสื่อมาให้ได้ยลยิน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ คุณบรรหาร ศิลปอาชา พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณชวน หลีกภัย คุณสมบุญ ระหงษ์ คุณณรงค์ วงศ์วรรณ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ฯลฯ ถึงตอนนี้ บางคนเก็บตัวอยู่หลังฉากเงียบๆ บางคนจากไปชั่วกาล บางคนยังโลดแล่นบนเวทีการเมืองชนิดเหยียบหิมะไร้รอย

กับอีกเรื่องที่จำได้-รัฐบาลยุคนั้นกว่าจะทำอะไรสักอย่าง ต้องคุยแล้วคุยเล่าเฝ้าแต่คุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากไม่เคยมีพรรคไหนได้เสียงข้างมากในสภาสักครา ถ้าตกลงกันไม่ได้ อย่าหวังจะได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเป็นต้องโดนขู่ว่าจะออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลร่ำไป

และดังที่ทุกคนรับทราบ รัฐธรรมนูญปี 2540 แก้ปัญหาข้างต้นด้วยการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ผลลัพธ์ที่ได้คือรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่สร้างประวัติศาสตร์หลายข้อบนหลักจารึกการเมืองไทย เป็นรัฐบาลที่แข็งแรงชนิดไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร แม้แต่องค์กรอิสระที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อคอยถ่วงดุลและตรวจสอบ

แม้ไม่ใช่นักข่าวสายรายวันที่ต้องวิ่งไล่ข่าวตามกระทรวง แต่สถานการณ์การเมืองปลายปี 2548 และ 2549 นักข่าวสายโรแมนติกอย่างผมก็ยังต้องไปพักค้างอ้างแรมในม็อบ เพื่อหยิบจับประเด็นมาบอกเล่า กระทั่งรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามด้วยรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เลี้ยวกลับอีกครั้งด้วยความพยายามลดทอนอำนาจของฝ่ายบริหารลง และติดอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่องค์การอิสระแบบล้นเหลือเฟือฟาย

เส้นทางอันคดเคี้ยวของการเมืองไทยเดินมาถึงปัจจุบัน ฟากหนึ่งไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งหากยังไม่ได้ปฏิรูป ซึ่งเป็นหนทางที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะลุกลามเป็นไฟฟอนและยากที่สังคมจะยอมรับได้ อีกฝั่งฟากต้องการการเลือกตั้งและรัฐบาลที่ตนรัก โดยที่ผ่านมายอมหลับตาข้างหนึ่งให้รัฐบาลกระทำการหลายสิ่งอันก่อความเสียหายและขัดกับรากฐานความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย

ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาออกมาติดๆ กันหลายกรณี นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และมวลชนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย เริ่มส่งเสียงกระหึ่มว่าจะต้องลดอำนาจองค์การอิสระลงมิให้ล้ำเส้นอาณาเขตฝ่ายบริหาร

เชื่อล้านเปอร์เซ็นต์ว่าคอการเมืองระดับฮาร์ดคอร์รู้ดี รู้ลึกอยู่แล้ว ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นเพียงเรื่องผิวๆ ที่คนไม่สนใจการเมืองเช่นผมเหิมเกริมเกินตัวแสดงภูมิออกมา

ถึงกระนั้น 22 ปีที่ผ่านพ้นนับจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เมื่อวัยเยาว์ ผมจับอาการบางอย่างได้ (ซึ่งอาจผิด) เป็นอาการเหวี่ยงไหวไปตามแรงกระทำทางการเมืองที่ผูกโยงกับสภาวะอารมณ์ นั่นก็คือ ถ้าทำแบบนี้แล้วผลลัพธ์ไม่ใช่อย่างที่คิดก็เปลี่ยนมันซะ แล้วกลับไปเป็นอีกแบบที่เกือบๆ จะตรงข้าม ครั้งนี้อาจไม่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่ง หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมเลือกตั้ง เพราะมองว่าเลือกตั้งไม่ดี อีกบางฝ่ายอยากจะลดอำนาจองค์การอิสระหรือถ้ายุบได้ก็ดี ฯลฯ

(อันที่จริง ผมเองก็รู้สึกกังขาไม่น้อยกับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงหลังๆ และเห็นพ้องไปในทางที่ว่าต้องเขย่าให้เข้าที่เสียบ้าง)

ทว่า ในสังคมเหวี่ยงไหวเช่นสังคมไทย ซ้ำอยู่ในสภาวะเดือดพล่าน แบ่งฝักฝ่าย ผลักอกทุกคนที่คิดต่างเช่นนี้ ข้อเสนอต่างๆ ที่ฟังดูดีบ้าง ดูไม่ดีบ้าง มักถูกฉวยใช้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู อะไรที่เห็นว่าไม่ดี ณ ช่วงเวลานั้นๆ ก็รื้อมันออกเสีย ไม่ต้องเก็บไว้ให้รกหูรกตา

ผมคิดของผมเองว่า เราไม่เคยอดทนให้เวลาแก่สิ่งต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นนานพอจะได้เห็นผลลัพธ์การทำงานของมัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง องค์การอิสระ หรือรัฐบาลที่เข้มแข็ง

เราเหวี่ยงไหวไปตามอารมณ์และการเอาชนะคะคาน มองเห็นแต่ความอัปลักษณ์ของฟันเฟืองที่เราสร้างขึ้น เพิกเฉยต่อความจำเป็นของฟันเฟืองนั้น ไม่ถูกใจก็ทำลายมันเสียทั้งหมด แทนที่จะซ่อมแซมปรับปรุง

ครั้งนี้ก็เช่นกัน คนไม่สนใจการเมืองเช่นผมกลัวว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะและหลงผิดว่าผู้ชนะทำอะไรก็ได้-ลองไม่เลือกตั้งดูสิครับแล้วจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่บอกว่าต้องลดอำนาจองค์กรอิสระ แต่หากอารมณ์ฮึกเหิมของผู้ชนะเกิดริบอาวุธเสียหมด แล้วอะไรจะเกิดขึ้น และอีกหลายๆ เรื่อง-ถึงตอนนั้น นั่งร้านบางส่วนที่คอยค้ำยันระบบและสังคมอาจถูกรื้อถอน

ในอนาคตเราจะได้เสียเวลากลับมาสร้างมันใหม่...

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของชายผู้หนึ่งนามว่า 'เจดี' ที่ถูกเหยียบย่ำจนตาย คุณอาจกำลังคิดว่านี่คือคำเปรียบเปรย? ต้องลองอ่านดู
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เมื่อสองสามปีก่อน ผมถูกหนุ่มเวียดนามคนหนึ่งพยายามจะหักแขนซ้าย...
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เขี้ยว เล็บ ประสาทสัมผัส และมัดกล้ามอันทรงพลัง คือพรสวรรค์และอาวุธที่ธรรมชาติ-กระบวนการวิวัฒนาการ-หยิบยื่นแก่เหล่าสัตว์นักล่า ช่วยให้มันตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ