Skip to main content

ขณะที่เขียนอยู่นี้ #ประเทศกูมี มียอดวิวเกือบ 7 ล้านแล้ว ผมนี่ฟังหลายรอบมาก พร้อมโยกเยกไปตามจังหวะและซึมซับเนื้อหาเข้าไปในหัวใจ

พอดีมีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงสนทนาที่ถกเถียงกันว่า เนื้อหาในเพลงผิดกฎหมายหรือไม่ ผิดข้อเท็จจริงหรือไม่ ปืนที่ใช้ยิงเสือดำเป็นไรเฟิลหรือลูกซอง ตุลาการมีบ้านพักบนอุทยานหรือที่ราชพัสดุ ไม่ได้พูดชื่อประเทศจะฟ้องได้หรือเปล่า คนแชร์จะติดตะรางหรือไม่

ให้ตายเถอะ ผมไม่เข้าใจว่าจะเถียงเรื่องข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปเพื่ออะไร?

เอาล่ะ มันอาจเป็นการแสดงความเป็นห่วงบ่วงใยกลุ่มศิลปิน RAP AGAINST DICTATORSHIP ไม่ต้องการเห็นกลุ่มศิลปินนี้ต้องโดนเล่นงานด้วยกฎหมายและอำนาจรัฐบาลทหาร แต่ผมว่ามันเท่ากับเรากำลังตกร่องที่รัฐขุดหลุมไว้ ผมไม่สนใจว่าผิดหรือถูกกฎหมาย ดังนั้น การพยายามหาข้อเท็จจริงหรือจับผิดเนื้อเพลงจึงเป็นความเบาหวิวเหลือทนของรัฐบาลทหาร

ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องจับให้ดีและยึดให้มั่นคือเสรีภาพในการแสดงออก และในกรณีนี้คือเสรีภาพในการแสดงออกผ่านงานศิลปะ

คนที่เคยดูหนังเรื่อง V for Vendetta น่าจะจำคำพูดของ V ได้---นักการเมือง (ผมนับรวมทหารที่ยึดอำนาจเข้าไปด้วย เพราะพวกเขาก็คือนักการเมือง) ใช้คำโกหกเพื่อปกปิดความจริง ศิลปินใช้คำโกหกเพื่อเปิดเผยความจริง

เราต่างรู้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คือเครื่องมือปิดปากประชาชนของรัฐ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) บอกว่าเพลงนี้อาจผิดมาตรา 14(2) และสำหรับผู้ที่แชร์ก็จะมีความผิดตามมาตรา 14 (5) มีอัตราโทษเช่นเดียวกันกับผู้โพสต์คือจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

เพลงนี้ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและการลงทุน ถ้าประเทศแห่งหนึ่งจะสั่นคลอนและการลงทุนจะสั่นสะเทือนจากเพลงแร็ปเพลงเดียว นั่นแสดงว่าประเทศนั้นต้องเปราะบางมากๆ หรือไม่มันก็โงนเงนจนจวนเจียนจะพังครืนอยู่แล้วล่ะครับ ไม่ต้องรอให้ใครแต่งเพลงหรอก

การเถียงว่าอะไรจริง ไม่จริงในเพลง ในทางหนึ่งมันคือการยอมรับกฎหมายปิดปาก ยอมรับว่ารัฐบาลทหารมีสิทธิใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ และมันแสดงออกถึงความหวาดกลัวที่จุกปากเราไม่ให้พูด ลองนึกถึงเพลงเพื่อชีวิตสิครับ มหาลัยมหาหลอก, แม่สาย, ไถ่เธอคืนมา หรืออยู่กับยาย จะคิดว่าจริงหรือไม่จริงนั่นเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่มันคือการใช้ศิลปะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวตามที่ศิลปินตีความจากประสบการณ์ที่ตนเห็นในสังคม

ผมไม่ได้กล้าหาญอะไรหรอก กลัวเหมือนๆ กับทุกคนที่อาจโดนรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมเล่นงาน แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ ถ้ารัฐบาลทหารจะจัดการใคร สุดท้ายก็ตั้งข้อหาฟ้องจนได้นั่นแหละ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่แชร์เพลงนี้เพราะชอบท่วงทำนองและเนื้อหา การชอบเพลงเพลงหนึ่งแล้วแชร์มีโทษจำคุก 5 ปีและปรับ 100,000 บาทเชียวหรือ ผมคงมีเพื่อนร่วมคดีนับแสนคนทีเดียว

คนที่ชอบก็ชอบไป คนที่ไม่ชอบก็ด่าให้สาแก่ใจหรือแต่งเพลง เขียนบทกวีมาตอบโต้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนๆ จะปิดปากคนไม่ให้พูดในสิ่งที่คิดและเชื่อ

ผมคิดว่ากลุ่มศิลปินคงรับรู้ความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้วก่อนจะตัดสินใจเผยแพร่ผลงาน อย่าไปหาข้อเท็จจริงหรือจับผิดเนื้อเพลงเลย มันการคือรวบตึงความคิดของศิลปินออกมาเป็นเพลง ไม่ใช่เลคเชอร์ประวัติศาสตร์ การเมือง หรือสังคม

ไม่อย่างนั้นเราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของแขนงกิ่งให้กับกฎหมายและอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

เราต้องยืนยันเสรีภาพในการแสดงออก

เพราะมันคือสิ่งที่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมหวาดกลัว

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของชายผู้หนึ่งนามว่า 'เจดี' ที่ถูกเหยียบย่ำจนตาย คุณอาจกำลังคิดว่านี่คือคำเปรียบเปรย? ต้องลองอ่านดู
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เมื่อสองสามปีก่อน ผมถูกหนุ่มเวียดนามคนหนึ่งพยายามจะหักแขนซ้าย...
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เขี้ยว เล็บ ประสาทสัมผัส และมัดกล้ามอันทรงพลัง คือพรสวรรค์และอาวุธที่ธรรมชาติ-กระบวนการวิวัฒนาการ-หยิบยื่นแก่เหล่าสัตว์นักล่า ช่วยให้มันตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ