Skip to main content

ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา เขียน

 

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอวงสนทนา “112ปี พุทธทาสวิจารณ์ได้” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ วัชรสิทธา ทว่าตัวผู้เขียนไม่ได้อยู่ร่วมสนทนาเนื่องจากติดราชการแดนไกล มิตรสหายหลายท่านจึงได้ช่วยกันนำเสนอแทน จึงขอนำบทความมาเผยแพร่ในที่นี้ เผื่อว่าอาจจะเป็นสาระประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย

 

ดังที่ทราบกันดีว่า ท่านพุทธทาสเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อพุทธศาสนาในไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิรูปความเข้าใจในพุทธธรรมของชาวพุทธเสียใหม่ การนำแก่น “สูญตา, อนัตตา” ของพุทธศาสนามาประกาศ ประยุกต์ และยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ฆราวาสสามารถและจำเป็นต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ได้เปลี่ยนทัศนคติของชาวพุทธไทยโดยเฉพาะในหมู่นักคิด ปัญญาชน และคนรุ่นใหม่สมัยนั้น ที่มีคำถามและความสงสัยต่อพิธีกรรมมากมายในพุทธศาสนาอันไม่เกื้อหนุนหรือไม่มีส่วนขับเคลื่อนสังคมเป็นทุนเดิม และหนึ่งในคุณูปการอันโดดเด่นนี้ก็คือ ท่านพุทธทาสเป็นหนึ่งในผู้นำ ‘มหายานธรรม’ มาเผยแผ่ ตีความ เพื่อความเข้าใจแก่ชาวพุทธเถรวาทไทยที่แต่เดิมมักมีข้อรังเกียจพุทธมหายานว่าหย่อนยาน หละหลวม (ความคิดเช่นนี้ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่ในทัศนะของพระนักวิชาบ้านเรา) ผลงานที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของท่านพุทธทาสก็คืองานแปล “สูตรของเว่ยหล่าง” จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ A. F. Price และ Wong Mou-Lam สู่ภาษาไทย ซึ่งหนังสือหรือพระสูตรเล่มนี้เองที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อทัศนะ ‘เซ็น’ ของท่านพุทธทาส

และสิ่งหนึ่งที่ท่านพุทธทาสมักแสดงทัศนะเกี่ยวกับเซ็นก็คือ ‘เซ็นไม่ใช่มหายาน เซ็นเกิดขึ้นเพื่อล้อเลียนมหายาน’ ดังความเห็นของท่าน

 

“มหายานนั้นไม่ใช่เซ็น เซ็นเกิดขึ้นเพื่อล้อเลียนมหายานมากกว่า มหายานนั้นมันง่ายเกินไป เพียงแต่ทำพิธีรีตองอย่างนั้นอย่างนี้ สวดมนต์ออกชื่อ อมิตาภะ กี่หมื่นครั้งก็ไม่รู้ ก็แปลว่า ไปอยู่สวรรค์ชั้นสุขาวี นี่เขาเรียกมหายาน คือทำให้ง่ายให้ไปได้ทุกคน เพราะทุกคนแม้จะไม่มีสติปัญญาอะไร เพียงแต่ปฏิบัติพิธีรีตองนี้นับว่าครบถ้วนแล้วก็ไปสุขาวดีได้ ไปได้มากจึงเรียกว่า "มหายาน"

 

ส่วน "เซ็น" นั้นเพื่อจะล้อมหายาน เขาต้องรู้ธรรมลึกซึ้งอย่างเดียวกับที่เรารู้ คือไม่มีอุปาทานในขันธ์ทั้งห้า ฉะนั้น "เซ็น" นั้นไม่ใช่มหายาน มหายานไม่ใช่เซ็น แม้มันเกิดในเมืองจีนด้วยกัน นี่มันเรียนมาลวกๆ มันฟังมาลวกๆ ว่า เซ็นนี้เป็นมหายาน ถ้าใครเคยเข้าใจอย่างนี้ ให้เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า เซ็นนั้นมันล้อมหายาน ไม่ใช่มหายาน แต่ก็เป็นพุทธศาสนาด้วยกัน

พุทธศาสนาอย่างเซ็นนั้น มันโลดโผนมีรสมีชาติเหมาะสำหรับนักปราชญ์ ส่วนมหายานนั้นขยายให้มันง่ายลงไป ให้มันมีรสมีชาติสำหรับตาแก่ ยายแก่ชาวนา คนที่ไม่มีปัญญาทั้งนั้นแหละ ก็ใช้สิทธิมหายานได้ เพราะเขาลดต่ำลงไปจนถึงว่า ทำกันอย่างเป็นพิธีรีตองก็ได้ ถ้าเขาเชื่อจริง ก็ได้จริงเหมือนกัน คือไม่ต้องมีทุกข์จริงเหมือนกัน เพราะคนมันเชื่อเสียแล้ว” (ธรรมบรรยายวันล้ออายุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๔)

 

“นิกายเซ็นเป็นคำสอนที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่ เป็นผลผลิตใหม่ๆ นิกายเซ็นก็มีลักษณะเป็นระหว่างเถรวาทกับระหว่างมหายาน นิกายเซ็นนี่ อย่าคิดว่าเป็นมหายานนะ แต่เกิดขึ้นเพื่อล้อมหายาน ล้อความงุ่มง่ามของมหายานย่ะ นิกายเซ็น อย่าจัดนิกายเซ็นเป็นมหายาน โดยถือหลักว่าถ้าเกิดในเมืองจีนแล้วเป็นมหายานไปหมด” (คู่มือการศึกษาพุทธศาสนา, บรรยายปี ๒๕๒๘, จัดพิมพ์ปี ๒๕๔๔)

 

“ตรงนี้ต้องพูดกันสักหน่อยว่า มหายานอย่างที่พูดถึงนี่ คือมหายานชนิดที่สำหรับคนด้อยการศึกษา สำหรับผมนั้น นิกายเซ็น ผมไม่จัดเป็นมหายาน แต่ว่ามีคนหลายคนเขาไปจัดเซ็นเป็นมหายาน คล้ายๆกับว่าถ้ามันเกิดในเมืองจีน เมืองญวน แล้วมันก็จะเป็นมหายาน ที่จริงเซ็นนั้นเป็นผู้คัดค้าน ล้อเลียนมหายาน ฉะนั้นจึงเอาข้อความในมหายาน สูตรของมหายาน ไปอธิบายใหม่อย่างล้อเลียน เรื่องสวรรค์ เรื่องสุขาวดีอย่างนี้ พวกเซ็นไม่ได้ถือว่าอยู่บนสวรรค์ทางทิศตะวันตก สวรรค์อยู่ที่การเข้าถึงจิตเดิมแท้ นี่เรียกว่า เป็นผู้ต่อสู้ล้อเลียน ท้าทายมหายาน” (เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา)

 

จุดนี้เองจะเห็นได้ถึงทัศนะอันชัดเจนของท่านพุทธทาสว่าสำหรับท่านแล้ว มหายานนั้นเป็นเรื่องของพิธีรีตอง เป็นเรื่องของการสวดมนต์ (สวดพระนาม) อมิตาภะ และโดยเฉพาะ เป็นเรื่องของคนไม่มีปัญญา หรือมีปัญญาน้อยกว่าฝ่ายเซ็นที่เหมาะสมกับนักปราชญ์

ดังท่านอธิบายว่า

 

“...เราอย่าไปดูถูกเขาเลย แม้จะเป็นอย่างเซ็นหรือจะเป็นอย่างมหายาน เขาก็เป็นพุทธศาสนาที่มุ่งหมายจะดับทุกข์ทั้งนั้น มันต้องเลือกให้เหมาะสม อย่างคนไม่มีปัญญาจะมาศึกษาอย่างเซ็น นี่ก็ทำไม่ได้ เอาอย่างมหายานดีกว่า เพียงแต่สวดมนต์ครบเท่านั้นครั้งเท่านี้ครั้ง เท่านั้นก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ถ้าความเจ็บไข้มาถึง จะตายอยู่ก็ยิ่งดีใจว่าจะได้ไปเร็วไม่ต้องรอนาน ฉะนั้น พวกอาซิ้มนี้เขาก็ไม่ต้องกลัวความตาย เพราะว่าเขาได้สวดมนต์ไว้พอแล้ว เช่นสมมติว่า แปดหมื่นครั้ง พอเขาจะเจ็บจะตายรถมารออยู่บนหลังคาแล้ว ฉะนั้น คนอย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ เพราะพอดับจิตเขาไปขึ้นรถไปสุขาวดี มันเป็นอุบายเป็นวิธีที่เขาวางไว้ให้ครบถ้วน ให้คนทุกประเภททำได้ คนโง่ที่สุดก็ทำได้ คนละแบบคนละวิธี มุ่งผลอย่างเดียวกัน คือไม่ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้น อย่าไปดูหมิ่นกันอย่างนี้” (ธรรมบรรยายวันล้ออายุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๔)

 

“ฉะนั้น เราควรจะต้องสั่งสอนกันเสียใหม่ และพุทธบริษัท ควรจะเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่า สวรรค์ดังที่กล่าวว่า เป็นเมืองที่จะต้องไปให้ถึงนั้น เป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐาน คือ การกล่าว สิ่งที่เป็นนามธรรม ให้เป็น รูปธรรม หรือเป็นวัตถุขึ้นมา การกล่าวเช่นนั้น เป็นการกล่าวในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อในเบื้องต้น ที่เหมาะสำหรับ บุคคลไม่ฉลาดทั่วไป ที่ยังไม่มีสติปัญญามากพอ ที่จะเข้าใจถึงความหมาย อันแท้จริงของพุทธศาสนาได้ แม้คำว่า "นิพพาน" ซึ่งหมายถึง การดับความทุกข์ ก็ยังกลายเป็นเมืองแก้ว หรือ นครแห่งความไม่ตาย มีลักษณะอย่างเดียวกันกับ เทียนไท้ หรือ สุขาวดี ของพวกอาซิ้มตามโรงเจทั่วไป สุขาวดี นั้น ตามความหมายอันแท้จริง ก็มิได้หมายความดังที่พวกอาซิ้มเข้าใจ เช่นเดียวกัน แต่มีความหมายถึง นิพพาน คือ ความว่างจากกิเลส สว่างจากทุกข์ มิได้หมายถึง บ้านเมืองอันสวยงาม ทางทิศตะวันตก ซึ่งมีพระพุทธเจ้า ชื่อ อมิตาภะ ประทับอยู่เป็นประธาน ที่ใครๆ ไปอยู่ที่นั่น แล้วก็ได้รับความพอใจทุกอย่าง ตามที่ตนหวัง เพราะว่าแวดล้อมไปด้วยสิ่งสวยงาม และรื่นรมย์ที่สุด ที่มนุษย์ หรือ เทวดา จะมีได้ นี่เป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐาน ทั้งสิ้น

ส่วนพวกนิกายเซ็น ไม่ยอมเชื่อว่า อมิตาภะ เป็นเช่นนั้น แต่ได้เอาคำว่า อมิตาภะ นั้นมาเป็นชื่อของจิตเดิมแท้ อย่างที่ท่านเว่ยหล่างเรียก หรือ เอามาเป็นชื่อของ ความว่าง อย่างที่ท่านฮวงโปเรียก เมื่อเป็นดังนี้ อมิตาภะ หรือ สุขาวดี ของพวกอาซิ้มตามโรงเจ ก็กลายเป็นของเด็กเล่น หรือของน่าหัวเราะเยาะ สำหรับคนฉลาดไป” (ตัวกูของกู)

 

“สำหรับคนที่ไม่มีการศึกษาชาวบ้านนอกคอกนา เขาจะบัญญัติคำสอนลัทธิอะไรต่างๆให้มันง่ายเข้า เช่นการพิจารณาพระพุทธคุณอย่างลึกซึ้งเขาทำไม่ได้ มันก็ลดลงมาจนเหลือออกชื่อท่านก็แล้วกัน จึงมีการสวดมนต์เพียงออกชื่อพระพุทธเจ้าบางองค์ เช่น อมิตาภะเป็นต้น แล้วก็ขยายออกไปว่าถ้าใครสวดได้ ๘ หมื่นครั้ง หรือ ๔ หมื่นครั้ง ก็เป็นอันว่าแน่นอนว่ารอดตัวไปสวรรค์แน่ ไปสวรรค์ตามแบบนั้นมันก็น่าเห็นใจ เพราะว่าเขาจะรักษาชนกลุ่มที่ด้อยการศึกษาปัญญาน้อยเอาไว้ในวงพุทธศาสนา ไม่ให้มันแตกคอกนอกออกไปเป็นศาสนาอื่นที่ง่ายกว่า” (เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา)

 

 

จากทั้งหมดนี้ แม้ว่าท่านพุทธทาสอาจไม่ได้เจตนากล่าวถึงมหายาน สุขาวดี ด้วยความดูถูกดูแคลน ทว่าอาจกล่าวด้วยความเห็นอันซื่อตรงจากความเข้าใจของท่าน แต่ทัศนะของท่านพุทธทาสตรงจุดนี้ชวนให้พิจารณาและตั้งคำถามว่า พุทธศาสนามหายานเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? สุขาวดีนั้นสำหรับคนคนด้อยปัญญาจริงหรือ?

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ท่านพุทธทาสเป็นนักคิดและนักปราชญ์ พุทธศาสนาที่ท่านสนใจจึงดำเนินไปในวิถี ‘ปัญญาชน’ จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะ ‘ถูกจริต’ กับพุทธศาสนานิกายเซ็น และไม่สนใจต่อพุทธศาสนามหายานอื่นๆโดยเฉพาะนิกายสุขาวดีที่ ‘ดูเหมือน’ เป็นวิถี ‘อาซิ้ม’ อันน่าหัวร่อ

เพื่อที่จะเข้าใจความคิดเห็นของท่านพุทธทาสที่มีต่อสุขาวดี เราอาจะสืบร่องรอยกลับไปสู่สูตรของเว่ยหล่างที่ท่านพุทธทาสอ่านและแปลด้วยความประทับใจนั่นเอง มีข้อความหนึ่งในพระสูตรที่พระสังฆปรินายกกล่าวถึงสุขาวดีว่า

 

“เมื่อพวกคนไร้ปัญญากำลังพากันท่องนามของพระอมิตาภะ และอ้อนวอนขอให้ได้เกิดในดินแดนบริสุทธิ์อยู่นั้น คนฉลาดก็พากันชำระใจของเขาให้สะอาดแทน เพราะเหตุว่า ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้นมีอยู่ว่า “เมื่อใจบริสุทธิ์ แดนแห่งพระพุทธเจ้า ก็บริสุทธิพร้อมกัน…

...ท่านทั้งหลาย เมื่อใจของท่านบริสุทธิ์จากบาปแล้ว ทิศตะวันตกก็ไม่ไกลจากที่ตรงนี้ มันลำบากนักก็อยู่ตรงที่ว่า คนใจโสมมต้องการจะไปเกิดที่นั่น ด้วยการตะโกนร้องเรียกหาพระอมิตาภะเท่านั้น!

ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ในเรื่องนี้ สิ่งที่จะต้องทำเป็นข้อแรกก็คือจัดการกับอกุศล ๑๐ ประการเสียให้หมดสิ้นไป เมื่อนั้นก็เป็นอันว่าเราได้เดินทางเข้าไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ ไมล์ ขั้นต่อไป เราจัดการกับมิจฉัตตะ ๘ เสียให้สิ้นสุดก็เป็นอันว่าหนทางอีก ๘,๐๐๐ ไมล์นั้น เราเดินผ่านทะลุไปแล้ว (เมื่อเป็นดังนี้แดนบริสุทธิ์จะหนีไปข้างไหน) ก็ถ้าเราสามารถเห็นแจ้งขัดในจิตเดิมแท้อยู่เสมอและดำเนินตนตรงแน่วอยู่ทุกขณะแล้ว พริบตาเดียวเท่านั้นเราก็ไปถึงแดนบริสุทธิ์ได้และพบพระอมิตาภะอยู่ที่นั่น (นะโมอมิตาพุทธ)” (สูตรของเว่ยหล่าง)

 

เนื่องจากท่านเว่ยหล่าง ในฐานะพระสังฆปรินายกนิกายเซ็น ย่อมอธิบายคำสอนเรื่องสุขาวดีด้วยการตีความแบบเซ็น อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนานิกายเซ็นเองนั่นแหละที่ย้ำเตือนเราอยู่เสมอว่าไม่ให้หลงยึดคำสอนในแง่มุมหนึ่งใดอย่างตายตัว เช่นการวิสัชนา ‘กงอั้น (โกอาน)’ ของอาจารย์เซ็นทั้งหลายที่เปลี่ยนไปตามจริตของผู้ฟัง ดังนั้น การอธิบายสุขาวดีของท่านเว่ยหล่างก็อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการอธิบายในบริบทเฉพาะกาลและบุคคล ด้วยเพราะหากเราย้อนไปศึกษาคำสอนของบูรพาจารย์สุขาวดีหลายท่านในอดีตเรากลับพบว่าท่านเหล่านั้นไม่ใช่ ‘คนไร้ปัญญา’ และนอกเหนือไปจากนี้ ยังมีบูรพาจารย์เซ็นหลายท่านที่ให้ความเคารพต่อการปฏิบัติฝ่ายสุขาวดีเป็นอย่างยิ่งในหลายแง่มุม ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่ท่านพุทธทาสอาจ ‘พลาด’ ศึกษาไป

ประวัติศาสตร์แห่งนิกายสุขาวดี (หรือที่ถูกต้องคือ ‘วิสุทธิภูมิ’) อาจนับย้อนไปถึงอินเดีย ด้วยปรากฏอรรถาธิบายจากพระอาจารย์ฝ่ายมหายานที่สำคัญสองท่าน ได้แก่พระอาจารย์นาครชุน และพระอาจารย์วสุพันธุ์ ท่านนาครชุนอธิบายไว้ใน ‘ทศภูมิกวิภาษาศาสฺตฺร’ บทที่เก้า แสดงถึงหนทางการปฏิบัติที่ยากและหนทางการปฏิบัติที่ง่ายสู่ภูมิแห่งความไม่เสื่อมถอย (อวินิวรรตนีย) ว่า

 

“หากใครก็ตามมีจิตระลึกถึงกำลังและกุศลอันไม่มีประมาณแห่งพระพุทธเจ้า เขาก็จะถึงภูมิแห่งความแน่วแน่โดยทันที ดังนั้น ข้าพเจ้าจะระลึกถึงพระอมิตาภะอยู่เสมอ”

 

ในขณะที่ท่านวสุพันธุ์ได้ประพันธุ์ ‘สุขาวตีวฺยูโหปเทศ’ คือ อรรถาธิบาย มหาสุขาวตีวยูหสูตร (อันจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า) ซึ่งในอรรถาธิบายนี้ได้แสดงถึง ‘ห้าประตูแห่งการระลึก’ เพื่อเกิดในสุขาวดี ได้แก่
๑.การบูชาทางกาย, ๒.การสรรเสริญ สวดพระนาม, ๓.การปรารถนาเกิดในสุขาวดี, ๔.การเพ่งตรึกภาพถึงแดนสุขาวดี พระอมิตาภะ และเหล่าโพธิสัตว์แวดล้อม, ๕.การอุทิศกุศล

กระนั้น ในส่วนของคณาจารย์ฝ่ายอินเดีย ก็อาจยังมีข้อสงสัยและถกเถียงว่า อรรถาธิบายเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นด้วยตัวท่านเองหรือเป็นเพียงการกล่าวอ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร สิ่งนี้ก็เป็นร่องรอยให้เห็นความเชื่อมโยงของนิกายสุขาวดีกับคณาจารย์นักปราชญ์ในพุทธศาสนาฝ่ายอินเดียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลักฐานชัดเจนกว่าของสุขาวดีนั้นปรากฏในจีน ทั้งนี้อาจเริ่มนับได้ที่พระอาจารย์ฮุ่ยเหยวี่ยน (พ.ศ.๘๗๗-๙๕๙) ผู้สถาปนาอารามตงหลินแห่งเขาหลู มณฑลเจียงซี ท่านผู้นี้เคยร่ำเรียนทั้งปรัชญาจวงจื่อ เหลาจื่อ และขงจื่ ก่อนที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาหลังจากได้ยินธรรมเทศนาของพระอาจารย์เต้าอัน (พ.ศ.๘๕๕-๙๒๘) และได้กลายมาเป็นธรรมาจารย์สอนวินัย สมาธิ และอภิธรรม ที่สำคัญคือท่านฮุ่ยเหยวี่ยนได้เขียนจดหมายติดต่อกับพระอาจารย์กุมารชีพ (พ.ศ.๘๘๗-๙๕๖, ภิกษุนักปราชญ์นามอุโฆษจากอินเดีย ผู้แปลพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆจากสันสกฤตสู่ภาษาจีน) ถกถามสิบแปดหมวดหลักธรรมอันรวบรวมไว้ในชื่อ ‘ต้าเซิ่งต้าอี้จาง’ หนึ่งในคำถามเหล่านั้น ท่านฮุ่ยเหยวี่ยนได้ถามปัญหาเกี่ยวกับ ‘ปรัตยุตปันนสมาธิสูตร’ อันเป็นต้นเค้าแห่งนิกายสุขาวดี เพราะเป็นพระสูตรแรกที่กล่าวถึงพระอมิตาภะพุทธเจ้า เนื้อหาว่าด้วยการเพ่งสมาธิถึงพระอมิตาภะ หรือ ‘เนี่ยนฝอ’ (พุทธานุสติ) เพื่อได้เกิดในดินแดนสุขาวดี ซึ่งท่านกุมารชีพได้แสดงคำตอบไว้อย่างละเอียด ในที่นี้ขอคัดมาเพียงส่วนหนึ่ง

 

“ฮุ่ยเหยวี่ยน ถาม : ปรัตยุตปันนสมาธิสูตรกล่าวว่า การมีสามสิ่งนี้ บุคคลจะลุถึงสมาธิ ; ประการแรกคือ การรักษาศีลและไม่ล่วงละเมิดมัน, สองคือ บุญกุศลอันยิ่งใหญ่, สามคือ ปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าขอถามเกี่ยวกับ ‘ปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า’ นี้ ก็สิ่งนี้เป็นที่เข้าใจความหมายว่า พระพุทธเจ้าได้ถูกตรึกภาพในภาวะแห่งสมาธิ หรือว่าพระพุทธเจ้านั้นมาจากภายนอก ก็หากว่าสิ่งนี้คือพระพุทธเจ้าที่ถูกเห็นในท่ามกลางสมาธิ เมื่อนั้น มันก็ถูกสร้างขึ้นจากความคิดของข้าพเจ้าเอง และมันก็ปรากฏขึ้นจากตัวข้าพเจ้าเอง และถ้าหากพระพุทธเจ้านั้นอยู่ภายนอกจากสมาธิ เมื่อนั้นมันก็เป็นอริยบุคคลที่ปรากฏในความฝัน กระนั้น การที่จะมีความหมายอันบริบูรณ์แห่ง ‘การได้พบกับ (พระพุทธเจ้า)’ ดังนั้น มันก็ไม่อาจเป็นทั้ง ‘การเพ่งภายใน’ และ ‘การสดับยิน (จากภายนอก)’ และถูกอธิบาย (อุปมาว่า) เป็นความฝัน ก็วิธีแห่ง เนี่ยนฝอ สมาธินั้นเป็นเช่นนี้หรือไม่ มันถูกอธิบายแบบนี้สองหรือสามครั้ง (ในพระสูตร) อะไรเล่าที่ต้องปฏิบัติตาม?

กุมารชีพ ตอบ : มีสมาธิอยู่สามประเภทเพื่อการมองเห็นพระพุทธเจ้า (๑) พระโพธิสัตว์อาจลุถึงทิพยจักษุหรือทิพยโสต หรืออาจเหาะเหินไปในสิบทิศสู่สถานที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ เห็นพระองค์ และถามคำถามอันเนื่องในความขัดข้องของพวกเขา และได้ตัดเสียซึ่งความสงสัย (๒) แม้หากปราศจากอิทธิปาฏิหาริย์ พวกเขาเพ่งในพระอมิตาภะและพระพุทธเจ้าในปัจจุบันทั้งปวง และด้วยใจของพวกเขาที่ตั้งอยู่ในที่เดียว พวกเขาก็อาจลุถึงการเห็นนิมิตแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และถามความสงสัยของพวกเขา (๓) พวกเขาอาจศึกษาและปฏิบัติเนี่ยนฝอ ด้วยได้ละหรือยังไม่ละความปรารถนาต่างๆ (ในโลก) ของพวกเขา, อีกหนทางหนึ่ง พวกเขาอาจมองรูปพระพุทธเจ้า หรือเพ่งกายเนื้อของพระองค์ (ทั้งที่หมายถึงพระกายเมื่อทรงพระชนม์ และกายที่ทรงเนรมิตปรากฏตามความเหมาะสมแก่สรรพสัตว์) หรือเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายแห่งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้งหมดนี้แลล้วนเรียกว่า เนี่ยนฝอ สมาธิ”

 

จากนั้นท่านกุมารชีพได้อธิบายถึงสาระประโยชน์และผลแห่ง เนี่ยนฝอ สมาธิต่างๆ โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า

 

“นี่คือเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ความฝันเป็นอุปมา เช่นเดียวกับบุคคลที่สมารถเดินทางไปและมองเห็นสิ่งต่างๆในระยะไกล ด้วยกำลังแห่งความฝัน พระโพธิสัตว์ (ผู้ปฏิบัติ) แห่งปรัตยุตปันนสมาธิก็เช่นเดียวกัน ด้วยกำลังของสมาธิ บุคคลก็เห็นพระพุทธเจ้าที่ทรงอยู่ห่างไกลทั้งหลาย ไม่มีทั้งภูเขาหรือป่าที่จะสามารถบดบังบุคคลนั้น เพราะบุคคลนั้นได้เชื่อในความฝันต่างๆ มันทำหน้าที่เป็นอุปมา ยิ่งไปกว่านั้น ความฝันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มันเป็นดังนี้โดยปราศจากการใช้ความพยายามใดๆ (ของผู้ปฏิบัติ) ก็แล้วบุคคลที่ใช้ความพยายามเล่า จะไม่บรรลุถึงการเห็น (พระพุทธเจ้า) ได้อย่างไร?”

 

และต่อปัญหาที่ว่ากายแห่งพระพุทธเจ้าที่ถูกเห็นนั้นเป็นมายาหรือไม่ ท่านกุมารชีพตอบไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า

 

“ยังมีอีก, ด้วยเพราะกายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นมีหมู่แห่งพุทธลักษณะต่างๆ เหล่านี้ควรจะ (ถูกเห็นว่าเพียง) เป็นมายาแห่งความคิดและพินิจพิเคราะห์ทั้งหลาย ทว่าพระสูตรต่างๆอธิบายว่ากายแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวงล้วนก่อขึ้นจากขันธ์แห่งเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ทั้งยังปราศจากสภาวะแห่งตนเอง ทว่าว่างและสงบอย่างที่สุด เช่นเดียวกับความฝันและภาพมายา ก็ถ้าหากเป็นดังนี้ กายแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ถูกเห็นโดยการปฏิบัติตามคำอธิบายต่างๆก็ไม่ควรเป็นเพียงมายา ก็ถ้า (การเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย) เป็นมายาแล้ว ดังนั้นทุกสิ่งก็ต้องเป็นมายา ก็ถ้ามันไม่ใช่มายา เมื่อนั้นก็ไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นมายาเช่นกัน”

 

จะเห็นว่าคำถามของท่านฮุ่ยเหยวี่ยนและคำตอบของท่านกุมารชีพนั้นมีความลึกซึ้งทางธรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงปรัชญาและการปฏิบัติ ด้วยท่านทั้งสองต่างเป็นนักปราชญ์สำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ดังนั้น การปฏิบัติด้วยการระลึก ตรึกถึงพระพุทธเจ้า มีพระอมิตาภะเป็นต้น จึงไม่ใช่เป็นเพียง ‘ของเด็กเล่น’ เป็นแน่ ในกาลต่อมาท่านฮุ่ยเหยวี่ยนรวบรวมพระสงฆ์ นักบวชและผู้มีความรู้กว่าร้อยคน ตั้ง ‘สมาคมดอกบัวขาว’ ที่ภูเขาลู่ดังกล่าว เพื่ออุทิศตนปฏิบัติตามแนวทางของปรัตยุตปันนสมาธิสูตร

อย่างไรก็ตามในพัฒนาการต่อมา พระสูตรที่ถูกถือว่าเป็นหลักแห่งนิกายสุขาวดีอย่างแท้จริงก็คือ ‘มหาสุขาวตีวยูหสูตร’, ‘อมิตายุรธยานสูตร’ และ ‘สุขาวตีวยูหสูตร (อมิตาภสูตร)’ โดยเฉพาะมหาสุขาวตีวยูหสูตรนั้นมีการบรรยายถึงประณิธาน ๔๘ ประการ ของภิกษุธรรมกร ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในจำนวนแห่งประณิธานเหล่านี้ มีข้อที่สำคัญคือข้อ ๑๘ อันมีเนื้อความว่า

 

“หากแม้เมื่อข้าพเจ้าได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธ สรรพสัตว์ในทิศทั้งสิบผู้มอบศรัทธาอย่างแท้จริงและเบิกบานต่อข้าพเจ้าปรารถนาจะเกิดในโลกธาตุของข้าพเจ้า และภาวนาถึงข้าพเจ้าแม้เพียงสิบวาระ แล้วยังมิได้เกิดในที่นั่นไซร้ ข้าพเจ้าจะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เว้นแต่ผู้ที่กระทำอนันตริยกรรมห้า และผู้ที่กล่าวร้ายพระสัทธรรม”

 

ข้อ ๑๘ นี้เองถือเป็นรากฐานแห่งนิกายสุขาวดีที่คณาจารย์สุขาวดีถือเป็นหลักปฏิบัติ

นิกายสุขาวดีปรากฏคณาจารย์ผู้วางรากฐานในจีนต่อมา คือพระอาจารย์ถันหลวน (พ.ศ.๑๐๑๙-๑๐๘๕) และท่านเต้าชั่ว (พ.ศ.๑๑๐๕-๑๑๘๘) ทั้งสองท่านนี้ในฝ่ายนิกายสุขาวดีแท้จริง (โจโด ชิน)ในญี่ปุ่นถือเป็นพระสังฆปรินายกที่ ๓, และ ๔ แห่งนิกาย (ลำดับหนึ่งและสองคือพระอาจารย์นาครชุน และพระอาจารย์วสุพันธุ์) ท่านถันหลวนได้ศึกษาทศภูมิกวิภาษาศาสตรของท่านนาคารชุน และยังได้ประพันธ์อรรถาธิบายคำสอนสุขาวดีของพระอาจารย์วสุพันธุ์ เป็นเหตุให้ท่านเน้นย้ำถึงพลังแห่งประณิธาณของพระอมิตาภะดังกล่าวมาข้างต้น อันเป็นสิ่งยืนยันว่าทุกคนสามารถเกิดในสุขาวดีได้ การสวดพระนามสำหรับท่านถันหลวน ก็คือการเรียกความระลึกถึงพระอมิตาภะนั่นเอง ทว่าสิ่งที่แตกต่างจากท่านฮุ่ยเหยวี่ยนก็คือ สำหรับท่านถันหลวนแล้ว ท่านให้ความสำคัญกับจิตใจอันเปี่ยมศรัทธามากกว่าการเพ่งพิจารณาตามแนวทางของปรัตยุตปันนสมาธิสูตร วิถีปฏิบัติของท่านถันหลวนนั้นเป็นที่ประทับใจแก่ท่านเต้าชั่วเป็นอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้ท่านเต้าชั่วเป็นผู้ฝึกฝนสมถะและวิปัสสนา ทั้งยังเป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติตามสำนักนิรวาณสูตร ต่อมาท่านได้เดินทางไปยังอารามเสวียนจง แม้หลังจากที่ท่านถันหลวนมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ตัดสินใจหันมาปฏิบัติฝ่ายสุขาวดีหลังจากที่ได้อ่านถ้อยคำบนแผ่นจารึกหลุมฝังศพของท่านถันหลวน ท่านเต้าชั่วประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการเผยแผ่หลักปฏิบัติแห่งสุขาวดี มีสานุศิษย์จำนวนมากหลั่งไหลมายังอารามเสวียนจง และก่อนที่จะมองว่าคำสอนของท่านเป็นเพียงเรื่องศรัทธาง่ายๆ เราควรทราบว่าหลักคำสอนของท่านเต้าชั่วเน้นก็อยู่บนพื้นฐานความว่างแห่งปรัชญาปารมิตา กล่าวคือสัจธรรมนั้นถูกแสดงคุณลักษณะออกมาทั้ง ‘รูป’ และ ‘ความว่าง’ ท่านเต้าชั่วใช้ทั้งการสวดพระนามและการพินิจในแง่มุมทางรูปธรรมของพระอมิตาภะและสุขาวดี เพราะท่านเชื่อว่าการปฏิบัติทั้งสองนี้เหมาะสมแก่การนำพาผู้คนไปสู่ ‘ความไร้รูป’ ‘ความไม่ยึดติด’ และ ‘ความไม่เป็นทวิภาวะ’ แม้ว่าเขาเหล่านั้นอาจจะไม่เข้าใจความหมายของความว่างก็ตาม ดังใน ‘รวมเรื่องวิสุทธิภูมิ (อันเล่อจี๋)’ ของท่าน ตอนหนึ่งว่า

 

“มันก็เหมือนดั่งการจุดไฟที่ยอดน้ำแข็ง เมื่อไฟแรงขึ้น น้ำแข็งก็ละลาย เมื่อน้ำแข็งละลาย ไฟก็ดับไปด้วยฉันใด เหล่าชนแห่งการเวียนเกิดอันต่ำที่สุดผู้ปรารถนาลุถึงการเกิด (ในสุขาวดี) โดยตั้งอยู่บนพลังแห่งการสวดพระนามพระพุทธเจ้าเท่านั้น ด้วยความแน่วแน่ต่อการเกิดในดินแดนของพระองค์ แม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจความไม่เกิดแห่งธรรมตา ก็ย่อมจะลุถึงภูมิแห่งการไม่เกิดและเห็นไฟแห่งการเกิดปลาสนาการไปโดยธรรมชาติ ณ เวลานั้น”

 

คณาจารย์ฝ่ายสุขาวดีที่สำคัญยังมีอีกหลายท่านทั้งในจีนและญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น พระอาจารย์ซ่านเต่า (พ.ศ.๑๑๕๖-๑๒๒๔) ผู้เป็นศิษย์ของท่านเต้าชั่ว, พระอาจารย์ฝ่าเจ้า (มรณภาพ พ.ศ.๑๓๖๓), พระอาจารย์เซ่ากัง (พ.ศ.๑๓๑๓-๑๓๔๘), พระอาจารย์เก็นชิน (พ.ศ.๑๔๘๕-๑๕๖๐), พระอาจารย์โฮเน็น (พ.ศ.๑๖๗๖-๑๗๕๕), พระอาจารย์ชินรัน (พ.ศ.๑๗๑๖-๑๘๐๖) แต่เพื่อไม่ให้เนื้อหาในที่นี้กลายเป็นประวัติศาสตร์นิกายสุขาวดีอันยืดยาว จากนี้ไปจะมองกลับไปยังตัวอย่างคณาจารย์ฝ่ายเซ็นที่ให้ความเคารพต่อการปฏิบัติฝ่ายสุขาวดี ซึ่งก็มีอยู่มากมายหลายท่าน

ในบรรดาคณาจารย์เซ็นนั้น พระอาจารย์ย่งหมิง (พ.ศ.๑๔๔๗-๑๕๑๘) คือผู้ที่ประสานการปฏิบัติแห่งพุทธศาสนานิกายต่างๆเข้าไว้ร่วมกัน โดยเฉพาะการทำสมาธิแบบเซ็นและการปฏิบัติแบบสุขาวดี ดังนั้น ในฝ่ายสุขาวดีจึงนับท่านเข้าเป็นสังฆปรินายกแห่งนิกายด้วย สำหรับท่านย่งหมิงการปฏิบัติรูปแบบต่างๆล้วนเป็นกุศลที่จะนำไปสู่เป้าหมายแห่งการตรัสรู้ ท่านได้ประพันธ์ ‘ใจความสี่ส่วน’ ไว้ดังนี้

 

“มีฉาน (เซ็น) ไร้สุขาวดี เก้าจากสิบคนพลัดผิดทาง
เมื่อภูมิแห่งเงามืดปรากฏ พวกเขาต้องตามมันไปในทันที

ไร้ฉานมีสุขาวดี พันจากพันคนจะลุถึงการเกิด (ในสุขาวดี)
หากได้เห็นพระอมิตาภะต่อหน้า จะห่วงพะวงการไม่ตรัสรู้ไปไย

มีฉานมีสุขาวดี ก็ดุจดั่งเสือติดเขา
บุคคลย่อมเป็นครูแห่งมนุษย์ในชีวิตนี้ และเป็นสังฆปรินายกในภายภาคหน้า

ไม่มีฉานไม่มีสุขาวดี ก็ดุจดั่งร่วงหล่นลงบนเตียงเหล็กและเสาทองแดง
หมื่นกัลป์พันชาติ เขาจะไม่ใครให้พึ่งพิง”

 

สำหรับท่านย่งหมิง การทำสมาธิที่เหมาะสมคือการเพ่งจิตต่ออารมณ์หนึ่งอย่างไม่หวั่นไหว ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องไม่ละทิ้งการปฏิบัติอันหลากหลายใดๆเลย ผู้ปฏิบัติต้องอุทิศทุกกิจแห่งการปฏิบัติไปสู่การเกิดในวิสุทธิภูมิทางทิศตะวันตก (สุขาวดี) หากทำได้ดังนี้ สมาธิของเขาก็จะสอดคล้องกับคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติดังนี้จะกลายเป็นดวงตาของสัตว์โลก พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เห็นชอบแก่เขา พุทธธรรมทั้งหลายก็ล้วนเท่าเทียมกันและสอดคล้องกับตถตา นำไปสู่การตรัสรู้โดยบริบูรณ์ และถึงแม้ว่าสุขาวดีในความหมายของท่านย่งหมิงจะอธิบายไปในเรื่องของ ‘สุขาวดีแห่งจิตหนึ่ง’ (จิตรมาตรวิสุทธิภูมิ) แต่ท่านก็ไม่ได้เห็นว่าการปฏิบัติ เนี่ยนฝอ จะเป็นเรื่องน่าดูแคลน ทว่าสามารถเป็นแนวทางสู่การตื่นรู้ต่อจิตหนึ่งได้ ดังท่านกล่าวว่า

 

“การปฏิบัติเนี่ยนฝอได้ถูกสอนสำหรับเหล่าผู้ที่ไม่ศรัทธาว่าจิตของเราเองคือพุทธะ และด้วยเหตุนี้จึงแสวงหาพุทธะภายนอก (จิต) เหล่าผู้ที่มีศักยภาพปานกลางและน้อยกว่าได้ถูกสอนอย่างเหมาะสมในการเพ่งความคิดอันสัดส่ายของพวกเขาไปในลักษณะทางรูปกายของพระพุทธเจ้า การอาศัยสิ่งภายนอกเพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งภายใน เขาก็จะสามารถที่ตื่นรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่จิตหนึ่ง แต่เหล่าผู้ที่มีศักยภาพสูงกว่านั้นได้ถูกสอนให้เพ่งพินิจรูปอันแท้จริงแห่งกายของพระพุทธเจ้า”

 

จะเห็นได้ว่า แม้ท่านย่งหมิงแสดงว่าผู้คนมีศักยภาพต่างๆกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัติแบบใดจะสูงส่งกว่า ทว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติอัน ‘เหมาะสม’ แก่ศักยภาพเท่านั้น

เช่นเดียวกับท่านย่งหมิง มีพระอาจารย์เซ็นอีกหกท่านที่ถูกนับรวมเข้าไว้ในฐานะพระสังฆปรินายกของสุขาวดีในจีนด้วย ได้แก่ พระอาจาร์ย์เฉิงหย่วน (พ.ศ.๑๒๕๕-๑๓๔๕), พระอาจารย์เหลียนฉือ (พ.ศ.๒๐๗๘-๒๑๕๘), พระอาจารย์โอ่วอี้ (พ.ศ.๒๑๔๒-๒๑๙๘), พระอาจารย์สิงเฉ่อ (พ.ศ.๒๑๗๐-๒๒๒๕), พระอาจารย์เซิ่งอัน (พ.ศ.๒๒๒๙-๒๒๗๗), และพระอาจารย์เช่ออู้ (พ.ศ.๒๒๘๔-๒๓๕๓) พระอาจารย์เหล่านี้ล้วนประสานการปฏิบัติฝ่ายเซ็นและสุขาวดีไว้ด้วยกัน และแทบทุกท่านล้วนเป็นบัณฑิตผู้ศึกษาในพระสูตรและศาสตร์ต่างๆในพุทธศาสนามาอย่างจัดเจน จึงชวนให้คิดว่าสุขาวดีนั้นไม่น่าจะใช่คำสอนสำหรับคนด้อยการศึกษาปัญญาน้อยอย่างที่ท่านพุทธทาสมักกล่าวไว้เป็นแน่ แต่เป็นคำสอนสำหรับทุกผู้คนที่เห็นว่าเหมาะสมกับศักยภาพและจริตของตนเอง

พระอาจารย์เหลียนฉือ ได้เขียนไว้ว่า

 

“มีหนทางอันหลากหลายในการเข้าถึงมรรคา แต่สำหรับทางตรงและง่ายดาย ไม่มีทางใดเทียบเท่าการสวดพระนามพระพุทธเจ้า

วิธีแห่งการระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยการสวดพระนามนี้ นำความรอดพ้นสู่เหล่าผู้ที่มีความสามารถเป็นเลิศลงไปถึงผู้ที่โง่เขลาทึมทึบ โดยสรุปแล้ว มันคือมรรคาที่เข้าถึงจากสูงถึงต่ำ อย่าได้ถูกทำให้หวั่นไหวหรือสับสนด้วยทัศนะอันหยาบคายว่าสุขาวดีนั้นสำหรับเพียงผู้ที่มีความสามารถต่ำกว่าเท่านั้น

ต่อไปนี้ อาตมาจะพยายามเปรียบเทียบวิธีปฏิบัติแห่งเซ็นและสุขาวดี

ยกตัวอย่างกงอั้น (โกอาน) ‘สรรพสิ่งนับไม่ถ้วนหวนสู่หนึ่ง แล้วหนึ่งเล่าหวนสู่สิ่งใด?’ สิ่งนี้คล้ายกับกงอั้น ‘ใครกันคือผู้สวดพระนามพระพุทธเจ้า?’ ถ้าเธอสามารถทะลวงไปที่ ‘ใคร’ นี้ เมื่อนั้นเธอก็ไม่จำเป็นต้องถามใครๆเลยว่าหนึ่งนั้นหวนสู่สิ่งใด เธอจะเข้าใจเองโดยธรรมชาติ

สิ่งนี้ถูกตรงกับสิ่งที่บูรพจารย์หมายความเมื่อพวกท่านกล่าวว่า เหล่าผู้ที่สวดพระนามพระพุทธเจ้า และปรารถนาศึกษาเซ็น ไม่ควรเพ่งพินิจในหัวข้อสมาธิอื่นใดนอกจากสิ่งนี้

การสวดพระนามพระพุทธเจ้าหลายๆครั้ง ไขแสงสว่างรอบและส่องดูตน ใครกันคือผู้สวดพระนามพระพุทธเจ้า? ถ้าเธอใช้จิตของเธอเช่นนี้โดยปราศจากความหลงลืม ปราศจากการช่วยเหลือจากคนอื่นใด หลังจากเวลาอันยาวนานเธอก็จะมีความเข้าใจลึกซึ้งอย่างแน่นอน

หากเธอไม่สามารถกระทำสิ่งนี้ได้ เพียงสวดพระนามพระพุทธเจ้าก็ดีแล้ว รักษาสติระลึกรู้ของเธอให้ห่างจากการละทิ้งพระพุทธเจ้า และรักษาพระพุทธเจ้าให้ห่างจากการละทิ้งสติระลึกรู้ของเธอ เมื่อสติระลึกรู้ในพระพุทธเจ้าของเธอถึงจุดสูงสุด จิตเธอก็ว่าง เธอจะได้รับคำตอบและเชื่อมโยงกับมรรคา และพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะปรากฏต่อหน้าเธอ ตามแบบแผนแห่งภายใน มันย่อมเป็นดังนี้แล”

 

พระอาจารย์สำคัญที่จำต้องกล่าวถึงไว้ด้วยในโอกาสนี้ ก็คือพระอาจารย์ซวีอวิ๋น (พ.ศ.๒๓๘๓-๒๕๐๒) ท่านผู้นี้เป็นปรมาจารย์เซ็นผู้ทรงภูมิธรรมเป็นที่เคารพอย่างกว้างขวาง และมีอิทธิพลอย่างมากต่อแวดวงพุทธศาสนาในจีนรวมถึงสากล ท่านสืบสายธรรมนิกายเซ็นจากทั้งสายเฉาต้ง (โซโต) และหลินจี้ (รินไซ) ครั้งหนึ่งท่านได้เทศนาเนื่องในวันครบรอบ ๑๒ ปี แห่งการมรณภาพของพระธรรมาจารย์อิ้นกวง (พ.ศ.๒๔๐๔-๒๔๘๔) พระสังฆปรินายกที่ ๑๓ แห่งนิกายสุขาวดี ในครั้งนั้นท่าน ท่านอธิบายเรื่องนิกายเซ็นและสุขาวดีไว้ดังนี้

 

“เซ็นและสุขาวดีดูเหมือนเป็นสองวิธีที่แตกต่างในสายตาของผู้เริ่มปฏิบัติ ทว่าเป็นหนึ่งแท้จริงสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีประสบการณ์ วิธีการแบบ ฮั่วโถว (ถ้อยคำ, คำถาม สั้นๆ ที่อาจารย์มอบให้ศิษย์ไปพิจารณา) ในสมาธิแห่งเซ็นซึ่งระงับกระแสแห่งการเกิดและตาย ก็ต้องการจิตอันศรัทธามั่นคงเพื่อให้บังเกิดผล ถ้าหากฮั่วโถวไม่ได้ถูกยึดไว้อย่างมั่นคง การปฏิบัติเซ็นก็จะล้มเหลว ถ้าหากจิตอันศรัทธานั้นหนักแน่นและฮั่วโถวก็ถูกยึดไว้อย่างมั่นคง ผู้ปฏิบัติก็จะไม่ใส่ใจแม้แต่การกินหรือการดื่ม แล้วการฝึกฝนของเขาก็จะบังเกิดผล เมื่ออายตนะภายในเป็นอิสระจากอายตนะภายนอก การบรรลุผลของเขาก็คล้ายกับการบรรลุผลอันสำเร็จจากการสวดพระนามพระพุทธเจ้าในตอนที่การฝึกฝนนี้เป็นผลและในตอนที่สุขาวดีปรากฏต่อหน้าเขา ในสภาวะนี้เอง ความจริงและปรากฏการณ์ก็ประสานกัน จิตและพุทธะก็ไม่เป็นทวิภาวะ และทั้งสองล้วนอยู่ในสภาวะแห่งตถตาอันบริบูรณ์และเป็นอิสระจากความตรงข้ามและความสัมพันธ์ ดังนั้น จะมีความแตกต่างใดเล่าระหว่างเซ็นและสุขาวดี? เพราะว่าเธอทั้งหลายเป็นสานุศิษย์แห่งสุขาวดี อาตมาหวังว่าเธอจะอาศัยพระนามพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งเกื้อหนุนของเธอในชั่วเวลาแห่งชีวิตเธอนี้ และหวังว่าเธอจะสวดพระนามอย่างจริงใจและซื่อตรงโดยไม่มีการหยุดยั้งชะงักงัน”

 

จากตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นว่า สุขาวดีเปิดกว้างต่อการปฏิบัติเนี่ยนฝอ ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเพ่งถึงพระอมิตาภะอยู่ในใจ การตรึกภาพพระอมิตาภะ หรือการสวดพระนามพระอมิตาภะ ด้วยความมุ่งหมายไปเกิดในสุขาวดี หรือด้วยความสำนึกในความรอดอันเนื่องมาจากประณิธานแห่งมหากรุณาของพระอมิตาภะ (เช่นในนิกายโจโด ชิน) ทั้งหมดล้วนเป็นการปฏิบัติเนี่ยนฝอ ที่แม้แต่คณาจารย์ฝ่ายเซ็นก็ปฏิบัติและเผยแผ่ ด้วยถือว่าเป็นมรรคาสู่ความหลุดพ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นขั้นตอนหนึ่งสู่ความหลุดพ้นได้ โดยที่ไม่ดูแคลนว่าเป็นเพียงอุปมาหรือลดความสำคัญลงว่าเป็นแค่อุบายง่ายๆสำหรับสงบใจ ดังนั้นเอง การปฏิบัติฝ่ายสุขาวดีจึงกอปรไปด้วยสาระและเนื้อหาอันครอบคลุมลึกซึ้งไม่น้อยกว่าวิถีปฏิบัติของนิกายเซ็น ข้อนี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธบ้านเรายังขาดความเข้าใจและควรต้องศึกษาให้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ได้เรียบเรียงขึ้นด้วยเจตนาลบหลู่หรือปรามาสความรู้ของท่านพุทธทาส ตรงกันข้าม ทั้งหมดเป็นความน้อมรำลึกถึงคุณูปการของท่านพุทธทาส ผู้เปิดกว้างและท้าทายให้เราสำรวจและเรียนรู้พุทธศาสนาในเหลี่ยมมุมต่างๆ เพื่อที่เราจะเข้าใจและได้อรรถประโยชน์จากแก่นธรรมของศาสนาและนิกายทั้งหลาย ความไม่รู้ในสุขาวดีของท่านพุทธทาส น่าจะเกิดจากการมองสุขาวดีผ่านกรอบของเซ็นที่ท่านพุทธทาสศึกษาตีความจากแหล่งข้อมูลอันจำกัดในยุคนั้น และศึกษาในฐานะ ‘คนนอก’ ผู้ไม่ได้อยู่ร่วมในบริบทแวดล้อมของเซ็นจริงๆอันมีความสัมพันธ์กับฝ่ายสุขาวดีรวมถึงนิกายต่างๆทั้งในจีนและญี่ปุ่น ความไม่รู้ของท่านพุทธทาสในที่นี้จึงไม่ใช่สิ่งผิดแต่ประการใด ซ้ำยังอาจกลายเป็นความรู้ของเราต่อมาหากเราได้พิจารณาใคร่ครวญ และในที่สุดแล้วเมื่อเรารู้ ‘พุทธทาส’ ก็จะรู้เสมอกัน

 

อมิตพุทธ



==========================================
หมายเหตุ: ติดตามกิจกรรมของสถาบันวัชรสิทธาตลอดปี 2561
คลิ๊ก >>>> https://goo.gl/sY5JBS


 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
พลังเยียวยาแห่งโพธิจิต
วัชรสิทธา • vajrasiddha
“ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ”กับ ไผ่ ดาวดิน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย (ตอนที่ ๒)
วัชรสิทธา • vajrasiddha
Myth of the Broken Heart Warriorsทุกข์อย่างเป็นมิธ: เห็นทุกข์เป็นหนทางณัฐฬส วังวิญญู เขียนจากประสบการณ์การสอนคอร์สอบรมThe Myth of the Broken Heart19-21 กรกฎคม 2562ณ วัชรสิทธา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 “รู้จัก Voice Dialogue”บรรยายโดย มะเหมี่ยว วรธิดา วิทยฐานกรณ์และทีมงาน Voice Dialogue Thailandวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 ณ วัชรสิทธาสรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Public Talk: Maitri and Psychotherapyพื้นฐานการทำงานด้านจิตบำบัดด้วยไมตรีคิม โรเบิร์ตสครูสอนโยคะ นักจิตบำบัด นักเขียนอาจารย์พิเศษ Contemplative Psychology ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา