Skip to main content

 

Public Talk: Maitri and Psychotherapy
พื้นฐานการทำงานด้านจิตบำบัดด้วยไมตรี

คิม โรเบิร์ตส
ครูสอนโยคะ นักจิตบำบัด นักเขียน
อาจารย์พิเศษ Contemplative Psychology ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา

ถอดความ โดย เมตตา วงศ์วัด
 

ก่อนจะมีบรรยายสาธารณะ มีคอร์สอบรมเรื่อง Maitri Space Awareness 5 วัน 

"ตอนเรียนที่นาโรปะ สิ่งหนึ่งที่อยากทำมากๆ คือการสื่อสารให้คนไทยรู้จักวัชรยาน และเทคนิคอันหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ ไมตรี สเปซ อแวเนส การทำความเข้าใจพุทธกุล สีทั้งห้าสี ทำให้เข้าใจพลังงานของจิตที่สัมพันธ์กับธาตุตามธรรมชาติ เราสามารถจะทำงานกับพลังงานเหล่านี้ในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วยอย่างเป็นมิตร" วิจักขณ์ พานิช จากวัชรสิทธากล่าว

คิมเริ่มต้นแนะนำเรื่องนี้ด้วยการตั้งต้นให้ทุกคนลอง “ภาวนาแบบลืมตา”  โดยอธิบายว่า นั่นคือ การมีสติกับตัวเองขณะเดียวกันก็รับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น 

“สิ่งแรกของการฝึกไมตรีฯ คือ การตระหนักว่าขณะภาวนาทุกอย่างถูกรวมไว้ เราไม่จำเป็นต้องแยกขาดการภาวนาออกจากชีวิต ถ้าเรามีความรู้สึกบางอย่างก็อนุญาตให้มันเกิดขึ้น ถ้ามีความคิดเกิดขึ้นก็ใช้ชั่วขณะหนึ่งของการหายใจเข้าในการรับรู้การมีอยู่ของมัน และขณะหายใจออกก็ปล่อย ไม่ต้องต่อสู้ที่จะมีสติชั่วขณะนี้เพราะเราอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว” คิมกล่าว

มีรายละเอียดจำนวนมากในการฝึกไมตรีฯ และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคิมจะเริ่มต้นจากการที่เธออธิบายคอนเซ็ปท์โดยคร่าวของเรื่องนี้ แล้วฟังคำถามของผู้ฟังเพื่อให้รู้ว่าส่วนไหนที่จะเป็นประโยชน์และสัมพันธ์กับบริบทของที่นี่

เริ่มต้นกันที่นิยาม contemplative psychology หรือจิตวิทยาเกี่ยวกับการทำงานภายใน คิมอธิบายว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ที่ใหม่มากเพิ่งเกิดเมื่อราว 200 ปี และมีพัฒนาการของมันตลอดเวลา ภาพที่คนมองงานนักจิตวิทยาก็คือการ เกี่ยวข้องกับความไม่ปกติทางจิต ซึ่งอาจต้องโทษฟรอยด์ (Freud) สำหรับ stigma นั้น มีมูฟเมนท์น้อยมากที่จะท้าทายสิ่งที่ฟรอยด์โยงจิตวิทยากับความวิปลาสของจิต ดังนั้น เรื่องจิตบำบัด จิตวิทยา จิตเวชต่างๆ จึงยังคงมีชื่อเสียงที่ไม่ดีจนถึงวันนี้

“มันเหมือนกับเราคาดหวังว่าเราเป็นเด็กที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ อารมณ์ของเราสามารถเข้าได้กับทุกอย่างโดยไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลย ถ้าเรามีปัญหาบางอย่าง ทางออกคือการไปหาหมอที่จะจ่ายยาให้เรา หรืออีกทางที่สุดโต่งคือ การเสพติดสารเสพติดอย่างรุนแรง หรือเหตุที่คนจำนวนมากทำผิดกฎหมายเพราะเขาไม่สามารถบังคับตัวเองได้และระเบิดออกมาด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้วถูกลงโทษ เขามาถึงจุดหนึ่งที่ไม่สามารถบริหารจัดการกับสภาวะข้างในจิตใจได้”

“คนส่วนใหญ่เคยไปถึงจุดหนึ่งในช่วงชีวิตที่ยากลำบากเหลือเกินที่จะจัดการกับใจของเรา แล้วเรารู้ได้ยังไงว่าเราจะผ่านช่วงเวลานั้นไปได้อย่างไร เธอรู้สึกว่าจำเป็นต้องไปรพ.จิตเวชไหมเพราะเข้าสู่สภาวะบางอย่างที่ต่างไป บางทีอาจจะไม่ ฉันเห็นว่า ทั้งหมดนั้นเป็นประสบการณ์ของมนุษย์ที่จะผ่านช่วงเวลาที่จิตใจย่ำแย่เหลือเกิน และไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องกินยา มันอาจหมายความว่าเราจำเป็นต้องมีเวลาให้ตัวเองและเรียนรู้ว่าจะจัดการกับสภาวะจิตอย่างนี้ได้อย่างไร”

คิมเปิดบทสนทนาด้วยการโต้แย้งกระบวนการบำบัดจิตกระแสหลักในปัจจุบัน และเชื่อมโยงว่า contemplative psychology เป็นวิธีการหนึ่งในการเข้ามาช่วยตรงนี้ ด้านหนึ่งมีเรื่องการจิตวิทยาที่จะวิเคราะห์ จำแนกอาการ ให้ยา ด้านหนึ่งคือการทำงานกับจิตผ่านการภาวนา โดยเฉพาะกับ mindfulness (การมีสติ) ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจได้รับการบอกและฝึกใจว่าให้อยู่กับปัจจุบันขณะโดยไม่คำนึงถึงหรือไม่สนใจสิ่งอื่นๆ ที่เข้ามา

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราใช้ประโยชน์ของสอง approach นี้ไปพร้อมกัน ในแนวทางของ contemplative psychology เราฝึกสติ (mindfulness) และการตระหนักรู้ (awareness) หรือ สัมปชัญญะ ในการเรียนรู้พฤติกรรมของเราที่มีต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งตัวเราและสิ่งที่เราแสดงออกหรือความสัมพันธ์กับคนอื่น

“มันเป็นเครื่องมือที่ดีมากในกรณีที่เราเป็นนักจิตบำบัด แต่เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักจิตบำบัดในการได้รับประโยชน์นี้ ในแง่หนึ่งการฝึกMaitri Space Awareness ที่มาจากมุมของ contemplative psychology คือเราแต่ละคนเป็นนักจิตบำบัดเสียเอง และยาก็คือไมตรี”

ไมตรีคืออะไร ไมตรีนั้นจะมีสำหรับตัวเราเองหรือทุกคน

“ไมตรีสำคัญมากในการทำงานกับสภาวะของจิต เพราะเวลาใจอยู่ในสภาวะที่เรารับไม่ไหว สู้ไม่ไหว นั่นเพราะเราลืมที่จะเป็นมิตรกับใจในสภาวะนั้น หรือไม่เราก็ไม่เคยรู้เลยว่าจะเป็นมิตรกับมันอย่างไร”

“บางคนรู้สึกว่าตัวเราเรียกร้องจากตัวเองมากเหลือเกิน ทำไมเราถึงได้ใจร้ายกับตัวเองขนาดนี้ นี่แหละคือ ไมตรี เราหยุดที่จะทำร้ายหรือเรียกร้องตัวเองมากขนาดนั้นได้ไหม ไม่ต้องเริ่มด้วยการมีความรัก ความกรุณากับตัวเองก็ได้ แค่เริ่มที่จะเรียกร้องกับตัวเองให้น้อยลง”

คิมเล่าว่า ตลอดการฟังการสนทนาธรรมในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าหัวข้อใดก็ล้วนเชื่อมโยงกลับมาสู่ความกรุณา (compassion) โดยย้ำกันว่าเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เธอค้นพบว่าจากนั้นตัวเองก็พยายามฝึกความกรุณาในทุกรูปแบบทุกสถานการณ์ทุกโอกาส ขณะเดียวกันก็ตำหนิตัวเองตลอดเวลาว่าตัวเองทำได้ไม่สมบูรณ์ ถึงจุดนี้ คำถามผุดขึ้นมา แล้วความกรุณา(ต่อตัวเอง)อยู่ตรงไหน  ฉะนั้น ความสำคัญของไมตรีก็คือ ตราบใดที่เราไม่มีไมตรีให้ตัวเอง ก็ไม่มีทางมีกับคนอื่นได้ เพราะทุกอย่างที่เราทำ เราทำไปเพราะอยากให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น มันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ในเรื่องนี้

 

จะบ่มเพาะไมตรีได้อย่างไร

เรื่องไมตรีนั้นเป็นการฝึกปฏิบัติ มีหลายหนทางที่จะฝึกฝนตนเองและจิตใจให้พัฒนาไมตรีได้ เทคนิคของ Maitri Space Awareness พัฒนาจากเชอเกียม ตรุงปะ ที่ต้องการนำเรื่องนี้ไปสอนนักเรียนจิตวิทยา

พื้นฐานของเรื่องก็คือ เราทำงานกับพลังงานกับพุทธกุลทั้งห้า (5 Buddha’s family) จริงๆ คำสอนนี้มาจากสายปฏิบัติดั้งเดิมมากของธิเบต มันไม่ใช่การทำงานกับการแสดงตนทั้งห้าแบบอย่างเดียว แต่ยังสัมพันธ์กับธาตุทั้งห้าตามธรรมชาติ

Space แสดงออกในรูปแบบของวงกลมเรียกว่า มณฑล(ของจิต) แต่ละทิศจะเกี่ยวข้องกับธาตุ ฤดูกาล ภูมิทัศน์ คุณลักษณะบางอย่างในการแสดงตน(ของจิต)ในธรรมชาติ

ทุกคนลองหลับตา แล้วจินตนาการตามที่บอก...

นี่จะเห็นได้ว่า ในแต่ละสถานการณ์มีความรู้สึก มีพลังงานของมัน (ชายหาดแสนสบายกับบนเครื่องบินไฟลท์ยาวนาน) เราเองก็มีพลังงานหลักของเราและแสดงออกมาเช่นกัน และเพราะเรามีพลังงานบางแบบ ทำให้เราดึงดูดกับบางคน อยากออกห่างจากบางคน และเป็นหนทางที่เราสัมพันธ์กับโลกใบนี้

เมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการแสดงออก หรือสไตล์ที่เราสัมพันธ์กับโลก เราอาจเริ่มเข้าใจว่าการที่เรามีปัญหากับบางอย่างมันมาจากอะไร

ในพุทธกุลทั้งห้า มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง คนที่มีความรู้สึกใกล้ชิดกับพุทธกุลอันหนึ่งก็อาจจะรู้สึกยากกับพุทธกุลอีกแบบหนึ่ง

-วัชรกุล สีน้ำเงิน ธาตุน้ำ น้ำสามารถอยู่ได้ในหลายสถานะ นิ่ง ไหล ชุ่มชื้น หล่อเลี้ยง แต่ก็สามารถจะแข็งตัว เยียบเย็น

-รัตนกุล สีเหลือง ธาตุดิน ดินสามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ โอบอุ้ม ดูแลเรา แต่ก็สามารถแห้งแล้ง ขาดแคลน ไม่ให้อะไรกับใครเลย

-ปัทมกุล สีแดง ธาตุไฟ  passionate หลงไหลดึงดูดกับคนอื่น ชอบปาร์ตี้ สร้างสีสัน แต่เมื่อไม่มีใครอยู่รายรอบก็สามารถโดดเดี่ยว หดหู่ซึมเศร้า

-กรรมกุล สีเขียว ธาตุลม ชอบการกระทำ (action) มีระบบระเบียบมาก ชอบทำลิสต์ ออแกไนซ์ จัดลำดับความสำคัญ แต่เมื่อถูกคุกคามก็จะอิจฉา แข่งขัน ขี้กังวล เอาชนะแม้กระทั่งทำลายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

นั่นคือขอบทั้งสี่ของมณฑลของจิต ตรงกลางของมณฑลคือ พุทธกุล สีขาว คนที่อยู่ในพุทธกุลจะอยู่ชอบพื้นที่ว่าง ง่ายๆ สบายๆ และไม่จำเป็นต้องริเริ่มทำอะไร พึงพอใจในสิ่งที่เป็น คนปฏิบัติภาวนาจำนวนมากพัฒราคุณสมบัติของวงศ์นี้ แต่ถ้าตัดขาดกับธรรมชาติของตัวเองก็จะเป็นภาวะแบบ อะไรก็ได้ ขี้เกียจ ไม่สนใจอะไร ลอยๆ ขี้หลงขี้ลืม

คิมย้ำว่า ที่แบ่งแยกเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อให้เราพยายามยึดตัวเองหรือคนอื่นในกรอบต่างๆ แต่เพื่อทำให้มองเห็นแพทเทิร์นง่ายขึ้นต่างหาก เพราะธาตุก็คือธาตุ เวลามันแสดงออกเป็นได้ทั้งด้านปัญญาญาณและด้านวิปลาส เวลาเราสังเกตเห็นแพทเทิร์นต่างๆ เหล่านี้โดยเรารู้จักรากของมัน จะมีประโยชน์สองอย่าง คือ

1.เราจะเริ่มตระหนักถึงสไตล์ของเราที่สัมพันธ์กับโลก อาจใกล้เคียงกับพุทธกุลสักหนึ่งหรือสองอัน และเมื่องมองเห็นความสัมพันธ์ที่เรามีกับธาตุนั้น ก็จะเริ่มมองเห็นด้านวิปลาส และขณะเดียวกันเราจะเริ่มมองเห็นว่าเราก็มีปัญญาญาณด้วย หรือหนทางที่อยากจะแสดงตัวเอง

ขอดอกจันไว้ด้วยว่า เวลาบอกว่าเราใกล้ชิดกับหนึ่งหรือสองพุทธกุลนั้น จริงๆ แล้วเรามีทั้งหมด (ทั้งห้าพุทธกุล) ซึ่งเป็นธรรมชาติในจิตของเรา เพียงแต่บางทีเราทำงานกับหนึ่งหรือสองพุทธกุลที่ใกล้ชิดมากกว่าเพื่อน และพลังงานเหล่านี้ก็ไม่ได้ตายตัว มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์หรือปัจจัยในชีวิต หรือแม้กระทั่งวัยที่เปลี่ยนไปของเราก็ตาม

2.เราสามารถไม่มองด้านที่ชอบหรือไม่ชอบนั้นเป็นเรื่อง personal  เช่น คุณลักษณ์ของน้ำ เป็นได้ทั้งปุยหิมะอ่อนนุ่มและสึนามิ

“ตกลงแล้วน้ำเลวไหม เราตัดสินน้ำไหม มันคือธาตุตามธรรมชาติและมีพลังงานที่แสดงตนออกมาในหลายทาง ไม่ต่างจากเรา และเมื่อเราผสมธาตุ น้ำกับลม อาจกลายเป็นเฮอริเคน”

“เราทำงานกับโลกปรากฏการณ์ซึ่งธาตุต่างๆ มีพลังงานต่างกัน เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับพลังงานเหล่านี้ อดทน หรือกระทั่งเต้นรำไปกับพลังงานเหล่านี้ ถึงจุดนั้น เราก็จะเริ่มเบาสบายเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต”

“ไมตรี จะ identify pattern ทำให้เราได้ตระหนักถึงมันและเรียนรู้จะอยู่กับมัน เราจะทนหรืออยู่กับประสบการณ์ที่เข้มข้นของเราได้อย่างไร เราทำมันได้ผ่านการพัฒนาไมตรี และการรับรู้ถึงการมีอยู่ของ space”

(คิมให้ผู้เข้าร่วมทำแบบฝึกหัด จับคู่กับเพื่อน สลับกันเล่าเรื่องของตัวเองสามนาที แล้วเพื่อนที่ฟังต้องพูดถึง “ข้อเท็จจริง” ที่ได้ฟังมาทั้งหมด จากนั้นจับคู่ใหม่ สลับกันเล่าเรื่องของตัวเองเช่นเดิม แต่คราวนี้เพื่อนที่ฟังต้องสะทอ้น “ความรู้สึก” ระหว่างฟัง)

นี่คือตัวอย่างของการฝึกสมาธิแบบที่ผสมระหว่าง สติ (การเล่าแบบแรก) โฟกัสจุดเดียว ตัดสิ่งอื่นๆ ทิ้งไป เครื่องมือนี้มีประโยชน์มาก แต่เมื่อเติมคุณลักษณะของ awareness (สัปปะชัญญะ) เข้าไป หรือบริบทที่เกิดสถานการณ์นี้ขึ้น เติมอีกชั้นหนึ่งของประสบการณ์เข้าไป (การเล่าเรื่องแบบนี้สอง) กรณีที่สองจริงๆ เราก็กำลังฟังถ้อยคำด้วย ถ้าไม่ฟังเลยย่อมไม่เกิดความรู้สึก แต่พอให้สังเกตความรู้สึกด้วยทำให้เหมือนเป็นการตระหนักรู้บางอย่างที่กว้างกว่าเดิม และมีหลายเลเยอร์มากขึ้น

การรวมคุณลักษณะของสติกับสัมปชัญญะเข้าด้วยกันคือ presence (ภาษาไทยอาจเรียกกันหยาบๆ ว่า ปัจจุบันขณะ?)

Presence เป็นที่อยู่ของไมตรี และเป็นพลังของการเยียวยา

โมเดลนี้ของ contemplative psychology รวมการฝึกปฏิบัติที่เรียกว่า basic attendance หรือการอยู่ตรงนั้นกับอีกคนอย่างพื้นฐานที่สุด สิ่งที่ฝึกเมื่อสักครู่คือ การฝึกเบสิก แอทเทนเดนซ์ เราฝึกที่จะเปิดพื้นที่ อุ้มพื้นที่ให้อีกคนได้แชร์ออกมา แล้วเราก็สะท้อนสิ่งที่เขาพูดออกไป เบสิค แอทเทนเดนซ์นี่เองที่เกิดขึ้นจากคุณลักษณะของ presence ที่เราฝึกการภาวนา

Presence มีประโยชน์อย่างไร

อย่างแรก สำหรับตัวเอง เราสามารถที่จะอุ้มสเปซให้กับตัวเองได้ผ่านหรือประสบกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น ถ้าเรากำลังมีสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก เรากำลังผิดหวังมาก เราสามารถฝึกสติด้วยการอยู่กับเรื่องในหัวของเรา คนนั้นพูดอย่างนั้น เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ในขั้นนี้บางทีเป็นประโยชน์ บางทีก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเราสามารถถูกเรื่องพาไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้นและสามารถเติมเชื้อไฟได้ แต่ถ้าเพิ่ม awareness เราจะเริ่มฝึกอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่รวมถึงบริบทของสถานการณ์ด้วย ซึ่งทำให้พื้นที่มันกว้างขึ้น เราจะเริ่มรู้ว่า อะไรที่ดูเหมือนสำคัญมากและรบกวนมากตอนนี้ หนึ่งวัน หนึ่งเดือน หนึ่งปีจากนี้จะยังเป็นปัญหากับเราไหม เราเพิ่ม space ไปกับสถานการณ์ เช่นเดียวกับการเติมความสามารถในการอยู่กับสถานการณ์นั้นได้

“บางสถานการณ์มันดีลง่ายเพราะมันไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก บางสถานการณ์เช่น สูญเสียคนรัก มีสถานการณ์เสี่ยงตายถูกคุกคาม เราอาจจะฝึกด้วยการที่ขยายพื้นที่ว่างของเราให้ใหญ่ขึ้นๆ เพื่อสามารถให้เราอยู่กับ presence และกับสถานการณ์ได้”

อันที่จริง ในแง่ความคิดอาจง่ายต่อการเข้าใจ แต่เวลาปฏิบัติจริงอาจจะยาก

เธอจำได้ไหมในเวลายากลำบาก ยกตัวอย่างการอกหักซึ่งเป็นครูที่ดีมาก คนที่เอาพลังงานของเราไปวันละ 24 ชม. แล้วจู่ๆ ก็ไม่อยู่ตรงนั้นอีกต่อไป หรือจะว่าไปแล้วคนคนนั้นไม่ได้อยู่ตรงนั้นแต่แรกด้วยซ้ำ คุณคิดว่าคุณจะต้องตายถ้าไม่มีคนนั้น แล้วตอนนี้คุณยังมีชีวิตอยู่ไหม? นี่คือวิธีการที่เราเอาสิ่งต่างๆ ใส่เข้าไปกลายเป็นบริบทและเกิด space ขึ้นมา

“เราไม่ได้พูดว่าการปฏิบัติเช่นนี้ง่าย เพราะอย่างนั้นเราจึงต้องเริ่มต้นจากไมตรี ตอนเราด่ำดิ่งในความผิดหวังสุดๆ หัวใจที่แตกเป็นเสี่ยง หรือความโกรธที่ซึมซาบในทุกอณูของเราและแผ่ออกไปทำให้ทุกคนในโลกนี้เป็นศัตรูของเรา หรือความหลงลืมของเราที่ไปทำร้ายคนที่เรารักเรามากที่สุดจนเขาไม่อาจให้อภัยเราได้ เวลาที่เราตกอยู่ในกิเลสความร้อนรุ่ม เราสามารถอนุญาตให้ตัวเองมีความกรุณากับตัวเองได้ไหมว่าเราก็เป็นเพียงมนุษย์ และเรามีค่าเพียงพอต่อความรัก ความเมตตาและความอ่อนโยนนั้น”

“เมื่อคุณรับฟังเพื่อน ซึมซับถ้อยคำและความรู้สึกของเขา มีใครตัดสินเพื่อนที่เล่าเรื่องให้เราฟังไหม ไม่มี เป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถจะทำแบบนั้นกับตัวเองด้วย เหมือนกับที่เราทำเบสิคแอทเทนเดนซ์กับเพื่อน”

“มีใครเคยทะเลาะกับแฟน ทะเลาะๆ แล้วจู่ๆ ก็หัวเราะขึ้นมาเพราะรู้สึกว่ามันบ้าสิ้นดี นั่นเป็นตัวอย่างของนาทีแห่งความชัดเจน ในเวลาที่เราท่วมท้นจากอารมณ์ของตัวเอง เราอาจต้องมองหานาทีของความแจ่มชัด ที่ฉันพูดเหมือนรู้ทุกอย่าง แต่เวลาเกิดขึ้นในชีวิตจริงฉันก็จมลงในสิ่งที่ถาโถมเช่นกัน แต่จากการฝึกไมตรีและอื่นๆ มาหลายปี ในอดีตมันใช้เวลาหลายอาทิตย์มากกว่าจะออกจากสภาวะหดหู่ซึมเศร้าได้ แต่ตอนนี้คุ้นเคยกับรูปแบบของมันและมองมันจากมุมต่างๆ คุ้นเคยจริงๆ จึงสามารถออกจากภาวะนั้นได้โดยใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งวัน “เอาเลย ถ้าอยากจะหดหู่เหรอ เชิญเลย” แล้วเราจะพบว่าจริงๆ เราไม่ได้อยากจะทำ ไมตรีมันอยู่ตรงไหน เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร เพียงเราให้พื้นที่ในการที่เราจะเลือกการไม่ทำอะไรเลยได้ด้วย พอให้พื้นที่ หนทางที่จะปรากฏขึ้นมา"

อีกคำหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญคือ basic goodness ความดีพื้นฐานหรือพุทธภาวะซึ่งทุกคนมี ทุกคนมีธรรมชาติพื้นฐานที่ดีงาม และสิ่งนั้นอยู่ในตัวเราด้วย basic goodness มันเกี่ยวข้องกับความกรุณามากๆ และมันอาจจะง่ายกว่าการเกิดความรักความเมตตา เพราะสำหรับคนหลายคน อาจง่ายกว่าที่จะมีความรักต่อคนอื่น มากกว่าที่จะฝึกมอบความรักให้กับตัวเอง บ่อยครั้งหนทางที่จะเข้าถึงไมตรีที่จะให้ตัวเอง มันง่ายกว่าในการเริ่มต้นจากการให้กับคนอื่น ... เราจะทำความรุนแรงนี้กับคนอื่น แบบที่เราทำกับตัวเองแบบนี้ไหม หรือเพื่อนที่รักของเราจะทำกับเราแบบที่เราทำร้ายตัวเองแบบนี้ไหม คำถามเช่นนี้จะเป็นเลนส์ที่จะช่วยให้เห็นชัดขึ้นกับสิ่งที่เราทำกับตัวเอง

นอกจากนี้เราขยายไมตรีไม่ใช่เพราะเมื่อเราเป็นทุกข์มากเท่านั้น แต่เราขยายไมตรีให้ตัวเองเสมอในทุกสถานการณ์ เพราะเราคือความรักความอ่อนโยนอันนั้น เราจึงขยายมันสู่ตัวเราเองแม้กับสถานการณ์ที่เป็นกลางๆ

นี่คือการปฏิบัติที่เรียกว่า ทงเล็น หายใจเอาความเจ็บปวดควาทุกข์ของตัวเราและสรรพสัตว์เข้ามา เวลาหายใจออกส่งออกเป็นความรักความอ่อนโยนและแสงสว่างจากใจ ด้วยความที่ฝึก presence จากการมีสติสัมปชัญะ ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเรา แต่มันได้รับการเผาไหม้จากแสงสว่างความอบอุ่นในหัวใจ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นความรัก ความอ่อนโยน loving kindness เราสามารถฝึกอันนี้กับคนอื่นก็ได้ ฝึกอันนี้กับตัวเราเองก็ได้ รับเอาความทุกข์เข้ามาอย่างไม่กลัว เพราะเราตระหนักถึงศักยภาพของใจที่จะแปรเปลี่ยนความทุกข์นั้น เราสามารถทำมันได้โดยการอนุญาตให้ความทุกข์นั้นเข้ามาสัมผัสหัวใจเรา ในลมหายใจเข้าเราสามารถรับเอาความทุกข์ที่ประสบอยู่เข้ามา แล้วเปลี่ยนธรรมชาติของความทุกข์นั้นด้วยไฟในหัวใจของเรา อนุญาตให้แสงสว่างเย็นๆ ส่งออกไปพร้อมลมหายใจออก

“เราหลายคนอยู่ตรงกลางๆ มันง่ายกว่าที่จะไม่ยอมขึ้นสูงมากหรือลงไปต่ำมาก แม้ว่าเราจะไม่มีความสามารถขึ้นหรือลงได้มาก หรือเพราะเราไม่อนุญาตให้เกิดอารมณ์ในตัวได้ กระนั้นเราก็สามารถมีไมตรีกับตัวเองตรงสภาวะกลางๆ นั้นได้ ประเด็นคือ เริ่มจากจุดที่เราเป็นอยู่ เราไม่ต้องพยายามสร้างหรือผลิตอารมณ์ขึ้นมาก็ได้”  

คำถามจากผู้ฟัง

-กลไกป้องกันตัวเองที่เรารู้จักตามศาสตร์ของจิตวิทยา เช่น คนที่เศร้ามากๆ อาจมีกลไกป้องกันตัวเองให้มีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยการโทษคนอื่น หรือการลืม หรือหาคำอธิบายตรรกะเหตุผลมารองรับเรื่องราวนั้นๆ ฯลฯ สิ่งนี้เป็นอุปสรรคหรือไปด้วยกันได้ไหมกับไมตรี?
ตอบ: Maitri Space Awareness รวมทุกสิ่งทุกอย่าง จากตัวอย่างที่ยกมา คนที่มีประสบการณ์เจ็บปวดแล้วพยายามจะไม่รู้สึกแต่หาวิธีให้อยู่รอดโดยการเบลมคนอื่น นี่เป็นด้านลบของกรรมกุลมากๆ หรือคนที่พยายามจะลืมความเจ็บปวดนั่นดูแล้วเป็นด้านลบของวัชรกุลมาก เพราะกุลนี้เวลามีปัญหาเขาจะตัดทุกอย่างไปอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง

ถามว่าการรู้แพทเทิร์นแบบนี้แล้วมีประโยชน์ยังไง มันจะทำให้เราทริกกี้กับตัวเองไม่ได้ หลอกตัวเองไม่ได้ เหมือนเด็กที่จะไปแอบเปิดโหลคุกกี้ เรารู้ว่าเด็กคนนี้จะใช้วิธีใช้ทริกไหนเปิดโหล ดูจากที่เคยเป็นมา แล้วเราก็อาจจะแอบเอาโหลย้ายไปที่อื่นเสียบ้าง มันเหมือนเราเปิดทางเลือกให้กับตัวเรา

-เวลาทะเลาะกับคน คุณฝึกไมตรียังไง

ตอบ: ฉันจะกลับมาที่ร่างกายว่ารู้สึกอย่างไร ร่างกายตอบสนองอย่างไร แล้วพยายามเติมสเปซลงไป สเปซในที่นี้อาจหมายถึงลมหายใจเข้าออก หรือหน่วงเวลาสัก 5 วินาทีก่อนจะพูดอะไรออกไป

เวลาท่วมท้นมากก็ให้ตระหนักว่ามีความท้วมท้นนั้นอยู่ และอาจต้องบอกกับคนที่ทะเลาะเลยว่าตอนนี้เราท่วมท้นมากๆ ต้องการเวลาให้สงบลงหน่อย ไม่งั้นอาจพูดอะไรที่จะเสียใจกันทีหลัง ให้เวลาเป็นพื้นที่

-เข้าคอร์สคราวที่แล้ว 3 วันแล้วนำไปปฏิบัติ เวลามีอารมณ์ท่วมท้วนแบบต่างๆ พบว่ารับมือง่ายขึ้น และเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่สิ่งที่ยากคือ ความหดหู่ต่อเนื่อง ความไม่มีชีวิตชีวา มีคำแนะนำไหม

ตอบ: เราจะสัมพันธ์กับหัวใจที่มันแตกสลาย เพราะเรารู้สึกว่าชีวิตมีมากกว่านี้ ลองสัมผัสกับสภาวะนั้นในตัวเรา คุณลักษณะของหัวใจที่แตกนั้นอาจนำเรากลับมาสู่ไมตรี ความเป็นมิตรกับตัวเอง ทงเล็นเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำได้ทั้งในรูปแบบและในชีวิตจริง ทุกอารมณ์โดยเฉพาะความโกรธและความเศร้า เรานำเข้ามาแล้วเอาไว้ในหัวใจ ไม่ใช่ให้มันติดตรงนั้นตลอดไป เราให้มันเข้ามาแล้วหายใจออกรับรู้สึกพลังงานที่แปรเปลี่ยนไป

และสำหรับคำแนะนำส่วนตัวการเขียนก็เป็นหนทางเพิ่มพื้นที่ เยียวยาได้กับทุกพุทธสกุล และเป็นการปลดปล่อย writing saves my life.

-การปล่อยให้ความรู้สึกเกิดขึ้น ถ้าเป็นความรู้สึกที่อันตราย เช่น การอยากตาย เราจะสัมพันธ์กับมันอย่างไร

ตอบ: เมื่อเราไปถึงจุดนั้น มันสำคัญที่จะขอความช่วยเหลือ ถึงจุดหนึ่งมันไม่ได้เป็นประโยชน์ที่จะอยู่กับอารมณ์ต่อ ซึ่งเธอต้องรู้ด้วยตัวของตัวเอง เราพูดถึงวิธีการหนึ่งคือ แตะ รับรู้อารมณ์ และปล่อย ซึ่งต่างมากกับการแตะอารมณ์แล้วอยู่ในนั้นกับมัน ทีนี้ space จะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญ เวลาแตะคือการมี space แต่เมื่อรู้ว่าเริ่มจมในนั้นก็เพิ่ม space เข้าไป เวลาแตะอารมณ์แล้วจมไปเรื่อยๆ อาจถึงจุดที่ต้องบอกตัวเองว่า ออกไปข้างนอก ไปเดิน ไปทำอะไรสักอย่าง ไปคุยกับใครก็ได้ที่เจอ นี่เป็นวิธีการเคลื่อนพลังงาน และไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอายที่จะขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะทุกคนก็ต้องการความช่วยเหลือทั้งนั้น

===

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
พลังเยียวยาแห่งโพธิจิต
วัชรสิทธา • vajrasiddha
“ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ”กับ ไผ่ ดาวดิน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย (ตอนที่ ๒)
วัชรสิทธา • vajrasiddha
Myth of the Broken Heart Warriorsทุกข์อย่างเป็นมิธ: เห็นทุกข์เป็นหนทางณัฐฬส วังวิญญู เขียนจากประสบการณ์การสอนคอร์สอบรมThe Myth of the Broken Heart19-21 กรกฎคม 2562ณ วัชรสิทธา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 “รู้จัก Voice Dialogue”บรรยายโดย มะเหมี่ยว วรธิดา วิทยฐานกรณ์และทีมงาน Voice Dialogue Thailandวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 ณ วัชรสิทธาสรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Public Talk: Maitri and Psychotherapyพื้นฐานการทำงานด้านจิตบำบัดด้วยไมตรีคิม โรเบิร์ตสครูสอนโยคะ นักจิตบำบัด นักเขียนอาจารย์พิเศษ Contemplative Psychology ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา