Skip to main content

 

เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย (ตอนที่ ๒)

เรียบเรียงจากคอร์สอบรม The Myth of the Broken Heart
โดย อ.ณัฐฬส วังวิญญู

บทความ โดย ชัยณภัทร จันทร์นาค

 

Calling สัญญาณ เสียงเรียก

“Message จาก Soul ปรารถนาให้เราจริงแท้กับสิ่งที่เราเป็น เป็นสิ่งที่เราเป็น มันไม่สนใจหรอก ว่าเป็นสิ่งที่เราเป็นแล้วคนรอบข้างจะรู้สึกยังไง แต่เมื่อใดที่คุณได้เป็นสิ่งที่คุณเป็นจริงๆ มันจะมีความรักแบบธรรมชาติเกิดขึ้น”

ความฝัน เป็นช่องทางหนึ่งที่ Soul สื่อสารกับเรา เราอาจฝันถึงเรื่องทางเพศที่ขัดกับหลักศีลธรรมที่เรายึดถือ อาจฝันถึงใครสักคนที่จากไปแล้ว อาจฝันถึงสิ่งต่างๆ มากมายที่อาจดูไม่เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้ แต่ไม่ว่ารูปแบบความฝันของเราจะเป็นเช่นไร ฝันนั้นก็มีสิ่งที่ต้องการสื่อสาร ให้เรารับรู้ถึงด้านที่เราอาจไม่รู้ว่ามีอยู่ในตัวเรา หรืออาจเป็นด้านที่ถูกกดไว้ ที่เริ่มต้องการการเติบโตแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องอาศัยการตีความความฝันไปให้ลึกถึงระดับ Archetype การฝันเรื่องเพศที่ขัดกับหลักศีลธรรม อาจไม่ได้บ่งบอกว่าเราต้องออกไปทำตามสิ่งที่เราฝันถึง แต่อาจหมายถึงว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตรวจสอบบางสิ่งบางอย่างที่เรายึดถือไว้ ว่ามันส่งผลอย่างไรต่ออิสรภาพของตัวเราเอง การฝันถึงคนที่จากไปแล้วอาจไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นจะกลับมาหาเรา แต่อาจหมายถึงว่า เขาไม่ได้จากเราไปไหนเลย แม้แต่ฝันที่สับสนวุ่นวายก็อาจมีสัญลักษณ์บางอย่าง หรือก้อนความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นในใจให้เราได้นำมาตีความ

นอกจากความฝันแล้ว Soul ของเรายังสื่อสารกับเราผ่านความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ซึ่งจะมาบอกเราว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องเปลี่ยนได้แล้ว เราอาจติดอยู่กับด้านหนึ่งของ Archetype ที่เป็นเราเสียจนไม่สามารถเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจเคยชินกับการเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ความต้องการในการช่วยเหลือผู้อื่นก็อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนแทนที่จะเป็นความสงบสุข ความเดือดร้อนนี้อาจทำให้เรามองเห็นตัวเองได้ว่า จริงๆ แล้วเราใส่ใจช่วยเหลือเรื่องของตัวเองน้อยไปขนาดไหน ซึ่งนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่จะกลับมาใส่ใจเรื่องของตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น

“ความขัดแย้งมันแรงพอที่จะให้เราต้องกลับมาทบทวนตัวเอง”

ในทางร่างกายก็มีสัญญาณที่สามารถสืบสาวไปได้ถึงสิ่งที่ติดขัดอยู่ภายใน เราอาจติดการลูบผม เพราะกำลังต้องการการปลอบโยน หรือเผลอเกร็งมือเกร็งเท้าโดยไม่รู้ตัว เพราะตัวตนของเรากำลังถูกสั่นคลอน

เหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิตเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ทรงพลังมากๆ เหตุการณ์เป็นทั้งครู ห้องเรียน และสนามสอบ หรือเป็นทั้งสามสิ่งในเวลาเดียวกัน แต่ก็มักจะเป็นครูคนที่เราไม่ชอบ วิชาที่เราไม่ชอบ และข้อสอบที่เราทำไม่เคยได้ เช่นเดียวกันกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์

การตีความสัญญาณต่างๆ ไม่ใช่การคิดบวก แต่เป็นการสังเกตบริบทของตัวเราเอง เพื่อให้เห็นสิ่งที่เรายังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ เป็นการตรวจสอบขอบของเราเองเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของเราในขณะนั้นๆ

อย่างน้อยที่สุด หากเราไม่เชื่อว่า Soul กำลังพยายามบอกอะไรบางอย่างกับเรา การถอดรหัสจากสัญญาณต่างๆ ก็ทำให้เราได้มอบความหมายให้กับสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เป็นการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับสิ่งที่มีอยู่กับตัวเราอยู่แล้ว แทนที่จะปล่อยให้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร้ความหมาย

เราเรียนรู้ที่จะรับรู้สัญญาณต่างๆ ในฐานะคำเชื้อเชิญสู่ศักยภาพอันเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมากในสภาวะของการแตกสลาย ที่บ่อยครั้งทำให้ความหมายของบางสิ่งหล่นหายไป

ผลจากการแตกสลายมักนำมาสู่อีกช่องทางหนึ่งที่ Soul ใช้สื่อสารกับเรา นั่นคือ อาการเสพติด ตั้งแต่การเสพติดทางพฤติกรรม ไปจนถึงการมีสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดในระดับใด สาระสำคัญของการเสพติดนั้นก็คือการพึ่งพิงหรือการเติมเต็ม

เราอาจติดบุหรี่เพราะสารที่มีอยู่ในนั้น แต่มันก็มาพร้อมกับการเสพติดช่วงเวลาสั้นๆ ของการสูดหายใจเข้าออกอย่างเต็มที่เพื่อเรียกสมาธิกลับคืนมา หรือจริงๆ แล้วเราอาจเสพติดบทสนทนาท่ามกลางควันจางๆ ก็เป็นได้ ซึ่งมันอาจบ่งบอกได้ถึงความไม่มั่นคงและความโหยหาที่อยู่ลึกๆ ภายในใจ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่แตกต่างกันไปตามบุคคล แต่ละคนก็เลือกที่จะเสพติดในสิ่งที่แตกต่างกันออกไป บางคนติดชาไข่มุก ติดช๊อปปิ้ง ติดดูหนังโป๊ ฯลฯ

เราสามารถมองทะลุวัตถุของการเสพติดลงไปให้เห็นถึงสิ่งนามธรรมที่อาจขาดพร่องไปเพื่อแก้ไขอาการเสพติดได้ บางคนอาจเสพติด Sex เพราะเขาโหยหาความจริงใจ ซึ่งเขาก็อาจจะสัมผัสถึงภาพลางๆ ของสิ่งที่เขากำลังโหยหาจาก ลักษณะของการเปิดเผยอย่างเต็มที่ ผ่านความเปลือยเปล่า แต่ถ้าเขายังไม่สามารถเห็นถึงความต้องการที่แท้จริงๆ ของเขาได้ Sex ก็อาจเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อจิตใจของเขาเอง

การเสพติดไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องขจัดทิ้ง เพราะการเสพติดนั้นเป็นไปเพื่อการผ่อนคลาย แบ่งเบาสิ่งที่หนักเกินกว่าที่เราจะรับไหว การมองให้เห็นถึงฉากหลังของอาการเสพติดต่างหากที่จะสามารถช่วยให้เรามีตัวเลือกมากขึ้น เราอาจมีตัวเลือกในการเสพติดที่ดีต่อสุขภาพกายใจของเรามากกว่าเดิม หรือในเรื่องที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว อาการเสพติดก็สามารถหายไปได้

ในแง่หนึ่งสัญญาณทั้งหลายเป็นสิ่งที่บอกกับเราว่ามีการผจญภัยรอเราอยู่ สัญญาณอาจบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องกระโจนไปสู่สิ่งที่ทำให้จิตใจของเราสั่นระรัว ในอีกแง่ มันก็อาจเป็นการบอกกับเราว่า ถึงเวลาที่เราต้องตัดบางสิ่งบางอย่างทิ้ง และปล่อยให้มันตายไปได้แล้ว

แต่ไม่ว่าจะกระโจนลงไปหรือตัดทิ้งให้ตาย การเรียนรู้ที่จะทำงานกับสัญญาณก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้กับชีวิตที่กำลังอึดอัด ติดขัด ไปต่อไม่ได้ ให้เห็นถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง     

 

 

ลอกคราบ

“หัวใจแตกสลาย คือการยอมรับสภาวะที่เปราะบาง แหลกสลาย ศิโรราบต่อมัน ยอมรับว่าบางอย่างต้องตาย ตายไปจากชีวิตเรา จัดพิธีให้เราได้ไว้อาลัย จะร้องไห้ ทิชชู่กี่กล่องก็ได้ เปิดเพลงกี่เพลงก็ได้ สร้างพิธีกรรมให้ตัวเอง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าในแกนกลางของความโศกเศร้านั้น มีความรักอะไรซ่อนอยู่ เราต้องโศกเศร้า อาลัยอาวรณ์ และต้องเข้าไปถึงแกนกลางของมันให้ได้ เพื่อจะเห็นว่าอะไรที่เราแคร์ อะไรที่เรารัก”

เป็นธรรมดาที่เราจะเศร้าเมื่อหัวใจเราแหลกสลาย แต่เราก็มักจะลืมที่จะค้นหาสิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังในใจ หลายครั้งเราพยายามปล่อยวางสิ่งที่เรารัก เมื่อเราปล่อยวางทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เก็บกู้ความรักที่แท้จริงของเราขึ้นมา เราก็มักจะปล่อยวางด้วยการปิดบัง กดทับ หรือหาสิ่งอื่นมาทดแทนหัวใจที่เราลืมไว้

“ถ้าใครไม่เคยอ่านผมสนับสนุนให้อ่านหนังสือเรื่อง “ชัมบาลา” ส่วนหนึ่งใน ชัมบาลา จะพูดถึงความเปราะบาง จะพูดว่า ในหัวใจที่มีความเศร้า อีกด้านหนึ่งคือความสุขอันล้ำลึก เรายอมรับความเป็นธรรมชาติของความพลัดพราก แล้วอยู่กับความไม่มีอะไรเป็นของเราอย่างไร เราจะฝึกเป็นนักภาวนานั่งตัวตรงก็ได้ หรือเราจะร้องไห้ก็ได้ เพื่อที่เราจะได้สลัดฤดูกาลของชีวิต และพร้อมที่จะต้อนรับฤดูกาลใหม่เข้ามา”

หากลองมองไปรอบๆ ตัว ก็จะพบว่าในแต่ฤดูกาลมีสิ่งเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผัก ผลไม้ เสื้อผ้า ช่วงเวลา สภาพอากาศ ฯลฯ หากมองไปยังผู้คน ก็จะเห็นอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมที่ต่างกันไป และเมื่อมองกลับเข้ามาในตัวเรา เหมือนกับที่มองออกไปเห็นความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนั้นแล้ว เราอาจสามารถรับรู้ได้ว่าฤดูกาลที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลอะไรกับเราบ้าง

นอกจากฤดูกาลภายนอกแล้ว ภายในของเราก็ยังมีฤดูกาลทางจิตวิญญาณที่คอยหมุนเวียนมาท้าทายเราเสมอๆ

ในทุกฤดูกาลต่างมีพลังด้านบวก แต่คนส่วนมากรวมถึงผู้เข้าร่วมคอร์ส The Myth of the Broken Heart ในครั้งนี้ มักจะพบกับการติดอยู่ในด้านที่ดำมืด หนาวเหน็บ เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ไร้ชีวิตชีวาด้วยกันทั้งนั้น การทำความเข้าใจเรื่องฤดูกาลและทำความเข้าใจว่าเรากำลังอยู่ในฤดูกาลไหน จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้

ฤดูกาลทางจิตวิญญาณที่พี่ณัฐเอามาถ่ายทอดมีอยู่ด้วยกัน 4 ฤดู คือ

1.       South Red : วัยเด็ก
วัยเด็กเป็นฤดูของความตรงไปตรงมา สดใหม่ สัญชาตญาณ เบิกบาน แต่จะมีปัญหาความสมดุลจากการติดสนุก และยังเป็นฤดูที่ศักยภาพและข้อจำกัดยังถูกบดบังไว้

2.       West Black : วัยรุ่น
วัยรุ่นเป็นฤดูของการค้นหาศักยภาพในการดูแลตัวเอง เข้าหาตัวเอง แยกตัว ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก แต่ก็มักจะจมทุกข์

3.       North White : วัยผู้ใหญ่

วัยผู้ใหญ่เป็นวัยของการลงมือทำ การวางแผน การเตรียมพร้อม เหตุผล คนที่อยู่ในฤดูกาลของวัยผู้ใหญ่จะใส่ใจมอบประโยชน์ให้ส่วนรวมมากกว่าตัวเอง แต่ก็อาจจะเสพติดการทำงานจนส่งผลเสียต่อตนเองได้

4.       East Yellow : วัยชรา

วัยชราเป็นวัยที่มีความสามารถในการมองภาพรวม และการใช้องค์ความรู้เดิมในการแบ่งปัน มีศักยภาพในการหลอมรวมกับธรรมชาติหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็อาจชอบสั่งสอนคนอื่นด้วยสิ่งที่ตนรู้แล้ว ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือชอบวางตัวอยู่เหนือปุถุชน
 

ถึงแม้ฤดูกาลเหล่านี้จะแบ่งเป็นช่วงอายุต่างๆ แต่ฤดูกาลภายในนี้ไม่ได้เลือกว่าจะเกิดขึ้นกับใครในช่วงอายุใด การเรียนรู้เรื่องฤดูกาลภายในจะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจตนเอง เพื่อออกจากร่องของการตัดสินตัวเองได้ ใครบางคนที่กำลังรู้สึกว่ากำลังจมอยู่กับโลกของตัวเอง และพยายามดิ้นรน อาจสามารถทำความเข้าใจอาการจมของตัวเองว่ามันเป็นฤดูกาลของการอยู่กับตัวเอง สักวันหนึ่งฤดูกาลก็จะเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะจมกับตัวเอง และไปให้ไกลกว่านั้น เพื่อค้นพบความหมายที่ชีวิตพยายามส่งสัญญาณมาให้กับเรา





 

Hero Journey การเดินทางของฮีโร่

หลายครั้งที่ชีวิตของเราเดินมาเจอกับความยากลำบาก และอุปสรรคเหล่านั้นก็มักจะท้าทายให้เราต้องตัดสินใจในบางเรื่อง หรือในบางครั้งอุปสรรคเหล่านั้นก็บีบให้เราต้องตัดสินใจโดยไม่มีทางเลือกด้วยซ้ำ มันผลักเราออกจากชีวิตที่เป็นปกติ มันอาจทำให้เราตกงาน เลิกกับแฟน กระทั่งทำให้ใครสักคนหนึ่งตายจากไปจากชีวิต บนเส้นทางของฮีโร่นั้น ความสูญเสียที่ทำให้ชีวิตเราตกอยู่ในสภาวะหรือสถานการณ์อันไม่ปกตินี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เราอาจจะยังคงขัดขืนในช่วงแรกและพยายามวิ่งกลับไปหาจุดอันเป็นปกติของชีวิตเรา แต่การทำเช่นนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเจอหรือย้อนคืนสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วได้เลย

ก้าวแรกบนเส้นทางของฮีโร่ คือการรับรู้ถึงสัญญาณความไม่ปกติที่ชีวิตกำลังบอกเรา ก้าวต่อมาคือการหยุดขัดขืน และสังเกตว่าเราต้องละทิ้งอะไร การละทิ้งในที่นี้ อาจเป็นไปได้สองทาง ทางหนึ่งคือการตัดบางสิ่งบางอย่างทิ้ง ปล่อยให้สิ่งนั้นตายไป เหมือนการตัดผม ที่เมื่อเราตัดผมที่เคยไว้ยาวของเราออก ความเป็นผมยาวก็จะตายจากไป และความเป็นผมสั้นก็จะเข้ามาแทนที่ เป็นการละทิ้งบางส่วนที่อาจเป็นปัญหาของเราไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเป็นไปด้วยความเข้าใจ ในอีกทางหนึ่ง เราอาจต้องละทิ้งตัวตนเดิมๆ ของเรา กระโจนออกจากพื้นที่ที่เคยชินสู่ความไม่รู้อันไม่มีขอบเขต เพื่อค้นหาความหมายที่ไม่สามารถพบเจอได้แล้วในตัวตนของเราในขณะนั้น การละทิ้ง ยอมศิโรราบต่อการเปลี่ยนแปลงพังทลายของชีวิตนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อเรา การยอมแพ้อาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่อันที่จริงนั้น มันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก และเส้นทางของมันก็ไม่ได้ง่ายดาย เหมือนกับว่าเราเป็นหนอนผีเสื้อ ที่ต้องกินและลอกคราบ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งเราไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อีกแล้วในฐานะหนอน แล้วจักรวาลก็ไม่ปล่อยให้หนอนอย่างเราเป็นหนอนไปตลอดกาล จักรวาลจึงสร้างให้หนอนต้องห่อหุ้มตัวมันเองด้วยรังดักแด้ แล้วปล่อยน้ำย่อยเดียวกันกับที่มันใช้ย่อยอาหาร ย่อยสลายตัวเองจนกลายเป็นของเหลวเพื่อเกิดใหม่ในฐานะผีเสื้อ  ในเส้นทางของฮีโร่ เราต้องยอมแพ้นับครั้งไม่ถ้วน เป็นการยอมแพ้ต่อตัวตนเดิมของเราเอง ยอมแพ้ จนกว่าเราจะค้นพบความหมายหรือสิ่งสำคัญของเรา และเมื่อคุณยอมตายเพื่อเกิดใหม่ เปิดต่อสิ่งใหม่ก็จะเกิดขึ้น เมื่อนั้นตัวตนเดิมก็ตายลง

ในเส้นทางของฮีโร่ ไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียสิ่งที่เราเคยเป็น แต่หมายความว่า เราเข้าใจ และสามารถวางทัศนคติและวิธีการเดิมๆ ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่อาจสามารถใช้การได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอีกแล้ว  เมื่อเราเกิดใหม่ ขอบเขตตัวตนเดิมที่ได้ถูกทำลายไป ก็จะขยายออกสู่ศักยภาพใหม่ๆ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว

การเดินทางของฮีโร่เป็นการนำแก่นสาระของปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เข้ามาสั่นคลอนตัวตนของเรา เพื่อนำมาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เป็นการสร้างความตระหนักรู้ในการก้าวเดินบนเส้นทางที่สับสน เศร้าโศก และสิ้นหวัง เป็นการนำความหมายกลับมาสู่ตัวเราหลังจากที่ทุกสิ่งทุกอย่างได้ทำลายความหมายนั้นลงไป

           

ก้าวข้ามและยอมรับ

เราทุกคนคือฮีโร่ ฮีโร่ที่มีการเดินทางยิบย่อยอยู่ในเส้นทางหลักของเรา ฮีโร่คนหนึ่งอาจกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ ในขณะเดียวกันก็กำลังเดินอยู่บนเส้นทางของความเป็นพ่อ เป็นแม่ ลูก เพื่อน และเส้นทางอื่นๆ อีกมากมายไปพร้อมๆ กัน เราต่างรู้ดีว่าเรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางไหน ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจในคอร์สอบรม The Myth of The Broken Heart คือ กิจกรรมเดินข้ามเส้น

กิจกรรมเดินข้ามเส้น เป็นกิจกรรมที่สะท้อนบทเรียนในครั้งนี้ได้อย่างครอบคลุม เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ทำให้ฮีโร่ทุกคนในคลาสได้สำรวจเส้นทางของตัวเอง เริ่มต้นด้วยการที่เราทุกคนไปยืนเรียงแถวหน้ากระดานที่ฝั่งนึงของห้อง หลังจากนั้น พี่ณัฐกับผึ้งก็ผลัดกันขานถึงสิ่งสิ่งหนึ่งที่มนุษย์คนหนึ่งเคยทำในชีวิต เป็นการเอ่ยแบบสุ่ม โดยไม่ได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังของผู้เข้าร่วมคลาสนี้มาก่อน หากใครเคยประสบกับเหตุการณ์ที่ถูกขานขึ้น ก็ให้เดินไปที่อีกฟากหนึ่งของห้อง แล้วหันกลับมามองฝั่งที่ตนจากมา  หรือจะเลือกยืนอยู่กับที่ก็ได้หากไม่สะดวกใจที่จะเดินออกไป ในบางเรื่องเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เมื่อทุกคนได้ยืนแล้วก็สามารถเดินไปอีกฟากนึงของห้องได้อย่างสบายใจ อาจเป็นบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ หรือมุมสลัวๆ ที่ใครๆ ก็ต้องเคยพานพบกันมาสักครั้งหนึ่ง แต่อีกหลายเรื่องก็ทำให้ใครบางคนก้าวขาออกมาอย่างยากลำบาก หรือเลือกที่จะยืนอยู่ที่เดิม มันอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปมปัญหาที่ฝังลึก เรื่องที่สวนทางกับศีลธรรม ในช่วงท้ายกิจกรรม พี่ณัฐกับผึ้งลองให้ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นผู้ขานเรียกบ้าง บางคนไม่ได้ใช้โอกาสในการขานเรียกนี้เลย ในขณะที่อีกหลายคนก็เต็มที่กับส่วนนี้มาก ในแง่หนึ่ง มันทำให้เราสามารถเชื่อมโยงมิติของความดำมืด ความผุพังต่างๆ ในตัวเรากับผู้คนได้ และต่อให้คนที่ขานเดินออกไปเพียงแค่คนเดียว เขาก็ยังสามารถรับรู้ได้ว่า ยังมีคนที่รับรู้และเข้าใจเขาอยู่  การก้าวออกมา เป็นเหมือนช่วงเวลาแห่งการยอมรับ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นเรา กิจกรรมเดินข้ามเส้นนี้ ไม่ได้ช่วยให้เรายอมรับเพื่อคลี่คลายปัญหาในชีวิตจริงได้ แต่ก็มีส่วนช่วยให้เรามองเห็นภาพกระบวนการของการก้าวข้ามและยอมรับในสิ่งที่เราเป็น เพื่อเปิดประตูบานใหม่ ...สู่สิ่งที่เราสามารถเป็นได้

เราเศร้าได้ อ่อนแอได้ สิ้นหวัง พังทลายได้ แต่เราเองก็ยังเป็นคนเดียวที่สามารถเก็บกู้ความหมายใต้ซากปรักหักพังของเราได้ หากเราติดบุหรี่ แล้วสามารถเลิกได้มันก็ดี แต่ถ้าเราเลิกเพราะรู้ว่ามันไม่ดี แต่ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าเรากำลังเสพติดอะไร เราก็ยังจะเป็นคนติดบุหรี่ที่พักยกไปก็แค่นั้น แต่ถ้าหากเราเข้าใจถึงแก่นสาระของมัน แล้วผ่านการเดินทางบนเส้นทางของนักสูบ เราก็จะไม่ติดมันอีกแล้ว ต่อให้เรากลับมาสูบมันอีกก็ตาม ...ความรัก ความสัมพันธ์ ความฝัน หรือเป้าหมายต่างๆ ที่แหลกสลาย และผลักเราลงไปสู่วังวนของความสิ้นหวังก็เช่นกัน

ไม่ใช่ว่าคอร์ส The Myth of the Broken Heart จะช่วยให้เราไม่เจอกับมหันตภัยชีวิต สิ่งต่างๆ จะยังคงหมุนเวียนเข้ามาสอนบางอย่างแก่เราตามฤดูกาลเสมอ และสิ่งที่เราพอจะทำได้ คือเรียนรู้ที่จะเปิดรับและทำงานร่วมกับสิ่งที่เรายังไม่รู้นั้นอย่างเต็มที่

 

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
พลังเยียวยาแห่งโพธิจิต
วัชรสิทธา • vajrasiddha
“ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ”กับ ไผ่ ดาวดิน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย (ตอนที่ ๒)
วัชรสิทธา • vajrasiddha
Myth of the Broken Heart Warriorsทุกข์อย่างเป็นมิธ: เห็นทุกข์เป็นหนทางณัฐฬส วังวิญญู เขียนจากประสบการณ์การสอนคอร์สอบรมThe Myth of the Broken Heart19-21 กรกฎคม 2562ณ วัชรสิทธา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 “รู้จัก Voice Dialogue”บรรยายโดย มะเหมี่ยว วรธิดา วิทยฐานกรณ์และทีมงาน Voice Dialogue Thailandวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 ณ วัชรสิทธาสรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Public Talk: Maitri and Psychotherapyพื้นฐานการทำงานด้านจิตบำบัดด้วยไมตรีคิม โรเบิร์ตสครูสอนโยคะ นักจิตบำบัด นักเขียนอาจารย์พิเศษ Contemplative Psychology ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา