Skip to main content

“ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ”

กับ ไผ่ ดาวดิน


เรียบเรียงสรุปจากงานเสวนา “ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ กับ ไผ่ ดาวดิน
4 กันยายน 2562  ณ วัชรสิทธา
บทความโดย พชร สูงเด่น
 

“คนจำนวนมากผ่านการต่อสู้แล้วเหมือนอกหัก รอยยิ้มและความสว่างของความหวังมันมืดไป เหมือนถูกดูดวิญญาณ แต่เหมือนไผ่ไม่โดน ทำไมความรักของผู้ถูกกดขี่ยังทำงานได้ ไผ่ทำงานกับตัวเองอย่างไรถึงรักษาจิตวิญญาณนี้ไว้ได้”


 

คำถามของ “วิจักขณ์ พานิช” เปิดวงสนทนาบ่ายวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน ณ วัชรสิทธา ว่าด้วยประสบการณ์ 2 ปี 5 เดือนกับการถูกจองจำของ “ไผ่ ดาวดิน” - จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักเคลื่อนไหวทางการสังคม อดีตนักโทษคดี 112 ในประเด็นว่าด้วยความโกรธ ความรัก การต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยของผู้ถูกกดขี่ และความสำคัญของการมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนสนทนาเพื่อการเห็นคุณค่าที่เรามีร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง

 

ไผ่จัดการกับความรู้สึกข้างในตัวเองอย่างไรในวันที่ต้องรับสารภาพแม้ไม่ได้ทำอะไรผิด ติดคุกเพียงเพราะเชื่อมั่นในเสรีภาพทางความคิด ทำไมไผ่ยังคงรอยยิ้มสดใสในวันที่ก้าวออกมา และยังเดินหน้าต่อไปในเส้นทางนักเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง ราวกับว่าความอยุติธรรมทำอะไรเขาไม่ได้

 

ไผ่ จตุภัทร์:

จริงๆ แล้วผมไม่ใช่แบบนี้เลยนะในตอนแรก ตอนเด็กๆ เป็นสายศิลปิน สมัยมัธยมก็สอนดนตรี เล่นวงโปงลาง แต่หลายคนไม่ค่อยเห็นมุมนี้ คิดว่าเป็นสายเฮี้ยวอย่างเดียว 

 

สมัยก่อนผมไม่มีความคิดทางการเมือง แค่ไม่ชอบให้ใครรังแก เอาเปรียบ  ปีหนึ่งเข้ามหาลัยเจอระบบโซตัส ตอนแรกวาดฝันมหาลัยไว้สวยงาม แต่เข้ามาก็เจออะไรไม่รู้ ด่าพ่อด่าแม่ ก็พูดกับเขาเลยว่า พี่ๆ ตีกับกูมั้ย (ฮา) ห้าวๆ เลยสมัยก่อน 


 

แรกๆ ก็แค่เรียน เที่ยว ดื่ม สอบ จุดที่ดาวดินพาไปลงพื้นที่มันเปิดโลกทัศน์ในการใช้ชีวิต มันเห็นความเป็นมนุษย์ เห็นความรักที่ไม่ใช่แค่พ่อแม่ หนุ่มสาว ให้เราเห็นความรักแบบอื่นๆ มันดีต่อใจ รู้สึกดี มีคุณค่า เราก็สะสมสิ่งนี้มา แต่ความดาร์คมันก็มีอยู่ มีสองด้าน จนถึงจุดหนึ่งที่เริ่มศึกษา เริ่มโตขึ้น เราก็ตั้งคำถามว่า เราจะสู้เพื่อแง่งามนี้ได้อย่างไร ก็ได้คำตอบว่าเราต้องทำงานทางความคิด ต้องหาแนวร่วม เริ่มจากเลิกตีคนก่อน (ฮา) ถ้าจะทำงานปฏิวัติเปลี่ยนแปลงต้องเลิกตีเขา เราก็เลิก

 

จากนั้นเลยมาทำกิจกรรม ทำค่าย เป็นช่วงที่เรากำลังเรียนรู้ ได้ฝึกไฮด์ปาร์ค พวกผมเป็นสายปฏิบัติ คุยกันนิดหน่อย อยากทำ ก็ทำเลย แล้วค่อยมาสรุปบทเรียน ยุคที่ผมเติบโตเป็นยุคประชาธิปไตย ปี ‘54 ผมปิดถนนในมหาลัย ปิดถนนมิตรภาพ ประท้วงเรื่องม.ออกนอกระบบ ผมเติบโตมากับยุคเสรีภาพ ประท้วงได้ ไม่โดนอะไร คือเราทำเรื่องการเมืองอยู่แล้ว แต่คนมักคิดว่าเราเพิ่งมาทำเรื่องการเมืองหลังรัฐประหาร ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ เราทำมานานแล้ว แค่คนไม่เห็น 


 

พอเคลื่อนไหวมาเรื่อยๆ เราอยากสำเร็จ มันก็เหนื่อยนะ สู้ไปไม่ชนะ หลายคนก็ถอนตัวเพราะบรรยากาศแบบนี้ เราสู้กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทั้งรัฐ ทั้งทุน มันก็มีช่วงเฟล ก็กลับมาทำงานนักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง ทำค่าย พาน้องมาเรียนรู้ ใครสนใจเราก็จะคุย ขยับกันต่อ พาลงพื้นที่ปฏิบัติการ ทำงานกันแบบนี้ ตอนอยู่ปีสองทำพลาด ไม่มีน้องมาเข้ากลุ่มดาวดินเลย ก็กดดันว่าจะยุบดีไหม แต่ตัดสินใจว่าขอแก้มืออีกครั้งหนึ่ง ขอทำต่อ หลังจากนั้นสนุกเลย พอเรียนรู้จากความผิดพลาด แก้ตัวแล้วก็พีคสุดๆ เลย เป็นที่รู้จัก ได้รับรางวัล จนถึงรัฐประหาร เราก็ทำเหมือนเดิม





 

“ถ้าสะสมความกลัวมันก็กลัว สะสมความกล้ามันก็กล้า”

 

“มุทิตา เชื้อชั่ง” สื่อมวลชน ผู้ได้รับรางวัลเอเอฟพี (2015) จากการติดตามรายงานคดี 112 เล่าถึงบรรยากาศความกลัวหลังรัฐประหารที่ปกคลุมทั้งนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ สื่อ กระทั่งวันที่ได้เห็นชายหนุ่มห้าคนใส่เสื้อเรียงตัวกัน “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” ชูสามนิ้ว ที่ทำให้เธอทั้งทึ่งทั้งสงสัยว่า พวกเขาเอาชนะ ทะลุผ่านความกลัวที่ปกคลุมตอนนั้นไปได้อย่างไร

 

ไผ่ จตุภัทร์:

คือเราไม่รู้ไง (ฮา) แปะสติ๊กเกอร์ติดเสื้อ ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร ไม่ได้สกรีนด้วย ไม่มีเงิน ที่พูดว่าไม่รู้นี่ไม่ใช่เอาฮา เรื่องจริง ไม่รู้ มันเลยไม่กลัว แต่หลักๆ คือเรารู้ว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วจะไปกลัวอะไร อีกอย่างคือ รู้สึกว่าเราต้องทำ 


 

ผมว่าบางทีเราก็กลัวอะไรเกินเหตุ พอกลัวนู่นกลัวนี่ จะทำอะไรมันก็ติดอยู่กับความกลัว ไม่ทำดีกว่า คิดมาก พวกเราคิดน้อยไง พอรู้นะว่าจะเป็นยังไง แต่ก็ลองดู ถามว่ากลัวไหม ก็เหมือนคนทั่วไปที่กลัวบ้าง แต่ลูกบ้าเยอะกว่า เราไม่คิดเยอะ 

 

มีหนังเรื่องหนึ่งบอกว่า “ความกล้าไม่มีทางได้มาโดยปราศจากความกลัว” เราขี่จักรยาน มอเตอร์ไซค์ ขับรถใหม่ๆ ตอนแรกก็กลัว แต่พอได้เริ่มขี่ ก็ไม่กลัวแล้ว ทุกเรื่องในชีวิตก็เหมือนกัน ตอนแรกก็กลัว แต่ทำไปก็ไม่กลัวแล้ว แต่ละคนผมว่ามีความกลัวที่แตกต่าง มีการตัดสินใจที่แตกต่างกัน การตัดสินใจหรือความคิดมันก็เหมือนการสะสม ถ้าเราสะสมความกลัวมันก็กลัว ถ้าสะสมความกล้ามันก็กล้า 

 

แต่ก่อนเป็นไผ่อีกคนหนึ่ง พีคมาก ที่อนุสาวรีย์ฯ (ขอนแก่น) คือเรามีความหวัง แต่แล้วก็ผิดหวัง ช่วงปี ‘58 ยังพอไหวอยู่ แต่ปี ‘59 นี่ผิดหวังหนัก ตอนนั้นมีร้อยให้ร้อยเลย ทำทุกวิถีทาง คือก็มีคนเห็นด้วยกับผม แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่มา ผมก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร ตัวเองก็คนธรรมดา คนมักจะคิดว่าทำได้ยังไง แต่ผมว่าใครๆ ก็ทำได้ แค่จะทำหรือเปล่า ตอนนั้นมันผิดหวังถึงขั้นว่าแย่เลย เลยตัดสินใจไปบวช

 

ผมไม่ได้นับถืออะไรนะ คือเคารพศาสนา ไม่ได้เหยียดแต่ก็ไม่ได้ศรัทธา แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร โชคดีที่ไปบวชกับพระอาจารย์ไพศาล แกไม่ได้สอนบาลี พิธีกรรม ...มันเลยใช่ ภาพศาสนาเลยเปลี่ยนไป จากความเข้าใจว่าพระต้องสวดมนต์ แต่แกให้ฝึกสติในการสวด ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราไม่ได้รู้จักตัวเองจริงๆ จนกระทั่งมาบวช เขาอธิบายว่าเราอยู่กับความคิด คิดถึงแต่กับอดีตกับอนาคต แต่เราไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งมันจริง มันมีเหตุผล ตอนนั้นตัดทุกอย่าง ไม่ใช้โทรศัพท์ไม่ใช้อะไรเลย บวชไปสักพักก็ได้เทศน์ เรื่องธรรมะกับสังคม โชคดีอีกที่บวชวัดป่า บรรยากาศก็ช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้จักความโกรธ เห็นความคิดตัวเอง ไม่ใช่ว่าบรรลุนะ แต่ที่ผ่านมามันเปลี่ยนตลอด ไม่อดีตก็อนาคต ไม่เพ้อฝันก็เสียใจทุกข์ แต่ตอนนี้มันอยู่ตรงกลาง จัดการกับความโกรธ จัดการกับความคิดเราได้ ถ้าจะคิดถึงอนาคตก็คิดไป แต่สติมันจะดึงเรากลับมา


 

เราจะเติมเชื้อไฟขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยอะไร หากไม่ใช่ความโกรธ

 

“มีนักเคลื่อนไหวบอกว่าความเศร้ามันไม่มีพลังมากพอ การขับเคลื่อนมันต้องใช้ความโกรธ ถ้าโกรธไม่พอมันจะไม่กล้า ไม่มีพลังต่อเนื่อง คำกล่าวนี้จริงหรือไม่”  ปลา มุทิตา ตั้งคำถาม


 

ไผ่ จตุภัทร์:


 

ตอนแรกมันก็จริงนะ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่มีความโกรธเลย คำกล่าวนี้ก็ถูกส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เคยใช้แบบนี้เหมือนกัน โกรธแทนชาวบ้าน โกรธแทนเขาไปหมด โกรธจนน้ำตาไหลนี่มีสองครั้ง ครั้งแรกตอนโดนจับสมัยอยู่ปีสอง ไปคัดค้านเสาไฟฟ้าแรงสูงที่อุดรฯ เขาจะเอาไฟฟ้ามาป้อนอุตสาหกรรม ผ่านที่นายทุนเลี้ยวหมด พอผ่านที่ชาวบ้านเท่านั้นไม่เลี้ยวเลย ตัดตรง ตัดใกล้นาเขา เราก็ไปอยู่กับชาวบ้าน ทะเลาะกับพวกตำรวจเลยว่าทำแบบนี้ได้ยังไง ต้องรับใช้ประชาชน ตำรวจที่ด่าชูนิ้วกลางให้ชาวบ้าน ผมนี่ขึ้นเลย โวยวายตะโกนเสียงดัง พอสลายตัวเขาพุ่งมาที่ผมเลย มาอัดผม ปึ้ก! แต่เรายึดหลักสันติวิธีไง ถึงแม้จะอยากอัดคืนแค่ไหนแต่เราก็ทำไม่ได้ สันติวิธีมันเท่แบบนี้ (ฮา) มันอัดเรา เราสวนได้นะ แต่ไม่ทำ แต่มันเอาเราเสื้อขาดหมดเลย โกรธมาก ทำอะไรไม่ได้ ร้องไห้ 

 

ครั้งที่สองตอนปี ‘57  ก่อนรัฐประหาร ขนแร่เถื่อน จับชาวบ้านเป็นตัวประกัน ผมตัดสินใจไปแจ้งความก่อน ตำรวจขี่รถตามมาแล้วก็กลับ อ้าวอะไรวะ งง ต้องเข้าใจว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ เพราะเราเห็นเหตุการณ์แบบนี้ เขาก็รู้นะว่าเป็นชายฉกรรจ์ แต่ก็ไม่จับ ไปนั่งอยู่ในสถานการณ์แบบโกรธมาก ทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยร้องไห้อีกรอบ ครั้งแรกร้องไห้ปีสอง ครั้งที่สองตอนปีสี่ อันนี้คือเสน่ห์ของสันติวิธีครับ (ฮา)


 

“แล้วสองปีห้าเดือนนี่โกรธไหม”

 

โกรธ โกรธอยู่ ผมงงว่าทำไมต้องมาอยู่ในนี้ มันเป็นคำถามว่า กูต้องมาอยู่ตรงนี้ไหม โกรธแหละ แต่อย่างที่บอกว่าเราสะสมอีกฝั่งมามากกว่า พอโกรธเราก็ใช้สติรู้ว่าโกรธ

 

แต่ก่อนที่ผมบอกว่าโกรธ ตอนไปช่วยชาวบ้านปีสอง เราก็โกรธ มันเป็นอีกความรู้สึก ไม่รู้จะอธิบายยังไง ถ้าไม่ได้เจอความอยุติธรรมเข้ากับตัวเองก็คงไม่รู้ว่ารู้สึกยังไง เหมือนอกหัก ถ้าไม่เคยก็คงไม่เข้าใจว่ารู้สึกแย่จริงๆ มันเป็นยังไง แต่ตอนนั้นรู้สึกเหมือนชาวบ้านจริงๆ คิดว่าชีวิตนี้จะไม่ยอมแล้ว โกรธที่ถูกจับ โกรธที่ทุนกับรัฐมันทำแบบนี้

 

ความโกรธมันใช้เป็นเชื้อเพลิงเติมน้ำมันเรานะ แต่ถ้าเราสื่อสารด้านความโกรธมันก็จะมีความโกรธไง ก็ได้มาจากการอ่าน “เปาโล เฟรเร” นี่แหละ อะไรที่เราคิดว่าเราถูก พออ่านเล่มนี้เข้าไป เหมือนหนังสือเล่มนี้ (“การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” - เขียนโดย เปาโล เฟรเร) มันด่าเราอ่ะ ว่าเราก็ไม่ต่างอะไรกับผู้กดขี่


 

ผมรู้สึกว่าเราเองก็ทำผิดเหมือนกัน ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าเราต่อสู้กับผู้กดขี่มาก จนเราทำตัวเหมือนเขา เช่น เขาบอกว่ารัฐประหารดี แต่เราบอกว่าไม่ดี ถึงแม้ว่าเป็นเจตนาที่ดี แต่มันไม่ใช่วิธีที่ดี เฟรเรใช้คำว่ามันไม่ใช่วิถีของ ‘ผู้ปลดปล่อยที่แท้จริง’ ถ้าเราทำแบบนั้นเราก็ไม่ต่างอะไรจากผู้กดขี่  หนังสือเล่มนี้ได้มาอ่านจริงๆ ในคุก มันว่างจัด พออ่านก็มาทบทวนตัวเองว่าเราทำแบบผู้กดขี่หรือเปล่า เหมือนได้จังหวะเวลาที่ถูกพอดี ได้ตั้งคำถามว่าที่เราทำมามากมาย มันพบว่าไม่ใช่วิธีที่ถูก ก็ตกใจกับตัวเอง 


 

การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of the Oppresed) 

ในมุมมองของผู้ถูกกดขี่ทั้งชีวิตที่ผ่านมา

 

“พล - อรรถพล ประภาสโนบล” กลุ่ม “พลเรียน” กล่าวถึงบทที่สองในหนังสือการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ที่เปาโล เฟรเร กล่าวถึง “การศึกษาแบบธนาคาร” (Banking Education System) ว่าเป็นการศึกษาที่ชนชั้นนำ ระบบการศึกษาร่างความรู้ ที่เป็นอุดมการณ์ เป็นโลกทัศน์ทางการเมืองอย่างหนึ่งไปยัด และวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ระบบของการกดขี่กลายเป็นวิถีปกติของการศึกษา 

 

อรรถพล: หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว การศึกษาของผู้กดขี่ในมุมมองของไผ่ คืออะไร 

 

ไผ่ จตุภัทร์:

เวลาคุยกับน้องๆ ผมไม่ผูกขาดความรู้เลยนะ เวลาเขาไม่รู้ก็จะบอกว่าให้ไปหาสิ ถ้าไปอ่านสิบข้อที่เฟรเรพูดถึง การศึกษาแบบธนาคาร นี่มันเป็นแบบการศึกษาไทยเลยนะ การศึกษาแบบธนาคารที่ ผู้สอน-สอน ผู้เรียน-เรียน ผู้สอนรู้ทุกอย่าง ผู้เรียนไม่รู้อะไรเลย ผู้เรียนต้องท่อง ฯลฯ แต่เด็กวันนี้มันเก่ง เราไม่ต้องไปบอกเขาแบบนั้นแล้ว ผมอ่านแล้วมันเปลี่ยนวิธีการผม ได้ข้อสรุปสั้นๆ ว่าอย่าไปทำแบบนั้น 

 

อีกบทหนึ่งที่ชอบมาก เขาพูดถึงเรื่อง สหายร่วมรบ คือการเปลี่ยนแปลงสังคม อันนี้ก็เป็นอีกมุมที่ผมเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเพื่อน เขาบอกว่าถ้าสหายร่วมรบอ่อนแอ มันก็จะทำให้ทั้งหมดอ่อนแอ ถ้าสหายที่เคียงข้างเข้มแข็ง มันก็จะเข้มแข็ง ถ้ากลุ่มนั้นมีคนอ่อนแอ กลัว ก็จะมีคนกลัว เราก็คิดว่าจริง เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะในกลุ่มเราก็ยังมีคนกลัวอยู่เลย มันก็ทำให้เราเข้าใจเพื่อนมากขึ้น ถ้าเขายังกลัวอยู่ ยังไม่พร้อม ก็ไม่เอา 

 

แต่ก่อนเราจะเอาอย่างเดียวไง มันมีครั้งหนึ่งที่เราตัดสินใจแบบนี้ ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัว มีความรู้สึกว่าอยากหนีเข้าป่าไปเลย หนีหมาย เตรียมอุปกรณ์เดินป่า นั่งคุยกันแล้วมีคนหนึ่งบอกว่า ผมไม่ไปว่ะ ตอนนั้นเฟล ของพร้อมแล้วแต่ต้องมาคุยว่าไปไม่ไปใหม่ ตอนนั้นโกรธมาก อัดกำแพง ปึ้ก! เจ็บมาก อย่าไปทำนะ (ฮา) ตอนนั้นเราอีโก้สูงไง มันทำให้เรากลับไปมองว่าเพื่อนยังไม่พร้อม คนในสังคมยังไม่พร้อม ไม่ต้องรีบ คนยังไม่พร้อมไม่เป็นไรไง แต่เป้าหมายเรายังมีอยู่นะ ไม่ต้องรีบ ถ้าเป็นแต่ก่อนต้องทำ ต้องรีบ เหมือนทำคนเดียว ตอนนี้กลายเป็นว่า เราก็ทำไป เดี๋ยวพร้อมแล้วมันก็มา มันสบายใจ มีความสุข

ล่าสุดไปช่วยน้ำท่วมมา คือมันไม่ต้องบอกสังคมว่าจะทำอะไร แต่พอทำแล้วมันภูมิใจ แค่พาน้องๆ ไปทำ พาไปเห็น อันนี้เป็นวิธีการของเฟรเรนะ คือการพาไปให้เห็น ไม่ต้องไปยัดเยียด แต่ก่อนเราไปยัดเยียดการต่อต้านให้เขา แต่อันนี้เขาเห็นเอง มันก็ยกระดับจิตสำนึกเขา ให้เขารู้เอง เห็นเอง





 

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ที่ไม่กดขี่

จากความโกรธ เป็นความเข้าใจ ในการเริ่มสร้างจิตสำนึกให้เปลี่ยนแปลง
 

วิจักขณ์ เปิดประเด็นสำคัญเรื่องการเปลี่ยนสำนึกแบบผู้กดขี่ในตัวผู้ถูกกดขี่ หลายต่อหลายครั้งโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที่เราซึบซับเอารูปแบบการศึกษาที่สั่งให้ทำตาม แม้ว่าเราจะต่อต้าน เห็นต่าง นิยามว่านั่นคือเผด็จการ แต่ท้ายที่สุดแล้วรูปแบบของการเคลื่อนไหวกลับวนมาใช้วิธีการเดิมๆ ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ดึงคนอื่นให้เชื่อในอุดมการณ์ที่เราเชื่อกันว่าถูก หากหนังสือของเฟรเรและสิ่งที่ไผ่ได้เรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมากำลังบอกกับเราว่า 

 

กระบวนการเคลื่อนไหวมันต้องไม่ใช้วิธีการเดิม ต้องไม่ใช้วิธีการที่ผู้กดขี่ปลูกฝังให้เราทำต่อผู้อื่น แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกแห่งการปลดปล่อยไปพร้อมกัน … เราต้องปลดปล่อยทั้งตัวเราเอง และปลดปล่อยผู้ที่กดขี่เราด้วย” 

 

ไผ่ จตุภัทร์:

 

เรื่องนี้มันใช้กับชีวิตได้นะ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง ผมยกตัวอย่าง สมัยก่อนเวลามองศัตรู เรามองอีกแบบหนึ่ง ตำรวจสันติบาล เราจะไม่คุย แต่วันหนึ่งพอเราคุยกับเขาแบบไม่มีอคติ เขาก็เปิดใจนะ มันเป็นความเข้าใจว่าเขาเห็นด้วยกับเรา แต่ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัวของเขา เขาเลยแสดงออกแบบเราไม่ได้ มันทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ หรืออย่าง ผู้คุมในเรือนจำ เขาก็อยากทำ แต่ถ้าเขาทำแล้วครอบครัวจะอยู่อย่างไร ทุกหน่วยราชการตอบแบบนี้หมดเลย ตอบแบบนี้หมดเลยว่าครอบครัว พ่อแม่ลูกเมียจะอยู่อย่างไร ถ้าเราไม่มอบความรักให้เขาก่อน เราจะไม่เห็นเลยนะ ว่าจริงๆ เขาก็เห็นด้วยกับเรา


 

ผมว่าสังคมตอนนี้มันสู้กันเรื่องความคิด ถ้าประยุทธไปแต่เผด็จการก็ยังอยู่ อย่างสฤษดิ์ตาย ถนอม ประภาสตาย เผด็จการก็ยังอยู่ เฟรเร บอกว่าเราต้องปลดปล่อยตัวเองและเขาด้วย ไม่รู้ว่ามันจะปลดปล่อยเขาได้หรือเปล่านะ แต่ถ้าในระดับปฏิบัติการนี่ได้ เขาเปิดใจกับเรา ไม่รู้จะเกลียดกันทำไม แต่ในระดับบนนี่ไม่รู้ คือพวกนี้ถ้าไม่มีความหวังจริง เขาไม่ทำอยู่แล้ว แต่ถ้ามีจังหวะที่ใช่ ผมว่าเขาออกมานะพวกข้าราชการทั้งหลาย จากที่ผมสัมผัส ผมว่าเขามา แต่ตอนนี้ถ้าทำแล้วไม่ได้อะไร เขาไม่ออกมาหรอก เราก็ให้เกียรติเขาไงว่าเขามีครอบครัว ซึ่งนั่นมันคือความรักของเขา 

 

ผมออกจากคุกมา สันติบาลก็ตามมาบอกว่า ขอตามเป็นพิธีนะ ผมก็บอกว่าได้พี่ ตามมาๆ แล้วเขาก็แค่ไปรายงานนายเขา ถ้าเป็นแต่ก่อนนะดึงกันแน่ ตอนนี้ไม่สนใจแล้ว เราก็มองว่าเป็นหน้าที่หนึ่ง เขาก็เปิดกับเรา พอออกจากหน้าที่แล้ว ก็เหมือนมนุษย์คนหนึ่งที่คุยกัน

 

คือสังคมไทยมันแย่มาก ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน มันวิกฤตไปหมด แต่สิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จคือการแบ่งแยกแล้วปกครอง แต่ถ้าเรามองดีๆ พวกผู้ปกครองระดับปฏิบัติการทั้งหลาย ตำรวจ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ฯลฯ จริงๆ แล้วคือผู้ถูกกดขี่หมดนะ ผู้ถูกกดขี่นี่เยอะมาก ผู้กดขี่นี่มีไม่กี่คนนะในสังคมไทย ถ้าเรามองกันด้วยความโกรธ มันก็เลยไม่เห็นกัน

 

อย่างเรื่องความเห็นต่างระหว่างคนในสังคม เขากดขี่เราแล้วยังไม่มากพอเหรอ เราถึงต้องมากดขี่กันเอง มันก็ยิ่งทำให้ผู้ถูกกดขี่อ่อนแอ กดกันไปกดกันมา ผู้ถูกกดขี่ก็อ่อนแอสิ เป็นมุมเหลืองมองแดง แดงมองเหลือง ทั้งหมดนี้เป็นผู้ถูกกดขี่กันทั้งนั้น ลองจินตนาการว่า ถ้าผู้ถูกกดขี่ออกมารวมตัวกันจะขนาดไหน ผมพยายามทำอยู่ ถ้าเรามองว่าตัวเองเป็นผู้ปลดปล่อย เราก็จะทำอีกแบบหนึ่ง


 

เราต่างเป็นผู้ถูกกดขี่

ที่กำลังจะกลายเป็นผู้กดขี่เสียเอง

 

วิจักขณ์ เสริมประเด็นจากหนังสือ “การศึกษาสำหรับผู้ถูกกดขี่” ว่าเราต่างถูกหล่อหลอมมาในระบบการศึกษาของผู้กดขี่ทั้งนั้น การศึกษาที่กลายเป็นเครื่องมือของผู้กดขี่ กดไม่ให้ผู้เรียนปลดปล่อยตัวเองออกมาได้อย่างเสรี เป็นความพยายามในทุกยุคทุกสมัย เริ่มตั้งแต่ในห้องเรียนที่สร้างความรู้สึกกลัวให้เราตลอดเวลา ไปจนถึงครอบครัว ที่ทำงาน สังคม

 

“เฟรเรกล่าวไว้ในหนังสือว่า “ความเงียบงันเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด” เมื่อบรรยากาศเต็มไปด้วยความกลัว คนจะไม่พูดออกมา แต่เราต่างรู้กันดีว่าเวลาพูดไม่ออก ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรจะพูด แต่ความกลัวที่จุกอยู่ในคอมันเป็นยังไง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่สำคัญกว่าความกลัว นั่นก็คือความรัก ที่ค่อยๆ ถูกกีดกันไปจากระบบแบบนี้ ระบบที่ทำให้เราสูญเสียความสั่นไหวไปกับเรื่องราวของเพื่อนมนุษย์ ระบบที่ปิดเสียงความรู้สึกของผู้คนเอาไว้ จนทำให้เราไม่ได้ยินกันและกัน ไม่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดร่วมกัน การศึกษาที่ไม่เคยส่งเสริมให้เราเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราไม่มีจินตนาการเลยด้วยซ้ำว่าไอ้มนุษย์ที่สมบูรณ์เนี่ยหน้าตาเป็นยังไง สุดท้ายก็ต้องกระเสือกกระสนไปหาความหมายชีวิตกันเอาเองในวันที่ ‘สำเร็จการศึกษาแล้ว’ เพื่อฟื้นฟูหัวใจ ความเป็นมนุษย์เช่นนั้นให้กลับคืนมา 
 

ไผ่ จตุภัทร์:

การกดขี่แบบนี้มันคือการกดขี่ที่ผู้ถูกกดขี่ไม่รู้ตัว รัฐมีเครื่องมือที่จะสร้างภาษาใหม่ เขากดขี่เราแบบไม่รู้ตัว เขาไม่ได้กดตรงๆ เหมือนสมัยก่อนเพื่อนแกล้งเราตบหัว เราสวนได้ แต่เดี๋ยวนี้มันแนบเนียนกว่านั้น ตบเหมือนไม่ตบ ปัญหาสังคมไทยคือ ผู้ถูกกดขี่ไม่รู้ว่าตัวว่าถูกกดขี่อยู่ เราคุยกันวันนี้เพื่อไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นี่คือการศึกษาเพื่อการปลดปล่อย แต่จะปลดปล่อยได้ยังไง หากเรายังไม่รู้ว่าตัวเองถูกกดขี่อยู่ 


 

การกดขี่ ที่แทรกซึมจากรัฐสู่ครัวเรือน

จะเคลื่อนไปสู่จุดใหม่ไม่ได้ หากสำนึกไม่เปลี่ยนแปลง

 

วิจักขณ์ ขยายความให้เห็นความสำคัญของการยุติการกดขี่ตั้งแต่ระดับจิตสำนึกของปัจเจกชน เพราะไม่มีทางที่เราจะไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ หากสำนึกแห่งการกดขี่ยังอยู่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง 
 

ในงานของเฟรเรนั้นกล่าวว่า หากเราปล่อยให้การกดขี่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วอำนาจนิยมของการกดขี่จะทำงานในทุกระดับ แทรกซึมไปในทุกความสัมพันธ์ตั้งแต่รัฐ ที่ทำงาน มิตรภาพ ไปจนถึงครอบครัว


“ในบ้านพ่อใช้อำนาจ ลูกถูกสอนว่าต้องเชื่อฟังพ่อ ห้ามเถียง เราก็จะเงียบ ไม่กล้าพูด กดตัวเอง การกดขี่มันเข้ามาในตัวเราแล้ว เราไม่เป็นตัวของตัวเอง พอเป็นวัยรุ่น เราก็เริ่มโกรธ เราพยายามปลดปล่อยตัวเองออกมาด้วยความโกรธ ถามว่านี่มันคือที่สุดไหม ไม่ เราบอกว่าเราจะไม่เป็นเหมือนพ่อ แต่สุดท้ายเราก็ใช้วิธีการเดียวกับเขา เราอาจเหมือนมีสำนึกวิพากษ์วิจารณ์ ปลดปล่อยตัวเองออกมาได้ในระดับนึง แต่ความเป็นผู้กดขี่ยังคงอยู่ในตัวเราในรูปแบบของการปฏิเสธและต่อต้าน และที่แน่ๆ คือความสัมพันธ์แบบนี้มันไม่ช่วยให้เกิดการสื่อสาร มันไม่ช่วยรื้อฟื้นความเป็นมนุษย์ทั้งของพ่อเราและของตัวเรา ในความสัมพันธ์แบบปฏิกิริยา พ่อเราก็ไม่เป็นมนุษย์ ตัวเราก็ไม่เป็นมนุษย์ แปลงร่างเป็นความโกรธอะไรของเ

 

“ถามว่ามันง่ายไหม มันก็ไม่ง่าย เวลาเราขับเคลื่อนด้วยความเห็นต่าง ความโกรธ เคยไหม มันมีจุดที่บล็อกเพื่อน อย่าคุยกันเลย แล้วมันมาถึงจุดที่ รู้ตัวอีกที ก็ไม่มีใครเหลือแล้ว เราเริ่มอยู่คนเดียว เพื่อนหายไปหมด มีแต่คนที่คุยด้วยได้ แล้วเราก็ด่า ก็บ่นกันในกลุ่มของเราเอง ซึ่งแบบนี้มันไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือการปลดปล่อยทางสังคมใดๆ เลย อำนาจนิยมก็ยังอยู่ จนแว้บนึงที่เราเรียนรู้ เราจะเริ่มเข้าใจตัวเองแล้วว่าเราต้องการอะไร เราไม่ได้ต้องการแบบที่พ่อเคยยัดเยียดนะ แต่เราจะสื่อสารยังไง ความสัมพันธ์จะกลับมายังไง สุดท้ายเราต้องรื้อฟื้นความเป็นมนุษย์ของตัวเราเองและของคนที่กดขี่เรา เพื่อปลดปล่อยความสัมพันธ์พ่อลูกที่ติดอยู่กับอำนาจนิยม” 

 

“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่อำนาจการเมืองนะ มันอยู่ในความสัมพันธ์ด้วย สุดท้ายมันกลับไปที่ไผ่ทำ คือเราจะกลับมามีไดอะล็อกกันยังไง เราจะเริ่มถามกันยังไงว่าพ่อสบายดีไหม เริ่มจากจุดนั้นแล้วค่อยไปเรื่องอื่น แล้วมันจะค่อยๆ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ ฟื้นความรัก ถ้าเราไม่ผ่านอะไรแบบนี้นะ ความเป็นมนุษย์มันจะไม่กลับมา พูดกี่ทีก็โครงสร้าง วาทกรรม ปฏิรูป พูดร้อยปีก็เป็นแบบนี้ ทั้งฝ่ายกดและฝ่ายถูกกดแชร์สำนึกเดียวกัน เราพูดถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ลึกๆ จิตสำนึกมันไม่เปลี่ยนเลย”
 

ไผ่ จตุภัทร์:

 

เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมันไม่ได้มีแต่พวกเรา ถ้าเขาคิดต่างแต่เราปิดกั้น มันไม่พอไง ปัญหามันใหญ่มาก เราจะหาพวกได้ยังไงถ้าเราไม่เปิด แล้วปรับ มันมาถึงจุดที่มีแต่พวกเรา ไปไหนก็มีแต่พวกเรา มันทำอะไรไม่ได้ สิ่งหนึ่งคือเราต้องเปิดตัวเองก่อน เราอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เราต้องเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของเขา แลกเปลี่ยนกัน มันจะเกิดความรู้เรื่อยๆ จากเล็กๆ น้อยๆ ถ้าคุยเรื่องความคิดก่อนมันจะมีกรอบ แต่ถ้าคุยเรื่องความเป็นมนุษย์ก่อนมันจะแตกไปได้เรื่อยๆ สุดท้ายมันมีความจริงเดียว แต่ถ้าเราปิดกั้น การเรียนรู้ความจริงที่ว่านี้มันจะไม่เกิด บางคนอาจจะเรียนรู้เร็ว เรียนรู้ช้า ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่คุยกันมันจะยิ่งเลวร้ายไปเรื่อยๆ 

 

การเมืองไทยมันถูกทำให้เป็นเรื่องของนักการเมือง ทั้งที่จริงการเมืองเป็นเรื่องของชีวิต การศึกษา การเกณฑ์ทหาร ทุกอย่าง ไล่เรียงไปเลยเป็นเรื่องการเมืองหมด แต่เรื่องการเมือง สีเสื้อมันถูกทำให้น่ารำคาญ มันเป็นบรรยากาศที่ถูกสร้างโดยผู้กดขี่ (แบ่งแยกแล้วปกครอง) เราต้องสร้างให้เกิดบรรยากาศใหม่ เราต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอ เราสู้กับเขาตลอดเวลา จนเราอาจจะหลงลืมตัว วิธีการที่เราปิดกั้นการเรียนรู้ของคนอื่น มันก็เป็นวิธีการของผู้กดขี่ เพียงแค่บางทีมันอยู่ในสำนึกเรา เราไม่รู้ตัว สำคัญมากที่เราต้องตรวจสอบตัวเอง


 

กระบวนการกลุ่ม

กระบวนการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของ

 

ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งแลกเปลี่ยนความเห็นถึงความท้าทายในการเลี่ยงใช้อำนาจในระบบใหญ่ๆ โดยตั้งข้อสังเกตจากห้องเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเอาไว้ว่า:


 

“เราพูดในฐานะทั้งเป็นผู้กดขี่และเป็นผู้ถูกกดขี่ในเวลาเดียวกัน เวลาผมสอนในมหาวิทยาลัย ในคลาสเล็กๆ เรามีเวลาพูดคุยกับเขา มีเวลาแลกเปลี่ยน แต่เวลาสอนคลาสใหญ่สามร้อยคน ห้าเซค เทอมหนึ่งพันห้าร้อยคน พอมันเป็นคลาสใหญ่ปุ๊บ ความเป็นมนุษย์ของเขาผมไม่รู้จัก ผมทำได้แค่ assign งาน การศึกษาบอกอยากให้มีฟีดแบ็ค แต่นักศึกษาสามร้อยคน ผมไม่สามารถคุยเหมือนคลาสเล็กได้ เราไม่สามารถจัดการได้ การใช้อำนาจมันง่าย assign งานไป ฉะนั้นกลับมาใช้อำนาจมันง่ายกว่า เนี่ยคือการกลายเป็นผู้กดขี่ทั้งๆ ที่เราไม่อยาก แต่ด้วยสถานการณ์ที่ถ้าสอนสามร้อยคนก็ต้องทำแบบนี้ ทั้งที่ไม่น่าจะเวิร์ค ก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้วิธีการแบบนี้ไปใช้ในคลาสใหญ่ ระดับสังคมได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีคำตอบว่าจะทำยังไง” 

 

“มันทำให้นึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นทหาร เคยเป็นคนลิเบอรัลมาก แต่พอสอบหมอทหารได้ ก็ไปเป็นทหาร กลับมาเจอกันก็คุยเรื่องการเมืองนี่แหละ แต่เขาเปลี่ยนไป บอกว่าคุยเรื่องการเมืองได้ไม่มีปัญหาหรอก แต่เขาคุมไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเหลืองจะแดง ไม่ได้บอกนะว่าใคร วิธีคุมคืออะไร แต่ถ้ามันมีอะไรแหลมออกมา มันต้องกด มันคงเหมือนกับวิธีในห้องเรียน คือมันต้องคุมด้วยการกด”

 

“อาจารย์ฝรั่ง แกบอกให้ใช้วิธีการสอนแบบไม่สอน แค่ไม่สั่ง ให้เขาไปหาวิธี แต่มันยากมาก คนที่เป็นอาจารย์ที่ใช้วิธีการนี้ได้มันต้องมีทักษะ อาจารย์ฝรั่งเขาบอกให้เชื่อใจนักศึกษา แต่ผมไม่สามารถมองตานักศึกษาที่ไม่เข้าใจได้ คือทำได้ในคลาสเล็ก แต่คลาสใหญ่ผมไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่มันก็คงมีวิธี”

 

 

ไผ่ จตุภัทร์:

 

ผมขอแชร์เรื่องการทำค่าย ปกติเวลาเราทำค่าย เราต้องมีทีมค่าย ตั้งแต่เริ่มวางแผน ออกแบบ ผมทดลองค่ายหนึ่งตั้งชื่อว่า ชาวค่ายเซนเตอร์ คือไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยจริงๆ เงินก็ไม่มี เขียนป้ายบอกว่า “ไปค่าย” ทำกันสองคน แต่พอติดป้ายว่า ไปค่าย คนมาสมัครเยอะเลย บอกไปเลยว่าเราจะทำค่ายกันนะครับ แต่ตอนนี้เราไม่มีอะไรเลย โยนไปกลางวง แต่ผิดคาด ทุกคนเสนอกันมา เดี๋ยวหาทางบริจาค เปิดหมวก ฯลฯ เราไม่ต้องไปแบกรับเลย บางทีเราไม่รู้ก็ได้ โยนไปสิ แล้วมันจะทำให้กลุ่มที่ไม่มีอะไรเลยจนเกิดค่ายสำเร็จ บางทีเราไม่จำเป็นต้องเป็นคนแก้ปัญหาคนเดียว ปัญหาใหญ่ๆอาจให้หลายคนช่วยกันแก้ เช่น เราเริ่มจากค่ายสองคน แต่กระบวนการเรียนรู้ดีกว่าเราทำค่ายแบบออร์แกไนซ์อีกนะ ซึ่งมันทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของค่าย 


 

เหมือนกับในห้องเรียนที่เราต้องโยนความเป็นเจ้าของให้เขา โยนความมีส่วนร่วมให้เขา มันเป็นความกลัวของเราเองที่เราไม่กล้าใช้วิธีการอื่นๆ อย่างที่ผมลองทำสองครั้งนี่ยังสำเร็จอยู่นะ มันเปลี่ยนจากที่เราต้องแบกรับ น้องจะมีกินไหม จะทำอะไร กลายเป็นว่าเราไม่ต้องแบก น้องก็สนุก เราก็สนุก กระบวนการเรียนรู้ก็สนุก อาจจะเป็นห้องเรียนเซนเตอร์ ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง อาจารย์ก็ไม่ต้องทำอะไร แล้วมันอาจจะเหมือนผม ที่การเรียนรู้มันจะเกิดขึ้นเอง ถ้าเราเป็นเจ้าของ เราจะเหนื่อย แต่ถ้าเราทำให้โจทย์นั้นให้เป็นของทุกคน ค่อยๆ ไป ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แต่มันเป็นวิธีการใหม่ เหมือนที่เราบอกกันว่าวิธีการผู้กดขี่มันง่ายไง ไม่งั้นเราก็เปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนสังคมได้นานแล้ว แต่แบบนี้มันยาก โจทย์นี้มันท้าทายพวกเราประมาณหนึ่ง 


 

ไดอะล็อก:

ปลดล็อคความ(ไม่)เข้าใจระหว่างเรา

ปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

“สองปีห้าเดือน ได้หรือเสียอะไรกับมัน”

 

เสียอย่างชัดเจนเลย คือชีวิตวัยรุ่นผมหายไปสองปี ยี่สิบห้า ยี่สิบหกนี่กำลังห้าวเลย แต่ในสิ่งไม่ดีมันก็มีสิ่งดีอยู่ คือมันเลือกไม่ได้เนาะ คือผมเห็นความเป็นมนุษย์ที่มันหลากหลาย คืออยู่ในนั้นเป็นแบบนี้เลยนะ เป็นพัน แต่ไม่มีโซเชียล มันทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ เราเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะรูปแบบไหนเห็นมาหมด บ้า ดี ลักเล็กขโมยน้อย มันเห็นว่าเออ มนุษย์มันหลากหลาย ประสบการณ์ในคุกทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่ว่าเออเข้าใจ แต่เราได้อยู่ด้วยกัน ทำให้มุมมองเราเปลี่ยนมากๆ เรื่องความหลากหลาย

 

ตอกย้ำเราว่ามาถึงขนาดนี้แล้วสองปียังทนได้เลย มันก็ต้องทำต่อ มันมีสภาวะอยากทำไม่อยากทำอยู่บ้าง ไอสิ่งที่เราทำมันยากจริง แต่ทุกครั้งที่มันผ่านไปแล้ว มันง่ายนิดเดียว ปีแรกนี่แป๊บเดียว แต่ปีสองนานมาก ยิ่งเดือนสุดท้ายที่จะออกเนี่ยโคตรนานเลย แต่พอผ่านไปแล้ว อ้าวผ่านแล้วนี่ ในชีวิตก็เหมือนกัน ในชีวิตจะมีการตัดสินใจใหญ่ๆ สักกี่ครั้ง แต่ถ้าเราเลือกสิ่งที่จะทำแล้ว ถ้าเราผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว ทำไมเรื่องอื่นจะผ่านไปไม่ได้ ขั้นสุดของชีวิตคือตายใช่ไหม แต่ขั้นรองคือติดคุก ผมก็ผ่านมาได้แล้วระดับนึง ถ้าผมติดคุกได้ ใครๆ ก็ติดได้ (ฮา) 


 

2 ปี 5 เดือนได้อะไรเยอะมาก ได้อ่านหนังสือเยอะ ได้เรียนรู้กระบวนการยุติธรรม และอยากไปเปลี่ยนมัน ได้เรียนรู้กระบวนการของมันตั้งแต่ต้น ตั้งแต่กฎหมายรอบตัว ไล่มาถึงสุดท้าย อันนี้คือเปิดมุมมอง และสร้างพื้นที่ให้กับคนอื่นด้วย ผมมองให้การติดคุกเป็นประโยชน์ เอาเรื่องที่เมื่อก่อนคิดว่าเป็นปัญหา ไม่ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ แต่พอเราเข้าใจความเป็นมนุษย์ มันมีสิทธิอื่นๆ เยอะกว่านั้นอีก การกดขี่อื่นๆ ที่มี การเข้าใจต่อโลกมันมากขึ้น และฝึกความแข็งแกร่ง ก็โตขึ้นสำหรับตัวเองในด้านความคิด การเผชิญความยากลำบาก เพราะอยู่ในจุดที่สุดๆ ไปแล้ว ที่เหลือก็ไม่เป็นไรแล้ว 

 

ผมอยากให้เรามาสร้างบรรยากาศแบบนี้กัน บรรยากาศแบบนี้มันไม่มีใครทำ ถ้าเราไม่ทำกันเอง ขยายบรรยากาศแบบนี้ ขยายความรักแบบนี้ บางทีคุยกันโดยไม่ต้องมีข้อสรุป แต่คุยกันเพื่อได้คุยกัน ทำไมคุยกันต้องมีอะไร คุยเพื่อคุย แล้วค่อยเรียนรู้กันไป เรียนรู้เรื่องการกดขี่ เพื่อปลดปล่อยตัวเองแล้วปลดปล่อยคนอื่น นั่นแหละคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง 

 

ถ้าเราเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงได้มันก็ได้ ถ้าเราคิดว่ามันใหญ่เกินตัวมันก็ไม่ได้ จุดแรกเราต้องเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของคนทุกคน

 

ขอบคุณครับ



 

ขอบคุณ

วัชรสิทธา สำหรับการบันทึกเสียงบทสนทนา

“ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ กับไผ่ ดาวดิน”

8 กันยายน 2562

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
พลังเยียวยาแห่งโพธิจิต
วัชรสิทธา • vajrasiddha
“ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ”กับ ไผ่ ดาวดิน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย (ตอนที่ ๒)
วัชรสิทธา • vajrasiddha
Myth of the Broken Heart Warriorsทุกข์อย่างเป็นมิธ: เห็นทุกข์เป็นหนทางณัฐฬส วังวิญญู เขียนจากประสบการณ์การสอนคอร์สอบรมThe Myth of the Broken Heart19-21 กรกฎคม 2562ณ วัชรสิทธา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 “รู้จัก Voice Dialogue”บรรยายโดย มะเหมี่ยว วรธิดา วิทยฐานกรณ์และทีมงาน Voice Dialogue Thailandวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 ณ วัชรสิทธาสรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Public Talk: Maitri and Psychotherapyพื้นฐานการทำงานด้านจิตบำบัดด้วยไมตรีคิม โรเบิร์ตสครูสอนโยคะ นักจิตบำบัด นักเขียนอาจารย์พิเศษ Contemplative Psychology ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา