Skip to main content

 

WUJI : Unlock Potential

กำลังแห่งสุญญตาธรรม

อ.ต้น ร่วมด้วย หมอดิน ถ่ายทอดและนำกระบวนการ

ชัยณภัทร จันทร์นาค เรียบเรียงเนื้อหา

 

Unlock Potential

ภาพจำของ Taichi มักจะมาพร้อมกับกลุ่มผู้สูงวัยที่กำลังเคลื่อนไหวช้าๆ อยู่ในสวนสาธารณะสักแห่ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันมีที่มาจากศิลปะการต่อสู้ที่ถูกคิดค้นโดยเหล่านักพรตสายเต๋า

“มองดูปัจจุบัน เต๋ามันกลายเป็นท่านี้อย่างนั้น ท่านั้นอย่างนี้ โดยปราศจากความเข้าใจถึงแก่นแท้ของมัน”- อ.ต้น ธนัท เลิศผกากุล เกริ่นเข้ากิจกรรม

อ.ต้น เจอกับ หมอดินที่ฝึก Taichi อยู่โดยบังเอิญ เมื่อคุยกันไปพักใหญ่ๆ  อ.ต้นรู้สึกได้ถึงความต้องการที่จะทำอะไรสักอย่างของเขาเอง หมอดินจึงพา อ.ต้น มารู้จักกับ อ.ตั้ม วิจักขณ์ พานิช ที่วัชรสิทธา

ปกติแล้ว อ.ต้น จะสอนศิลปะการต่อสู้ แต่ในครั้งนี้ที่วัชรสิทธาเขาอยากทำอะไรบางอย่างที่มากกว่าการถ่ายทอดวิชาการต่อสู้และความแข็งแรงของร่างกาย และที่สำคัญการได้มาจัดคอร์สในครั้งนี้ก็ยังเป็นการตอบโจทย์บางอย่างให้กับตัวเขาเองอีกด้วย

“ใจจริง คุยกับต้นว่าอยากตั้งชื่อคอร์สนี้ว่า “กำลังภายใน” เพราะจริงๆ มันคือเรื่องนี้เลย กำลังภายในที่เมื่อเราเข้าใจมันแล้ว เราจะรับรู้ถึงความผ่อนคลาย และในสภาวะที่เราผ่อนคลาย ร่างกายของเราก็มีศักยภาพสูงสุด” – หมอดินกล่าว

เรามี 4 รยางค์ แต่ละรยางค์ของเราสัมผัสกับพื้นแค่ 2 จุดตรงฝ่าเท้า ความสามารถในการตั้งหลังตรงของเรานี้เองที่สร้างความแตกต่างบางอย่างกับสัตว์ที่มีรยางค์ทุกอันแตะกับพื้น

“มวยถูกคิดขึ้นมาผ่านลักษณะทางกายวิภาคของเรากับธรรมชาติที่เราอาศัยอยู่”

 

WUJI

WUJI คือ ความว่างในทัศนะแบบคัมภีร์เต้าเต๋อจิง ซึ่งเป็นความว่างที่ไม่ใช่สภาวะที่ไม่มีอะไร แต่คือความว่างจากสภาวะ

“สุญญตาธรรมในเต๋าไม่ได้พูดว่าเราจะอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำอะไรเลย การฝึกฝนทำให้เราย้อนไปสู่สภาวะเหมือนก่อนที่เราจะมี Muscle Memory ก่อนความทรงจำ หรือตอนเราหลับไป แล้วเพิ่งตื่นใหม่ๆ ช่วงที่เรายังไม่ได้ควบคุมร่างกาย ไม่ได้สุข ไม่ได้ทุกข์ ตื่นมาก็แค่ตื่น” - อ.ต้น

สภาวะ Taichi คือ ทวิภาวะ ที่เป็นเหมือนขั้วตรงข้ามกัน เมื่อเราฝึกที่จะอยู่กับร่างกายที่เป็นสุญญตา เราจะเริ่มสัมผัสได้ถึงศักยภาพในการหยิบสภาวะ Taichi ออกมาใช้ โดยที่เรายังคงสภาวะของกายและจิตที่เป็นสุญญตาอยู่แล้วไว้ได้

“ก่อนที่จะมีสภาวะร่างกายที่เป็นสุญญตาได้ เราต้องทิ้งสิ่งที่เราแบกเอาไว้อยู่ก่อน”

การฝึกในวันนี้จะทำให้เราได้สำรวจประสบการณ์บางอย่างที่สะสมอยู่ในร่างกาย ในกล้ามเนื้อ เป็นประสบการณ์ที่ต่อให้นอนหลับพักผ่อนไปแล้วก็ยังต้องตื่นมาเจอ

“ทางการกีฬาเขาบอกว่าเป็น Muscle Memory แต่ Muscle Memory มันก็ต้องเกิดจากกายกับจิตเราสะสมไปพร้อมๆ กัน”

 

ความทรงจำทางร่างกาย

อ.ต้นยกตัวอย่างรูปแบบการเดินแบบต่างๆ ของผู้สูงอายุในห้างสรรพสินค้า บางคนเดินหลบคนเก่งมาก บางคนต้องเดินชิดขอบ

แต่อาการหรือความสามารถตรงนี้ก็เกิดขึ้นจากความกลัวชน กลัวเจ็บ หรือกลัวล้ม เพราะการล้มของผู้สูงอายุนั้นอาจหมายถึงอาการเจ็บป่วยและการรักษาต่างๆ ที่จะตามมา ไม่เหมือนกับเด็กที่พร้อมจะวิ่งไปชนทุกอย่าง

“ต้องหลบก่อน เกร็งไว้ พยายามดีลกับมันด้วยประสบการณ์ เพื่อให้เราปลอดภัย สิ่งนี้มันจะคาอยู่ในร่างกายเรา แม้ไม่มีเหตุอะไรก็ตาม”

อ.ต้นให้ผู้เข้าร่วม 2-3 ท่านออกมาเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายอาการต่างๆ ที่ติดแน่นอยู่กับร่างกาย โดยที่เขาก็ไม่ได้บอกก่อนว่าจะให้ตัวแทนออกมาทำอะไรนอกจากให้ยืนผ่อนคลาย

จากนั้นอ.ต้นก็เริ่มเข้าไปแตะที่มือข้างหนึ่งของตัวแทน ซึ่งอาการทางกายที่เกิดขึ้นของตัวแทนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนยกแขนทั้งๆ ที่อ.ต้นยังไม่ได้ทันออกแรงหรือหยุดออกแรงไปแล้ว บางคนค่อยๆ ลดแขนลงเมื่ออ.ต้นเอามือออก บางคนออกแรงต้าน ทุกคนต่างก็มีอาการที่เกิดขึ้นเองจากความเคยชินบางอย่างและก็แสดงออกมาทั้งๆ ที่อ.ต้นก็ไม่ได้บอกเลยว่าต้องทำอะไรนอกจากผ่อนคลาย

“ความทรงจำทำให้เรารู้สึกว่า ปล่อยไปเดี๋ยวเจ็บนะ อายุมากขึ้นยิ่งเป็นมาก เด็กบางคนที่เครียดมากๆ ก็เป็น ก็แล้วแต่ว่าเขามีชีวิตมายังไง มีความเคยชินอะไร”

ความเคยชินทางกายและจิตทำงานสะท้อนกันไปมาเสมอ จิตที่ชอบคิดร่างกายก็คิดตาม ร่างกายที่ติดขัดจิตก็ติดขัดไปด้วย ในการล้างความเคยชินบางอย่างนั้น เราจึงสามารถทำได้โดยเริ่มจากการปรับร่างกายหรือความคิดก่อนก็ได้ เพราะเมื่อข้างหนึ่งถูกปรับ อีกข้างหนึ่งก็อยู่ได้ยากขึ้น ต้องปรับตาม

How to ทิ้ง

“ถ้าเราเอาคนมาคนนึง บอกให้เขายืนผ่อนคลาย เขาจะหาจุดที่เกร็งก่อน คือคนคิดผ่านการกระทำหมดเลยนะครับ คนไม่ได้คิดว่า พอฟังแล้ว อ๋อ... ไม่กระทำ”

ยิ่งเราพยายามคลายส่วนที่เกร็ง เราก็ยิ่งเกร็งส่วนอื่นๆ ตามมาโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเราไม่สามารถที่จะใช้ความคิดเข้าไปบังคับจุดที่ตึงเครียดไม่ให้ตึงเครียดได้

อ.ต้นให้ผู้เข้าร่วมทุกคนลองสัมผัสประสบการณ์ของการทิ้งโดยการยืนผ่อนคลาย เริ่มต้นจากกลางกระหม่อมลงไปยังฝ่าเท้าด้วยท่าทีของการปล่อย ไม่ใช่ความพยายามที่จะผ่อนคลาย ไม่ใช่ความพยายามในการสร้างสมดุล หรือการกำหนดอะไรทั้งนั้น

“มันไม่มีดุลอะไรทั้งนั้น มันคือการปล่อย ทิ้ง พอเราทิ้งสุดๆ จริงๆ ร่างกายที่ทิ้งแบบนี้ ใจเราก็จะทิ้งอย่างนั้น” - อ.ต้น

เรากลับมารับรู้ถึงแรงในทิศทางลงของแรงโน้มถ่วงที่กระทำกับร่างกายของเราอยู่แล้วตลอดเวลา เราปล่อยให้ความตึงเครียดต่างๆ ตกลงไปตามสภาวะของการทิ้งทุกอย่าง

“ใจเราจะไม่ไปจดจ่อกับผิวหนัง ความรู้สึก ลม อากาศ ความเย็น เพ่งลมหายใจก็ไม่ได้ นี่คือการที่เราจะไม่ทำอะไรทั้งนั้น เราปล่อยจากบนสุดไล่ลงมา”

หลังจากที่ทุกคนได้ฝึกยืนกับสภาวะปล่อยมาสักพัก ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งก็ถามอ.ต้นถึงวิธีการจัดการกับอาการเกร็ง

“ส่วนที่เริ่มเกร็งส่วนแรกคือความคิดเรา ยิ่งเรากระวนกระวาย ขาเกร็ง ขาเกร็ง มีตรงไหนเกร็งอีก ทีนี้ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเลย”

การผ่อนคลาย ปล่อย ทิ้ง ไม่มีวิธีการอธิบายที่เราจะสามารถเอาความคิดไปจับได้ เราแค่สังเกตตามสภาวะของการปล่อยจากบนลงล่างไปเรื่อยๆ โดยไม่มีสูตรลัดใดๆ

อ.ต้นแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทิ้งอาการทางกายที่เราทำโดยไม่รู้ตัว โดยให้เราลองตรวจสอบร่างกายของเราเองหน้ากระจก แล้วถามตัวเองว่าเรากำลังทำแบบที่เราทำอยู่ไปทำไม เราห่อไหล่ทำไม เชิดอกทำไม เกร็งกรามทำไม ยกไหล่ทำไม เมื่อเราเริ่มเห็นแล้วก็ให้ลองเลิกทำดู



 

Expert only

หลังจากที่เราได้ฝึกผ่อนคลายไปกับสภาวะของแรงที่ตกลงแล้ว อ.ต้นก็พาเราฝึกเพื่อรับรู้ถึงแรงอีกชนิดที่เรามักจะไม่ทันได้รับรู้ถึงคือ แรงสะท้อนกลับ

แต่ก่อนที่จะเริ่มฝึกแรงสะท้อนกลับ อ.ต้นก็คั่นรายการโดยการสาธิตการทิ้งและการใช้แรงสะท้อนให้ทุกคนได้ดู โดยการให้ตัวแทนผู้เข้าร่วมมาบีบคอเขาให้ติดผนังอย่างสุดแรง ซึ่งเขาก็สามารถแกะมือและยกคนที่กำลังบีบคอเขาออกมาได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่มีอาการบาดเจ็บหรือระคายเคืองใดๆ

“ถามว่าผมทำอะไร ผมแค่ปล่อยให้เขาทำ ผมปล่อยให้เขาผ่านร่างกายเข้ามา เมื่อแรงเขาผ่านเข้ามา เขาก็ไม่มีแรงอะไรจะไปบังคับเรา เขาสูญเสียการควบคุมตนเองด้วย”

การยินยอมให้แรงที่เข้ามากระทำผ่านเราไป คือการอยู่กับสภาวะของการทิ้งลงล่างในตอนที่เราฝึกยืนผ่อนคลาย และเมื่อแรงที่ไหลผ่านเข้ามาถึงพื้น เราก็ยินยอมให้แรงนั้นสะท้อนผ่านกลับขึ้นมา

“ผมยังต้องคงสภาวะร่างกายแบบเดิมไว้ ถึงบอกว่ามันอันตรายอย่าไปทำ บางคนถูกบีบคอ โอเค ทำได้แล้ว แต่พอจะแกะออกปุ๊ปไปสร้างสภาวะอื่นขึ้นมา ตัวตนเราเปลี่ยนวิธีการควบคุม ทีนี้เลยตายเลยจริงๆ”

 

ทิ้งแล้วยังไงต่อ?

“เราอยู่กับสภาวะของการตกลง มันมีสภาวะที่สะท้อนขึ้นมาอยู่ แต่เรายังปฏิเสธมัน”

หลังจากที่เราเรียนรู้ที่จะทิ้งทุกอย่างเพื่อล้างร่างกายและใจแล้ว อ.ต้นก็พาเรามาเรียนรู้การยอมรับแรงสะท้อนต่อด้วยการยืนในแบบเดิม

เมื่อเราฝึกที่จะอยู่กับการทิ้งได้จริงๆ แล้ว เราถึงค่อยมาอยู่กับการสะท้อนที่เติมกลับขึ้นมาโดยไม่ต้องไปกังวลถึงสภาวะของการตกลง เพราะน้ำหนักตัวของเราทิ้งลงไปเองอยู่แล้ว

ลองเอามือกดลงไปที่กระหม่อมของเราเบาๆ สัมผัสทิ้งการทิ้งในขณะที่กด และรับรู้แรงสะท้อนจากพื้นในขณะที่ปล่อยมือแล้วใช้ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนจากสภาวะของการแบกสู่การสัมพันธ์กับแรงบางอย่างที่ดันให้ร่างกายของเรายืนขึ้น

เมื่อเราสามารถสัมพันธ์กับแรงที่ลอยขึ้นได้ ทุกก้าวที่เราเดินก็จะไม่ใช่ความรู้สึกของการแบกน้ำหนักไว้ แต่จะกลายเป็นกำลังที่เราได้รับกลับขึ้นมาแทน เราไม่ต้องพยายามที่จะยกตัวเองเพราะเราสามารถเชื่อมโยงกับแรงสะท้อนกลับที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ

ในทุกวันนี้การฝึก Taichi เพื่อใช้เป็นศิลปะในการต่อสู้นั้นคงจะตอบโจทย์เพียงบางส่วนในโลกที่มีนวัตกรรมการทำลายล้างที่รุนแรงกว่ามวยเป็นอย่างมาก แง่มุมที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้ จึงเป็นในแง่ของพลังการเยียวยากายใจ เริ่มต้นจากการกลับมาสัมพันธ์กับสภาวะร่างกายที่เป็นสุญญตาที่พร้อมจะให้สิ่งต่างๆ ไหลผ่านได้โดยไม่ขัดขืน และอนุญาตให้เราสามารถเลือกใช้สิ่งที่สะท้อนกลับขึ้นมาได้อย่างมีพลัง

“บางท่านถามว่าจะไป apply ยังไงในชีวิตประจำวัน ผมบอกไว้เลยว่าจริงๆ มันไม่ต้อง apply อะไร การที่เราอยู่กับสภาวะนี้มันก็ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกและการรับรู้ชีวิตของเราอยู่แล้ว”

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
พลังเยียวยาแห่งโพธิจิต
วัชรสิทธา • vajrasiddha
“ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ”กับ ไผ่ ดาวดิน
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย (ตอนที่ ๒)
วัชรสิทธา • vajrasiddha
Myth of the Broken Heart Warriorsทุกข์อย่างเป็นมิธ: เห็นทุกข์เป็นหนทางณัฐฬส วังวิญญู เขียนจากประสบการณ์การสอนคอร์สอบรมThe Myth of the Broken Heart19-21 กรกฎคม 2562ณ วัชรสิทธา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 “รู้จัก Voice Dialogue”บรรยายโดย มะเหมี่ยว วรธิดา วิทยฐานกรณ์และทีมงาน Voice Dialogue Thailandวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 ณ วัชรสิทธาสรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Public Talk: Maitri and Psychotherapyพื้นฐานการทำงานด้านจิตบำบัดด้วยไมตรีคิม โรเบิร์ตสครูสอนโยคะ นักจิตบำบัด นักเขียนอาจารย์พิเศษ Contemplative Psychology ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา