Skip to main content
เวลาผมไม่สบายใจ ผมมักจะแวะไปเจอเพื่อนสนิท กินข้าว กินเหล้า นั่งคุยกันไปเรื่อย แบบไม่มีจุดหมาย เพียงปล่อยให้ความไว้วางใจที่เพื่อนแท้มีให้แก่กัน ก็พอจะช่วยเยียวยาความคับข้องภายในให้คลี่คลายไปได้ แต่ผมยอมรับว่าในบางครั้ง เวลาที่ผมเจอเรื่องหนักๆ ผมมักจะมองหาเพื่อนที่มีความอาวุโสมากกว่าผม ใครสักคนที่ผมสามารถเคารพเขาได้อย่างสุดจิตสุดใจ เป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมรับฟังเด็กหัวแข็งอย่างผมที่ไม่ค่อยจะรู้จักความหมายของคำว่ากาลเทศะ สัมมาคารวะ หรือทักษะการประจบประแจงใดๆ ก็เรามีเพียงใจเปล่าๆที่อยากที่จะเข้าไปหา รับฟัง แลกเปลี่ยน ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ไม่ดัดจริตซับซ้อน ผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน ผู้สำแดงชีวิตผ่านการดำรงตนที่หนักแน่น อ่อนโยน และเต็มเปี่ยม เป็นพลังแห่งการประคับประคองและโอบอุ้มโดยไม่จำเป็นต้องเอื้อนเอ่ยออกมาด้วยคำพูดหรือการวางท่าที

  


ผมเข้าไปพบอาจารย์สุลักษณ์ที่บ้านพักในซอยสันติภาพเกือบทุกเดือน แม้จะไม่เรียกได้ว่าบ่อยนัก แต่อาจารย์คือผู้ใหญ่ที่ผมสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง ผมไม่รู้สึกว่าการเข้าไปหาอาจารย์ที่บ้าน จะต้องมีเรื่องอะไรที่ต้องคุยกันเป็นพิเศษ แค่ผมได้เห็นหน้าอาจารย์ และมีเวลานั่งอยู่ด้วยกันสักสองสามชั่วโมง ผมก็รู้สึกสดชื่น และมีกำลังใจขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก


พุธนี้ก็ไม่ต่างจากครั้งที่ผ่านๆมา อาจารย์ยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรงแม้อายุอานามจะล่วงเข้าไปถึง ๗๖ ปีแล้ว ใบหน้าที่เปล่งปลั่ง ไม่มีริ้วรอยของความตึงเครียดหรือความกังวลใจใดๆ แม้จะยังคงมีแมลงหวี่จากกองคดีงี่เง่าทั้งหลายวนเวียนอยู่บ้าง อย่างที่เราคงพอรู้กัน

.............................


ช่วงที่ผ่านมาผมเห็นอิทธิพลที่ความคิดมีต่อสุขภาพของคนเรามาก นักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักต่อสู้ ที่ทำงานกับความคิดมากๆ มักจะมีปัญหาทางร่างกายแทบจะทุกคน มีเพียงอาจารย์สุลักษณ์ที่ออกจะอยู่ในข้อยกเว้นบางประการ ผมนึกสงสัยจึงถามอาจารย์ว่า อาจารย์ดูแลตัวเองอย่างไร อาจารย์ถึงสามารถที่จะคิดชัด ไม่ฟุ้งซ่าน แถมความคิดยังไม่มีอิทธิพลในทางลบต่อสุขภาพของอาจารย์อีกด้วย


อาจารย์ตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆว่า
"ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับความคิดมากนัก"


คำตอบนี้ทำให้ผมเหวอ จะเป็นไปได้หรือ ที่ปัญญาชนสยาม นักคิดนักเขียนที่มีผลงานนับไม่ถ้วนอย่าง ส.ศิวรักษ์ จะ "ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดมากนัก"


อาจารย์อธิบายว่า สมัยหนุ่มๆ ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ จะมีติวเตอร์คนหนึ่งที่ใกล้ชิดกันมาก ชื่อว่า ครูนิวท์ ครูนิวท์ทำหน้าที่คอยดูแลแกอย่างใกล้ชิด ตักเตือน และเอาใจใส่ อีกทั้งระบบการเรียนการสอนในอังกฤษ ที่ไม่ได้แยกสาขาวิชาทางศิลปศาสตร์อย่างชัดเจนเหมือนในสมัยนี้ คือ เราเรียนทั้งปรัชญา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกัน ทำให้เราได้ตระหนักอยู่เสมอว่า ความคิดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต


สุขภาพของอาจารย์ไม่เคยรวนเพราะความคิด อาจารย์บอกว่า อาจเป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้เป็นคนฉลาด หรือ เก่งสุดๆ ตอนนั้นมีลูกพี่ลูกน้องที่ไปเรียนอังกฤษด้วยกัน เป็นบ้าเพราะเรียนมากไป อาจารย์เองก็รู้สึกกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ครูนิวท์บอกว่า "เธอไม่ต้องกลัวหรอก ขี้เกียจอย่างเธอไม่บ้าแน่นอน" การที่มีกัลยาณมิตรคอยตักเตือนให้เราอยู่บนวิถีแห่งดุลยภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก


ยังไม่จบแค่นั้น อาจารย์ยังเน้นในตอนท้ายอีกว่า
"คิดมากทำให้โง่"


เมื่อเรามัวแต่คิดวนไปวนมา คิดจนเข้าใจ สุดท้ายก็ทำให้เราคิดไปว่าเราฉลาด แต่จริงๆนั่นกลับทำให้เรายิ่งโง่ และกลัวที่จะเรียนรู้กับประสบการณ์จริงของชีวิต อาจารย์บอกว่าหากเรารู้ชัดว่าเราชอบอะไร ต้องการอะไร ก็ให้ทำไป ทุกอย่างถือเป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้ นั่นคือการฝึกการดำเนินชีวิตตามหลักอิทธิบาท ๔ คือ การทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจแบบพอดีๆ


"เริ่มด้วยฉันทะ หรือความพอใจกับสิ่งที่เราเป็น และสิ่งที่เราทำ เมื่อเรามีความพอใจเราก็จะมีวิริยะ หรือความเพียรที่จะทำมันไปเรื่อยๆ เป็นความเพียรที่ไม่ทะเยอทะยานและก้าวร้าว ขณะเดียวกันก็มี "จิตตะ" มาประคอง เป็นด้านของหัวใจที่รับรู้ ว่าเอ๊ะมันมากเกินไปหรือเปล่า จากนั้นก็มี "วิมังสา" เป็นการพิจารณาดูผลที่เกิดขึ้นและคำตักเตือนอย่างรอบคอบ ผมว่าหลักอิทธิบาท ๔ จะช่วยมากให้เราไม่จมอยู่กับความคิดจนเป็นทาสของมัน"


อาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้มีความรู้ในปรัชญาตะวันตกและตะวันออกอย่างลึกซึ้ง การศึกษาปรัชญาตะวันตกของอาจารย์อยู่บนความเข้าใจที่ว่า นักปราชญ์ไม่ใช่เป็นผู้ที่ผูกตัวเองไว้ในโลกของความคิดเพียงอย่างเดียว ผู้รู้อย่างโสกราตีส หากเราศึกษาให้ลึกก็จะรู้ว่า ในความชัดเจนทางความคิด ชีวิตของเขาดำเนินอยู่บนรากฐานทางจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง น่าเสียดายที่ปรัชญาตะวันตกในยุคหลังได้โยนมิติทางด้านจิตวิญญาณทิ้งไปจนหมด ตั้งแต่ยุคสมัยของการปฏิเสธอิทธิพลความเชื่อและอำนาจของศาสนาจักร จนนำไปสู่ภาวะสุดโต่งที่ว่า ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องศาสนาเป็นเรื่องผลประโยชน์ ความงมงายและเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเข้าถึงความจริงทางปัญญา อย่างที่เรียกว่า "Throwing the baby with the bathtub" คือ จะแกะเอากระพี้ทิ้งไป ดันทิ้งแก่นสาระที่มีคุณค่าสูงสุดไปด้วย


ส่วนอีกด้าน การที่เราได้เติบโตมาในวิถีวัฒนธรรมแบบตะวันออก ถือเป็นต้นทุนทางชีวิตที่รุ่มรวย ทำให้เราได้เห็นคุณค่าของจิตใจที่แทรกซึมอยู่ในรายละเอียดเล็กๆของวิถีชีวิต การฝึกคิดให้เป็นย่อมช่วยให้เกิดพลังความแจ่มชัดของการดำเนินชีวิตของตน ไม่สับสนไปกับโลกธรรม ความเชื่อ ความคาดหวัง ความกลัว หรือความสับสนของชุมชนหรือผู้คนรอบข้าง เมื่อหลอมรวมกับการเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างจากภายใน ก็จะบรรสานให้การดำเนินชีวิตสอดคล้องและสมดุลอย่างเป็นธรรมชาติ


นั่นคือวิธีคิดแบบ ส.ศิวรักษ์ คนรู้จักคิด ที่ไม่เคยตกเป็นทาสของความคิด กับมิตรภาพและรอยยิ้มที่มีให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติพันธุ์ ทุกชนชั้นวรรณะ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่จ้องอาฆาตมาดร้ายต่อเขา เป็นเคล็ดลับการมีสุขภาพดีของคุณปู่ผู้น่ากราบไหว้ มอบไว้เป็นของขวัญปีใหม่จีนและไทย ให้ลูกหลานได้ลองนำไปปฏิบัติ

 

 

บล็อกของ วิจักขณ์ พานิช

วิจักขณ์ พานิช
เมื่ออาทิตย์ก่อนเอแบ็คโพลได้รายงานผลสำรวจ ๑๐ อันดับแรกของแนวทางลดความเครียด (ของคนกรุงเทพ) ในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง  “อันดับแรก คือพยายามไม่ยึดติดกับกลุ่มการเมืองใดๆ อันดับสอง ปล่อยวาง ยอมรับสภาพความเป็นจริง อันดับสาม หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง อันดับที่สี่ ลด-งดพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนอื่น และอันดับที่ห้า ลด งดติดตามข่าวสารทางการเมืองทางสื่อต่างๆ ส่วนรองๆ ลงไปคือ ติดตามรายการบันเทิงคลายเครียดให้มากขึ้น พูดคุยปรึกษาปัญหาความเครียดกับคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หาที่พึ่งทางศาสนา ฝึกสมาธิ และเลือกติดตามข่าวสารเฉพาะสื่อที่อยู่ฝ่ายเดียวกับตนเอง” (ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓)
วิจักขณ์ พานิช
 โดยแก่นสาระของการฝึกสมาธิภาวนานั้นไม่มีอะไรมากมาย ขอเพียงผู้ฝึกมีความซื่อตรงและมั่นคงกับประสบการณ์การฝึกของตัวเอง อย่างที่เรียกว่า เรียลลิสติค (realistic) คือ ภาวนาเพื่อการขัดเกลาจิตใจตนเองจริงๆ ไม่ได้มาภาวนาเพื่อได้นั่นได้นี่ เห็นนั่นเห็นนี่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากความทะเยอทะยานยังติดเนื้อติดตัวเรามา การภาวนาก็จะเป็นไปในทิศทางของความทะเยอทะยานนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า "ภาวนา" เป็นคำกลางๆ ที่บ่งบอกถึงการเรียนรู้ใจตน ซึ่งในทางปฏิบัติก็จะแตกต่างกันไปตามอารมณ์ของผู้ฝึก  บ้างก็อาจจะมาด้วยอารมณ์หวังผล อารมณ์บรรลุเป้าหมาย อารมณ์อยากได้ความสงบ อยากมีความสุข …
วิจักขณ์ พานิช
เวลาผมไม่สบายใจ ผมมักจะแวะไปเจอเพื่อนสนิท กินข้าว กินเหล้า นั่งคุยกันไปเรื่อย แบบไม่มีจุดหมาย เพียงปล่อยให้ความไว้วางใจที่เพื่อนแท้มีให้แก่กัน ก็พอจะช่วยเยียวยาความคับข้องภายในให้คลี่คลายไปได้ แต่ผมยอมรับว่าในบางครั้ง เวลาที่ผมเจอเรื่องหนักๆ ผมมักจะมองหาเพื่อนที่มีความอาวุโสมากกว่าผม ใครสักคนที่ผมสามารถเคารพเขาได้อย่างสุดจิตสุดใจ เป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมรับฟังเด็กหัวแข็งอย่างผมที่ไม่ค่อยจะรู้จักความหมายของคำว่ากาลเทศะ สัมมาคารวะ หรือทักษะการประจบประแจงใดๆ ก็เรามีเพียงใจเปล่าๆที่อยากที่จะเข้าไปหา รับฟัง แลกเปลี่ยน ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ไม่ดัดจริตซับซ้อน ผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน…
วิจักขณ์ พานิช
คุณรู้ไหม...เขาว่ากันว่าโลกร้อนน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายน้ำกำลังจะท่วมกรุงเทพฯ ...
วิจักขณ์ พานิช
 เขาเชื่อว่าโลกแบ่งเป็นสองขั้ว คือ โลกทางธรรมและโลกทางโลก (aka. โลกๆ) เขาเคยคิดว่าเขามั่นใจและเข้าใจ จนวันนี้ที่เขาได้ตระหนักแล้วว่า มันก็ยังเป็นเพียงแค่ "คิด" ว่าเข้าใจ หลายปีที่เขาพยายามขดตัวอยู่ในโลกทางธรรมที่เขาสร้างขึ้นจากอุดมคติของความเป็นคนสมบูรณ์แบบ เขารู้สึกถึงรสประหลาดของชีวิตที่เริ่มส่งกลิ่นเหม็นของความหมกมุ่น ไอเดือดของความรุ่มร้อน และผลึกอันเย็นเยือกของความด้านชา วันนี้...เขานั่งครุ่นคิด ทบทวน กับเส้นทางอันแสนประเสริฐที่เขาเลือกเดินไอคุกรุ่นเดือดดันฝากาให้กระเด็นออก เสียงหวีดร้องก้องดังอยู่ในความเงียบงัน…
วิจักขณ์ พานิช
เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียงเชอเกียม ตรุงปะ เคยกล่าวไว้ว่า “หากคุณสามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางทางจิตวิญญาณได้ คุณก็ควรจะทำเสีย” การฝึกฝนทางจิตวิญญาณที่เข้มข้นจะนำพาคุณไปยังสถานที่ที่ซึ่งอัตตาของคุณถูกสั่นคลอนและถอนรากอย่างถึงที่สุด ราวกับกำลังถูกท้าทายด้วยเพลิงไฟแห่งการตื่นรู้ ดังนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณได้ย่างก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งการฝึกตน เรากำลังพูดถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณที่แท้ หาใช่ความเป็นศาสนาที่ฉาบฉวยหรือการโหยหาความสุขสงบด้วยการภาวนาวันละนิดวันละหน่อย เรากำลังพูดถึงการอุทิศตนบนธรรมแห่งการตื่นรู้ในทุกลมหายใจเข้าออก
วิจักขณ์ พานิช
การที่คนคนหนึ่งจะอุทิศชีวิตเข้าสู่เส้นทางแห่งการฝึกฝนตนเองอย่างมุ่งมั่น พลังแห่งศรัทธานั้นมักจะเกิดขึ้นด้วย “จุดเปลี่ยน” อันเป็นช่วงชีวิตที่เขาได้มองเห็นความเป็นจริงในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ความจริงที่แตกต่างออกไปจากแบบแผนหรือความเชื่อที่ผู้คนในสังคมบอกให้ทำตามๆกันมา จุดเปลี่ยนได้นำมาซึ่งแรงดลใจ ความมุ่งมั่น และศรัทธา บ่มเพาะเป็นความกล้าที่จะ “เอาชีวิตเข้าแลก” จนเส้นทางชีวิตของเขาได้ปรากฏเป็นประจักษ์พยานในตัวของมันเอง ชีวิตหนึ่งที่ทำผู้คนรอบข้างได้ตระหนักว่า สิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้สามารถเป็นไปได้ พลังแห่งศรัทธาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะภายใต้ความยิ่งใหญ่ย่อมแฝงไว้ด้วย “ทิฐิ”…
วิจักขณ์ พานิช
ผมกลับเมืองไทยมาได้หนึ่งเดือนแล้วครับ หนนี้ถือเป็นการกลับอย่างถาวร คือ ตั้งใจจะกลับมาทำประโยชน์ที่เมืองไทย หยั่งรากและเติบโตบนผืนดินผืนนี้จริงๆ ตั้งแต่กลับมาวันแรกจนถึงวันนี้ ก็ได้ผ่านอุปสรรคทั้งภายนอกและภายในไปนับไม่ถ้วน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางและหมิ่นเหม่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้ในช่วงเวลาที่การเดินทางด้านในโอนเอนแทบจะเอาตัวไม่รอดในหลายต่อหลายครั้ง  การเดินทางด้านนอกก็ยังคงดำเนินกันต่อไปตามครรลอง ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยพบปะกับผู้คนในแวดวงการศึกษามากมาย ทั้งกับคนที่เคยได้อ่านงานเขียนของผม หรือกับกัลยาณมิตรที่รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัว ผมก็ยังเป็นผม…