เมื่ออาทิตย์ก่อนเอแบ็คโพลได้รายงานผลสำรวจ ๑๐ อันดับแรกของแนวทางลดความเครียด (ของคนกรุงเทพ) ในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง “อันดับแรก คือพยายามไม่ยึดติดกับกลุ่มการเมืองใดๆ อันดับสอง ปล่อยวาง ยอมรับสภาพความเป็นจริง อันดับสาม หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง อันดับที่สี่ ลด-งดพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนอื่น และอันดับที่ห้า ลด งดติดตามข่าวสารทางการเมืองทางสื่อต่างๆ ส่วนรองๆ ลงไปคือ ติดตามรายการบันเทิงคลายเครียดให้มากขึ้น พูดคุยปรึกษาปัญหาความเครียดกับคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หาที่พึ่งทางศาสนา ฝึกสมาธิ และเลือกติดตามข่าวสารเฉพาะสื่อที่อยู่ฝ่ายเดียวกับตนเอง” (ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓)
วิธีที่ถูกอ้างถึงเต็มไปด้วยคำประเภท “ไม่ยึดติด ปล่อยวาง ยอมรับสภาพ หลีกเลี่ยง ไม่เข้าร่วม ลด งด...” จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นถนนในกรุงเทพโล่งเป็นประวัติการณ์ คนกรุงเลือกที่จะขังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกมารับรู้เรื่องราวความขัดแย้ง หรือหากจะรับรู้ก็ขอเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ อันเป็นแนวทางการ “ลดความเครียด” ที่ได้ผลของคนกรุงเทพ
น่าเศร้าที่แนวทาง “ลดความทุกข์ สร้างความสุข” ได้กลายเป็นแนวโน้มของการไม่เผชิญปัญหา เบี่ยงเบนจากการเข้าไปสัมผัสความทุกข์ (หรือร่วมทุกข์) ด้วยตนเอง โดยอาศัยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี สื่อ และสิ่งบันเทิง ที่ได้ช่วยพาให้ผู้คนเบี่ยงและแยกตัวเองออกมาจากความทุกข์เป็นผู้เฝ้าดู ผู้วิเคราะห์ ผู้ติเตียน ผู้รู้ หรือผู้เทศนาสอนสั่ง ไม่ว่าจะแยกตนเป็นขั้วตรงข้ามหรือเป็นกลางๆ บางคนอาจเลือกที่จะบอกตัวเองว่า “ฉันไม่เอาเหลือง ไม่เอาแดง ไม่เอาความรุนแรง ฉันสนับสนุนสันติวิธี (??)” ซึ่งพอจะสร้างความดูดีมีหลักการ แต่ก็อาจเป็นเพียงอีกลักษณะหนึ่งของการปิดซ่อนภาวะความกลัวที่จะเผชิญกับปัญหา
พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราเพียงแค่ “หาทางดับทุกข์” หรือ “ลดความเครียด” แล้วทำใจให้เบิกบานมีความสุข เพราะหากคำสอนทางพุทธศาสนามีสาระอยู่แค่นั้น สิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมขัดเกลาตนคงไม่ได้นำไปสู่ “ความตื่น” ได้อย่างจริงแท้ คงเป็นได้แค่การภาวนาตอแหลที่ทำๆกันไปหลับๆตื่นๆเพื่อปัดปัญหา เมื่อผู้ปฏิบัติไม่กล้าที่จะเข้าไปสัมผัสความทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ด้วยตนเอง ธรรมะที่ใช้พ่นใส่กันก็กลายร่างเป็นเครื่องมือทางสังคมหรือทางการเมือง ที่คล้ายๆจะบอกว่าอีกฝ่ายเป็นความทุกข์และฉันเป็นผู้ดับทุกข์ ความทุกข์อยู่นั่น ฉันอยู่นี่ เป็นความทุกข์กับฉันอันแยกเป็นสองสิ่งที่ไม่สามารถกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะใจที่ไม่กล้าเผชิญ
หากเป็นเช่นนั้นปัญหาความขัดแย้งหรือความทุกข์ร่วมทางสังคมก็ไม่มีทางไปสู่หนทางแห่งการคลี่คลายได้เลย ทุกคนต่างก็แยกตัวเองออกมา ส่วนความทุกข์ที่หนักหนาก็ไม่ได้ถูกรับรู้ เราไม่เคยได้ตระหนักว่าแท้จริงแล้วปมความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะความผูกพัน ความทุกข์ความโกลาหลนั้นเป็นสภาวะธรรมดาของการอยู่ร่วมกันที่ไม่ได้เป็นปัญหาเลย แต่การเพิกเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่คุยกัน แล้วหันก้นออกมาจากความทุกข์นั้นต่างหากที่ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางความคิดอันไม่มีที่สิ้นสุด
คำถามจึงไม่ใช่อยู่ที่เมื่อไรความทุกข์จะหมดไป(ซะที) แต่อยู่ที่จุดเริ่มต้นของใจที่พร้อมจะเปิดเข้าไปสัมผัสและสัมพันธ์ความทุกข์ในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น ก้าวออกมาจากการเป็นผู้ตัดสิน ผู้วิเคราะห์ ผู้สังเกตการณ์ แล้วลองเอาตัวเองเข้าไปคลุกคลีและสัมพันธ์กับปัญหาด้วยใจของเราเอง เปลี่ยนสภาพของพุทธศาสนาที่แหยอย่างก้าวร้าว (passive aggressive buddhism) ไปสู่พุทธศาสนาแห่งความตื่นของการเข้าไปสัมพันธ์อย่างรู้เท่าทัน (engaged buddhism)
ทัศนคติในการร่วมทุกข์น่าจะนำมาซึ่งการปรับท่าทีที่มีเมตตาต่อกันมากขึ้นต่อทุกข์ร่วมที่ทุกคนในสังคมก็เป็นส่วนหนึ่ง ลดเลิกการใช้คำสอนทางศาสนาเป็นอาวุธเพียงเพื่อรักษาสถานภาพก่อนเก่า (status quo) ของตนเอาไว้ เพราะกลัวว่าความขัดแย้งจะทำให้วิถี “ลดทุกข์ สร้างสุข” ของตนมีอันต้องหยุดชะงัก
ลองกลับไปหาเอแบ็คโพลกันอีกสักรอบ คงจะดีไม่น้อยหากด้วยความกล้าเผชิญต่อปัญหา สิบอันดับแนวทางลดเครียดของคนกรุงเทพจะมีประมาณว่า ๑) หากจะอยู่กับกลุ่มการเมืองใดก็ขอให้ใช้สติปัญญาของตนอย่างเต็มที่ต่อกลุ่มการเมืองนั้น ด้วยการยึดมั่นบนหนทางแห่งสัจจะ ๒) ปล่อยวางการยึดมั่นทางความคิดที่มีต่อฝักฝ่าย แล้วเปิดใจเรียนรู้และรับฟังกันและกันให้มาก ๓) มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ใช้ความรุนแรง แสดงเสียงของตนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และพร้อมเปิดรับเสียงที่แตกต่าง ๔) นั่งล้อมวงสนทนาแลกเปลี่ยนทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรงทางวาจา ไม่ใช่แค่วงด่า วงนินทา หรือวงระบายอารมณ์ มีการร่วมกันตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก และติดตามประเด็นร่วมกันในวงสนทนา ๕) ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ติดตามข่าวสารโดยใช้สติปัญญารู้จักแยกแยะ และตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกทั้งหาโอกาสไปรับรู้สถานการณ์จริงด้วยตนเอง ไม่หมกมุ่นอยู่กับสื่อที่ปลุกปั่น ใช้ถ้อยคำผรุสวาท หรือให้ข้อมูลที่เข้าข้างเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนั้นการรักษาสมดุลด้านอื่นๆ เช่น การมีเวลาว่างให้กับตัวเองได้อยู่เงียบๆ ปิดทีวี ปิดคอมพิวเตอร์ พูดคุยทักทายคนรอบข้าง เดินเล่นในสวนสาธารณะ ฝึกฝนจิตใจให้คลายจากการเอาตัวเองหรือเอาสิ่งใดภายนอกตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีพื้นที่ว่างในใจให้กับทั้งสุขและทุกข์ด้วยใจที่ตื่นรู้และกล้าเผชิญ ต่างก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถดำรงอยู่ในใจกลางของความโกลาหลด้วยสติและปัญญา และไม่ว่าความขัดแย้งในสังคมจะดำเนินต่อไปอีกนานเท่าไร เราก็พร้อมที่จะก้าวทีละก้าวไปด้วยกัน ค่อยๆคลี่และคลายปมความขัดแย้งที่ผูกและพันกันไปทีละปม ไม่มัวเอาความเผารนทนไม่ได้ในใจไปก่อร่างสร้างปมใหม่ให้ผูกแน่นเพิ่มขึ้น และไม่เพิกเฉยดูดาย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทับถมเป็นปมอวิชชาอันฝังลึก ที่วันหนึ่งก็พร้อมจะระเบิดออกมาเป็นปัญหาที่สืบเนื่องทวีคูณต่อไปอีกไม่รู้จบ