ฉันกับเพื่อนหย่อนก้นบนเก้าอี้ไม้ริมถนนของเมืองเชียงของ เราสั่งชานม ชามะนาว และกาแฟมากินให้สดชื่นหลังจากนั่งรถมาเป็นชั่วโมง มองดูผู้คนมาเยือนสวนทางกับเจ้าของท้องถิ่นไปมาในวันหยุด
"เรากำลังจะไปที่ไหนต่อ"
เพื่อนร่วมทางถามฉัน ฉันเหลือบมองเขา ไม่ตอบ แล้วคว้าหนังสืออ่านเล่นในร้านกาแฟมาเปิดอ่าน เราเพิ่งมาถึง แล้วจะไปไหน เธอถามแปลกจัง ฉันอยากตอบเล่นๆ ว่า เดี๋ยวจะพาเธอไปลงว่ายน้ำโขงเล่นก็แล้วกัน
"เราต้องไปกินปลาบึกไหม?"
เพื่อนถาม ฉันเกือบสำลักชามะนาว
“เธออยากกินเหรอ”
ฉันถามกลับ เขาทำหน้าไม่ถูก แต่แววตาลังเล
“ก็มีคนบอกว่ามาเชียงของต้องกินปลาบึก”
ฉันอมยิ้ม ฉันก็ได้ยินแบบนั้นเหมือนกัน แต่เท่าที่รู้ ปลาบึกไม่มีในฤดูนี้หรอก น่าจะราวๆ เดือนเมษา พฤษภา แต่ถึงเวลานั้นจริงๆ เราก็อาจจะไม่มีปลาบึกกินหรอก มันหาง่ายที่ไหนล่ะ ฉันคิดของฉันแบบนี้
ปลาบึกที่เคยเห็นในรูปตัวโตมากๆ โตเท่าตัวเรา แล้วต้องใช้เวลาแค่ไหนกว่ามันจะโตขนาดนี้ ถ้าจับมันกินทุกปี มันจะแพร่พันธุ์ได้ทันหรือ
“พอดีหลายปีก่อน เคยมีเพื่อนเป็นคนที่นี่ เขาบอกว่าไปจับปลาบึกกันทุกปี มีชมรมจับปลาบึกด้วยนะ แล้วคนทีนี่ก็เหมือนจะกินปลาบึกกันเยอะมากๆ”
“ก็เห็นว่าเขาจะเลิกจับกันแล้วนะ ถ้าจับมาก็จะปล่อยคืนไป”
ฉันรำพึงไปอย่างประสาคนรู้น้อย หลายปีที่มาอยู่เมืองเหนือนี้ ได้ยินชื่อของ “ปลาบึก” กระจายไปทั่ว จากที่เคยคิดว่ามันหากินยาก มีเฉพาะจังหวัดติดฝั่งโขง แต่อยู่เชียงใหม่ก็ยังมีห่อนึ่งปลาบึกขาย ต้มยำปลาบึก และเมนูมากมายในร้านขนาดใหญ่ ไปเชียงราย ลำพูน แพร่ น่าน ทุกที่ล้วนมีเมนูปลาบึก จนบางครั้งคิดไปว่า ปลาบึกมันเดินทางไปอยู่ในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน ออกลูกแพร่พันธุ์จนกินกันไม่หวาดไม่ไหว
คิดสนุกไปแค่นั้นแหละ จริงๆ เจ้าปลาหัวเหลี่ยมนั้นมันน่ารักดีออก แม้ฉันจะเป็นคนชอบกินปลา แต่ถ้าเห็นเป็นตัวๆ ฆ่ากันสดๆ ก็กินไม่ค่อยลง อีกทั้งมีความรู้สึกว่า ปลาบึก น่าจะเป็นปลาที่ควรต้องอนุรักษ์ เช่นเดียวกับสัตว์หายากอื่นๆ เพราะเรายังมีปลาให้เลือกกินได้อีกมาก ในแบบที่เลี้ยงได้ไม่จำกัด
ดังนั้น การมาเชียงของครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่มาเยี่ยมชมเมืองเท่านั้น แต่เราต้องต่อสู้กับเมนูปลาบึกแทบทุกมื้อ ไม่ว่าจะหย่อนก้นลงที่ไหน ถ้อยคำแรกที่ได้ยินก็คือ
“ทานต้มยำปลาบึกไหมคะ”
“กินไหมเธอ”
เพื่อนคนเดิมคอยถามเรื่อยๆ ฉันคอยพิจารณาแววตาของเขาว่าเขาอยากกินมันจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเขากำลังจะพ่ายแพ้ต่อการต่อสู้ของเรา
บ่ายวันนี้ เราเลือกร้านอาหารติดริมน้ำโขง คนช่างเลือกที่ใช้เวลานานแบบเราๆ ถูกพนักงานเดินสวนกันเข้าออก เพื่อแนะนำเมนูเด็ด เมื่อเอ่ยขอเวลาเลือกอาหาร พลิกเมนูเล่นสักพัก ประเภทที่ถูกแบ่งในหน้ากระดาษ ไม่มีหน้าไหนจะไม่มีคำว่าปลาบึก
เรานั่งนิ่งๆ ทบทวนการมีชีวิตของปลาบึก สุดท้าย เราเรียกพนักงานให้เธอรับรายการเป็นผัดผัก ไข่เจียว และผัดกระเพรา อาหารแสนธรรมดาน่าขัน เธอรับรายการแล้วก็เดินย่องออกไปหลังครัวอย่างเงียบๆ
กินอาหารกันเสร็จแล้ว ก่อนที่จะหาที่สงบสำหรับพักผ่อนและนั่งมองชีวิตริมน้ำโขง เราพากันเดินย่อยอาหาร ถ่ายรูป จนไปหยุดอยู่หน้าร้านขายขนม
เพื่อนปราดเข้าไปซื้อ หน้าตาไม่เหมือนคนเพิ่งกินข้าวมาเลย หรือว่าเขาประชดที่ไม่ได้กินปลาบึก
“กินข้าวไม่อิ่มเหรอ”
ฉันถาม
“เปล่า หาอะไรตบปาก”
“อ่า ไม่บอกนะจะได้ให้ยืม....” อีกคนกำลังยิงมุก คนรู้ทันโบกมือ
“อย่าๆ รองเท้าไม่เอา”
แม่ค้าหัวเราะขบขันไปด้วย ทักทายว่าเราเพิ่งมาถึงเหรอ และก็ทิ้งคำถามสุดท้ายเอาไว้ว่า
“ได้ลองกินปลาบึกหรือยัง”
ฉันได้ทีเลยเขยิบเข้าไปใกล้ๆ แล้วถามไปตรงๆ
“ป้าคะ ปลาบึกมันไม่ได้หายากเหรอคะ”
“ยากสิหนู มาหน้านี้หากินยาก ต้องหลังสงกรานต์ไปแล้ว เขาถึงจะไปจับกัน”
“อ๋อเหรอคะ แล้วบางร้านที่เห็นมีขายอยู่ล่ะ”
“บางร้านเหรอ เขาใช้ปลาสวายแทนจ้ะ เป็นปลาเพาะเลี้ยง รู้จักไหม”
“ปลาสวาย รู้จักค่ะป้า”
“อืม นั่นแหละ มันคล้ายกัน แต่เขาจะเลี้ยงให้ตัวโตๆ คนไม่เคยกินปลาบึกจะแยกไม่ออกหรอก เหมือนๆกัน”
ป้าเล่าพร้อมรอยยิ้ม ฉันนึกขอบคุณในข้อมูลที่ป้าให้มา หันกลับไปดูเพื่อน เขายืนนิ่ง ทำหน้ายากเกินจะคาดเดาความรู้สึก
“คิดไรอยู่เหรอ”
ฉันถาม ขณะเหลือบไปมองเห็นรูปจำลองปลาบึกที่ติดแหมะอยู่กับป้ายเข้าซอย ตลอดแถวของถนน
“คิดว่าดีใจที่เขาไม่ได้ล่าปลาบึกจนมันหมดแล้ว แต่กำลังคิดว่า เราจะแยกได้ไหม อันไหนปลาบึกจริงหรืออันไหนปลาสวาย”
“ก็ต้องลองชิมล่ะมั้ง”
ฉันบอกทิ้งท้ายทีเล่นทีจริง ก่อนจะวิ่งไปถ่ายรูปปั้นปลาบึกที่น่ารักน่าชังบนเสาป้าย หันไปมองเพื่อน สลับกันไปมา
พร้อมกับเอ่ยกับรูปปั้นนั้นอย่างเงียบๆ ว่า
ยังไงเสียฉันก็ไม่ชอบกินปลาสวายอยู่ดี ขอให้มีปลาบึกอยูในน้ำโขงไปนานๆ ก็แล้วกันนะจ้ะ.