Skip to main content

20080514 001

ฝนยังโปรยลงมาไม่ขาดสาย แม้จะเพิ่งผ่านเดือนเมษายนมาได้ไม่เท่าไหร่  ท้องทุ่งฉ่ำไปด้วยฝนและดูจะมากไปจนน่าวิตก ลานกว้างหน้าบ้านของยายปลีวันนี้จึงไม่มีเด็กๆ มาวิ่งเล่น แต่หลบฝนกันไปวาดรูปเล่นอยู่ตรงชานเรือน หลานอีกคนทำหน้าตาเบื่อเพราะอยากออกไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน นี่เป็นวันธรรมดาที่อาจมีทั้งความหมายหรือไม่มี สำหรับยายปลี เพราะหลังจากแกเก็บผ้าเข้าไปตากใต้ยุ้งข้าวเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมานั่งอยู่ประจำที่ อยู่กับเครื่องทอด้ายแบบสมัยโบราณ มันทำจากไม้ และไม่รู้ว่ามันมีอายุมาแล้วเท่าไหร่

20080514 002
ยายปลีสาละวนกับการคล้องเส้นด้ายเพื่อผูกให้เป็นมัด

“มันอยู่กับยายมาก็หลายสิบปี แต่เราซื้อต่อจากเขา สมัยนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว”
ยายปลีบอกกับฉันแบบนี้ ก่อนจะหยิบเอาผลิตภัณฑ์ที่แกทำด้วยตัวเองออกมาให้ดู

20080514 004
เครื่องทอด้ายของยายปลี ทำจากไม้ ซื้อต่อมาในราคา 100 บาท เมื่อหลายสิบปีก่อน

มันเป็นเส้นด้ายที่ถักทอมาจากใยของต้นนุ่น ยายเป็นคนปลูกต้นไม้เหล่านี้เอง มีอยู่เพียงไม่กี่ต้นหลังบ้าน จนไม่อยากเชื่อว่า มันจะมากพอให้ยายทอออกมาเป็นกำๆ วางกองรวมกัน ซึ่งเรียกว่า “ไจ” ภายในหนึ่งไจ นั้น มีรวมกัน 12 มัดเล็ก แต่ละมัดเล็ก ใช้เวลาทำอยู่เกือบชั่วโมง
“วันหนึ่ง ถ้าทำเต็มที่แต่เช้ายันเย็นนะ ก็ได้สัก 3 ไจ”
“ยายขายไจละเท่าไหร่จ้ะ”


ฉันถามด้วยอยากรู้เหลือคณา ด้วยสำหรับฉันแล้ว เส้นด้ายเหล่านี้วนเวียนอยู่ในชีวิตมาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าที่บ้านไม่เคยจะมีวันไหนที่ขาดเส้นด้าย พ่อของฉันใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะผูกข้อมือให้ตอนวันขึ้นปีใหม่ วันเกิด รับขวัญตอนกลับบ้าน ยามไม่สบาย ไม่ใช่เฉพาะแต่คนในครอบครัวเท่านั้น แต่พ่อผูกข้อมือให้กับคนอื่นๆ ที่แวะเวียนมาหาด้วย

20080514 005
จากต้นนุ่น กลายเป็นวัตถุดิบ

เส้นด้ายสีขาวเหล่านี้ บางครั้งถูกแปรไปเป็น “สายสิญจน์” ยามเมื่อใครสักคนในหมู่บ้านมีอาการป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ เขาจะทำสะตวง หรือกระทงต้นกล้วยพร้อมอาหารไปไหว้ผี ในนั้นก็มีเส้นด้ายที่ผ่านการทำพิธีแล้วนำมาผูกให้กับเจ้าชะตา และในบางโอกาส เส้นด้ายก็กลายไปเป็นไส้เทียน นอนเรียงกันเพื่อให้กระดาษที่เต็มไปด้วยคาถาภาษาบาลีพันรอบตัว จากนั้นก็ไปอยู่ในแผ่นขี้ผึ้ง เมื่อพันให้ขึ้นรูปเป็นเทียน ตัดหัวท้ายแล้ว เราก็ได้ “เทียนบูชา” ที่เป็นสิริมงคลในวาระต่างๆ

ฉันเห็นภาพเหล่านี้จนชินตาในตอนเด็กๆ แต่กลับไม่เคยมีโอกาสได้เห็นการทำด้ายแบบสดๆ ร้อนๆ แบบเช่นวันนี้

ยายปลีหัวเราะเบาๆ ก่อนจะบอกว่า
“อันละ 25 บาทนะ แพงไปไหม แต่ขายแพงกว่านี้จะไม่มีคนซื้อ”
“แปลว่าวันหนึ่งยายขายได้ 3 อัน ก็ 75 บาทใช่ไหมจ้ะ”
ฉันคำนวณเล่น
“ฮื่อ แต่นั่นคือวันที่มากที่สุดนะ วันอื่นๆ ยายก็ทำอันเดียวก็มี หรือไม่ทำเลยก็มี”

ยายหัวเราะอีกครั้ง ฉันอมยิ้ม
“ทำไมคะยาย”
“ยายเจ็บเข่า แก่ตัวไปนั่งนานๆ แล้วพาลจะเดินไม่ได้”

20080514 006
จากวัตถุดิบ กลายเป็นเส้นด้าย

ฉันเห็นยายใช้มือนวดๆ บริเวณน่อง มาเข่าและไปยังขา แกอายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่หญิงชรายังมีสีหน้าและแววตาขี้เล่น เมื่อยกกล้องขึ้นถ่ายรูป ยังมีแก่ใจหยิบเส้นด้ายที่ทอแล้วกับที่ยังไม่ได้ทำมาวางเรียงกัน

 

20080514 007
ยายปลีช่วยจัดวางนุ่นกับด้ายไว้ด้วยกัน บนเศษกระดาษโฆษณา เก็บไว้ใช้ห่อเมื่อทำเสร็จ


“ต้องถ่ายคู่กันแบบนี้ คนดูจะได้รู้ไงว่า ทำแล้วหน้าตาเป็นยังไง”
ยายช่วยจัดให้ประกอบคู่กัน แถมยังชวนฉันไปถ่ายที่ต้นนุ่น ติดเสียว่าฝนยังตกอยู่ เราก็เลยไม่ได้ไปชมสวนของยายในวันนี้

“หนูนึกว่าสั่งซื้อจากในเมืองกันหมดแล้วค่ะ ไม่นึกว่ายังมีคนทำอยู่” ฉันรำพึงเบาๆ
“มีเหลือไม่กี่คนหรอก เดี๋ยวนี้ต้นนุ่นบางคนยังไม่เคยเห็นมาก่อนเลย อีกไม่นาน ยายก็ว่าจะเลิกทำแล้วเหมือนกัน”
“อ้าว ทำไมละคะ”

ฉันเผลออุทานออกไป แม้จะเข้าใจว่ายายอาจจะเบื่อหรือเหนื่อยแล้ว เป็นความรู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก ไล่สายตาไปยังเครื่องทอมือที่มีลักษณะวงกลมเหมือนกงล้อ ยายค่อยๆ จับมันอย่างทะนุถนอม

“นั่นสิ ยายจะเลิกไปทำไมนะ ก็ไม่มีอะไรจะทำกันพอดี แก่ขนาดนี้ออกไปทำนาไม่ไหวแล้ว”
ยายให้คำตอบกับฉันและตัวยายเอง ว่าแล้วแกก็ดึงเอาเส้นด้ายที่ทำเอาไว้นั้น แยกออกมา แล้วชวนฉันเดินไปบนห้องโถงของบ้าน

“มานี่ มาผูกข้อมือ”
ผลิตผลเล็กๆ ของยาย แปรสภาพไปอีกแล้ว ยายพันข้อมือเอาไว้สามรอบ พร้อมด้วยการกล่าวให้พร แบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ในวันสงกรานต์ ฉันมาช้าไปหน่อย ยายก็ดูไม่ถือสา บอกว่า เวลาไหนก็ได้คือเวลามงคลของเราเสมอ

ผูกข้อมือเสร็จ ยายก็เป่าเพี้ยงลงไปอีกที ฉันพนมมือแล้วยกขึ้นไหว้ขอบคุณ มองดูเส้นด้ายเหล่านั้นที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีกำลังใจ ราวกับมันจะช่วยคุ้มครองชีวิตของเราได้มากขึ้นไปอีก

20080514 008

“ไว้มาคราวหน้า ยายทำเผื่อด้วยนะจ้ะ จะซื้อไปให้พ่อ”
ยายพยักหน้า แถมยังโม้ว่า ตอนนี้มีต้นนุ่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทอ รับรองว่ามีพอใช้แน่นอน ฉันก้มลงกราบลายายช้าๆ ทั้งในฐานะของผู้ใหญ่ที่เคารพ

และในฐานะของผู้สร้างเส้นด้าย ด้ายที่ไม่ได้หนาหรือเหนียวอะไรมากนัก แต่เกี่ยวพันบางสิ่งบางอย่างให้แข็งแรงอยู่ในหมู่บ้าน ได้จนกระทั่งถึงวันนี้.

บล็อกของ วาดวลี

วาดวลี
ความชื้นแฉะเหล่านั้นคงไม่เป็นไรหรอกกระมัง หยดน้ำที่ทำให้พื้นดินที่สีดำขึ้นมากกว่าปกติ ดินที่นุ่มลง หญ้าที่ปกคลุมไปถ้วนทั่ว ฉันว่ามันชุ่มฉ่ำดีเหมือนกัน เมื่อฤดูฝนยาวกว่าที่เราคิด และปีนี้ ฝนก็ตกบ่อยกว่าปีที่ผ่านมา
วาดวลี
ท้องฟ้าอ้อยสร้อยแบบนั้นแหละ ที่คนแถวบ้านฉันรำพึงกันว่า เป็นความชุ่มฉ่ำต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษา ฝนตกเอื่อยๆ พรมความชื้นไปทั่วถนนเล็กๆ ของหมู่บ้านเรา แต่ก็ไม่มีใครย่อท้อที่จะออกไปทำบุญ ดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวาน ข้าวตอกดอกไม้ คนข้างบ้านของฉันซึ่งเป็นครอบครัวที่ขยันทำงานไม่มีวันหยุด ก็ยังเอ่ยปากบอกว่า หยุดงานสักวันสองวันดีกว่า นอกจากไปทำบุญแล้ว ก็ยังได้หยุดอยู่บ้านกับครอบครัวอีกด้วย
วาดวลี
นานมาแล้วที่ฉันเคยได้ยินประโยคที่ว่า “แค่กระพริบตา โลกก็เปลี่ยน” แล้วเคยคิดเล่นๆ ว่า อะไรก็ตามที่เปลี่ยนไปแบบฉับพลัน หรือ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังนั้น คงไม่ได้เกิดบ่อยนัก และหากจะเกิดขึ้นจริง ทุกอย่างล้วนมีสาเหตุ มีสัญญาณเตือนมาก่อน อยู่ที่เราจะสังเกตหรือไม่ก็เท่านั้น แต่สำหรับเรื่องของพี่ชาย พอจะทำให้ฉันเชื่อได้บ้างว่า กับเรื่องบางเรื่องนั้น การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้มีอะไรมาเตือนล่วงหน้า
วาดวลี
 “รักของพี่กับเขาเริ่มตรงนี้”ตรงที่พี่ชายพูด มันคือถนนเส้นหนึ่ง ที่ตัดผ่านกลางระหว่างคูเมืองด้านในของเชียงใหม่ ไปยังชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่ง รอบๆ ถนนมีอาหารพื้นเมืองขาย มีส้มตำ ไก่ย่าง ร้านรวง บริษัท รวมทั้งวัดเก่าแก่สวยงาม   ฉันก้มลงไปมองตามนิ้วชี้ของเขา ที่ตรงนั้น คือฝาท่อกลมๆ เก่าๆ ปิดรอยโหว่ขี้เหร่ของถนนเอาไว้“ตรงนี้น่ะหรือ จุดเริ่มต้นของความรัก”ฉันทำหน้าไม่อยากเชื่อ พี่ชายยิ้มที่มุมปาก แล้วพยักหน้า “มีอยู่วันหนึ่ง พี่มาก้มๆ เงยๆ ผูกเชือกรองเท้าตรงนี้ ว่าจะเดินไปเยี่ยมเพื่อนที่ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าข้างหน้านั่น ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินมา ผมยาว ผิวขาว หน้าตาก็ไม่สวยมาก…
วาดวลี
“บ้านพอมีที่เหลือว่างไหม” คนถามฉันเป็นชายหนุ่ม ที่นับนามว่าเป็น “เพื่อน” กัน มาได้ 4 ปีแล้ว ความจริง เขาเป็นเพื่อนของเพื่อน เมื่อรู้จักกันได้นับปี ก็ตัดสินใจได้ว่าเขาน่าจะเป็น “คนดี” พอในแบบที่ร้องขออะไร แล้วเราไม่กล้าที่จะไม่ให้ หากไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หรือลำบากใจกันจริงๆ มาครั้งนี้ บนถ้อยคำอาวรณ์ น้ำเสียงเขาหม่นเศร้า แววตาก็หม่นเศร้า เกิดอะไรขึ้นกับเขาหรือ เช้าวันอาทิตย์ที่แสงแดดสายสาดส่องให้อบอุ่น บนฟ้ามีก้อนเมฆปุกปุยสีขาว ไหลไปมาบนพื้นสีคราม สวยยิ่งกว่าสวย แต่เขาคนนี้มีแววเหมือนคนที่เพิ่งผ่านการร้องไห้มา
วาดวลี
 ๑. จะมี อะไรบ้าง ยั่งยืน ? กลางวัน กลางคืน แดด ฝน ลม หนาว มนุษย์ สมมุติ ชั่วคราว ว่าเรา ครอบครอง เพื่อ "ของเรา" ๒. ไยแย่งโอบกอดอนาคต แล้วเอ่ยกล่าวโทษวันเก่า ไยถก ไยเถียง เรื่องเงา ที่ลาลับ ล่วงกับ ดวงตะวัน 
วาดวลี
เชียงใหม่ในวันที่ฝนซา เพื่อนที่แวะมาเยี่ยมต่อสายบอกว่ากลับถึงบางกอกเรียบร้อยดีแล้ว เสียงอึกทึกครึกโครมที่รายล้อมตัวเธอบอกฉันว่า เธอไม่ได้อยู่ลำพังขณะคุยโทรศัพท์ ฉันแซวเธอเล่นๆ ว่ากำลังอยู่ในถิ่นอโคจรหรือเปล่านะ ก็เราคุยกันแทบจะไม่ได้ยินอะไรนอกจากเสียงเพลง เสียงรถ และเสียงคนมากมายเธอหัวเราะชอบใจ แล้วตอบว่า "ใช่ ฉันอยู่ในถิ่นอะโคจร" แล้วย้อนสวนมาว่า"ก็ดีกว่าอยู่ในแดนสนธยาเหมือนเธอ"ดอกหญ้าในสวนหลังบ้าน รกร้าง แต่ก็สวยงามในความรู้สึก 
วาดวลี
ฉันรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางไปประเทศจีน เดินทางโดยยังไม่ได้ก้าวขาออกจากบ้านเสียด้วยซ้ำ มันเป็นการเดินทางด้วยจิตใจและจินตนาการ เมื่อน้องสาวที่น่ารักคนหนึ่งของฉัน เธอเดินทางไปเป็นครูสอนภาษาไทยอยู่ที่เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสีตั้งแต่ 1 ปีที่แล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะย่างครบ 1 ปี เธอบอกว่าคิดถึงเมืองไทยเป็นที่สุด และนับจากวันนี้ไปอีกแค่ 8 วันเท่านั้นเธอก็จะได้กลับมาเหยียบผืนดินไทยอีกครั้งแล้ว“ดีใจนะที่ปลอดภัย”จำได้ว่าเอ่ยกับเธอด้วยประโยคนี้ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศจีนไม่นาน ฉันนึกถึงใบหน้าของเธอ แก้มยุ้ยๆ  และแววตาวาบวับที่ระยิบระยับเสมอ…
วาดวลี
"เธอว่าเราจะไปไหน ?"ฉันถาม แล้วก็ก้าวขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์ โดยไม่รอคำตอบมาถึง เสียงติดเครื่องของรถคันเก่าดั่งกระหึ่ม ยามบ่ายๆ ของวันหยุดที่เราควรจะได้เดินทางบ้าง แม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ หรือยามว่างอันน้อยนิด ฉันอยากออกไปสูดอากาศ ส่วนเธออยากขี่รถเล่นเงยหน้ามองท้องฟ้า วันนี้ไม่มีฝน แม้จะไม่มีแดด แต่ก้อนเมฆยามบ่ายขับเคลื่อนราวว่า อีกนานกว่าพายุจะคลุมเมืองไว้อีกครั้ง
วาดวลี
ท้องฟ้าในเมืองของเรายังสวยเสมอ โดยเฉพาะยามที่เพื่อนเก่าของฉันรีบจอดจักรยานไว้ข้างตลาด แล้วเดินเข้ามาจับมือ เธอเงยหน้าขึ้นแล้วมองไปทางทิศตะวันตก ก้อนเมฆพวกนั้นเลื้อยตัวมากอดภูเขาเอาไว้ มองไกลๆ เหมือนใครเอาผ้าขนหนูสีขาวนุ่มๆ ไปพันทิ้งไว้(เมืองเล็กๆ ของเราหลังฝนตก)
วาดวลี
ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ฉันและแม่มีกฎร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งว่า หากไปเยี่ยมบ้านใครแล้วเขาให้ขนมกิน ก็ให้ยกมือไหว้ขอบคุณ แต่ไม่จำเป็นต้องรับไปเสียทั้งหมด แม่เคยเปรยๆ ว่า ถึงครอบครัวเราจะยากจนแต่แม่สามารถทำอาหารอร่อยๆ ให้กินได้ทุกมื้อ อีกอย่างก็คือบางคนเขาไม่ได้ตั้งใจทำเผื่อเราหรอก แต่เป็นการให้โดยมารยาทเท่านั้น หากรับไว้เสียหมดก็กลายเป็นการรบกวนเขาไปก็เป็นได้แม้แม่จะบอกแบบนี้ แต่ฉันและแม่ก็รู้ดีว่า ผู้คนรอบตัวที่ใจดีมีน้ำใจกับเรานั้นมีมากมายเพียงใด พ่อเล่าว่าฉันเป็นเด็กอ้วนแก้มยุ้ย ใครเห็นก็เอ็นดู มักเรียกให้ไปกินขนมอยู่ร่ำไป ดังนั้นข้อตกลงของฉันกับแม่ จึงกลายเป็นว่า หากมีคนยื่นให้…
วาดวลี
ฝนยังโปรยลงมาไม่ขาดสาย แม้จะเพิ่งผ่านเดือนเมษายนมาได้ไม่เท่าไหร่  ท้องทุ่งฉ่ำไปด้วยฝนและดูจะมากไปจนน่าวิตก ลานกว้างหน้าบ้านของยายปลีวันนี้จึงไม่มีเด็กๆ มาวิ่งเล่น แต่หลบฝนกันไปวาดรูปเล่นอยู่ตรงชานเรือน หลานอีกคนทำหน้าตาเบื่อเพราะอยากออกไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน นี่เป็นวันธรรมดาที่อาจมีทั้งความหมายหรือไม่มี สำหรับยายปลี เพราะหลังจากแกเก็บผ้าเข้าไปตากใต้ยุ้งข้าวเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมานั่งอยู่ประจำที่ อยู่กับเครื่องทอด้ายแบบสมัยโบราณ มันทำจากไม้ และไม่รู้ว่ามันมีอายุมาแล้วเท่าไหร่