Skip to main content

20080514 001

ฝนยังโปรยลงมาไม่ขาดสาย แม้จะเพิ่งผ่านเดือนเมษายนมาได้ไม่เท่าไหร่  ท้องทุ่งฉ่ำไปด้วยฝนและดูจะมากไปจนน่าวิตก ลานกว้างหน้าบ้านของยายปลีวันนี้จึงไม่มีเด็กๆ มาวิ่งเล่น แต่หลบฝนกันไปวาดรูปเล่นอยู่ตรงชานเรือน หลานอีกคนทำหน้าตาเบื่อเพราะอยากออกไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน นี่เป็นวันธรรมดาที่อาจมีทั้งความหมายหรือไม่มี สำหรับยายปลี เพราะหลังจากแกเก็บผ้าเข้าไปตากใต้ยุ้งข้าวเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมานั่งอยู่ประจำที่ อยู่กับเครื่องทอด้ายแบบสมัยโบราณ มันทำจากไม้ และไม่รู้ว่ามันมีอายุมาแล้วเท่าไหร่

20080514 002
ยายปลีสาละวนกับการคล้องเส้นด้ายเพื่อผูกให้เป็นมัด

“มันอยู่กับยายมาก็หลายสิบปี แต่เราซื้อต่อจากเขา สมัยนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว”
ยายปลีบอกกับฉันแบบนี้ ก่อนจะหยิบเอาผลิตภัณฑ์ที่แกทำด้วยตัวเองออกมาให้ดู

20080514 004
เครื่องทอด้ายของยายปลี ทำจากไม้ ซื้อต่อมาในราคา 100 บาท เมื่อหลายสิบปีก่อน

มันเป็นเส้นด้ายที่ถักทอมาจากใยของต้นนุ่น ยายเป็นคนปลูกต้นไม้เหล่านี้เอง มีอยู่เพียงไม่กี่ต้นหลังบ้าน จนไม่อยากเชื่อว่า มันจะมากพอให้ยายทอออกมาเป็นกำๆ วางกองรวมกัน ซึ่งเรียกว่า “ไจ” ภายในหนึ่งไจ นั้น มีรวมกัน 12 มัดเล็ก แต่ละมัดเล็ก ใช้เวลาทำอยู่เกือบชั่วโมง
“วันหนึ่ง ถ้าทำเต็มที่แต่เช้ายันเย็นนะ ก็ได้สัก 3 ไจ”
“ยายขายไจละเท่าไหร่จ้ะ”


ฉันถามด้วยอยากรู้เหลือคณา ด้วยสำหรับฉันแล้ว เส้นด้ายเหล่านี้วนเวียนอยู่ในชีวิตมาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าที่บ้านไม่เคยจะมีวันไหนที่ขาดเส้นด้าย พ่อของฉันใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะผูกข้อมือให้ตอนวันขึ้นปีใหม่ วันเกิด รับขวัญตอนกลับบ้าน ยามไม่สบาย ไม่ใช่เฉพาะแต่คนในครอบครัวเท่านั้น แต่พ่อผูกข้อมือให้กับคนอื่นๆ ที่แวะเวียนมาหาด้วย

20080514 005
จากต้นนุ่น กลายเป็นวัตถุดิบ

เส้นด้ายสีขาวเหล่านี้ บางครั้งถูกแปรไปเป็น “สายสิญจน์” ยามเมื่อใครสักคนในหมู่บ้านมีอาการป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ เขาจะทำสะตวง หรือกระทงต้นกล้วยพร้อมอาหารไปไหว้ผี ในนั้นก็มีเส้นด้ายที่ผ่านการทำพิธีแล้วนำมาผูกให้กับเจ้าชะตา และในบางโอกาส เส้นด้ายก็กลายไปเป็นไส้เทียน นอนเรียงกันเพื่อให้กระดาษที่เต็มไปด้วยคาถาภาษาบาลีพันรอบตัว จากนั้นก็ไปอยู่ในแผ่นขี้ผึ้ง เมื่อพันให้ขึ้นรูปเป็นเทียน ตัดหัวท้ายแล้ว เราก็ได้ “เทียนบูชา” ที่เป็นสิริมงคลในวาระต่างๆ

ฉันเห็นภาพเหล่านี้จนชินตาในตอนเด็กๆ แต่กลับไม่เคยมีโอกาสได้เห็นการทำด้ายแบบสดๆ ร้อนๆ แบบเช่นวันนี้

ยายปลีหัวเราะเบาๆ ก่อนจะบอกว่า
“อันละ 25 บาทนะ แพงไปไหม แต่ขายแพงกว่านี้จะไม่มีคนซื้อ”
“แปลว่าวันหนึ่งยายขายได้ 3 อัน ก็ 75 บาทใช่ไหมจ้ะ”
ฉันคำนวณเล่น
“ฮื่อ แต่นั่นคือวันที่มากที่สุดนะ วันอื่นๆ ยายก็ทำอันเดียวก็มี หรือไม่ทำเลยก็มี”

ยายหัวเราะอีกครั้ง ฉันอมยิ้ม
“ทำไมคะยาย”
“ยายเจ็บเข่า แก่ตัวไปนั่งนานๆ แล้วพาลจะเดินไม่ได้”

20080514 006
จากวัตถุดิบ กลายเป็นเส้นด้าย

ฉันเห็นยายใช้มือนวดๆ บริเวณน่อง มาเข่าและไปยังขา แกอายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่หญิงชรายังมีสีหน้าและแววตาขี้เล่น เมื่อยกกล้องขึ้นถ่ายรูป ยังมีแก่ใจหยิบเส้นด้ายที่ทอแล้วกับที่ยังไม่ได้ทำมาวางเรียงกัน

 

20080514 007
ยายปลีช่วยจัดวางนุ่นกับด้ายไว้ด้วยกัน บนเศษกระดาษโฆษณา เก็บไว้ใช้ห่อเมื่อทำเสร็จ


“ต้องถ่ายคู่กันแบบนี้ คนดูจะได้รู้ไงว่า ทำแล้วหน้าตาเป็นยังไง”
ยายช่วยจัดให้ประกอบคู่กัน แถมยังชวนฉันไปถ่ายที่ต้นนุ่น ติดเสียว่าฝนยังตกอยู่ เราก็เลยไม่ได้ไปชมสวนของยายในวันนี้

“หนูนึกว่าสั่งซื้อจากในเมืองกันหมดแล้วค่ะ ไม่นึกว่ายังมีคนทำอยู่” ฉันรำพึงเบาๆ
“มีเหลือไม่กี่คนหรอก เดี๋ยวนี้ต้นนุ่นบางคนยังไม่เคยเห็นมาก่อนเลย อีกไม่นาน ยายก็ว่าจะเลิกทำแล้วเหมือนกัน”
“อ้าว ทำไมละคะ”

ฉันเผลออุทานออกไป แม้จะเข้าใจว่ายายอาจจะเบื่อหรือเหนื่อยแล้ว เป็นความรู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก ไล่สายตาไปยังเครื่องทอมือที่มีลักษณะวงกลมเหมือนกงล้อ ยายค่อยๆ จับมันอย่างทะนุถนอม

“นั่นสิ ยายจะเลิกไปทำไมนะ ก็ไม่มีอะไรจะทำกันพอดี แก่ขนาดนี้ออกไปทำนาไม่ไหวแล้ว”
ยายให้คำตอบกับฉันและตัวยายเอง ว่าแล้วแกก็ดึงเอาเส้นด้ายที่ทำเอาไว้นั้น แยกออกมา แล้วชวนฉันเดินไปบนห้องโถงของบ้าน

“มานี่ มาผูกข้อมือ”
ผลิตผลเล็กๆ ของยาย แปรสภาพไปอีกแล้ว ยายพันข้อมือเอาไว้สามรอบ พร้อมด้วยการกล่าวให้พร แบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ในวันสงกรานต์ ฉันมาช้าไปหน่อย ยายก็ดูไม่ถือสา บอกว่า เวลาไหนก็ได้คือเวลามงคลของเราเสมอ

ผูกข้อมือเสร็จ ยายก็เป่าเพี้ยงลงไปอีกที ฉันพนมมือแล้วยกขึ้นไหว้ขอบคุณ มองดูเส้นด้ายเหล่านั้นที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีกำลังใจ ราวกับมันจะช่วยคุ้มครองชีวิตของเราได้มากขึ้นไปอีก

20080514 008

“ไว้มาคราวหน้า ยายทำเผื่อด้วยนะจ้ะ จะซื้อไปให้พ่อ”
ยายพยักหน้า แถมยังโม้ว่า ตอนนี้มีต้นนุ่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทอ รับรองว่ามีพอใช้แน่นอน ฉันก้มลงกราบลายายช้าๆ ทั้งในฐานะของผู้ใหญ่ที่เคารพ

และในฐานะของผู้สร้างเส้นด้าย ด้ายที่ไม่ได้หนาหรือเหนียวอะไรมากนัก แต่เกี่ยวพันบางสิ่งบางอย่างให้แข็งแรงอยู่ในหมู่บ้าน ได้จนกระทั่งถึงวันนี้.

บล็อกของ วาดวลี

วาดวลี
เมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อชายวัยกลางคนคนหนึ่งมาปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำ เขายิ้มให้กับชีวิตพลางบอกลูกเมียว่า อยากกินปลามื้อไหนขอให้บอก จะเอาตัวเล็กตัวใหญ่ แค่คว้าแห คว้าไซ เบ็ดตกปลา หรือเดินดุ่มลงไปยกยอ ไม่เกิน 15 เท่านั้น ก็จะมีปลามาแกงได้ทั้งหม้อน้ำแม่โก๋นข้างบ้านพ่อชุม
วาดวลี
๑.นอนพักเถิด มวลมิตร ที่ชิดใกล้เก็บแรงไว้คุ้ยหาเศษอาหารฟ้าสวยสวย พื้นที่กว้าง ที่กลางลานคือสวรรค์สถาน ของผองเราอย่าไปเครียด จริงจัง เลยวันพรุ่งเดี๋ยวก็รุ่ง เดี๋ยวก็ค่ำ เหมือนวันเก่ารู้วิถี ตัวตน บนทางเราอย่าเกะกะใครเขาก็เท่านั้นเราเป็นชนกลุ่มน้อยด้อยในโลกจะส่งซึ่ง ภาษาโศก ภาษาขันก็หามีใครฟังเจ้าทั้งนั้นคนอื่นล้วน สื่อสารกัน ภาษาเขา
วาดวลี
“เขาขนทรายกันตรงไหนคะ”ฉันเอ่ยถามเสียงเบาๆ หากจะให้เดาก็คงเป็นที่วัด แต่วัดในบริเวณนี้มีตั้งหลายแห่ง และก็ไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำแบบวัดใหญ่ของอีกฝั่งฟากถนน วัดใหญ่นั้น ตีเขตไปเป็นอีกตำบล อีกอำเภอหนึ่ง ซึ่งเดาได้ว่า คนในหมู่บ้านฉัน คงไม่ได้ไปทำบุญกันที่นั่น พี่สาวใจดีข้างบ้าน บอกฉันทุกเรื่อง ในสิ่งที่ฉันสงสัย จะว่าไป มีเพียงครอบครัวเดียวที่ฉันรู้จักมักคุ้น แม้จะย้ายบ้านมาได้หลายเดือนแล้ว คนอื่นๆ ส่วนใหญ่ ออกไปใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน เราเจอกันยามค่ำ ก็ยิ้มให้กันไปมา แล้วต่างแยกย้ายกันไป แค่เวลา 2 ทุ่มกว่า ทั้งหมู่บ้านก็เงียบสนิท มีเพียงฉันที่เปิดไฟทำงานจนถึงดึกดื่นจะสงกรานต์แล้ว…
วาดวลี
“ฝนกำลังตกซิๆ”เสียงตามสายโทรศัพท์จากเพื่อนหนุ่มที่ฉันเคยเขียนถึงเมื่อตอนที่แล้ว เอ่ยบอกเล่าเบาๆ ถึงสิ่งที่กำลังอยู่ในชีวิตเขาของในเช้าวันนี้คนทางนี้เรียกสายฝนด้วยคำนั้น “ฝนตกซิๆ” บางครั้ง ฉันก็ชอบลักษณะฝนอย่างว่า ด้วยเป็นคนที่ชอบอยู่บ้าน จะมีอะไรสุขใจไปกว่าการได้นั่งดูสายฝนที่ไม่มีลมแรงๆ ให้ต้องหวาดกลัว อากาศเย็นสบาย จิบชาอุ่นๆ แล้วนั่งทำงาน แต่ก็อดเห็นใจไม่ได้ ถึงคนที่กำลังเดินทาง หรือคนทำมาค้าขาย  อาการฝนตกซิๆ นั่นคือเรื่องรำคาญใจ และรบกวนการทำงานอย่างยิ่ง วูบนั้น ฉันก็นึกไปถึง ป้ายสุภาษิตหน้าวัดต้นปิน ซึ่งเขียนไว้บนแผ่นไม้ติดผนังวัดว่า “ฝนตกซิๆ นานเอื้อน หมาขี้เรื้อน นานต๋าย”…
วาดวลี
“ผมจะย้ายกลับบ้านเกิดแล้วนะ” อีกครั้ง ที่เพื่อนชายคนเดิม คนที่ฉันเคยช่วยเก็บข้าวของเมื่อปีก่อน บอกกับฉันในต้นปลายเดือนมีนาคมของปีนี้ถึงเรื่องการย้ายกลับภูมิลำเนาเกิดไปยังอำเภอฝาง บ่ายที่แดดจัดจ้านนั้น ฉันจำได้ดีถึงประกายนัยน์ตามุ่งมั่นของเขา เมื่อหกเดือนที่แล้ว ................  
วาดวลี
อาจด้วยความเมตตาของผืนฟ้า และความปราณีของผืนดิน ที่ยังคงให้เราได้หายใจหายคอได้อยู่  ทั้งที่ “อะไรที่มองไม่เห็นในอากาศ” นั้น กำลังมาบอกอย่างโต้งๆ ว่า โลกไม่ใช่แค่กำลังร้อน แต่มันกำลังเสื่อมสลายและผุกร่อน“ขี่รถไปไหนแสบตามากเลย หายใจไม่ค่อยออก”คนรู้จักของฉันเล่าให้ฟัง ฉันได้แต่พยักหน้าเห็นด้วย เพราะอาการก็ไม่ต่างกัน เมื่อวานนี้ ฉันซ้อนมอเตอร์ไซค์คนที่บ้านขี่เลียบน้ำปิงไปยังเขตเมือง ใบไม้ร่วงกราวจากพายุที่ก่อตัวตั้งเค้ามาในช่วงบ่าย ใบไม้แห้งสีน้ำตาลกรอบกระจายไปถ้วนทั่วท้องถนนและผืนหญ้าบนสวนสาธารณะ บางแห่งพัดปลิวเอาเศษกระดาษ ถุงพลาสติก วนอยู่ในอากาศ ก่อนจะร่วงไปตกลงในลำน้ำปิง…
วาดวลี
หลายปีก่อน หญิงสาวรูปร่างบางตาคมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นน้อง เอ่ยกับฉันว่าการหอบสัมภาระเพื่อย้ายจาก “บ้านเช่า” ไป “บ้านใหม่” ที่เธอเป็นเจ้าของนั้น ต้องเก็บไปให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระของคนมาทีหลัง “อะไรเอาไปได้ก็เอาไป ยกเว้นก็แต่ต้นไม้ มันโตจนเกินกว่าที่จะขุดขึ้นมา”ฉันไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเธอเลยในหลายปีมานี้ แต่พอจะรับรู้ได้ว่า คนรักต้นไม้แบบเธอนั้นเพียรพยายามปลูกสารพัดต้นไม้เท่าที่ผืนดินจะอำนวย นอกจากต้นโมก ดอกแก้ว หรือพลูด่างแล้วเธอยังมีพืชสวนครัว เช่น ตะไคร้ พริก โหระพา เพื่อเอาไว้ทำกับข้าว แต่ฉันเดาเอาว่าเธอคงปลูกทั้งต้นมะม่วง จำปี กระทั่งฝรั่งหรือขนุน…
วาดวลี
"มีลูกแมวเพิ่งออกลูกตั้งหลายตัวแน่ะ""มันอยู่ตรงไหนคะ" "นั่นไง หลบอยู่หลังป้ายหาเสียงน่ะ"คนบอกชี้นิ้วไปยังบริเวณริมรั้วที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ฉันอดไม่ได้ ที่จะจำใจมองไปยังป้ายโฆษณาหาเสียงขนาดใหญ่ สูงท่วมหัวตั้งโด่เด่อยู่เพียงอันเดียวในหมู่บ้าน  ป้ายอันนั้นทำด้วยไม้อัดเรียงต่อกัน แปะทับเข้าไปด้วยไวนิลพิมพ์ภาพ 4 สีสดใส ใบหน้าผุดผ่อง ขาวนวลและริมฝีปากแดงระเรื่อ ดูมีอำนาจวาสนาและความรู้ แต่ในเมื่อไม่มีป้ายหาเสียงของใครอื่นมาเทียบเคียงอีกเลย ฉันจึงคิดเล่นๆว่า  ดูท่าทางเขาไม่ใช่ผู้ลงสมัครระดับธรรมดา และบ้านหลังนั้นที่มีรถหาเสียงหลายๆ คันทยอยกันมาจอดชุมนุม…
วาดวลี
“เธอดูโน่นสิ แดดออกแล้ว แต่ฝนยังตกอยู่เลย”ฉันเอ่ยเสียงดัง แล้วละสายตาจากคอมพิวเตอร์ ออกมายืนยังประตูบ้าน กลิ่นไอฝนกระทบกับผืนดินแตะปลายจมูก  สูดกลิ่นเข้าไปเต็มปอด พลางพิจารณาแสงแดดที่ค่อยๆ มาแทนที่อย่างเชื่องช้าคนข้างกายลุกขึ้นบ้าง เราสองคนออกมายืนดูสายฝน ที่มีเม็ดเล็กลงเรื่อยๆ ตกช้าลง ช้าลง จนกระทั่งหยุดตก เหลือไว้เพียงก็รอยหมาดฝนบนผืนดิน ใบไม้ และทางเดิน “แบบนี้ต้องมีรุ้งกินน้ำแน่ๆ หิวข้าวหรือยัง”
“อ้าว เกี่ยวกันยังไง” ฉันทำหน้าเบ๋อ พุ่งตัวเข้าไปใกล้เธอในระยะประชิด“แปลว่าเราออกไปหาอะไรกิน แล้วไปดูรุ้งกินน้ำด้วยไง”ฉันยิ้มกริ่ม ถ้าเธอมีเวลาอยู่กับฉันทุกวันก็คงจะดี นานๆ หน…
วาดวลี
ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์แล้วล่ะ  ที่ฉันไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้วพยายามจะนับดูว่า ดอกทิวลิปที่ก้านอวบ กลีบสวย ในสวนตรงนี้ มีจำนวนกี่สีกันแน่มวลหมู่ไม้มากมาย พืชพันธุ์ทั้งไทยและฝรั่ง ผลิบานแสดงความแข็งแรงต่ออากาศหนาวยามเช้า และแดดจัดยามบ่ายในบริเวณสวนสาธารณะของหาดเชียงราย แม้มันจะไม่ได้เกิดและเติบโตที่นั่น แต่ถูกเพาะปลูกเลี้ยงดูด้วยการทดลอง กระทั่งเมื่อสำเร็จผล ก็ถูกขนย้าย มาลงบนผืนดินชั่วคราวเพื่อแสดงงานดอกไม้ดอกทิวลิป ลิลลี่ บานชื่อพันธุ์ใหม่ และดอกไม้ชื่อแปลกหูอีกหลายชนิด เบ่งบานอวดสีสันอยู่ไม่ไกลนักจากลำน้ำกกที่พากันไหลอ้อยสร้อย เชื่องช้าไม่เพียงแต่ทดสอบความทนทานของดอกไม้ต่ออากาศเท่านั้น…
วาดวลี
อากาศขมุกขมัว เริ่มต้นมาได้หลายวันแล้ว ขณะที่หมอกบางเพิ่งจางลงไปในตอนเช้า ตอนสายๆ ของฤดูหนาวกลับมีเม็ดฝนมาเยือน คนในครอบครัวต้องปรับตัวในการออกไปทำงาน  ด้วยการใส่ทั้งเสื้อกันหนาวและเสื้อกันฝน ส่วนฉัน ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปติดอยู่ที่แผงขายผักเล็กๆ ในหมู่บ้าน คุณยายมองดูสายฝนที่หนาหนักลงมา แล้วก็ถอนหายใจ"อย่าเพิ่งกลับเลยหนู รอให้ฝนซาก่อน"เขาบอกฉันอย่างมีไมตรี แล้วชวนให้เข้าไปหลบฝนด้านในร้าน เหลือบไปมองถนน บางคนฝ่าเม็ดฝนไปไม่กลัวเปียก บางคนทำท่าเก้ๆ กังๆแล้วบทสนทนาของฝนหลงฤดูก็เกิดขึ้น"มันแปลกจริงๆ ฝนจะมาช่วงนี้ได้ยังไง""อากาศวิปริต""จะเข้าหน้าร้อนแล้วก็แบบนี้แหละ ฝนหัวปี""เฮ้ย ยังไม่ถึง"…
วาดวลี
ผู้ชายคนนั้นเหมือนไม่สนใจใครเลยเขาย่ำเท้าหนักๆ ลงบนผืนทราย บุ๋มเป็นรอยเท้าทับซ้อนกันไปมา เขาง่วนอยู่กับข้าวของบางอย่างตรงหน้า แต่ฉันไม่คิดว่าเขาจะลืม ว่าเวลาที่ตะวันยามเช้าสะท้อนแม่น้ำจนเป็นสีเหลืองนวลนั้นสวยงามเพียงใดหาดทรายริมแม่น้ำโขงที่ฉันมาเยือน อยู่ในความสนใจของนักเดินทาง โลกนัดเวลาให้เราไว้แล้ว สำหรับการตื่นในที่แปลกถิ่นและออกมาสูดอากาศ หากตื่นเช้ากว่าใครเพื่อน เราจะมองเห็น ผู้คนทยอยโผล่หน้าออกจากเกสเฮาส์ที่เรียงรายกันตลอดริมฝั่ง บ้างก็ลงมาเดินเล่น บ้างก็กางขาตั้งกล้องรอเอาไว้ เพื่อจะได้กดชัตเตอร์เมื่อดวงตะวันกลมโตสีแดงโผล่พ้นทิวเขาหลังแม่น้ำขึ้นมา…