ฉันรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางไปประเทศจีน เดินทางโดยยังไม่ได้ก้าวขาออกจากบ้านเสียด้วยซ้ำ มันเป็นการเดินทางด้วยจิตใจและจินตนาการ เมื่อน้องสาวที่น่ารักคนหนึ่งของฉัน เธอเดินทางไปเป็นครูสอนภาษาไทยอยู่ที่เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสีตั้งแต่ 1 ปีที่แล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะย่างครบ 1 ปี เธอบอกว่าคิดถึงเมืองไทยเป็นที่สุด และนับจากวันนี้ไปอีกแค่ 8 วันเท่านั้นเธอก็จะได้กลับมาเหยียบผืนดินไทยอีกครั้งแล้ว
“ดีใจนะที่ปลอดภัย”
จำได้ว่าเอ่ยกับเธอด้วยประโยคนี้ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศจีนไม่นาน ฉันนึกถึงใบหน้าของเธอ แก้มยุ้ยๆ และแววตาวาบวับที่ระยิบระยับเสมอ โดยเฉพาะเวลาที่เล่าถึงความฝันหรือแสดงความซนด้วยการแซวใครต่อใคร เธอเป็นน้องเล็กของกลุ่ม ที่เจอกันทีไรก็เห็นรอยยิ้มมาแต่ไกล แต่ตั้งแต่เธอเดินทางไปอยู่ที่โน่น การติดต่ออันน้อยนิดของเราก็พอจะให้รับรู้ได้ว่า เธอทั้งเหงา โดดเดี่ยว ไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อม ผจญกับอากาศหนาวเย็น และฟังภาษาไม่ค่อยจะเข้าใจนัก
ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ เมืองของเธอก็อยู่ไม่ไกลนักจากพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่วนเธอปลอดภัยดี อพาร์ทเมนต์ของเธอก็แข็งแรงดี แต่ข่าวคราวรอบตัวของเธอ แต่ศพกับศพ มีร่องรอยความเสียหาย มีผู้สูญหายและติดอยู่ในซากปรักหักพังที่ยังเอาออกมาไม่ได้ เธอเล่าถึงบรรยากาศการจุดเทียนไว้อาลัยผู้จากไป ตอนเย็นๆ ผู้คนในเมืองต่างๆ พร้อมใจกันยืนไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิต บทสนทนาของเราในระยะนี้ แทบจะไม่มีคำอื่น นอกจากถามว่า “สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้างแล้ว?”
เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว เราจึงพอจะเริ่มสนทนากันได้บ้างถึงเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เพื่อนที่โน่น โครงการหลังจากกลับเมืองไทย พอได้เห็นรอยยิ้มจางๆ อันมีความหวังของเธอ
เป็นเวลาเดียวกันกับที่เพื่อนสนิทอีกคนของฉัน โทรมาในยามสายของวันหนึ่งเพื่อที่จะบอกว่า
“ได้มองท้องฟ้าบ้างไหม?”
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องโรแมนติก หรือบทสนทนาบางเบาของคนช่างฝัน แต่คราวนี้กลับไม่ใช่ เธอบอกด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นมาว่า
“เช้านี้เราเห็นเมฆแผ่นดินไหวล่ะ”
เพื่อนของฉันบอก ก่อนหน้านี้ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก แม้จะได้ผ่านตาบ้างกับข้อมูลเกี่ยวกับการเตือนภัยของแผ่นดินไหว เพื่อนของฉันเล่าว่า เมฆแผ่นดินไหวนั้นมีหลายประเภท มักจะมาแสดงให้เห็นก่อนเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนหน้า 2-3 วัน หรือเกิดภายในวันนั้นเลยก็มี เป็นต้นว่า
(ภาพตัวอย่างเมฆแผ่นดินไหวจากเวบไซต์ http://board.palungjit.com )
เมฆที่มีลักษณะเป็นก้อนรูปสี่เหลี่ยมแถบกว้าง อยู่นิ่งๆ บนท้องฟ้าราว 30 นาที แม้ลมแรงเท่าไหร่ เมฆก็ไม่กระจายตัวออก ข้อมูลหลายแห่งบอกว่า เมฆชนิดนี้อยู่ในเวลาเกิดแผ่นดินไหวถึง 90% ยิ่งแถบมีความหนาเท่าไหร่ ก็บอกถึงความรุนแรงของการสั่นสะเทือนมากเท่านั้น
ถัดมา เมฆที่มีลักษณะเหมือนเหมือนคลื่น กระจายอยู่ทั่วฟ้าเป็นผืนกว้าง และหยุดนิ่งเป็นเวลานาน มักจะเป็นสัญญาณบอกเช่นกันว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น
ในเวบบลอกของ “phyblass” ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนใจในปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ได้ช่วยแปลข้อมูลจากวิกิพีเดียภาคภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า "เมฆอัลโตคิวมูลัส" เป็นเมฆที่มีลักษณะเป็นก้อนสีขาวลอยอยู่ที่ระดับความสูง 2-7 กิโลเมตร เป็นหนึ่งใน 10 รูปแบบพื้นฐานของเมฆ จัดเป็นเมฆชั้นกลาง บางครั้งเรียกว่าเมฆลายจุด หรือ เมฆแกะ มีสีขาวมองเห็นชัดเจน เมื่อขยายตัวเต็มท้องฟ้าเต็มที่ จะบดบังดวงอาทิตย์จนทำให้ฟ้ามืดได้ ก่อตัวขึ้นจากกระแสลมมวลอากาศเย็น เมื่ออากาศร้อนสัมผัสกับส่วนบน อิทธิพลคลื่นบรรยากาศจะทำให้แผ่กว้าง เห็นการเรียงตัวของเมฆชัดเจน ถือได้ว่าเป็นเมฆที่บ่งบอกถึงลางร้ายอะไรบางอย่าง
นอกจากนี้ ยังมีเมฆชนิดอื่นๆ อีก และถูกเรียกชื่อต่างกันออกไป เช่น เมฆรูปพัด จะเกิดก่อนแผ่นดินไหวราว 2-3 วัน มีรูปเหมือนพัดบนท้องฟ้า เชื่อว่าด้ามของพัดตรงกับบริเวณที่จะเกิดแผ่นดินไหว หรือเมฆก้อนที่คล้ายพายุหมุน เมื่อเกิดให้เห็นก็จะเกิดแผ่นดินไหวเช่นกัน
..............
“เธอว่ามันจะเป็นไปได้จริงไหม”
ฉันถามเพื่อนอย่างสนใจ ด้วยว่าเช้านี้เสียงของเธอตื่นเต้นมากที่ได้ออกไปยืนถ่ายก้อนเมฆแผ่นดินไหวอยู่แถวเขตปทุมธานี ส่วนบ้านของฉันฝนตกโปรยปรายและยังเดินทางอยู่ในรถเพื่อไปทำธุระ หลังจากคุยกับเธอได้แค่ 10 นาทีก็เปิดวิทยุ พบว่าวันเดียวกันนั้นมีข่าวแผ่นดินไหวพร้อมกันถึง 3 แห่ง คือ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้
(ภาพถ่ายฝีมือเพื่อนจากท้องฟ้าย่านปทุมธานี)
“ถ้าเราเห็นที่นี่ แต่ไหวที่ประเทศอื่น มันจะสัมพันธ์กันไหม”
เราสองคนทบทวนไปด้วยกัน อย่างเชื่อครึ่งและไม่เชื่อครึ่ง เพราะข้อมูลบางแห่งบอกเราไว้ว่า สิ่งนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันในเชิงอุตุนิยมวิทยา หากแต่เกิดจากการสังเกตของผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตามเช้าวานนี้ฉันตื่นมาเปิดประตูบ้านรับลม พร้อมกับการเจอเมฆรูปคลื่นกระจายอยู่เต็มท้องฟ้า เดินไปหยิบกล้องถ่ายรูปมาถ่ายเก็บเอาไว้กะว่าจะส่งให้เพื่อนดู ไม่นานจากนั้น พี่สาวก็ส่งข่าวมาว่า ก่อนหน้านั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงราย ก็แจ้งข่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย มีจุดศูนย์กลางที่เวียงป่าเป่า และเกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง ติดต่อกัน
(ภาพถ่ายจากหน้าบ้านของฉันเอง)
คำถามมากมายผุดขึ้นในความคิด หากผืนเปลือกโลกของเราเป็นผืนเดียวกันหมด ปรากฏการณ์แห่งลมฟ้า อากาศ และก้อนเมฆล้วนอยู่ไม่ไกลกันนัก แล้วสิ่งที่ฉันเห็นอยู่บ่อยๆ บนท้องฟ้าที่ไกลนับหลายพันกิโลเมตรจากพื้นที่ประสบเหตุนั้น บอกอะไรกับเราได้บ้าง รวมถึงเมฆที่เพิ่งเห็นหยกๆ เมื่อวานนี้
บอกว่าใกล้จะถึงตาของพวกเราแล้ว หรือ บอกว่า มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกวัน รอดูเถอะว่าด้ามพัดจะไปหยุดอยู่ตรงไหน หรือแล้วแต่โอกาสของสภาพแวดล้อม ลม ฝน แสง อากาศ ว่าจะปรากฏให้ใครได้เห็นก้อนเมฆเหล่านี้อยู่ที่ไหนของโลกบ้าง อย่างนั้นหรือเปล่า?
“บางครั้งเมฆอาจจะมาก่อนแผ่นดินไหว บางครั้งก็มาทีหลัง และอาจจะเกิดตอนกลางคืนที่เราไม่สามารถจะมองเห็นเมฆบนท้องฟ้าก็ได้นะ”
เพื่อนของฉันสรุปสั้นๆ แบบนี้ เป็นเวลาเดียวกันกับที่น้องสาวจากประเทศจีนส่งข้อความมาว่า รอคอยเวลากลับบ้านใจจะขาด แน่นอนว่าเธอคงส่งความรู้สึกมาหาญาติมิตรผ่านอากาศและท้องฟ้าอยู่ทุกวัน
ฉันหยิบโปสการ์ดจากประเทศจีนของเธอมาดูอีกครั้ง ขอต้อนรับกลับบ้าน คิดพลางส่งความรู้สึกผ่านไปยังผืนฟ้า ผืนเดียวกันที่สามารถเกิดก้อนเมฆรูปทรงประหลาดให้มองเห็นไม่เหมือนกันในแต่ละวัน ฉันนึกขอบคุณทั้งน้องสาวและเพื่อนที่ทำให้การส่งความคิดถึงมีคุณค่าสำหรับมากขึ้น
อย่างน้อยก็ทำให้อยากมองฟ้าทุกๆ วัน นอกจากได้คิดถึงกันแล้ว ยังได้สังเกตไปด้วยว่า วันนี้ท้องฟ้าเป็นแบบที่เราคิดอยู่หรือเปล่า หรือไม่ใช่? และสิ่งที่ปรากฏอยู่ในดวงตาของเราขณะนี้ บางทีใต้ท้องฟ้าอีกด้านของซีกโลก หรือกำลังจะมีข่าวร้ายเพื่อทดสอบมนุษย์ในวันไม่กี่วันข้างหน้า
ก็เป็นได้.
ข้อมูลเพิ่มเติม : ภาพถ่ายลักษณะต่างๆ ของเมฆแผ่นดินไหว ถูกบันทึกภาพโดย Zhonghao Shou จากเวบไซต์http://www.dmr.go.th รูป 01 - เมฆรูปเส้นตรง (Line-shaped cloud) พบบริเวณเมือง Pasadena ในวันที่ 8 มกราคม 2537 เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ของวันที่ 17 มกราคม 2537 ขนาด 6.7 ริกเตอร์ รูป 04 เมฆรูปขนนก (Feather-shaped cloud) ) ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าในวันที่ 18 ตุลาคม 2537 ก่อนเกิดแผ่นดินไหวของวันที่ 27 ตุลาคม 2537 บริเวณนอกชายฝั่งทะเลของรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ขนาด 6.3 ริกเตอร์ |
ข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก
- http://ikamiso.exteen.com/20080507/entry-3
- http://my.dek-d.com/Writer/story/viewlongc.php?id=267891&chapter=4
- http://www.dmr.go.th/geohazard/earthquake_n/precursory.htm
- http://ikamiso.exteen.com
- http://board.palungjit.com/showthread.php?t=80328&page=10
- http://www.matichon.co.th/news_scoop.php?id=200