Skip to main content

ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้

1) มองคนจนในด้านเดียว หาว่าเขาโง่ มองคนจนว่า จนแล้วยังเสื_กกินเหล้า ทำร้ายตัวเอง น่าอนาจใจที่คนที่ทำงานเพื่อสังคมในปัจจุบันนี้ กลับไม่ได้มีความเข้าใจชีวิตคนที่แตกต่างจากตนเองอีกต่อไปแล้ว
 
นี่เป็นทัศนะแบบ "คุณพ่อรู้ดี" ตัดสินชีวิตคนอื่นจากมุมมองตนเอง ไม่ใช่ด้วยเพราะตนเองรู้ดีกว่าจริงๆ หรอก แต่เพราะคิดว่าตนเองเท่านั้นที่รับผิดชอบสังคมนี้ คนอื่น ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนจน รับผิดชอบชีวิตเขาเองไม่ได้ ต้องควบคุม ต้องกำกับจัดการ
 
นี่เป็นทัศนะของชนชั้นกลางที่เชื่อมั่นในการศึกษา ชอบอ้างงานวิจัย ซึ่งก็มักวางอยู่บนกรอบเดียวกันนี้ ผมเห็นงานวิจัยเรื่องสุราแต่ละชิ้น มักไม่ได้มาจากกรอบของมุมมองทางสังคมที่เห็นปัญหาของนโยบายรัฐและปัญหาของความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง แต่มักมุ่งเป้าปัญหาไปที่คนจนปัจเจก ลดทอนปัญหาใหญ่ๆ ให้กลายเป็นปัญหาส่วนบุคคล ลดทอนปัญหาเชิงนโยบายและความเหลื่อมล้ำ ให้กลายเป็นเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม
 
หากความดีดีจริง จะต้องเป็นความดีที่ไม่มีที่ติ จะต้องไม่สามารถถกเถียงหาข้อโต้แย้งให้สงสัยได้ว่าดีแค่ไหน ดีจริงหรือ จะต้องเป็นความดีที่ทุกคนยอมรับได้ แต่หากความดีของพวกคุณยังมีข้อสงสัย อย่าคิดว่าความดีของพวกคุณดีในตัวของมันเอง แล้วอย่าเพิ่งเที่ยวเอาความดีแบบพวกคุณไปยัดเยียดคนอื่น เพราะสังคมเขายังไม่สิ้นสงสัยในความดีแบบพวกคุณ
 
2) แทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น วิธีคิดแบบนี้กลับผลักปัญหาให้เป็นปัญหาของคนอื่น ทั้งๆ ที่ตนเองมีงานที่สำคัญอยู่แล้วแต่ยังทำไม่ได้ ทำไมองค์กรนี้ไม่ไปรณรงค์ผลักดันให้เจ้าหน้าที่ ให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้มงวดกวดขันกับมาตรการและกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น ทำไมจึงมาออกหน้าเถียงแทนพวกหมอ ทำไมต้องมามุ่งควบคุมคนจน 
 
นี่ทำให้น่าสงสัยว่า ตกลงเอ็นจีโอและนักวิชาการกลุ่มนี้กำลังทำงานให้ใคร น้ำเสียงขององค์กรนี้สอดคล้องกับบางองค์กรที่มักรณรงค์งดเหล้าด้วยกรอบคิดเดียวกันนี้ อย่าให้คนเขาเข้าใจไปเองครับว่า องค์กรนั้นซึ่งมีอิทธิพลมากมายจนผมยังไม่กล้าเอ่ยชื่อเลย จะมาสร้างเครือข่ายยัดเยียดศีลธรรมของชนชั้นกลางคุณพ่อรู้ดี แล้วเที่ยวใช้อิทธิพลไปทั่ว ผ่านเงินทองมากมายจากภาษีที่พวกท่านตีตราว่าบาป หรือเพราะบรรดาหมอที่ผลักดันนโยบายนี้ไม่ถนัดที่จะถกเถียงด้วยเหตุผลด้วยตนเอง หรือไม่อยากมาเกลือกกลั้วแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนในสังคม จึงอาศัยตัวช่วย ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลยครับ 
 
3) ถึงที่สุดแล้ว ผมสงสัยว่านี่เป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายหรือไม่ เพราะในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายไม่ได้มีไว้ใช้ควบคุมศีลธรรม กฎหมายมีไว้สำหรับการอยู่ร่วมกัน อย่ามาใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตคนอื่นผ่านกฎหมาย สังคมประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรมด้วย กฎหมายจึงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความดีความชั่วอย่างแคบๆ ได้ เพราะความดีความชั่วส่วนใหญ่วางอยู่บนความเชื่อของคนบางกลุ่มเท่านั้น 
 
แต่ในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายต้องอยู่ในกรอบของการทำให้คนที่มาจากพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมกันได้ ยอมรับกันได้ เคารพกันและกันได้แม้จะแตกต่างกัน ถ้าพวกคุณยอมรับคนอื่นไม่ได้ด้วยมาตรฐานชีวิตของพวกคุณ แล้วเที่ยวไปตัดสินดีชั่วให้ชีวิตคนอื่น จนถึงกับไปออกกฎก้าวก่ายชีวิตคนอื่นด้วยมาตรฐานชีวิตของพวกคุณ แบบนั้นเขาเรียกการใช้อำนาจแบบเผด็จการ เผด็จการล้วนอ้างว่าตนใช้อำนาจในนามของความดีทั้งนั้นแหละครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน