Skip to main content

งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง

แต่ละปี ผมสอนวิชาชั้นปริญญาตรีภาคละหนึ่งวิชา ตามปกติ ภาคที่ 2 ของแต่ละปี ผมจะสอนวิชาชื่อ “ชาติพันธ์ุนิพนธ์” (ethnography) ส่วนแรกของวิชา จะให้นักศึกษาอ่านงานเขียน มาถกเถียงกันถึงแนวคิดต่างๆ ที่วิพากษ์งานเขียนทางมานุษยวิทยา ส่วนหลัง จะให้นักศึกษาทำโครงการวิจัยของแต่ละคน โดยมีโจทย์ให้แต่ละสัปดาห์ต้องเขียนบันทึกภาคสนามด้านต่างๆ แล้วนำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ด้วยห้องเรียนขนาดค่อนข้างใหญ่ บางปี 35 คน ปีนี้มีถึง 65 คน ทำให้การจัดการชั้นเรียนเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์แบบที่ผมต้องการทำได้อย่างยากเย็นมาก แต่สุดท้าย นักศึกษาในวิชานี้ก็มักจะผลิตผลงานดีๆ ออกมา

 

ปีนี้ นักศึกษาเริ่มเสนอหัวข้อวิจัยที่แต่ละคนอยากทำ มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เช่น ความคิดเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดเต้านม คนสูงอายุกับโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน ความคิดเรื่องการรักสัตว์ของคนเลี้ยงหมา เมืองในสายตาคนขับแท็กซี่ ชีวิตข้ามพรมแดนของชาวซิกข์ ชีวิตชายที่เลือกเป็นพ่อบ้าน อัตภาวะของตัวตนคนพิการ ฯลฯ แต่ก็ยังมีนักศึกษาอีกมากที่ขณะนี้ยังคิดหัวข้อวิจัยไม่ออก 

 

เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาคิดหาหัวข้อวิจัย ผมเขียนข้อความต่อไปนี้ให้นักศึกษาอ่าน...

 

งานวิจัยที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากการอาศัยระเบียบวิธีวิจัยที่แข็งแกร่ง หรือความเคร่งครัดในการเก็บข้อมูลอย่างเข้มข้น ไม่ได้มาจากการใช้ทฤษฎีที่หรูหรา ยุ่งยากวกวนแต่อย่างใด

 

แต่งานวิจัยที่ดีมักมาจากแรงขับบางอย่าง มาจากความมุ่งมั่นบางอย่าง นักวิจัยที่มีประสบการณ์บางคนบอกว่า งานวิจัยที่ดีมาจาก passion ที่ผมอยากแปลว่า "อารมณ์ใคร่" หากคุณทำงานวิจัยด้วยความใคร่ งานวิจัยมักออกมาดี ความใคร่แบบไหนบ้างที่จะกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่ดีได้

 

- curiosity ความใคร่รู้ใคร่เห็น สอดรู้สอดเห็น อยากเข้าใจ อยากรู้จัก อยากพูดคุยสนทนา อยากรู้เบื้องหลัง เบื้องลึก ของคนที่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่ของคนที่รู้จักดีอยู่แล้ว นี่เป็นความใคร่พื้นฐานของการวิจัย

 

- adventurous ความตื่นเต้นท้าทาย เป็นความสนุกที่ได้คิด ได้ประลองทางปัญญา อยากทะเลาะโต้เถียงกับใคร อยากเขียนงานหรือวิจัยสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน เนื่องจากยังไม่เห็นมีใครเขียนสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน อยากรู้ หรือยังไม่เห็นมีใครใช้มุมมองแบบที่ตนเห็น เพื่ออธิบายสิ่งที่มักกล่าวถึงกันมามากแล้ว เป็นเสมือน “คนเห็นผี” ที่คนอื่นไม่เห็น นี่เป็นความใคร่พื้นฐานอีกข้อหนึ่งของนักผจญภัยทางปัญญา

 

- shock ตื่นตระหนกกับสิ่งแปลกใหม่ ตื่นตระหนกกับมุมมองใหม่ที่มีต่อสิ่งปกติประจำวัน หรือแม้กระทั่งไม่เฉื่อยชา ไม่ตายด้านกับสิ่งคุ้นเคย ไม่ take for granted กับสิ่งต่างๆ จนเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติไปเสียหมด นี่เป็นอารมณ์ใคร่แบบนักวิจัยทางสังคมโดยแท้

 

- empathy and sympathy เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ อ่อนไหว ต้องการทำความเข้าใจคนอื่น ไม่ตัดสินคนอื่นจากอคติของตนเองแต่แรก ไม่มองข้ามความเฉพาะเจาะจงที่อาจมีเหตุผลแตกต่างรองรับความแปลกประหลาด นี่มักเป็นความใคร่แบบนักมานุษยวิทยา ที่มุ่งทำความเข้าใจชีวิตที่แตกต่าง

 

- anger ความโกรธ โกรธที่เห็นคนถูกเข้าใจผิด โกรธที่เห็นคนถูกดูถูก โกรธที่เห็นคนถูกละเมิด ถูกเอาเปรียบ โกรธที่คนไม่เข้าใจคนบางกลุ่ม ทนไม่ได้กับความบิดเบี้ยวของสังคม เกิดแรงบันดาลโทสะกับการเอารัดเอาเปรียบที่อยู่ต่อหน้า ทำให้อยากอธิบาย อยากเข้าใจ เพื่อช่วยเหลือ เพื่อให้สังคมยอมรับพวกเขา เพื่อให้สังคมเป็นธรรม นี่เป็นความใคร่ของนักวิจัยที่มีจุดยืนเชิงวิพากษ์สังคม

 

- resentment ความคับข้องใจ อึดอัดใจดับสภาพที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกดดัน หรือกับการที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกระทำอย่างอยุติธรรม จึงอยากเขียนงาน อยากวิจัย เพื่อให้คนเข้าใจ ให้สังคมเข้าใจ นี่เป็นงานวิจัยที่แสดงให้สังคมรับรู้และเข้าใจชีวิตของผู้วิจัยเอง

 

อาจมีอารมณ์ใคร่อื่นๆ อีกที่ทำให้คนทำวิจัย แต่ส่วนใหญ่ผมอาศัยอารมณ์ใคร่ต่างๆ ข้างต้นเพื่อการทำวิจัย งานแต่ละชิ้นอาจมาจากอารมณ์ใคร่คนละแบบกัน หรือหลายๆ แบบปะปนกัน แต่แทบทุกครั้งที่ผมทำวิจัย หรือเขียนงาน ผมทำด้วยอารมณ์ใคร่บางอย่างเสมอ 

 

หวังว่าจะได้อ่านงานวิจัยที่พวกคุณทำด้วยความใคร่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"