Skip to main content

ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้

    (2) บ้าศัพท์แสง
 
ผมไม่ได้เชื่อขนาดที่นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่า "ภาษาสร้างโลก" เนื่องจากผมเชื่อว่ายังมีโลกส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกการรับรู้ผ่านภาษา และยังมีการสื่อสารแบบอื่นๆ ถึงเรื่องราวอีกมากมาย ที่ภาษาสื่อไม่ได้ ที่ยังต้องใช้สื่ออื่นๆ นำเสนอ แต่ผมก็ให้ความสำคัญกับภาษาอย่างยิ่ง เพราะภาษาน่าจะเป็นสื่อที่สามัญที่สุดของการสื่อสารในปัจจุบัน หรือน่าจะตั้งแต่มีมนุษย์อุบัติมาบนโลกด้วยซ้ำ
 
ที่ว่าอย่างนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะผมสนใจแง่มุมทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของภาษา แต่ผมสนใจภาษาในฐานะการสื่อสารด้วย ข้อนี้ใครที่เคยถูกผมอ่านงานให้ไม่ว่าจะในฐานะนักศึกษาหรือเพื่อนนักวิชาการย่อมทราบดี ไม่ว่าจะการใช้คำ การเรียบเรียงประโยค ระบบการเขียน การใช้เครื่องหมายวรรคตอน การสะกด (ซึ่งผมเองก็ผิดบ่อยเหมือนกัน) ตลอดจนการแปล และการคิดคำศัพท์ การคิดคำศัพท์จึงเป็นเพียงส่วนเดียวของการให้ความสนใจต่อภาษาของผม 
 
โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่นิยมใช้ไทยคำอังกฤษคำ จึงพยายามหาคำแปลให้กับคำต่างภาษา และเมื่ออ่านงานภาษาต่างประเทศจำนวนมากพอสมควร ก็ย่อมต้องพบคำที่ยังไม่เคยแปลเป็นภาษาไทยหรือแปลแล้วแต่ไม่ได้ความตามที่ต้องการสื่อ 
 
แต่ก็ไม่ว่ากันสำหรับคนที่ใช้ภาษาแบบนั้น ผมเข้าใจว่ามันขึ้นกับบริบทการใช้ภาษา อย่างในงานเขียนทางวิชาการโลกภาษาอังกฤษ ใครมาดัดจริตอังกฤษคำ กรีกคำ ฝรั่งเศสคำ เขาก็ไม่ตีพิมพ์ให้เหมือนกัน แต่กับการพูดจา หรือการสื่อสารในโลกออนไลน์แบบไวๆ เร็วๆ ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่คนอยู่ในโลกหลากภาษาจะใช้หลายภาษาปนเปกัน ปกติเวลาผมคุยกับเพื่อนที่รู้ภาษาที่ผมรู้ (ทั้งหมด 4 ภาษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรสำหรับคนทำวิจัยในต่างแดน) ผมก็พูดปนกันหลายๆ ภาษา เพราะถือว่าภาษาสำหรับการสื่อสารไม่ควรมีการจำกัดขอบเขตไว้ในกรอบของภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น
 
ที่บางคนบ่นว่าทำไมนักวิชาการถึงต้องมีศัพท์แสงอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ยุ่งเหยิงไปหมด จึงอาจจะต้องทำความเข้าใจด้วยเหมือนกันว่่า คำศัพท์ใหม่ๆ สำคัญในหลายเหตุผลด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกวิชาการที่พัฒนาเร็วๆ หรือบริบทที่เราอยากให้โลกก้าวหน้า มีอะไรใหม่ๆ เสมอ เราต้องการศัพท์ใหม่ๆ เสมอ ผมถือว่านั่นคือการรักษาภาษาไว้ไม่ให้ตาย พร้อมๆ กับเป็นการสร้างความก้าวหน้าแก่ความรู้และสังคม ส่วนสังคมจะรับหรือไม่ จะนำ "คำ" และ "ความ" ใหม่ไปใช้หรือไม่ ก็เรื่องของสังคม บางครั้ง คำศัพท์ใหม่ๆ ติดตลาดจนแม่ค้าขายกล้วยปิ้งหน้าปากซอยยังใช้ ผมก็ถือว่านั่นเป็นดัชนีชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่ดี
 
ผมว่าการคิดคำศัพท์ใหม่ๆ ให้กับภาษาหนึ่งๆ เป็นทั้งการอนุรักษ์ภาษาและการพัฒนาภาษาไปพร้อมๆ กัน ผมเคยอยู่ในโลกที่ภาษากำลังจะตาย คือภาษาไทในเวียดนาม มีแต่การใช้คำยืมจากต่างภาษาเพื่อบอกเล่าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ภาษาไทในเวียดนามจึงไม่มีคำว่า "การเมือง" "เศรษฐกิจ" "สมัยใหม่" และคำอีกมากมาย จึงต้องใช้ภาษาเวียดนาม ที่ก็นำเข้ามาจากภาษาจีนอีกต่อหนึ่ง (และที่บางคำก็นำเข้ามาจากญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง) เพื่ิอสื่อถึงสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่าภาษาไทในเวียดนามแม้จะยังไม่ตายสนิทแต่ก็ไม่เติบโตเลยในเกือบร้อยปีที่ผ่านมา คำศัพท์ที่มี ใช้ได้แต่กับเรื่องราว สิ่งของ ความคิดเก่าๆ เมื่อเกือบร้อยปีก่อนเท่านั้น ยิ่งเมื่อภาษาไทในเวียดนามถูกลดบทบาทลงทุกวันๆ เพราะไม่ได้มีฐานะเป็นภาษากลางของการสื่อสารในประเทศนั้นแลัว ก็จะยิ่งทำให้ภาษานั้นเสื่อมลงไปทุกๆ วัน 
 
การคิดคำศัพท์ใหม่ให้ทันกับโลกอยู่เสมอๆ จึงจำเป็นมาก ใครที่สนใจประวัติศาสตร์ภาษาไทยย่อมทราบดีว่า คำที่เราคิดว่าเป็นคำ "ไทย" จำนวนมากก็เพิ่งคิดกันขึ้นมาเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง แม้แต่คำว่า "ไทย" ที่เขียนแบบมี "ย" จิตร ภูมิศักดิ์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้อย่างน่าสนใจว่า ก็เป็นคำที่ปราชญ์ไทยที่ตามก้นแขกคิดขึ้นมา หาใช่คำเก่าแก่ในภาษาไทยไม่ ภาษาไทเดิมเขียนคำนี้ด้วยสระ "ไ" ออกเสียงตามพยัญชนะไม่ "ท" ก็ "ต" ตามแต่สาขาย่อยของภาษาไท ไม่มี "ย" ต่อท้ายที่ไหน
 
ประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษก็น่าทึ่ง ที่แต่ละรอบร้อยหรือสองร้อยปี มักจะมีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมามากมาย ลำพังวิลเลียม เช็คสเปียร์ นักเขียนที่ดังก้องโลก ก็คิดคำศัพท์มากมายแล้ว พอในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ยิ่งมีการคิดคำศัพท์ใหม่และมีการนำเข้าศัพท์ใหม่กันอีกมากมาย คำว่า acid (กรด), electricity (ไฟฟ้า), gravity (แรงโน้มถ่วง) เกิดในสมัยนี้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่ามนุษย์มีอวัยวะต่างๆ ก็คิดคำอีกมากมาย อย่าง vagina, penis, clitoris ในยุคอาณานิคมและยุคแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างคนยุโรปในสหรัฐอเมริกา ภาษาอังกฤษได้คำใหม่ๆ อีกมาก อย่างคำว่า cookies (คุ๊กกี้), coleslaw (สลัดกะหล่ำปลี) ก็ได้มาจากภาษาดัชอีกต่อหนึ่ง (ลองดู "ประวัติภาษาอังกฤษในสิบนาที")
 
ผมจึงไม่ได้ยึดมั่นหลักการพยายามแปลคำศัพท์อย่างตายตัวมากนัก เพราะบางทีการนำเข้าศัพท์แปลกๆ มาตรงๆ เลย ก็เป็นการอนุรักษ์ภาษา เป็นการเพิ่มพลังให้ภาษาเช่นกัน เช่น ภาษาอังกฤษ ที่มีภาษาที่ไม่ใช่แองโกล-แซกซอนร่วม 75% นั่นก็คือการที่ภาษาหนึ่งมักจะเปิดรับภาษาอื่นๆ เข้ามาเสมอ และก็ไม่ได้ทำให้ภาษานั้นตายลงไป ใครจะบอกว่าภาษาอังกฤษจะตายเพราะเปิดรับคำภาษาต่างๆ เข้ามาล่ะ ภาษาญี่ปุ่นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้คำทัพศัพท์ภาษาอังกฤษแบบดัดแปลงออกเสียงแบบญี่ปุ่นเยอะมาก แต่ไม่ว่าจะแปลงเสียง ยกคำศัพท์เดิมมา หรือคิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมา ก็ล้วนบ่งชี้ว่าสังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเสมอ ภาษาจึงต้องอนุวัตรตามเสมอ เราไม่ควรปิดกั้น "ขอบน้ำแดนดิน" (นี่เป็นสำนวนภาษาไทดำ) ของภาษา
 
นักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญภาษาอินเดียนอปาเช่อย่างดีชื่อคีธ บาสโซสรุปลักษณะทั่วไปของการเปลี่ยนแปลงภาษาอันเนื่องมาจากการรับนวัตกรรมใหม่ของแต่ละสังคมว่า สังคมมักมี 3 ทางเลือก ทางแรกคือยกคำมาเลย คือใช้ทับศัพท์เลย เช่น โต๊ะ จมูก ทางสองคือหาคำเดิมในภาษาตัวเอง มาใช้เรียกสิ่งใหม่ เช่น เตารีด หม้อแปลงไฟ ทางสามคือ คิดคำศัพท์ใหม่เพื่อเรียกสิ่งที่ไม่มีมาก่อน เช่น รัฐสภา ประชาธิปไตย 
 
คำศัพท์ที่ผมและนักวิชาการไทยจำนวนมากคิด เลือกใช้วิธีที่สามนี้ ชุดคำศัพท์ที่ผู้คนใช้มากมายมาจากทั้งการคิดจากคำเดิมในภาษาไทยเดิมๆ และมาจากการคิดคำศัพท์ใหม่ แต่เมื่อใช้กันมากจนติดปาก ติดหู เคยชิน ก็เลยคิดว่าเป็นคำไทยไป ลองนึกดูสิว่าหากจะเรียกรัฐศาสตร์ว่า "เรียนเรื่องเมือง" หรือเรียกสังคมวิทยาว่า "เรียนเรื่องกลุ่มคน" ก็จะดูลดทอนความสำคัญของคำศัพท์ลง หรือเพราะเราชินกับการใช้แบบนั้นไปแล้ว หรือทำไมเราไม่เรียกกษัตริย์ว่า "เจ้าแผ่นดิน" ในทุกๆ บริบทของภาษาล่ะ ก็เพราะภาษาไทยมีชีวิตของมัน ที่ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป แต่มันเป็นอย่างนั้นมา การเปลี่ยนมันไม่ใช่ง่าย และไม่สามารถกำหนดได้ง่ายๆ หรอก
 
การถ่ายทอด "ความ" จากภาษาหนึ่ง ให้เป็น "คำ" ในอีกภาษาหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เรื่องนี้ไม่เห็นต้องบอก ใครๆ ก็รู้ แน่นอนว่านอกจากต้องรู้ความในภาษาต้นฉบับแล้ว ยังต้องรู้คำในภาษาปลายทางพอที่จะแปลได้ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่แทบจะแปลให้คงความเดิมไม่ได้ เพราะความเข้าใจต่อเรื่องๆ เดียวกันในแต่ละภาษา มันต่างกันจนไม่สามารถแปลอย่างแนบสนิทได้ 
 
อย่างเช่น คำว่า "ใจดี" ในภาษาเวียดนาม แปลเป็นไทยตามรูปศัพท์ตรงไปตรงมาได้ว่า "พุงดี" หรือคำว่า "มือ" กับ "แขน" ในหลายภาษาเป็นคำเดียวกัน นี่ยังไม่ต้องคิดถึงคำยากๆ อย่างคำว่า culture ที่ห้างแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่ผมเพิ่งกลับมา เขาใช้คำภาษาอังกฤษว่า culture เพื่อระบุถึงชั้นที่ขายหนังสือและซีดี เพื่อนที่อ่านอักษรคันจิออกและรู้ภาษาเวียดนามบอกว่า มันคือคำเดียวกับคำว่า văn ในภาษาเวียดนาม ที่เอามาจากจีน ซึ่งสามารถสื่อว่า "มีการศึกษา" 
 
ที่จริงศัพท์แสงทางวิชาการในต่างภาษา รวมทั้งภาษาอังกฤษเอง ก็มีคำศัพท์ใหม่ๆ หรือการให้ความหมายใหม่ๆ ต่อคำศัพท์เก่าๆ เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ผมเชื่อว่าในภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาอิตาลี ภาษารัสเซีย ก็คงเช่นกัน ในภาษาเวียดนาม คำว่า "มานุษยวิทยา" ในความหมายที่คนไทยใช้แปลคำว่า anthropology มานมนานแล้ว ยังเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง ด้วยการเอาคำว่าคนมาผสมกับคำว่าเรียน กลายเป็นคำว่า nhân học
 
ฉะนั้น คำศัพท์ใหม่มีหน้้าที่หลายอย่าง โดยพื้นฐานมันเป็นการสร้างคำให้กับคำใหม่ๆ ในระดับกว้างดังที่ได้พรรณามาข้างต้น มันคือพัฒนาการของภาษากับสังคม ในระดับรายละเอียด การคิดคำคือการสร้างความคิดใหม่ อย่างคำว่า "ชาติพันธ์ุนิพนธ์" ผมลองคิดมาจากคำว่า ethnography ที่มีคำไทยใช้อยู่ก่อนแล้วว่า "ชาติพันธุ์วรรณนา" แต่เมื่อได้อ่านงานวิพากษ์ทางมานุษยวิทยาที่ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาฯ ตลิ่งชัน นำเข้ามาเผยแพร่ที่ธรรมศาสตร์เมื่อต้นพุทธทศวรรษ 2530 ผมก็จึงคิดว่าความหมายของคำว่าชาติพันธ์ุวรรณนายังไม่สื่อถึงการเป็น "งานเขียน" ของงานเขียนทางมานุษยวิทยาเพียงพอ ก็เลยลองคิดคำใหม่ดูเมื่อคราวทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทปี 2536
 
การเป็นงานเขียนส่อนัยของการประพันธ์ การมีผู้ประพันธ์ และการเป็นงานสร้างสรรค์ เป็น fiction ในความหมายที่คลิฟเฟิร์ด เกียร์ซเรียกว่า "สิ่งสร้างที่ทำซ้ำ" ผมจึงลองแปล ethnography เสียใหม่ว่าชาติพันธ์ุนิพนธ์ ความหมายนี้สำคัญอย่างไร ต้องการบทความอีกชิ้นหนึ่งเพื่ออธิบาย ขอยกไว้ก่อน
 
ที่จริงคำแปลนี้ ผมเลียนแบบคำภาษาไทยอีกคำหนึ่งว่า "ประวัติศาสตร์นิพนธ์" ที่แปลมาจากคำว่า historiography ผมแค่เอาคำว่า "นิพนธ์" มาเท่านั้นเอง แต่นัยมันเน้นการประพันธ์ขึ้นมามากขึ้น แต่ในเมื่อมีคำทำนองนี้อยู่ แล้วทำไมนักมานุษยวิทยาไทยไม่ใช้คำที่สื่อถึงการประพันธ์ ผมเดาว่าเพราะการแปลคำนี้ในยุคแรก ยึดเอาตามกระแสวิชาการที่ผูกมานุษยวิทยาเข้ากับความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อมานุษยวิทนาเหวี่ยงมาทางมนุษยศาสตร์มากขึ้น ผมจึงลองเสนอวิธีแปลคำนี้อีกแบบหนึ่งดู
 
ผมคิดคำใหม่เพราะต้องการสื่อเรื่องราวใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในภาษาไทย หรือต้องการเปลี่ยนความเข้าใจต่อเรื่องเก่าๆ ด้วยวิธีคิด ด้วยความหมายใหม่ๆ ก็เท่านั้น หากสังคมคิดว่ามันไม่สื่อ มันใช้ไม่ได้ คนก็เลิกใช้กันไปเองแหละ อย่ากังวลอะไรกับมันนักเลย แต่ที่กว้างยิ่งกว่านั้น ผมยังคิดอีกด้วยว่า การจะอนุรักษ์ภาษาใดๆ ต้องพัฒนาการใช้มันด้วย ต้องทำให้มันมีชีวิตที่ทันกับโลกด้วย ไม่เช่นนั้นมันก็หยุดเติบโตและอาจฝ่อแห้งตายไป
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์