Skip to main content

ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน

วิธีที่จะทำให้พวกเขาได้แสดงความเห็นคือ จัดเก้่าอี้นั่งเป็นครึ่งวงกลม แม้ว่าบางปีห้องเรียนจะใหญ่ขนาด 50-60 คน ผมก็ทำอย่างนี้ นอกจากนั้น ต้องให้พวกเขาเตรียมตัวมาก่อน ผมแบ่งกลุ่มย่อย กลุ่มละ 2-3 คน แล้วให้ทุกคนอ่านเอกสารก่อนเข้าเรียน แต่ละกลุ่มต้องเขียนบันทึกสรุปเอกสารที่อ่านแล้วเตรียมคำถามมา 4-5 คำถาม ใครไม่อ่าน ก็จะไม่ได้อะไรจากการเรียน พอสัมมนาไปสักพัก ผมจะบรรยายสรุปประเด็นปิดท้าย (ดูเอกสารประกอบการบรรยายบางส่วน)

 

นอกจากนั้น ผมให้ทุกคนทำงานเดี่ยว ทุกคนต้องอ่านหนังสือหรือวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่ม แล้วเขียน “บทปริทัศน์หนังสือ” คนละ 5-7 หน้า อีกส่วนที่ต้องทำคือ มีโครงการวิจัยเล็กๆ ของแต่ละคน เป็นงานเดี่ยว พวกเขาจะต้องเลือกหัวข้อที่สนใจเอาเอง แล้วจัดสรรเวลาไปเก็บข้อมูล ในสัปดาห์ท้ายๆ ของการเรียน เราจะนำ "บันทึกภาคสนาม" มาแลกเปลี่ยนกัน ถกเถียงกัน คัดเลือกของบางคนที่น่าสนใจมานำเสนอหน้าชั้นเรียนกัน สุดท้าย ทุกคนจะต้องเขียน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” คนละ 10-12 หน้า

 

เมื่อวาน ผมเพิ่งอ่าน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” ของนักศึกษาเสร็จ นักศึกษาวิชานี้ปีนี้มีทั้งสิ้น 65 คน คนละหนึ่งชิ้น ชิ้นละ 10-12 หน้า รวมแล้วราว 700 กว่าหน้าจบ ขอแชร์บันทึกสั้นๆ ที่ผมประมวลภาพรวมของผลงานทั้งหมดไว้ดังนี้

 

(1) เนื้อหาของงานมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่เรื่องดาราเกาหลี อินสตาแกรม ศาสนา ความเชื่อ ไปจนถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ การเขียนนิยาย การแต่งรถ แรงงานอพยพ คนสูงวัย เทคโนโลยี คนพิการ การแต่งหน้า การศัลยกรรม กลุ่มชาติพันธ์ุ ฯลฯ

 

แต่โดยภาพรวมแล้วส่วนใหญ่สนใจสังคมใกล้ตัว คนใกล้ตัว หรือสนใจตนเอง ทำให้เห็นว่านักศึกษาสนใจทำความเข้าใจตนเอง มากกว่าทำความเข้าใจสังคมที่กว้างห่างไกลตนเอง หรือไม่อย่างนั้นก็สนใจสังคมรอบข้างที่ใกล้ตนเอง

 

(2) ส่วนประเด็นศึกษาหรือแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เพศสถานะ ความเป็นหญิง-ชาย เรือนร่าง อัตลักษณ์ วัฒนธรรมการต่อต้าน วัฒนธรรมความจน ไปจนถึงมานุษยวิทยาทัศนา ความเป็นชายขอบ ความเป็นพื้นที่ เป็นต้น หรือที่ซื่อๆ ก็ยังเห็นมีคนใช้ทฤษฎีการแพร่กระจาย ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และทฤษฎีบทบาททางสังคมอยู่ 

 

บางคนเลือกพรรณนารายละเอียดของชีวิตคนโดยแทบจะไม่มีการตีความทับเลย และส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดมากเท่ากับสาระของวิถีชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีหากทำได้อย่างละเอียดละออและหากสามารถแสดงให้เห็นแง่มุมของชีวิตผู้คนได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ

 

(3) ในแง่การนำเสนอ โจทย์ที่ผมตั้งให้พวกเขาคือ "surprise me" คือจะทำอย่างไรก็ตามที่จะทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นกับงานเขียนของพวกเขา 

 

หลายคนจึงเลือกวิธีการเขียนที่ไม่ธรรมดา ไม่ได้อยู่ในขนบของการเขียน "งานวิชาการ" ทั่วไป เช่น บางคนเขียนเรื่องสั้น บางคนเขียนบทความวิชาการปนเรื่องสั้นปนภาพประกอบนามธรรมเกี่ยวกับเรื่องที่นำเสนอ บางคนเขียนการ์ตูนมาส่ง บางคนเขียนจดหมาย บางคนเขียนบทนำเป็นกลอนที่ไพเราะและได้เนื้อหาทางวิชาการดีมากด้วย 

 

แต่งานเขียนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการเขียนในขนบของงานวิชาการ บางคนเขียนเป็นวิทยาศาสตร์เสียจนบางทีก็น่าเบื่อไปบ้าง สุดท้ายผมพบว่า งานชิ้นไหนยิ่งชวนให้ใช้เวลาอ่านนานเท่าไหร่ จูงใจให้อ่านได้มากตัวอักษรเท่าไหร่ ยิ่งจะได้คะแนนดี

 

(4) แน่นอนว่างานเขียนของพวกเขาหลายคนยังมีปัญหา ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ การเขียนโดยไม่มีย่อหน้า หรือเรื่องราวทั้งหัวข้อใหญ่ๆ เนื้อหายาวๆ แต่กลับมีเพียงย่อหน้าเดียว ผมบอกเขาหลายครั้งแล้วว่า นั่นแสดงว่าคุณจัดระบบความคิด จัดลำดับการนำเสนอไม่ได้ หรือไม่ได้จัดโครงสร้างการนำเสนอก่อนหรือหลังการเขียน 

 

บางคนเหมือนพวกบ้าทฤษฎี หรือบางทีพวกเขาจะพยายามเอาใจนักทฤษฎีเสียจนล้นพ้น ทำให้เนื้อที่สำหรับการเสนอผลงานตนเองน้อยไป พวกเขานึกว่าอาจารย์จะอยากอ่านทฤษฎีที่พวกเขาเพียรลอกๆๆ มาอย่างนั้นหรือ ไม่ทราบเมื่อไหร่จะเข้าใจกันเสียที

 

ปัญหาการเขียนทั่วๆ ไปยังมีอีกมาก แต่ที่สำคัญอยากยกมาสรุปตรงนี้คือปัญหาการนำเสนอด้วยมุมมองจากเบื้องบน (omniscient point of view) คือสรุปความโดยไม่มี "ผู้มอง" ไม่มีผู้พูด กล่าวราวกับเป็นความจริงสูงสุด ทั้งๆ ที่สรุปมาจากเพียงการศึกษาคน 2-3 คน ไม่ปล่อยเสียงของผู้คนที่พวกเขาศึกษาเข้ามาในงานบ้างเลย บางคนคงเชื่อว่าการเขียนด้วยการบังตนเองและขจัดเสียงหลากหลายออกไปให้หมดคือวิธีที่ทำให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความชัดเจน แต่จริงๆ แล้วนั่นคือวิธีลดทอนความจริงที่มีสีสัน ให้กลายเป็นเพียงข้อสรุปที่ตายด้าน

 

สรุปรวมแล้ว งานหลายชิ้นทำให้ผมทึ่งทั้งด้วยเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และประเด็นที่พวกเขานำเสนอ งานหลายชิ้นทำให้ผมต้องสารภาพว่า เมื่อตอนที่อายุเท่าพวกเขา ผมยังไม่สามารถเขียนอะไรได้ขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ งานหลายชิ้นให้ความบันเทิงมากกว่างานนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก งานส่วนใหญ่ให้ความหวังทางวิชาการมากกว่างานวิจัยและบทความวิชาการของนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย แถมบางชิ้นยังให้ความรู้และน่าอ่านมากกว่างานเขียนของศาสตราจารย์บางคน

 

การอ่านงานของนักศึกษาชวนให้เกิดอารมณ์หลายๆ อย่าง งานบางชิ้นชวนให้โกรธ งานบางชิ้นชวนให้หน่าย ให้ง่วง ให้น้อยใจในวาสนาของตนเอง แต่งานหลายชิ้นก็ชวนให้ตื่นเต้น ชวนให้ปลื้มใจ ทำให้ยิ้มได้และอยากเอาไปอวดผู้คน

 

นักศึกษาหลายคนอาจเพิ่งเคยเขียนงานลักษณะนี้ หลายคนอาจจะยังมีโอกาสเขียนงานลักษณะนี้อีก แต่หลายคนอาจจะเขียนงานลักษณะนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเรียนของพวกเขา 

 

หวังว่าพวกเขาจะนำเอา "การเขียนชีวิตผู้คน" ไปใช้ทำความเข้าใจชีวิตตนเองและคนอื่นที่พวกเขาจะพบเจอในภายหน้าได้บ้างตามสมควรแก่โอกาส และหากโชคดี สังคมอาจจะได้ต้อนรับงานเขียนจากนักเขียนหน้าใหม่อีกมากมายในอนาคตอันใกล้นี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว