Skip to main content

วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN

วิทยากรมีทั้งนักวิชาการ (ดุลยภาค ปรีชารัชช, อัครพงษ์ ค่ำคูณ, อนุสรณ์ อุณโณ, ธเนศ อาภรสุวรรณ) ประชาชนผู้อยู่ในขบวนการสันติภาพโดยตรง (ประจักษ์ กุนนะ จากสภากอบกู้รัฐฉาน) และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (บาสรี มะเซ็ง นักวิชาการท้องถิ่นจากนราธิวาส) ผมดำเนินรายการ

 

ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งอะไรเกี่ยวกับกรณีรัฐฉานในพม่า ซาบาห์ในมาเลเซีย และรัฐปัตตานีในประเทศไทย เพียงแต่เมื่อฟังแล้วได้ข้อสรุปบางประการที่อยากแบ่งปันสั้นๆ ดังนี้

 

(1) มรดกความขัดแย้ง ความขัดแย้งนี้เป็นมรดกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่หนึ่งเป็นมรดกของสังคมที่มีความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ กลุ่มคน และอำนาจการปกครองที่ไม่เคยมีเอกภาพ ในอีกแง่หนึ่งเป็นมรดกของอาณานิคม ที่สร้างพรมแดนขึ้นมาซ้อนทับพาดผ่านพื้นที่ซึ่งไม่เคยมีพรมแดนมาก่อน อีกแง่หนึ่งยังเป็นมรดกของความพยายามสร้างรัฐเดี่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ประเด็นหลังนี้อาจารย์ธเนศสรุปไว้ชัดเจนทำนองที่ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะเป็นที่แห่งเดียวในโลกที่ให้ความสำคัญกับรัฐเดี่ยวมากเกินไป และเกินจริง แต่ทุกรัฐที่มีปัญหาขัดแย้งพรมแดนหรือขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐ มักคิดว่าตนเป็นรัฐเดี่ยวมาตั้งแต่โบราณ ทั้งๆ ที่มันไม่จริง

 

(2) สันติภาพของใคร กระบวนเจรจาสันติภาพไม่ว่าจะระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า ไทยกับคนมลายู หรือมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ จะไม่สามารถเข้าถึงสันติภาพได้ เนื่องจากคู่ขัดแย้งมักมองสันสิภาพแตกต่างกัน

 

สำหรับชาวไทใหญ่ สันติภาพหมายถึงการยอมให้พวกเขาปกครองตนเอง แต่แน่นอนว่านั่นไม่ใช่สันติภาพของรัฐบาลพม่าที่ต้องการให้ไทใหญ่ยุติขบวนการกู้ชาติ สันติภาพของผู้ใช้กำลังในภาคใต้ไทยกับรัฐบาลไทยย่อมแตกต่างกัน 

 

ผมจึงคิดว่า การเจรจาที่แท้จริงน่าจะเป็นการเจรจาว่า จุดไหนกันที่คู่ขัดแย้งจะยอมรับได้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ คู่ขัดแย้งควรหาข้อยุติว่า อะไรคือสันติภาพที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ยืนยันแต่สันติภาพในความหมายของตนเองเท่านั้น

 

(3) องค์กรสลายความขัดแย้ง เท่าที่เห็นคือ ความขัดแย้งที่เท่าเทียมกันคือความขัดแย้งระหว่างรัฐนั้น มักมีองค์กรมาไกล่เกลี่ย หรือเป็นตัวกลางในการเจรจา หรือแม้แต่ตัดสินหาข้อยุติ เช่น กรณีข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างรัฐ หลายครั้งยุติที่คำตัดสินของศาลโลก อาจารย์อัครพงษ์ชี้ว่าความขัดแย้งที่ซาบาห์มีลักษณะนั้น ไม่ต่างจากเขาพระวิหาร

 

แต่กรณีความขัดแย้งที่ไม่เท่าเทียมกัน คือระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐ เช่น รัฐบาลพม่ากับชาวไตในรัฐฉาน รัฐบาลไทยกับคนมลายูในรัฐปัตตานี เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีกลไกระหว่างประเทศหรือกลไกที่อยู่เหนือรัฐ อยู่นอกขอบเขตของรัฐ เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเจรจาโดยตรง 

 

ในข้อนี้ อาจารย์อนุสรณ์ชี้ว่า การที่ BRN เรียกร้องว่ารัฐบาลมาเลเซียต้องไม่เป็นเพียงผู้จัดให้มีการเจรจา แต่จะต้องเป็น "ตัวกลาง" การเจรจาด้วย เข้าข่ายลักษณะที่ว่า BRN ต้องการให้มีองค์กรนอกเหนือรัฐไทยเข้ามาร่วมเจรจาด้วย ส่วนประจักษ์ก็ชี้ให้เห็นว่า กรณีรัฐฉานกับพม่าสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเป็นตัวกลาง

 

การที่ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งกำลังยกระดับสมาคมอาเซียนไปเป็นประชาคมอาเซียน แต่กลับไม่มีกลไกในการให้อาเซียนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเจรจากรณีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐนั้น นับเป็นข้ออ่อนของอาเซียน และเป็นการมองข้ามความเหลื่อมล้ำของคู่ขัดแย้งต่างๆ ในอาเซียน ข้อนี้แตกต่างจากสหภาพยุโรป ที่มีศาลอียู ซึ่งมีอำนาจตัดสินความกรณีรัฐละเมิดประชาชนของรัฐได้ แต่อาเซียนปัดความรับผิดชอบนี้

 

(4) ประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการสันติภาพนี้ ไม่ว่าการเจรจาจะเป็นอย่างไร เอาเข้าจริงๆ แล้วดูเหมือน "ประชาชน" ในพื้นที่จะไม่ได้มีส่วนร่วม หรือแม้แต่มีส่วนรู้เห็นกับกระบวนการสันติภาพนี้เลย พูดไม่ได้ว่ารัฐบาลหรือขบวนการต่อต้านรัฐบาลเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน 

 

หากประชาชนมีส่วนร่วม เขาคงบอกได้แต่แรกแล้วว่าไม่ต้องการความขัดแย้ง ไม่ต้องการความรุนแรง ทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ความรุนแรงจบไป หากแต่คู่ขัดแย้งต่างหากที่เรียกร้องจากแต่ละฝ่าย และใช้ประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายใด สังเวยความรุนแรง สังเวยกระบวนการสันติภาพตามเป้าหมายของฝ่ายตน 

 

ในข้อนี้ ประชาชนจากพื้นที่ขัดแย้งที่แสดงความเห็นในที่ประชุมทุกคนยืนยันถึงสภาพที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง ที่พวกเขาไม่ได้ก่อและไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาใดๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาคือคนที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อตกลงหรือไม่ตกลงที่คนอื่นยื่นให้

 

สุดท้าย ความท้าทายของกระบวนการสันติภาพในรัฐต่างๆ ที่มีความขัดแย้งในอุษาคเนย์คือ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันอาจจะต้องยอมรับที่จะค้นหารูปแบบรัฐใหม่ ที่ไม่ใช่รัฐเดี่ยว ไม่ใช่รัฐแบบที่จะต้องกดและแปลงให้ทุกคนกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกันหมด 

 

กระบวนการสันติภาพจึงไม่ใช่เพียงการเจรจาหาข้อยุติให้กับความรุนแรง แต่ขบวนการสันติภาพในก้าวต่อไปจะต้องนำไปสู่การค้นหาวิธีการอยู่ร่วมกันรูปแบบใหม่ ที่ยอมรับอำนาจอธิปไตยที่ไม่รวมศูนย์มากกว่าที่เป็นมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"