Skip to main content

ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"

แต่ผมอยากคิดเลยไปอีกนิดว่า การด่ากันคือการจัดลำดับความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นการต่อสู้ทางสังคมอย่างหนึ่งด้วยระบบสัญลักษณ์ เพียงแต่คนที่ใช้ระบบสัญลัษณ์แบบนี้ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อมั่นในระบบสังคมแบบหนึ่งที่รองรับระบบสัญลักษณ์แบบนี้อยู่
 
ใครๆ ก็รู้ดีว่า คำด่าไม่ได้ทำให้คนต่างวัฒนธรรม ต่างภาษาเข้าใจและเจ็บใจได้เหมือนกันหมด เมื่อวาน ผมเพิ่งคุยกับหลานเรื่องคำด่า เธอเล่าว่าแม่ของเธอซึ่งเป็นคนแม่สาย มักพูดคำเมืองในบ้าน และด่าเป็นคำเมือง สำหรับเธอและพ่อเธอซึ่งโตมาในภาษากรุงเทพฯ คำด่าเมืองไม่ได้ทำให้เธอกับพ่อโกรธหรือเจ็บใจอะไร ซ้ำเธอและพ่อยังรู้สึกตลกและชอบฟังแม่ด่าหรือบ่นเป็นคำเมือง
 
นักมานุษยวิทยาอย่างเอ็ดมันด์ ลีชเคยพยายามอธิบายคำด่า ด้วยการจับชุดคำด่ามาวิเคราะห์โครงสร้าง ว่าทำไมคำบางคำจึงหยาบคายในภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เช่นคำว่า "หมาตัวเมีย" (bitch) "ลูกแมว" (pussy) "หมู" (pig) "กระต่าย" (bunny) จึงกลายเป็นคำด่าหรือสัตว์ที่ต้องห้ามแต่ยั่วยวน สิ่งต้องห้ามมักเป็นที่ยั่วยวนของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันมันก็น่ากลัว อันตราย และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
 
ลีชวิเคราะห์ว่า สำหรับคนอังกฤษ สัตว์เหล่านี้อยู่ตรงกลางระหว่างพื้นที่ที่ไม่ไกลเกินไปแต่ก็ไม่ใกล้เกินไป สัตว์เหล่านี้จึงกินเป็นอาหารไม่ได้ bitch กับ pussy เป็นสัตว์เลี้ยง อยู่ในบ้าน มีฐานะเหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน ซึ่งแต่งงานกันไม่ได้ หมากับแมวจึงเป็นสัตว์ต้องห้าม ส่วน pig กับ bunny อยู่ระหว่าง "สัตว์ในคอก" (cattle) กับ "สัตว์ป่า" (wild) แม้จะกินได้ แต่ก็ไม่สะดวกใจ คำเรียกสัตว์เหล่านี้จึงกลายเป็นคำต้องห้ามไปด้วย 
 
เราจะเอาหลักเดียวกันนี้มาวิเคราะห์ "หมา" "เหี้ย" กับ "ควาย" ได้แค่ไหน ผมยังไม่แน่ใจเหมือนกัน แม้ว่ามันก็ดูเข้าเค้าอยู่ แต่สำหรับคนไทย บางทีมันอาจจะง่ายกว่านั้น เพราะโครงสร้างสังคมไทยมักวางอยู่บนลำดับชั้นสูงต่ำ เมื่อใครหรือสัตว์ใดถูกจัดให้อยู่ในลำดับขั้นที่ต่ำกว่า ก็จะกลายมาเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อยากแตะต้อง และกลายเป็นคำด่า 
 
หมา เหี้ย ควายอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยนั้น กรณีควายถ้าเทียบกับวัว วัวดูจะมีฐานะสูงกว่า เพราะดื้อกว่าควาย ควายจึงต่ำกว่าคนอย่างเห็นได้ชัดกว่า ส่วนหมานั้นต่ำกว่่าแมวเพราะฝึกง่ายกว่า แมวไม่เชื่อคนเท่าหมา ส่วนเหี้ย คงมีฐานะต่ำเพราะกินอาหารเลว กินซากสัตว์เน่่าเหม็น เหมือนผี ต่างจากสัตว์อื่นที่ไม่กินสุกไปเลยหรือก็กินดิบสดไปเลย เหี้ยก็เลยกลายเป็นสัตว์ต้องห้าม ที่จริงคำว่า "สัตว์" ในภาษาไทยก็สื่อความเชิงชนชั้นชัดเจนอยู่แล้ว ในภาษาอังกฤษ คงไม่มีใครด่ากันด้วยคำนี้ เพราะจักรวาลวิทยาเขาต่างกับเรา
 
อวัยวะของร่างกายก็มีลำดับชั้นเช่นกัน อวัยวะเพศกับ "ส้นตีน" อยู่ในลำดับขั้นต่ำของภาษาไทย คำอธิบายแบบนี้น่าจะใช้กับคำเรียกคนได้ด้วย คำว่า "กะหรี่" อยู่ในฐานเดียวกับหรืออาจจะต่ำกว่า "บ้านนอก" "ขอทาน" "คนใช้" สังคมไทยเคยใช้คำว่า "ไพร่" ด่ากัน คำเรียกชาติพันธ์ุ เช่น "ลาว" "เจ๊ก" ก็ถูกนำมาใช้ดูถูกกันเพราะคนไทยจัดความสัมพันธ์ตามลำดับสูง-ต่ำดังกล่าว ในสังคมไทย การด่าจึงเป็นการกระทำที่ไม่ใช่เป็นเพียงการเปล่งเสียง แต่ยังเป็นการจัดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมระหว่างผู้ด่ากับผู้ถูกด่า การใช้คำด่าจึงผลักให้อีกฝ่ายหนึ่งต่ำลงด้วยสัญลักษณ์
 
คำด่าอยู่ในลำดับชั้นต่ำสุดของภาษาไทย ระหว่างคู่สนทนาที่ไม่เท่าเทียมกัน คนที่อยู่สูงกว่าพูดไปด่าไปกับคนที่อยู่ต่ำกว่าได้ แต่คนที่อยู่ต่ำกว่าไม่สามารถทำอย่างเดียวกันกับคนที่อยู่สูงกว่าได้ หรืออาจจะต้องใช้ภาษาอีกภาษาหนึ่ง เช่นราชาศัพท์ สนทนากับผู้ที่อยู่สูงกว่า 
 
แต่สำหรับคู่ขัดแย้งที่อยู่ในฐานะเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่จนแต้ม ไม่สามารถทำให้คู่ขัดแย้งยอมรับนับถือตนเองได้ด้วยการหว่านล้อมด้วยมธุรสวาจา ไม่สามารถอธิบายโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผลได้ พวกจนคำพูดไร้สติปัญญาก็จะใช้คำด่าแทน คำด่าของพวกเขาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พวกเขาไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอะไรที่ไหน ก็แค่นักอนุรักษ์วัฒนธรรมลำดับชั้น ยึดมั่นกับวัฒนธรรมเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมไทยคนหนึ่งเท่านั้นเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน