Skip to main content

ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"

แต่ผมอยากคิดเลยไปอีกนิดว่า การด่ากันคือการจัดลำดับความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นการต่อสู้ทางสังคมอย่างหนึ่งด้วยระบบสัญลักษณ์ เพียงแต่คนที่ใช้ระบบสัญลัษณ์แบบนี้ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อมั่นในระบบสังคมแบบหนึ่งที่รองรับระบบสัญลักษณ์แบบนี้อยู่
 
ใครๆ ก็รู้ดีว่า คำด่าไม่ได้ทำให้คนต่างวัฒนธรรม ต่างภาษาเข้าใจและเจ็บใจได้เหมือนกันหมด เมื่อวาน ผมเพิ่งคุยกับหลานเรื่องคำด่า เธอเล่าว่าแม่ของเธอซึ่งเป็นคนแม่สาย มักพูดคำเมืองในบ้าน และด่าเป็นคำเมือง สำหรับเธอและพ่อเธอซึ่งโตมาในภาษากรุงเทพฯ คำด่าเมืองไม่ได้ทำให้เธอกับพ่อโกรธหรือเจ็บใจอะไร ซ้ำเธอและพ่อยังรู้สึกตลกและชอบฟังแม่ด่าหรือบ่นเป็นคำเมือง
 
นักมานุษยวิทยาอย่างเอ็ดมันด์ ลีชเคยพยายามอธิบายคำด่า ด้วยการจับชุดคำด่ามาวิเคราะห์โครงสร้าง ว่าทำไมคำบางคำจึงหยาบคายในภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เช่นคำว่า "หมาตัวเมีย" (bitch) "ลูกแมว" (pussy) "หมู" (pig) "กระต่าย" (bunny) จึงกลายเป็นคำด่าหรือสัตว์ที่ต้องห้ามแต่ยั่วยวน สิ่งต้องห้ามมักเป็นที่ยั่วยวนของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันมันก็น่ากลัว อันตราย และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
 
ลีชวิเคราะห์ว่า สำหรับคนอังกฤษ สัตว์เหล่านี้อยู่ตรงกลางระหว่างพื้นที่ที่ไม่ไกลเกินไปแต่ก็ไม่ใกล้เกินไป สัตว์เหล่านี้จึงกินเป็นอาหารไม่ได้ bitch กับ pussy เป็นสัตว์เลี้ยง อยู่ในบ้าน มีฐานะเหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน ซึ่งแต่งงานกันไม่ได้ หมากับแมวจึงเป็นสัตว์ต้องห้าม ส่วน pig กับ bunny อยู่ระหว่าง "สัตว์ในคอก" (cattle) กับ "สัตว์ป่า" (wild) แม้จะกินได้ แต่ก็ไม่สะดวกใจ คำเรียกสัตว์เหล่านี้จึงกลายเป็นคำต้องห้ามไปด้วย 
 
เราจะเอาหลักเดียวกันนี้มาวิเคราะห์ "หมา" "เหี้ย" กับ "ควาย" ได้แค่ไหน ผมยังไม่แน่ใจเหมือนกัน แม้ว่ามันก็ดูเข้าเค้าอยู่ แต่สำหรับคนไทย บางทีมันอาจจะง่ายกว่านั้น เพราะโครงสร้างสังคมไทยมักวางอยู่บนลำดับชั้นสูงต่ำ เมื่อใครหรือสัตว์ใดถูกจัดให้อยู่ในลำดับขั้นที่ต่ำกว่า ก็จะกลายมาเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อยากแตะต้อง และกลายเป็นคำด่า 
 
หมา เหี้ย ควายอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยนั้น กรณีควายถ้าเทียบกับวัว วัวดูจะมีฐานะสูงกว่า เพราะดื้อกว่าควาย ควายจึงต่ำกว่าคนอย่างเห็นได้ชัดกว่า ส่วนหมานั้นต่ำกว่่าแมวเพราะฝึกง่ายกว่า แมวไม่เชื่อคนเท่าหมา ส่วนเหี้ย คงมีฐานะต่ำเพราะกินอาหารเลว กินซากสัตว์เน่่าเหม็น เหมือนผี ต่างจากสัตว์อื่นที่ไม่กินสุกไปเลยหรือก็กินดิบสดไปเลย เหี้ยก็เลยกลายเป็นสัตว์ต้องห้าม ที่จริงคำว่า "สัตว์" ในภาษาไทยก็สื่อความเชิงชนชั้นชัดเจนอยู่แล้ว ในภาษาอังกฤษ คงไม่มีใครด่ากันด้วยคำนี้ เพราะจักรวาลวิทยาเขาต่างกับเรา
 
อวัยวะของร่างกายก็มีลำดับชั้นเช่นกัน อวัยวะเพศกับ "ส้นตีน" อยู่ในลำดับขั้นต่ำของภาษาไทย คำอธิบายแบบนี้น่าจะใช้กับคำเรียกคนได้ด้วย คำว่า "กะหรี่" อยู่ในฐานเดียวกับหรืออาจจะต่ำกว่า "บ้านนอก" "ขอทาน" "คนใช้" สังคมไทยเคยใช้คำว่า "ไพร่" ด่ากัน คำเรียกชาติพันธ์ุ เช่น "ลาว" "เจ๊ก" ก็ถูกนำมาใช้ดูถูกกันเพราะคนไทยจัดความสัมพันธ์ตามลำดับสูง-ต่ำดังกล่าว ในสังคมไทย การด่าจึงเป็นการกระทำที่ไม่ใช่เป็นเพียงการเปล่งเสียง แต่ยังเป็นการจัดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมระหว่างผู้ด่ากับผู้ถูกด่า การใช้คำด่าจึงผลักให้อีกฝ่ายหนึ่งต่ำลงด้วยสัญลักษณ์
 
คำด่าอยู่ในลำดับชั้นต่ำสุดของภาษาไทย ระหว่างคู่สนทนาที่ไม่เท่าเทียมกัน คนที่อยู่สูงกว่าพูดไปด่าไปกับคนที่อยู่ต่ำกว่าได้ แต่คนที่อยู่ต่ำกว่าไม่สามารถทำอย่างเดียวกันกับคนที่อยู่สูงกว่าได้ หรืออาจจะต้องใช้ภาษาอีกภาษาหนึ่ง เช่นราชาศัพท์ สนทนากับผู้ที่อยู่สูงกว่า 
 
แต่สำหรับคู่ขัดแย้งที่อยู่ในฐานะเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่จนแต้ม ไม่สามารถทำให้คู่ขัดแย้งยอมรับนับถือตนเองได้ด้วยการหว่านล้อมด้วยมธุรสวาจา ไม่สามารถอธิบายโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผลได้ พวกจนคำพูดไร้สติปัญญาก็จะใช้คำด่าแทน คำด่าของพวกเขาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พวกเขาไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอะไรที่ไหน ก็แค่นักอนุรักษ์วัฒนธรรมลำดับชั้น ยึดมั่นกับวัฒนธรรมเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมไทยคนหนึ่งเท่านั้นเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์