นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร
เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2556 โครงการปริญญาโทฝรั่งเศสศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ติดต่อให้ผมไปบรรยายเพื่อตอบคำถามดังกล่าว ขอนำบันทึกบางส่วนของการบรรยายมาเสนอในที่นี้
จากประสบการณ์ในการสอบวิทยานิพนธ์และอ่านประเมินงานวิจัย บทความวิชาการนอกมานุษยวิทยาหลายสาขา เช่น รัฐศาสตร์ สังคมวิทยากฎหมาย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี กระทั่งภาษาศาสตร์ก็มี ผมเห็นปัญหาต่อไปนี้
1) วิธีวิจัยข้ามสาขา การนำวิธีการวิจัยจากสาขาหนึ่งไปใช้ในอีกสาขาหนึ่ง มักขาดจริต ขาดความคุ้นเคย แยกส่วน ได้เพียงสไตล์ แต่ขาด "ฟิลลิ่ง"
วิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยมข้ามสาขาคือวิธีการแบบ "ethnography" (ชาติพันธ์ุวรรณนา, ชาติพันธ์ุนิพนธ์) ข้อเท็จจริงคือ วิธีการนี้มีที่ทางมาจากสาขาวิชามานุษยวิทยา ซึ่งเกิดมารับใช้ฝรั่งล่าอาณานิคม วิธีการนี้จึงมีความเป็นมา มีปมปัญหา มีการคลี่คลายผ่านข้อถกเถียงมายาวนาน ไม่เคยหยุดนิ่ง
ปัญหาคือเวลาคนที่ไม่ได้เรียนมานุษยวิทยานำไปใช้ ก็จะเหลือเพียงถ้อยคำอย่าง "การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม" "การสัมภาษณ์" "การวิจัยภาคสนาม" แต่ขาดการตระหนักถึงปัญหาของการวิจัยวิธีนี้ ขาดการเชื่อมโยงวิธีการกับประเด็นสำคัญของการวิจัย หรือกระทั่งบางคนใช้โดยไม่ทันรู้ว่า ในทศวรรษนี้ เขาถกเถียงถึงปัญหาของวิธีการแบบนี้ไปถึงไหนกันแล้ว
2) การใช้ทฤษฎี ทฤษฎีสังคมศาสตร์มักถูกนักมนุษยศาสตร์มือใหม่นำไปใช้อย่างประดักประเดิด ขาดความลึกซึ้ง ขาดการทบทวนเพียงพอ
การใช้ทฤษฎีแบบที่ผมร่ำเรียนมาคือ ต้องรู้ที่มาที่ไปของกลุ่มแนวคิดที่เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งทั้งหมด รู้พอที่จะสอนทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องนั้นเป็นวิชาหนึ่งได้ ต้องรู้ว่าความรู้เรื่องนี้มีพัฒนาการมาอย่างไร กำลังจะไปทางไหน แล้วงานตนเองจะใช้แนวไหน ทำไมไม่ใช้แนวอื่น เพื่อจะได้รู้ว่างานเราจะวางอยู่บนฐานของอะไร เราจะให้อะไรใหม่กับแวดวงของการศึกษาดังกล่าว
ในงานวิจัยหนึ่งๆ มักต้องรู้สอง-สามกลุ่มแนวคิด ไม่มีงานไหนสามารถใช้กลุ่มแนวคิดเดียวได้ เนื่องจากมนุษย์และสังคมมีมิติต่างๆ ที่ซับซ้อน ซ้อนทับกันอยู่
อย่างเช่น จะศึกษาเรื่องศาสนา (ซึ่งก็ต้องรู้แนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับมานุษยวิทยาศาสนา) ในประเทศเวียดนาม (ซึ่งก็ต้องรู้ว่าจักเวียดนามตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์) ว่าสัมพันธ์กับการเมืองสมัยใหม่อย่างไร (ซึ่งก็ต้องรู้แนวคิดทางมานุษยวิทยาการเมือง) ก็ต้องทบทวนขอบเขตความรู้เหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
3) จุดแข็งของมนุษยศาสตร์ นักเรียนมนุษยศาสตร์ปัจจุบันหลงไหลกับแนวคิดทางสังคมศาสตร์จนลืมจุดแข็งของตนเอง งานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมาอ้างอิงทฤษฎีอะไร ไม่ต้องทบทวนแนวคิดทางทฤษฎีมากมายนักก็ได้ ลองไปดูงานวิจัยทางประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่าง ไม่ได้จำเป็นต้องเริ่มด้วยการทบทวนกรอบแนวคิดอะไรให้รกอกหนักใจ
มนุษยศาสตร์เน้นการเข้าใจเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจง เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อจะได้เห็นลักษณะเฉพาะ มากกว่าที่จะค้นหาทฤษฎีทั่วไป ข้อนี้จึงต่างจากสังคมศาสตร์ ที่มีจริตอยู่ที่การสร้างข้อเปรียบเทียบ สร้างทฤษฎีทั่วไป แต่ท้ายที่สุด เนื่องจากนักวิชาการสาขาต่างๆ ย่อมต้องแลกเปลี่ยนความรู้กัน แนวคิดทฤษฎีต่างๆ จึงมีไว้ "สนทนากัน" ถึงที่สุดแล้วนักมนุษยศาสตร์จึงต้องเข้าสู่การศึกษาทฤษฎี
ทฤษฎีจึงเป็น "ภาษากลาง" สำหรับการสื่อสารกันข้ามศาสตร์ แต่หากเรายึดมั่นกับภาษากลางจนเกินไป เราก็จะไม่มีคำใหม่ๆ ไม่มีความรู้ใหม่ๆ ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวเฉพาะจึงมีประโยชน์ เพราะอาจจะมีข้อค้นพบที่ไม่เคยได้รับความสนใจมาก่อน แล้วนำข้อค้นพบของเราไปถกเถียงกับทฤษฎีต่างๆ
4) ข้ามสาขา ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เพื่อจะปิดกั้นการข้ามสาขา แต่จะทำอย่างไรที่แต่ละคนจากต่างสาขาจะนำจุดแข็งของตนเอง ไปเพิ่มพูนให้กับการศึกษาในสาขาวิชาอื่นๆ
ความรู้เรื่องร่างกายทางการแพทย์ สามารถช่วยให้นักมานุษยวิทยาเข้าใจอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง ความรู้เรื่องสังคม สามารถช่วยให้นักจิตวิทยาองค์กรเข้าใจอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง ความรู้เรื่องศิลปะ สามารถช่วยให้นักรัฐประศาสนศาสตร์เข้าใจอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง ฯลฯ
ปัจจุบันพรมแดนของสาขาวิชาเริ่มพร่าเลือน หากแต่การก้าวข้ามสาขาวิชาก็ไม่ใช่เรื่องสะดวกง่ายดายนัก แต่ผมก็เชื่อว่า หากเราไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความแข็งแกร่งของสาขาวิชาตนเองจนเกินไปนัก เราจะได้ความรู้ใหม่ๆ มากมาย ณ จุดปะทะกันของพรมแดนระหว่างสาขาวิชาต่างๆ
(สำหรับผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อ ผมยินดีเสมอ หากแต่ต้องมีจริยธรรมในการนำไปเผยแพร่ต่อ ด้วยการระบุที่มาและแสดงลิงค์มายังบล็อกนี้ที่ "ประชาไทบล็อกกาซีน" ให้ครบถ้วน)