Skip to main content

หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 

โจทย์ของสังคมไทยในอดีตกับในปัจจุบันย่อมแตกต่างกัน ในอดีตนักศึกษาต่อสู้กับเผด็จการทหาร โจทย์มันน่ากลัว ท้าทาย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่ก็มีเป้าที่ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาที่ก็มองเห็นผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง แม้จะก้าวออกมาในนามของมวลชน แต่ท้ายสุด พวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของการเติบโตของชนชั้นตนเองนั่นแหละ 

ที่พูดอย่างนั้นเพราะอย่างที่เราเห็นคือ สุดท้ายในปัจจุบัน เมื่อพวกเขากลับออกจากป่าและก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ยังมีนักศึกษาสมัยนั้นเหลืออยู่อีกสักกี่คนกันที่ยังคิดถึงมวลชนอย่างบริสุทธิ์ใจ ถ้าพวกเขายังยึดมั่นอุดมการณ์เดิม ทำไมพวกเขาจำนวนมากจึงเฉลิมฉลองกับการรัฐประหาร 19 กย. 49 แล้วทำไมหัวขบวนของพวกเขาจำนวนมากจึงเงียบสนิทกับการสังหารหมู่กลางกรุงเมื่อพฤษภาคม 53 ทำไมพวกเขาจำนวนมากกลายมาเป็นผู้ดูหมิ่นดูแคลนและร่วมกดขี่ข่มเหงประชาชนที่พวกเขาเคยรักเสียเอง 

นักศึกษาแต่ละรุ่นเผชิญกับโจทย์ของตนเองและสังคมที่แตกต่างกัน อย่าว่าแต่รุ่น 40 ปีก่อนกับรุ่นนี้เลย นักศึกษารุ่นผม ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างรุ่น "คนเดือนตุลา" เมื่อ 40 ปีก่อนกับนักศึกษาปัจจุบัน ก็ยังแตกต่างทั้งจากคนเดือนตุลาและนักศึกษาปัจจุบัน คนรุ่นผมยังสนใจเรื่องใหญ่ๆ เรื่องอำนาจรัฐ สังคมชนบท การพัฒนา กระทั่งยังมีคนฝันถึงสังคมนิยม ยังหาทางวิพากษ์ระบบทุนนิยม ยังวิพากษ์บริโภคนิยม พร้อมๆ กันนั้น ก็เริ่มเปิดรับความคิดใหม่ๆ เรื่องการเมืองวัฒนธรรม ความกระจัดกระจายของอำนาจ การต่อต้านอำนาจในชีวิตประจำวัน แต่ดูเหมือนความสนใจทั้งสองเรื่องนี้ในปัจจุบันยิ่งห่างจากกันไปทุกที

ที่จริงนักศึกษาปัจจุบันที่สนใจ "เรื่องใหญ่ๆ" ก็มีอยู่หรอก ดูได้จาก "ไอดอล" ของพวกเขาสิ อย่าง "สศจ." ก็พูดแต่เรื่องใหญ่ๆ นี่ก็แสดงว่านักศึกษาปัจจุบันก็หาทางต่อกรกับอำนาจเผด็จการแบบใหม่ที่น่าเกรงกลัวแต่ซ่อนรูปอย่างแยบยลอยู่เหมือนกัน แต่พร้อมๆ กันนั้น พวกเขาก็เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์แรงๆ ของ "ธเนศ วงศ์ฯ" แล้วหาซื้องานเขียนอ่านยากของไอดอลคนนี้มาถือไปมา ทั้งที่ก็ล้วนเป็นงานเกี่ยวกับการเมืองวัฒนธรรม แต่จะว่าไป นักศึกษาที่ "ชาบู" สองไอดอลนี้ก็น่าจะเป็นนักศึกษาส่วนน้อย 

ความจริงก็คือ วัยรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่สนใจเรื่องสังคมวงกว้างน้อยลง ผมไม่เข้าใจตั้งแต่กลับมาสอนหนังสือใหม่ๆ แล้วว่าทำไมนักศึกษาชอบทำรายงานหรือวิทยานิพนธ์เรื่องร้านกาแฟ ร้านเหล้า การดูหนังฟังเพลง ยิ่งเรื่องเซ็กซ์ยิ่งชอบศึกษากัน ชอบทำเป็นรายงานมาส่ง จนกระทั่งหลังๆ ผมต้องเตือนพวกเขาว่า "ถ้าใครจะทำเรื่องเซ็กซ์โดยไม่มีประเด็นใหม่ๆ แตกต่างไปจากที่รุ่นพี่ๆ คุณเคยทำมาแล้ว ผมจะไม่ให้ทำแล้ว เบื่ออ่านชีวิตเซ็กซ์ของพวกคุณเต็มทีแล้ว" 

แต่พอหลายปีเข้า ก็เริ่มเห็นประโยชน์ว่า ก็ดีเหมือนกันที่ทำให้เข้าใจโลกของคนยุคปัจจุบันมากขึ้น เช่น เข้าใจวรรณกรรมยุคใหม่ๆ เข้าใจเพลงปัจจุบัน เข้าใจภาษาใหม่ๆ เข้าใจการบริโภคของพวกเขา เข้าใจทัศนคติต่อเรื่องเพศของคนปัจจุบัน เข้าใจการให้ความหมายกับชีวิตตนเองของพวกเขา ฯลฯ ยิ่งหากพวกเขาไม่พยายามใช้ทัศนะแบบผู้ใหญ่หัวเก่ามาครอบตนเองแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เห็นชีวิตของคนรุ่นปัจจุบันได้ชัดเจนมาก 

จากตรงนั้น ผมก็จะอาศัยบทเรียนจากวิชาที่สอนอยู่ สอดแทรกแลกเปลี่ยนกับประเด็นปัญหาใกล้ตัวที่พวกเขาสนใจไปทีละเล็กละน้อย เพื่อเชื่อมโยงประเด็นใกล้ตัวเขาให้ไปสู่ประเด็นที่กว้างใหญ่ของสังคม และพยายามให้เขาเข้าใจผู้คนที่มีชีวิตและฐานะความเป็นอยู่แตกต่างจากพวกเขาบ้าง เห็นใจและช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกบ้าง เข้าใจความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมบ้าง ก็ทำเท่าที่พวกเขาจะรับได้ 

ผมไม่ชอบยัดเยียดให้นักศึกษาจะต้องกลายเป็นคนรับผิดชอบต่อสังคมในนามของ "จิตอาสา" ภายในหนึ่งภาคการศึกษาแบบที่อาจารย์บางคนทำหรอก เพราะผมสงสัยว่าปัจจุบันน้ียังมียังมีชนบทที่ไหนให้นักศึกษาไปพัฒนาอยู่อีกหรือ ยังมีชาวบ้านที่ไหนเดินขบวนไม่เป็น ยังเหลือประเด็นทางสังคมอะไรอีกที่รัฐและเอ็นจีโอที่ก็กินเงินเดือนรัฐยังไม่ได้เข้าไปจับต้อง สู้แลกเปลี่ยนกับพวกเขาในประเด็นที่พวกเขาสนใจไม่ดีกว่าหรือ 

สุดท้าย แน่นอนว่าสังคมไทยยังจะต้องรำลึกและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ตุลา 16, ตุลา 19 กันต่อไป แต่ผมคิดว่า ควรเลิกเอา "คนเดือนตุลา" เมื่อ 40 ปีก่อนมาเป็นอุดมคติกดดันหรือกระทั่งยัดเยียดคนหนุ่มสาวยุคต่อๆ มาเสียทีเถอะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้