Skip to main content
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

 
ผมเคยเขียนงานชิ้นหนึ่งส่งอาจารย์ตอนเรียนปริญญาเอกเมื่อเกือบสิบปีก่อน หนึ่งในความเห็นที่อาจารย์ให้มาคือ "งานคุณอ่านแล้วเป็น magical realism มากเลย" 
 
อาจารย์ผมคนนี้ชื่อ Kirin Narayan เป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนนิยายด้วย เธอสอนวิชาการเขียนกับวิชาคติชนวิทยา ผมเรียนด้วยทั้งสองวิชา ในวิชาคติชนวิทยา ผมเขียนถึงคติความเชื่อเรื่อง "เงือก" ของชาวลาวที่อพยพไปอยู่ที่อเมริกา หลักๆ คือได้สัมภาษณ์พี่หรั่งกับพี่จัน ขอเล่าอย่างสั้นๆ
 
พี่หรั่งกับพี่จันเล่าถึงชีวิตในลาวก่อนสงครามระหว่างอเมริกันกับอินโดจีนที่มีไทยหนุนหลังอเมริกัน สองคนเล่าโดยโยงกับผีเงือกตลอด ผมจึงสนใจอยากรู้ว่า เงือกคืออะไร
 
พี่ทั้งสองบอกว่า เงือกเหมือนงูใหญ่ อาศัยตามวังน้ำ พี่หรั่งเล่าว่าตนเคยถูกผีเงือกเล่นงานบ่อย จากเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ผีเงือกชอบเล่นงานคนทำไม่ดี มีตอนหนึ่งพี่หรั่งเล่าเรื่องผีเงือกถูกพวกคอมมิวนิสต์จับมาฆ่ากลางถนน คนจึงกลัวพวกคอมมิวนิสต์มาก
 
ผมตีความว่า เงือกเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยน "ความดี" ในความหมายที่เล่าผ่านผีเงือกจึงเป็นความสมดุลของการแลกเปลี่ยน การตอบแทนกัน ช่วยเหลือกัน รวมทั้งการไม่เอาเปรียบธรรมชาติ คือความดีที่จะได้รับการคุ้มครอง แต่ผิดจากนี้จะถูกเงือกเล่นงาน ที่น่าสนใจคือท้ายสุด พี่สองคนรู้สึกเหมือนว่า  "ความดี" ได้ถูกทำลายลงด้วยพวกคอมมิวนิสต์
 
ผมถามพี่หรั่งว่า "แล้วในอเมริกามีเงือกไหม" พี่หรั่งบอกว่า "มี มีตัวหนึ่งชอบแปลงกายเป็นผู้หญิงมาตามเล่นงานพี่อยู่บ่อยๆ" พี่หรั่งเล่าอย่างจริงจังพร้อมการสนับสนุนรายละเอียดและความน่าสะพรึงกลัวเป็นระยะๆ จากพี่จัน
 
เรื่องของพี่หรั่งกับพี่จันคงมีความเป็นแมจิค่อล เรียลิสซึ่มในความหมายที่มากกว่าแค่การอยู่กับเงือกอย่างปกติธรรมดา แต่พี่หรั่งกับพี่จันยังบอกเล่าชีวิตหลังยุคสิ้นสุดของความหวังจากมุมของคนที่แทบจะไม่สามารถหวังอะไรได้มากเกินการทำชีวิตประจำวันให้เดินหน้าต่อไป
 
มาร์เกซเขียนถึงการต่อสู้ของประชาชน เขียนถึงความสูญเสียที่กัดกินชีวิตประจำวันของนักต่อสู้ที่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ไร้คนจดตำ เขียนถึงความสูญค่าของการล้มตาย เขียนถึงการจ่อมจมอยู่กับโลกน่าอัศจรรย์ในสายตาชาวโลกสมัยใหม่ แต่ก็กลับเป็นชีวิตอย่างปกติธรรมดาของชาวโลกส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางการติดต่อสังสรรค์กับคนต่างภพ เขียนถึงชีวิตสิ้นหวังหลังการต่อสู้เพื่อความหวัง
 
มาร์เกซคงบอกเล่าชีวิตของคนในยุคนี้ ที่ไม่รู้จะเรียกว่ายุคอะไรดี ได้อย่างจับใจ จนใครๆ ก็อ่านกัน ผมคิดว่า งานมาร์เกซคงไม่จับใจนักปฏิวัติรุ่นก่อนหน้าเขา ที่มีความหวังกับโลก และที่ยังคิดแทน วาดหวังให้ พร้อมอุ้มชูเป็นผู้นำให้กับชนผู้ทุกข์ยาก
 
ผมไม่คิดว่าจะมีนักคิดนักเขียนไทยยุค 60s, 70s คนไหนบ้างที่คร่ำครวญถึงงานมาร์เกซ ผมเดาว่า พวกเขาคงไม่อ่านมาร์เกซ ส่วนคนรุ่นผม ไม่รู้ทำไม งานที่ชวนให้สิ้นหวัง จมปลัก หลอกหลอนตนเองอยู่กับภพภูมิอื่น จึงส่งอิทธิพลให้มากนัก
 
ชีวิตหลังยุคอุดมการณ์ หรือที่บางคนเรียกว่าหลังประวัติศาสตร์ คงไม่เพียงเป็นความสิ้นสุดลงของอุดมการณ์ทางเลือกเพื่อความเสมอภาคแบบคอมมิวนิสต์ แล้วกลายเป็นการครอบงำของประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรอก 
 
ในขณะเดียวกันกับที่นักประชาธิปไตยยุคหลังอาณานิคมกำลังค้นหาแหล่งอ้างอิงประชาธิปไตยใหม่ๆ นอกโลกตะวันตกอยู่ หลังการเข้าร่วมต่อสู้กับนักโฆษณาขายความหวัง ผู้คนจำนวนมากกำลังสิ้นหวัง โดดเดี่ยว จมจ่อมกับชีวิตกึ่งฝันกึ่งจริงในทุกเมื่อเชื่อวัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์