เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ในสาขาวิชาที่เป็นพี่น้องกันทั้งสองนี้ คำว่าทัศนคติมีที่ทางน้อยมาก เพราะสาขาทั้งสองสนใจสังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล อย่างไรก็ดี สิ่งที่สาขาวิชาทั้งสองสอนก็คือ การบอกว่าทัศนคติของคนถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากความนึกคิดของปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น ดังนั้น แทนที่จะเข้าใจทัศนคติของแต่ละคน วิชาทั้งสองจึงสอนให้เข้าใจทัศนคติของสังคมมากกว่า
แต่ทว่า สังคมไม่ได้หยุดนิ่ง และสังคมไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป ในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีบุคคลในสังคมใดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกันหมดเลยด้วยซ้ำ ทัศนคติของแต่ละบุคคลในสังคมจึงมีความแตกต่างกันมาก ตามแต่สภาพแวดล้อมทางสังคม ตามแต่การหล่อหลอมทางประวัติศาสตร์ ตามแต่การคัดเลือกตกแต่งความคิดของแต่ละคน
ทัศนคติจึงมีส่วนก่อให้เกิดความขัดแย้งกันได้ ทัศนคติจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมให้เหมือนกันไปหมดได้ ไม่มีสังคมไหนสามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน รักคนคนเดียวกัน แสดงออกอย่างเดียวกัน มีความฝันต่ออนาคตเดียวกัน ร้องเพลงเดียวกัน ประสงค์ดีต่อสังคมในแบบเดียวกันได้
ที่ยิ่งไปกว่านั้น นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยารุ่นหลัง ๆ ยังสนใจอีกว่า มีทัศนคติบางอย่างที่ฝังติดแน่นอยู่กับตัวตนของแต่ละคน ทัศนคติไม่เพียงฝังอยู่ในใจ แต่ฝังอยู่ในเนื้อตัวร่างกาย ได้แก่ ทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับรสนิยม เช่น การติดรสชาติความอร่อย อันเป็นทัศนคติปลายลิ้นสัมผัสที่แยกไม่ออกจากเนื้อตัวและประสาทรับรู้ นอกจากนั้นยังมีการปฏิบัติการในชีวิตประจำวันต่างๆ ที่แทบจะทำไปโดยอัตโนมัติอย่างการยืน เดิน นั่ง ก็ฝังทัศนคติเกี่ยวกับชนชั้น เพศสภาพ
ทุกวันนี้หากมีใครทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ว่าด้วย "ทัศนคติต่อ..." ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ผมก็จะไม่รับพิจารณา ไม่ใช่เพราะไม่ถนัด แต่เพราะเห็นว่า การเข้าใจคนผ่านมโนทัศน์ว่า "ทัศนคติ" เป็นการเข้าใจคนที่ผิดพลาด เพราะคนไม่ได้มีแค่ทัศนคติ หรือเพราะทัศนคติไม่ใช่ก้อนความคิดก้อนหนึ่ง มันประกอบขึ้นมาจากการหล่อหลอม การตัดต่อตกแต่ง การต่อรองกันของทัศนคติต่าง ๆ ตลอดจนตัวความคิดที่แฝงอยู่ในการกระทำปกติประจำวัน อันไม่สามารถกระเทาะออกมาเป็นก้อนทัศนคติได้
ดังนั้น เราจึงต้องแยกย่อยและวิเคราะห์ทัศนคติให้ละเอียดลงไปอีก ต้องเข้าใจมิติทางสังคมที่ซับซ้อนของทัศนคติ และเลิกคิดเสียทีว่าทัศนคติเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ เพราะมีปัจจัยมากมายที่ใครก็ตามไม่สามารถจะควบคุมได้และใครก็ตามก็จึงไม่สามารถควบคุมทัศนคติได้ นอกจากกักขังหน่วงเหนี่ยวมันไว้ในกรงเงียบ ๆ ไม่ให้ทัศนคติแสดงตัวออกมา