Skip to main content

การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ

ประการแรก สังคมนี้มีระบบศีลธรรมแบบเลือกปฏิบัติ การให้ความสนใจกว้างขวางต่อกรณีนี้แสดงความเป็นศีลธรรมสองมาตรฐาน หรือที่จริงคือเป็นศีลธรรมไร้มาตรฐานของคนไทยจำนวนมาก เพราะคนไทยส่วนมากไม่ได้ฟูมฟายกับการข่มขืนไปทุกกรณี อย่างการรุมข่มขืนผู้หญิงที่เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อหลายเดือนก่อนแล้วเป็นข่าวไปทั่วโลก ก็ไม่เห็นเป็นกระแสสังคมมากเท่ากรณีนี้ที่เกิดขึ้นในไทยเอง นี่ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่เพราะสังคมไทยเปราะบางกับอาชญากรรมบางลักษณะ แต่กลับเฉยชากับอาชญากรรมหลายๆ ลักษณะ 

อาการศีลธรรมเลือกปฏิบัติไม่ได้เกิดกับเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดกับเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้บริหารประเทศบางคนจะถูกตรวจสอบเข้มงวดมากกว่าผู้บริหารประเทศอีกบางคน การคอร์รัปชั่นโดยคนบางกลุ่มจะกลายเป็น "ทำผิดโดยบริสุทธิ์ใจ" ได้ เพราะความดีงามของสังคมนี้ไม่ได้วางอยู่บนมาตรฐานสากลเดียวกัน 

ประการที่สอง สังคมนี้เหยียดเพศหญิง ที่อันตรายไม่น้อยไปกว่ากันคือ พร้อมๆ กับการรุมโทรมฆาตกร หลายคนยังหันลับมารุมโทรมผู้เคราะห์ร้ายเข้าไปอีก บางคนว่าทำไมเด็กหญิงไม่ร้อง บางคนว่าเด็กหญิงแต่งตัวล่อแหลมไปหรือเปล่า บางคนว่าทำไมพ่อแม่ไม่ดูแล แทนที่จะหาสาเหตุของการทำร้ายหรือว่ากล่าวประณามคนร้าย คนเหล่านี้กลับค่อนขอดผู้ถูกทำร้าย กลายเป็นว่า ผู้หญิงที่ไม่ระวังตัวคือตัวปัญหาของสังคม  

ไม่ว่าใครจะแต่งตัวอย่างไร คนอื่นก็ไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดร่างกายเขา ถ้าใครเดินมาชกหน้าคุณแล้วบอกว่า เพราะหน้าคุณยั่วโมโหเขา คุณจะยอมรับแล้วไปศัลยกรรมหน้าตาใหม่ เพื่อไม่ให้หน้าตาคุณตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอย่างนั้นหรือ 

ประการที่สาม สังคมไทยนิยมความรุนแรง การก่ออาชญากรรมรุนแรงจึงเป็นความผิดขั้นเลวร้ายเฉพาะของคนบางกลุ่มเท่านั้น การกระทำแบบเดียวกันอาจได้รับการยอมรับส่งเสริมได้หากกระทำต่อเหยื่อที่สังคมตัดสินเอาเองแล้วว่าสมควรแก่การรับเคราะห์กรรม เช่น บางคนที่ประณามการข่มขืนครั้งนี้ ก็ยังกลับทำภาพล้อเลียนอดีตนายกฯ พร้อมคำบรรยายว่า อดีตนายยกฯ สมควรถูกข่มขืนมากกว่าเด็กหญิงคนนี้ หรือกรณีข่าวล้อเลียนเหยียดเพศและให้จับผู้มีทัศนะทางการเมืองต่างขั้วกับตนบางคนไปให้นักโทษข่มขืน  

สังคมนี้ข่มขืนกระทำชำเรากันทั้งทางกาย วาจา และใจมาตลอด สังคมนี้ก่ออาชญากรรมต่อกันมาตลอด แต่สังคมนี้เลือกที่จะลงโทษการข่มขืนกระทำชำเราใครบางคนเท่านั้น 

ประการที่สี่ สังคมนี้แก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง ที่คิดกันว่าการเพิ่มโทษจะทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดยับยั้งชั่งใจมากขึ้น ก็เพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่ยกย่องการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา จึงเป็นสังคมมือถือสากปากถือสันติวิธี และดังนั้น สังคมนี้จึงยินดีกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารคนกลางถนนด้วยเพราะตัดสินไปแล้วว่าเขาคือคนเลว เป็นพวกคนเลว 

สังคมที่นิยมความรุนแรงจึงยอมรับพร้อมส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงแบบเดียวกับที่ตนเลือกประณาม กับคนที่ตนรังเกียจ กับคนที่อยู่คนละข้างกับตน กับคนที่ต่ำต้อยกว่าตน ไม่ใช่เพื่อลดความรุนแรง แต่เพื่อยกตนเองและเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามตนเองเท่านั้น 

ประการสุดท้าย สังคมนี้ไม่ค่อยเห็นเหตุเชิงโครงสร้าง คนในสังคมนี้จำนวนมากเห็นปัญหาเฉพาะระดับบุคคล อาชญากรรมเกิดจากบุคคลกระทำก็จริง แต่เงื่อนไขเชิงระบบ เงื่อนไขโครงสร้างต่างๆ ก็มีส่วนให้เกิดอาชญากรรมได้ คนจำนวนมากรวมทั้งผู้รับผิดชอบโดยตรงจึงกลับปัดความผิด มุ่งประณาม ให้ร้ายกับปัจเจกคนร้ายเพียงด้านเดียว ไม่มองว่าการกระทำวิปริตใด ๆ นั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะอยู่ในเงื่อนไขของความวิปริตของสังคมและระบบที่บกพร่อง 

ระบบความปลอดภัยของการเดินทางสาธารณะ ระบบการควบคุมพนักงาน ระบบการออกแบบห้องโดยสาร ตลอดจนระบบการใช้ความเร็ว ความล้าหลังของการรถไฟ และการบริหารงานของหย่วยงาน เหล่านี้มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมครั้งนี้ด้วย 

เมื่อมองปัญหาเฉพาะในระดับบุคคล ก็จึงคิดว่าจะต้องจัดการควบคุมบุคคลที่ชั่วร้าย ต้องกำจัดบุคคลที่ชั่วร้าย แต่ไม่คิดรื้อระบบเพื่อสร้างโครงสร้างใหม่ที่ดีกว่าสำหรับทุกคนขึ้นมา 

สังคมไทยไม่ได้ดีขึ้นมาได้ด้วยการเพิ่มโทษประหารชีวิตหรอก การร่วมกันวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหากันถ้วนหน้าอย่างทุกวันนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา หากจะแก้ปัญหาจริงก็ต้องสร้างระบบการเดินทางที่ดีและปลอดภัย พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานศีลธรรมสากล เลิกคิดเหยียดผู้หญิง และเลิกนิยมความรุนแรง แต่สังคมไทยแบบนั้นน่ะ แม้ในนิยายยังไม่มีเลย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์