Skip to main content

"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที

สวนนี้ตั้งอยู่ข้างทะเลสาบหนึ่งในสามของทะเลสาบประจำเมืองนี้ ชื่อทะเลสาบวิงกร้า พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงเป็นป่าชายเลน เป็นแหล่งดูนกได้ดีทีเดียว แต่พื้นที่อีกส่วนใหญ่เป็นป่าเมเปิล ป่าโอ้ค ป่าสน นอกจากนั้นก็เป้นสวนที่สะสมพันธ์ุไม้พื้นเมืองของวิสคอนซิน และพื้นที่ขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของอาร์บอรีทั่ม นั่นคือทุ่งหญ้าแพรรี่ 

ตั้งแต่มาอาศัยอยู่วิสคอนซินเมื่อหลายปีก่อน (นึกย้อนไปก็ตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว!) ผมค่อยๆ ทำความรู้จักกับสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ทีละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ไปเที่ยวพักผ่อนริมทะเลสาบวิงกร้าในฤดูร้อน เพลิดเพลินกับสีสันของป่าเมเปิลในฤดูใบไม่ร่วง เดินชมกิ่งก้านไม้โกร๋นตัดกับสีฟ้าในปลายฤดูหนาว และตื่นเต้นละลานตากับดอกไม้ที่ประชันกันในฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็ยังมีพื้นที่กว้างขวางอีกมากมายที่ยังไม่เคยเดินไปถึง 

วันนี้เอง (22 ตุลาคม 2557) ที่ได้ไปเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ที่ช่างภาพอาชีพคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักในวันที่เขาลากผมไปถ่ายรูปลงวารสารด้านสิทธิมนุษยชนเล่มหนึ่ง นั่นทำให้ได้รู้ว่า การเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ในฤดูใบไม้ร่วง ผ่านเข้าไปในป่าเมเปิล ป่าต้นโอ้ค ในฤดูนี้ให้ความรู้สึกอย่างไร 

อาร์บอรีทั่มมีสองประตู ประตูหนึ่งติดทะเลสาบ ประตูนั้นติดตัวเมืองมากกว่าอีกประตูหนึ่ง ส่วนใหญ่คนจึงเข้าทางนั้น ประตูทะเลสาบเข้ามาแล้วจะผ่านป่าชายเลน แล้วผ่านป่าเมเปิลส่วนหนึ่ง แล้วเข้าไปยังพื้นที่ตรงกลางที่มีอาคารรับรองผู้มาเยือนตั้งอยู่ บริเวณนั้นจะเป็นสวนไม้สะสมกับทุ่งแพรรี่ ส่วนอีกประตูหนึ่งเข้ามาผ่านป่าโอ้ค แล้วเจอกับทุ่งแพรรี่เลย ต่อเนื่องมาจนถึงอาคารรับรอง วันธรรมดาสามารถขับรถทะลุจากประตูหนึ่งไปอีกประตูหนึ่งได้ 

วันนี้ผมถีบจักรยานไปเข้าประตูป่าโอ้ค แล้วหยุดสาละวนถ่ายรูปในทุ่งแพรรี่ เนื่องจากอากาศดีเป็นพิเศษ อุณหภูมิราวๆ 12-14 องศาเซลเซียส แดดจัดจ้า ทำให้เห็นสีสันของต้นไม้หลายหลายมาก ทุ่งหญ้าแห้งกับใบไม้แห้ง ส่งกลิ่นปะปนกันหลายอย่าง เปลี่ยนไปตามพันธ์ุไม้แต่ละพื้นที่ ผมต้องตากับผลหญ้าชนิดหนึ่ง ที่เป็นพวงสีแดงก่ำ วนเวียนถ่ายรูปชื่นชมใกล้บ้างไกลบ้างอยู่นาน ยิ่งได้สีใบเมเปิล ใบโอ้คเป็นฉากหลัง ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ 

เมื่อเข้าไปเดินในทุ่งหญ้าอีกส่วนหนึ่ง จึงได้รู้ว่าทุ่งหญ้าที่นี่ได้รับการปลูกและฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี 1935 อันที่จริงเดิมทีพื้นที่มลรัฐวิสคอนซินร่วม 20% เคยปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าแพรี่ นับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ คนจึงย้ายเข้ามาถากถางทำการเกษตร จนปัจจุบันแทบไม่เหลือทุ่งหญ้า ทางมหาวิทยาลัยจึงศึกษาและรื้อฟื้นพันธ์ุไม้ในทุ่งหญ้า แล้วดูแลรักษาอย่างดีต่อเนื่องมาจนขณะนี้  

อันที่จริงหากมาในฤดูร้อนจะได้เห็นดอกหญ้านานาพันธ์ุ สังเกตได้จากใบหญ้า ลำต้นหญ้า ดอกหญ้า และผลหญ้าแห้งๆ ที่สลับสับเปลี่ยนรูปทรงไปตามพื้นที่ต่างๆ เป็นหย่อมๆ แม้ว่าจะแห้งกรอบเกือบหมดแล้วในขณะนี้ แต่หญ้าเหล่านี้ก็ยังทิ้งรูปลักษณ์ สีสันบางอย่าง พร้อมกลิ่นเฉพาะตัวของพวกมันไว้ให้พอทำความรู้จักกัน 

สัปดาห์นี้คงเป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้วสำหรับการเยี่ยมชมใบไม้เปลี่ยนสี หลายๆ พื้นที่ใบไม้พากันร่วงหมดแล้ว ผมได้แต่นึกสนทนากับใบไม้ในใจเรื่อยเปื่อยไปว่า "เราได้พบกันช้าเกินไป" พวกเธอพากันร่วงหล่นบนดินไปเสียมากแล้ว แต่นั่นก็กลับทำให้ได้เห็นความงามยามโรยราของใบไม้ที่ยังติดอยู่บนกิ่งอย่างหร๋อมแหรม ฉากหลังสีฟ้า รองรับใบไม้เหลืองที่ยังดื้อดึงยึดกิ่งก้านเรียวยาวอยู่ ชวนให้แหงนหน้ามองจนลืมเมื่อย 

เมื่อละตาจากเมเปิลอันสะดุดตามาหลายปีได้ ผมกลับเพิ่งเห็นสีสันของใบโอ้ค บางต้นใบสีน้ำตาลแก่ บางต้นสีน้ำตาลอ่อน บางต้นสีน้ำตาลแดง "เสียดายที่เรารู้จักกันช้าไป" ผมรำพึงกับใบโอ้ค นั่นเพียงเพราะความฉูดฉาดของเมเปิลทีเดียว ที่มักดึงสายตาให้เหลือบมอง จนมองข้ามความงามของใบโอ้ค ที่ไม่ใช่เพียงแค่สีเข้มลึก แต่ยังทรวดทรงของลำต้น และรูปรอยหยักของขอบใบที่งดงามซับซ้อนเกินเมเปิลเป็นไหนๆ 

บทสนทนากับใบไม้พาให้ผ่านวันนี้และหวังว่าจะพาให้ผ่านช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วงไปได้อย่างเข้มแข็ง น่าแปลกใจที่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตของสีสันเหล่านี้กลับไม่สร้างบทสนทนาอะไรกับใครบางคนเลย แต่กับบางคน มันตำตาและติดตรึงจนชวนให้เหลียวมองและเผลอพูดคุยด้วยได้ไม่รู้เบื่อ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน