Skip to main content

"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที

สวนนี้ตั้งอยู่ข้างทะเลสาบหนึ่งในสามของทะเลสาบประจำเมืองนี้ ชื่อทะเลสาบวิงกร้า พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงเป็นป่าชายเลน เป็นแหล่งดูนกได้ดีทีเดียว แต่พื้นที่อีกส่วนใหญ่เป็นป่าเมเปิล ป่าโอ้ค ป่าสน นอกจากนั้นก็เป้นสวนที่สะสมพันธ์ุไม้พื้นเมืองของวิสคอนซิน และพื้นที่ขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของอาร์บอรีทั่ม นั่นคือทุ่งหญ้าแพรรี่ 

ตั้งแต่มาอาศัยอยู่วิสคอนซินเมื่อหลายปีก่อน (นึกย้อนไปก็ตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว!) ผมค่อยๆ ทำความรู้จักกับสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ทีละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ไปเที่ยวพักผ่อนริมทะเลสาบวิงกร้าในฤดูร้อน เพลิดเพลินกับสีสันของป่าเมเปิลในฤดูใบไม่ร่วง เดินชมกิ่งก้านไม้โกร๋นตัดกับสีฟ้าในปลายฤดูหนาว และตื่นเต้นละลานตากับดอกไม้ที่ประชันกันในฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็ยังมีพื้นที่กว้างขวางอีกมากมายที่ยังไม่เคยเดินไปถึง 

วันนี้เอง (22 ตุลาคม 2557) ที่ได้ไปเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ที่ช่างภาพอาชีพคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักในวันที่เขาลากผมไปถ่ายรูปลงวารสารด้านสิทธิมนุษยชนเล่มหนึ่ง นั่นทำให้ได้รู้ว่า การเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ในฤดูใบไม้ร่วง ผ่านเข้าไปในป่าเมเปิล ป่าต้นโอ้ค ในฤดูนี้ให้ความรู้สึกอย่างไร 

อาร์บอรีทั่มมีสองประตู ประตูหนึ่งติดทะเลสาบ ประตูนั้นติดตัวเมืองมากกว่าอีกประตูหนึ่ง ส่วนใหญ่คนจึงเข้าทางนั้น ประตูทะเลสาบเข้ามาแล้วจะผ่านป่าชายเลน แล้วผ่านป่าเมเปิลส่วนหนึ่ง แล้วเข้าไปยังพื้นที่ตรงกลางที่มีอาคารรับรองผู้มาเยือนตั้งอยู่ บริเวณนั้นจะเป็นสวนไม้สะสมกับทุ่งแพรรี่ ส่วนอีกประตูหนึ่งเข้ามาผ่านป่าโอ้ค แล้วเจอกับทุ่งแพรรี่เลย ต่อเนื่องมาจนถึงอาคารรับรอง วันธรรมดาสามารถขับรถทะลุจากประตูหนึ่งไปอีกประตูหนึ่งได้ 

วันนี้ผมถีบจักรยานไปเข้าประตูป่าโอ้ค แล้วหยุดสาละวนถ่ายรูปในทุ่งแพรรี่ เนื่องจากอากาศดีเป็นพิเศษ อุณหภูมิราวๆ 12-14 องศาเซลเซียส แดดจัดจ้า ทำให้เห็นสีสันของต้นไม้หลายหลายมาก ทุ่งหญ้าแห้งกับใบไม้แห้ง ส่งกลิ่นปะปนกันหลายอย่าง เปลี่ยนไปตามพันธ์ุไม้แต่ละพื้นที่ ผมต้องตากับผลหญ้าชนิดหนึ่ง ที่เป็นพวงสีแดงก่ำ วนเวียนถ่ายรูปชื่นชมใกล้บ้างไกลบ้างอยู่นาน ยิ่งได้สีใบเมเปิล ใบโอ้คเป็นฉากหลัง ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ 

เมื่อเข้าไปเดินในทุ่งหญ้าอีกส่วนหนึ่ง จึงได้รู้ว่าทุ่งหญ้าที่นี่ได้รับการปลูกและฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี 1935 อันที่จริงเดิมทีพื้นที่มลรัฐวิสคอนซินร่วม 20% เคยปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าแพรี่ นับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ คนจึงย้ายเข้ามาถากถางทำการเกษตร จนปัจจุบันแทบไม่เหลือทุ่งหญ้า ทางมหาวิทยาลัยจึงศึกษาและรื้อฟื้นพันธ์ุไม้ในทุ่งหญ้า แล้วดูแลรักษาอย่างดีต่อเนื่องมาจนขณะนี้  

อันที่จริงหากมาในฤดูร้อนจะได้เห็นดอกหญ้านานาพันธ์ุ สังเกตได้จากใบหญ้า ลำต้นหญ้า ดอกหญ้า และผลหญ้าแห้งๆ ที่สลับสับเปลี่ยนรูปทรงไปตามพื้นที่ต่างๆ เป็นหย่อมๆ แม้ว่าจะแห้งกรอบเกือบหมดแล้วในขณะนี้ แต่หญ้าเหล่านี้ก็ยังทิ้งรูปลักษณ์ สีสันบางอย่าง พร้อมกลิ่นเฉพาะตัวของพวกมันไว้ให้พอทำความรู้จักกัน 

สัปดาห์นี้คงเป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้วสำหรับการเยี่ยมชมใบไม้เปลี่ยนสี หลายๆ พื้นที่ใบไม้พากันร่วงหมดแล้ว ผมได้แต่นึกสนทนากับใบไม้ในใจเรื่อยเปื่อยไปว่า "เราได้พบกันช้าเกินไป" พวกเธอพากันร่วงหล่นบนดินไปเสียมากแล้ว แต่นั่นก็กลับทำให้ได้เห็นความงามยามโรยราของใบไม้ที่ยังติดอยู่บนกิ่งอย่างหร๋อมแหรม ฉากหลังสีฟ้า รองรับใบไม้เหลืองที่ยังดื้อดึงยึดกิ่งก้านเรียวยาวอยู่ ชวนให้แหงนหน้ามองจนลืมเมื่อย 

เมื่อละตาจากเมเปิลอันสะดุดตามาหลายปีได้ ผมกลับเพิ่งเห็นสีสันของใบโอ้ค บางต้นใบสีน้ำตาลแก่ บางต้นสีน้ำตาลอ่อน บางต้นสีน้ำตาลแดง "เสียดายที่เรารู้จักกันช้าไป" ผมรำพึงกับใบโอ้ค นั่นเพียงเพราะความฉูดฉาดของเมเปิลทีเดียว ที่มักดึงสายตาให้เหลือบมอง จนมองข้ามความงามของใบโอ้ค ที่ไม่ใช่เพียงแค่สีเข้มลึก แต่ยังทรวดทรงของลำต้น และรูปรอยหยักของขอบใบที่งดงามซับซ้อนเกินเมเปิลเป็นไหนๆ 

บทสนทนากับใบไม้พาให้ผ่านวันนี้และหวังว่าจะพาให้ผ่านช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วงไปได้อย่างเข้มแข็ง น่าแปลกใจที่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตของสีสันเหล่านี้กลับไม่สร้างบทสนทนาอะไรกับใครบางคนเลย แต่กับบางคน มันตำตาและติดตรึงจนชวนให้เหลียวมองและเผลอพูดคุยด้วยได้ไม่รู้เบื่อ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)