Skip to main content

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 
อย่างที่ใครๆ พูดกันคือ ฉากฮิตเลอร์เป็นเพียงฉากเล็กๆ และอยู่ในบริบทเดียวกันกับการปูพื้นตัวละครเอกคือเด็กที่ด้านหนึ่งเขาคงมีความสามารถสูงแต่อีกด้านคือความสำเร็จของเขามาจากการมีแม่ขี้โกงคอยอุปถัมภ์ ในแง่นี้ก็พออนุโลมได้ว่า ฮิตเลอร์เป็นสัญลักษณ์ด้านลบในหนังเรื่องนี้
 
เพียงแต่ที่เรื่องฮิตเลอร์เป็นประเด็นคือ การสื่อความคิดและพฤติกรรมด้านลบของเด็กคนนี้ด้วยภาพฮิตเลอร์เพียง 2-3 วินาทีนั้น ต้องการจงใจสื่อถึงอะไรหรือใครกันแน่ และแม้การจงใจที่จะสื่อถึงใครคนนั้นก็ตาม มันเหมาะสมหรือไม่ มันแสดงถึงการรับรู้และถ่ายทอดเรื่องฮิตเลอร์อย่างถูกต้องหรือไม่ หากหนังเรื่องนี้มุ่งที่การให้การศึกษา ก็จะต้องคิดถึงความละเอียดอ่อนของการใช้สัญลักษณ์ "ฮิตเลอร์" ให้มากกว่านี้
 
เอาล่ะ ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป เพราะเถียงกันหลายที่แล้ว แต่ที่อยากกล่าวถึงคือ แม้จะตัดฉากฮิตเลอร์ออกไปเลยก็ตาม โดยรวมๆ แล้วหนังเรื่องนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยส่วนหนึ่งบ้าง
 
ประเด็นใหญ่ของหนังเรื่องนี้คือเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่แสดงความสับสนทางการเมืองของสังคมไทยขณะนี้ หนังเรื่องนี้ขึ้นต้นมาก็โปรยคำว่า "เรียนรู้ อธิปไตย ของประชา" คือตั้งใจจะสื่อเรื่องการเมืองโดยตรง ถ้าพยายามอ่านตามหนัง "อธิปไตย" จะหมายความว่าอำนาจอะไร "ประชา" คือใคร แล้วหนังเรื่องนี้แสดงปัญหาความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไร
 
ข้อแรกคือ "ชนชั้น" ทำไมหนังต้องดำเนินเรื่องใน "สังคมไฮโซ" จะสื่อว่า สังคมไฮโซเต็มไปด้วยคนโกงหรืออย่างไร ก็ไม่ใช่ เพราะเด็กที่เป็นตัวแทนความดีคือ "เด็กแขก" ในเรื่อง ก็อยู่ในสังคมไฮโซ ที่ผมมีคำถามนี้คือ หากฉายหนังเรื่องนี้ในหมู่บ้าน (ซึ่งผมไม่ได้จะบอกว่าชนบทไทยยังเป็นสังคมเกษตรดั้งเดิมยากจนแร้นแค้น) หนังเรื่องนี้จะสร้างค่านิยมที่ดีๆ ให้กับสังคมไทยบนฉากหลังของสังคมที่ห่างไกลกับผู้ชมส่วนใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร
 
ผมนึกไม่ออกว่าชาวบ้านที่ผมไปสัมภาษณ์ในจังหวัดชัยภูมิ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี เชียงใหม่ หรือแม้แต่นครปฐม จะจินตนาการการโกงของตนเองในการทำโครงงานส่งครูในโรงเรียนอย่างไร ผมนึกไม่ออกว่าเด็กบ้านนอกที่ภาคการศึกษาต่อไปโรงเรียนกำลังจะถูกยุบหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ จะจินตนาการตนเองในห้องเรียนสองภาษาอย่างไร 
 
หากจะสร้างสังคมในจินตนาการเพื่อให้การศึกษา ผมว่าสู้สร้างหนังด้วยตัวละครไดโนเสาหรือหนังเทพนิยายไปเลยยังดีกว่าเอาสังคมไฮโซมาตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยปัจจุบัน ถ้านี่คือความหมายของคำว่า "ประชา" ที่หนังพยายามสื่อถึง ผมว่าหนังนี้ก็ล้มเหลวที่จะพูดถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
ข้อต่อมา เรื่อง "ชาติพันธ์ุ" และนี่ก็คืออีกปัญหาหนึ่งของการให้ความหมาย "ประชา" ของหนังเรื่องนี้ การให้ "เด็กแขก" เป็นตัวละครที่เป็นลูกไล่ของ "เด็กหน้าขาวชื่อฝรั่งมีแม่หน้าฝรั่ง" นั้น แสดงค่านิยมที่ควรปรับปรุงไม่น้อยไปกว่าค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลต้องการสั่งสอนสังคมไทย หนังสั้นๆ แค่ 10 นาทีนี้ยังผลิตซ้ำความคิดที่ว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวของสังคมดูได้จากเชื้อชาติ ลูกหน้าขาว (แม่หน้าฝรั่ง) ไม่ว่าจะดีหรือเลว ก็ยังคงเหนือลูกแขก 
 
จะว่าหน้าเด็กไม่สำคัญก็ไม่ได้ เพราะหนังสื่อชัดเจนโดยให้เด็กตัวละครเอกเรียกเพื่อนว่า "แขกตี้" (ซึ่งเมื่อผวนกลับยิ่งแย่) ส่วนตนเองนั้นก็พอกหน้าจนขาวจั๊วลอยเด่นเห็นชัดจนขัดกับเด็กแขกหน้าผิวสี แล้วอย่างนี้จะว่าสังคมไทยไม่ racist ไม่คลั่งเชื้อชาติได้อย่างไร เมื่อก่อนก็พยายามเกลียดจีนกันกระทั่งผู้นำที่เป็นลูกจีนเองก็ยังต้องเกลียดเชื้อชาติตนเอง แต่ขณะนี้เมื่อลูกจีนและอำนาจของจีนขึ้นเป็นใหญ่ ก็เถลิงความเป็นจีนหน้าข้าวขาวขึ้นเหนือแขกหน้าหมองคล้ำที่ยังคงมีฐานะทางชาติพันธ์ุต่ำอยู่เช่นเดิม 
 
คำถามต่อมาคือเรื่อง "อธิปไตย" ปมของหนังคือการโกงของแม่เพื่อความสำเร็จของลูก นั่นคือสิ่งที่ไม่ดี อธิปไตยคือการไม่โกง การทำตามกติกาที่สังคมกำหนดร่วมกันอย่างนั้นหรือ ในหนัง แม่โกงจะๆ ชัดๆ สองครั้ง ครั้งแรกคือหักไม้จิ้มฟันหลอกเพื่อนของเด็กหน้าขาว อีกครั้งคือเอาโมเดลที่ซื้อมาให้ลูกไปส่งแทนทำโครงงานเอง การโกงสองครั้งนี้ไม่เหมือนกัน ครั้งที่สองคือการโกงผิดกติกาของครู แต่ครั้งแรกคือการโกงผิดกติกาของแม่เองที่เขียนกติกาขึ้นมาแล้วโกง
 
ตกลงอธิปไตยคืออะไร คืออย่าโกง อย่าละเมิดกติกา ไม่ว่าจะเป็นกติกาที่ตนเองตั้งหรือกติกาที่สังคมตั้งขึ้นมา หรืออธิปไตยคือตัวกติกา ต้องเคารพกติกา แสดงว่าหนังเรื่องนี้ก็กำลังจะสื่อว่า รัฐประหารคือการโกง เพราะล้มกติกาที่เขียนกันขึ้นมาเอง อย่างนั้นหรือเปล่า คงไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้น การโกงของคนบางคนเท่านั้นที่ไม่ดีอย่างนั้นหรือ การโกงของ "คนดี" ถือว่าไม่โกงอย่างนั้นสินะ
 
ประเด็นสุดท้าย "การปรองดอง" ผมว่านี่เป็นประเด็นที่หนังสื่อได้สับสนมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือการสะท้อนความสับปลับของสังคมไทยมาก หนังจบลงด้วยการที่เพื่อนคืนดีกัน แต่ปมสำคัญคือใครคือคนที่ยอมรับผิดก่อน ทั้งๆ ที่หนังพยายามสื่อว่าการโกงของแม่คือการผิดกติกา แต่สุดท้าย คนที่ยอมรับผิดกลับกลายเป็นคนที่ถูกละเมิดกติกา
 
ถ้ากติกาคืออธิปไตย คนถูกยึดอำนาจอธิปไตยคือคนที่ควรยอมรับผิดอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนที่ทำผิดกติกาอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนฉีกกติกา แล้วหันกลับมารักกัน เพื่อสังคมจะได้เดินหน้าต่อไป อย่างนั้นหรือ
 
หนังเรื่องนี้ล้มเหลวในการสื่อเรื่องใหญ่ๆ อย่างอธิปไตยและประชา แม้จะตัดปัญหาเรื่องฮิตเลอร์ออกไป ก็ยังแสดงความสับสนของสังคมไทย ว่าไม่เด็ดขาดในการยอมรับกติกา เอาคนโกงล้มกติกามาสอนกติกา เอาคนที่เชิดชูความเหลื่อมล้ำของชนชั้นมาสอนประชาชน ยกความรับผิดชอบให้คนถูกโกงต้องเริ่มการปรองดอง อย่างนี้จะมาสอนให้คนเรียนรู้อธิปไตยของประชาได้อย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว